Skip to main content
sharethis

อภิชาติ จันทร์แดง


อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


apichart.cha@psu.ac.th


 


ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เค้าลางแห่งความรุนแรงที่ทวีขึ้นจากภัยธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากการทำลายสิ่งแวดล้อม กำลังสะท้อนกลับมาสร้างความเสียหายให้แก่มนุษย์โดยปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นทั่วทุกมุมโลก


 


หากกล่าวเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ถือว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด


 


แทบทุกปี ประเทศอินโดนีเซียได้รับผลจากปรากฏการณ์เอล นิโญ่ หรือภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดความแห้งแล้งและไฟป่าเป็นอาณาบริเวณกว้าง แถบเกาะสุมาตราและบอร์เนียว กลุ่มหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กปริมาณมหาศาล กลายเป็นมลพิษทางอากาศแผ่ปกคลุมไปทั่วภูมิภาค บางส่วนถูกกระแสลมพัดพาแผ่กระจายไปยังหลายประเทศใกล้เคียง รวมทั้งบางจังหวัดทางภาคใต้ของไทยด้วย


 



ภาพจาก www.geography.hunter.cuny.edu


 


บ่อยครั้งที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียและบรูไน ต่างออกมากล่าวว่า อินโดนีเซียไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง เพราะทั้งสามประเทศต่างต้องทนรับผลกระทบจากหมอกควันและมลพิษทางอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนประเด็นดังกล่าวกลายเป็นการกระทบกระทั่งระหว่างประเทศไปโดยปริยาย แม้ว่าจะเป็นประเด็นที่ดูไม่ใคร่จะสำคัญนัก และเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม


 


สำหรับประเทศไทย ภาวการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิต หรือสุขภาพของประชาชนคนไทยโดยตรงเท่าใดนัก ต่างยังคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว และคงไม่เกิดขึ้นในประเทศของเรา  เช่นเดียวกับที่เราเคยรู้สึกว่า คลื่นยักษ์สึนามิจะไม่มีวันเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด


 


แต่ในวันหนึ่ง ประเทศไทยก็ถูกบันทึกอยู่ในหน้าประวิติศาสตร์โลก ในฐานะประเทศผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ที่สุด


 


เช่นเดียวกับวิกฤติการณ์หมอกควันและมลพิษทางอากาศจากไฟป่า ที่กินอาณาบริเวณกว้างในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งไม่เพียงเป็นปัญหาทางมลภาวะครั้งใหญ่สำหรับประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อนเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นภาวะวิกฤติและรุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศอินโดนีเซียเสียด้วยซ้ำ


 


ส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา กว่า 5 ล้านคน ได้รับความเดือดร้อนกันโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า


 


แม้ว่าการเกิดไฟป่าในหน้าแล้งตามพื้นที่ป่าในภาคเหนือ จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกปี ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ (ซึ่งโอกาสเกิดมีน้อยมาก) หรือเกิดขึ้นโดยชาวบ้านเป็นผู้จุดไฟเผาป่า ด้วยเหตุผล ความเชื่อ ความเข้าใจผิด หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ใดๆ ก็แล้วแต่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยส่งผลกระทบใดๆ อย่างหนักหน่วงโดยตรงอย่างไม่เคยคาดคิดเช่นนี้มาก่อน


 


แม้ว่าหลายภาคส่วนพยายามแก้ไขปัญหากันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเร่งดับไฟป่า การพยายามทำฝนเทียม รวมทั้งการฉีดพ่นน้ำไปในอากาศ เพื่อชะล้างหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก กระทั่งมีการเสนอให้เล่นสงกรานต์เร็วขึ้น เพื่อให้อากาศมีความชื้นมากขึ้น เป็นการช่วยชะล้างหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกทางหนึ่ง


 


หรือแม้กระทั่งวิธีการที่ไม่น่าจะเกี่ยวกันเท่าใดนัก อย่างการห้ามร้านหมูกระทะให้งดกิจการในช่วงวิกฤติการณ์ดังกล่าว ทั้งที่ในมุมหนึ่งดูเหมือนการแก้ปัญหาแบบเอาเข็มไปจิ้มผลส้มโอ อีกมุมหนึ่งก็คล้ายอาการฟาดงวงฟาดงาของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ร้านหมูกระทะเหล่านี้ แทบจะไม่มีส่วนใดๆ ในปัญหานี้เลย รังแต่จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กเสียมากกว่า


 


แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่มีการกล่าวถึงกันอย่างจริงจัง ทั้งที่ควรจะเกิดขึ้นควบคู่และต่อเนื่องไปกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย นั่นคือ การหยิบยกเอาวิกฤติการณ์ดังกล่าว มาใช้เป็นสื่อกลางในการรณรงค์ และเสริมสร้างจิตสำนึก เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยการชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญ รวมถึงผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้ ซึ่งจะเป็นทั้งการป้องกัน และแก้ไขปัญหาในระยะยาว ที่มีความมั่นคงยั่งยืน


 


หากกล่าวในเชิงจิตวิทยา มนุษย์จะเห็นคุณค่าและความสำคัญต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ต่อเมื่อตัวเองได้รับผลกระทบ มีความทุกข์ร้อน หรือมีส่วนได้เสียจากสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ความรู้สึกร่วมที่มีต่อสิ่งนั้นๆ จะสูงมากกว่า ที่ตัวเองไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย


 


ในช่วงเวลานี้ ประชาชนทุกคนในพื้นที่ภาคเหนือ ต่างได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า มีตัวอย่างของความสูญเสียให้รับรู้และสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยตัวเอง


 


ในเมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว อย่างไม่มีทางเลี่ยง ก็มิใช่ว่าจะยอมทนรับ หรือกล่าวโทษภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรับผิดชอบปัญหาดังกล่าว แต่เพียงอย่างเดียว ในทางกลับกันก็น่าจะใช้ห้วงเวลาแห่งวิกฤติการณ์ดังกล่าว มาใช้ให้เกิดประโยชน์ไปพร้อมกัน


 


เพียงแค่เริ่มด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ได้รับความเดือดร้อนเช่นไร? และต้องสูญเสียอะไรไปบ้างจากวิกฤติการณ์ในครั้งนี้?


 


คำตอบ ก็คือ สิ่งที่ทุกคนมองเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าปัญหาต่อสุขภาพ ซึ่งโรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันที่สูญหายไป ความเป็นเมืองท่องเที่ยวของหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ที่ถูกนานาชาติประกาศห้ามพลเมืองของตนเดินทางมาเที่ยว ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก หรืองบประมาณจำนวนมากมายที่สูญเสียไปโดยใช่เหตุ เพื่อใช้รับมือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า


 


คำตอบเหล่านี้ ง่ายต่อการอธิบายและยกตัวอย่างให้เข้าใจ เพราะทุกคนต่างกำลังเผชิญปัญหาด้วยตัวเองทั้งสิ้น


 


นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านอื่น ที่ไม่อาจมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม หรืออาจส่งผลต่อเนื่องไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าผลเสียต่อสุขภาพจิตของประชาชน ความขัดแย้งของประชาชนหรือภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว รวมทั้งความเชื่อมั่นจากนานาชาติที่มีต่อรัฐบาลในการรับมือหรือการให้ความสำคัญกับปัญหาและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม


 


ทั้งหมด คือ เหตุผลที่จะนำไปสู่คำถามที่ว่า จะร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การดับไฟป่าเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้นมา เพื่อไม่ให้ตัวเราเองต้องได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อน


 


ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังขาดจิตสำนึกเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม แม้ธรรมชาติได้เริ่มส่งสัญญาณเตือนให้เห็น ด้วยผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นทุกขณะ


 


แต่สังคมไทยก็แทบจะไม่ได้มองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียน หรือสิ่งเตือนภัยให้เตรียมรับมือ ทุกอย่างกำลังผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น


 


อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่กำลังชี้ให้เห็นถึงความหายนะ จากความแปรปรวนของธรรมชาติ อันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับวิกฤติการณ์หมอกควันในขณะนี้ หลายคนอาจลืมไปแล้วก็ได้ว่า ช่วงไม่ถึงขวบปีที่ผ่านมา ประเทศของเราต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติจากอุทกภัยครั้งใหญ่อย่างสาหัสสากรรจ์เช่นไร


 


เพราะหลังจากวิกฤติการณ์คลี่คลาย ก็แทบไม่มีการกล่าวถึง หรือมองปัญหากันอย่างจริงจังเลยว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง เราจะแก้ปัญหาหรือเตรียมรับมือกับภาวการณ์ลักษณะดังกล่าวในอนาคตอย่างไร ทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และวิธีป้องกันปัญหาระยะยาว


 


สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ ก็เพียงแต่การช่วยเหลือเฉพาะหน้า (ซึ่งเชื่อว่าไม่ทั่วถึงเท่าใดนัก) สำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นรายๆ หรือเป็นกลุ่มๆ ไป แต่ไม่มีการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง หรือการเข้าถึงสาเหตุ หรือรากของปัญหาอย่างจริงจัง


 


ความจริงแล้วภาคประชาชนที่อยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ นับว่าเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยแก้ไข รวมทั้งป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากกรณีป่าชุมชนในหลายพื้นที่ ที่ช่วยได้ทั้งการป้องกันปัญหาน้ำท่วมและไฟป่า


 


ดังนั้น หากภาครัฐพร้อมจะสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมีอยู่ของป่าชุมชน ก็จะเป็นหนทางหนึ่ง ที่เป็นทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน เพราะป่าชุมชนนับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเชิงบูรณาการอย่างแท้จริง โดยจิตสำนึกและความรับผิดชอบของคนในท้องถิ่นเอง


 


แต่ที่ผ่านมา ภาครัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด?


นี่คืออีกคำถามหนึ่งที่ยังรอคำตอบเสมอมา


 


ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤติการณ์ให้หมดสิ้นไป แต่หมายถึงการเตรียมการที่จะรับกับวิกฤติการณ์ในวันข้างหน้าอันใกล้ด้วย


 


ดังนั้น การรณรงค์เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกให้คนทุกคนเห็นคุณค่า และความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น เชื่อว่าท่ามกลางผลกระทบและความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นกับทุกคน น่าจะทำให้คนทุกคนยอมรับฟัง และตระหนักในคุณค่า ความสูญเสียหรือผลกระทบมากขึ้นด้วยเช่นกัน


 


ในทางหนึ่ง ยังเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคมอีกด้วย


 


อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่สังคมใดสังคมหนึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร หรือมีมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นชนวนปัญหาความขัดแย้งทางสังคมอีกนานัปการอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่การได้มา หรือการเกิดขึ้นซึ่งจิตสำนึกนั้น ในทางหนึ่ง ก็คือ การได้มาซึ่งสันติในการอยู่ร่วมกัน


 


นั่นคือ สันติภาพในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และสันติภาพในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยกัน


 


วิกฤติการณ์หมอกควันในครั้งนี้ จึงควรค่าแก่การหยิบยกเอามาเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการดูแลรักษาและการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้ เพราะผลกระทบอย่างรุนแรงได้เกิดขึ้นกับคนทุกคน ในพื้นที่หมอกควันครอบคลุมไปถึง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกับเหตุการณ์น้ำท่วม หรือภัยพิบัติอื่นๆ ที่มีผู้ได้รับผลกระทบเพียงส่วนหนึ่ง หรือเฉพาะพื้นที่เท่านั้น


 


ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่กำลังถาโถมเข้าใส่โลกและมนุษย์ ท่ามกลางศตวรรษที่ 21 อย่างรุนแรงโดยต่อเนื่อง สำคัญแต่ว่าผู้มีส่วนดูแลรับผิดชอบและเกี่ยวข้อง จะเล็งเห็นความสำคัญมากน้อยแค่ไหน


 


ในขณะเดียวกันก็หวังว่า วิกฤติการณ์ในครั้งนี้ จะเป็นความเจ็บปวดที่ก่อให้เกิดพลังแห่งจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมแก่ทุกๆ คนด้วย


 


ขออย่าได้จางหายไปกับหมอกควัน!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net