Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท -3 เม.ย.50 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอว็อทช์)และพันธมิตรประกอบด้วยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์/เอชไอวี ประเทศไทย เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ราว100 คน พร้อมด้วย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ได้ไปประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อคัดค้านการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการลงนามระหว่าง พล.อ.สุรยุทธฺ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนายชินโซะ อาเบะ ที่ญี่ปุ่น ในช่วงเย็นวันที่ 3 เม.ย.

การประท้วงครั้งนี้ผู้ประท้วงได้ถือป้ายมีข้อความว่า "JTEPA สัญญาโมฆะ", "Japan-Thailand Exploitative Partnership Agreement", "ฉีกเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น สัญญาทาส สัตว์เศรษฐกิจ" ฯลฯ


 


จากนั้นได้มีตัวแทน 5 คนนอนตายคล้ายศพหน้าสถานฑูต พร้อมป้ายประกาศจับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีต่างประเทศ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีพาณิชย์ นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม และนายพิศาล มาณวพัฒน์ หัวหน้าคณะเจรจาฯ ฐานฆ่าประเทศไทยโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์ อ่านคำแถลงการณ์ไม่ยอมรับการลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น
ความว่า


 


"วันนี้ เป็นวันที่น่าอับอายสำหรับประเทศและประชาชนไทยที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ตัดสินใจลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ทั้งๆที่สัญญาฉบับนี้จะทำให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรชีวภาพ เกษตรกร คนไข้  ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ต้องเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่รัฐบาลนี้ประกาศเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ

วันนี้ เป็นวันที่เราได้เห็นอย่างแจ้งชัดแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ก็มีพฤติกรรมที่แทบไม่แตกต่างใดๆกับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ตัดสินใจนโยบายทางเศรษฐกิจเอื้ออำนวยต่อกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการปกปิดข้อมูลไม่โปร่งใส และปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ สถาบันทางการเมืองต่างๆ แทบทั้งหมดต่างล้มเหลวและไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาใดๆแก่ประชาชนคนส่วนใหญ่ได้ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 ก็ถูกละเมิดจากการที่คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจลงนามในสัญญาระหว่างประเทศโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เอฟทีเอว็อทช์และพันธมิตรขอเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างน้อย 20 คนเข้าชื่อกัน เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าการลงนามในข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นในครั้งนี้ของรัฐบาล
เป็นการกระทำที่ชอบโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะนี่เป็นโอกาสเดียวที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีโอกาสได้แก้ตัว หลังจากที่ประธานสภาฯและสมาชิกส่วนใหญ่ยอมจำนนอย่างน่าอับอายด้วยการอภิปรายข้อตกลงเอฟทีเอฉบับนี้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 โดยไม่มีการลงมติ และมิได้มีโอกาสพิจารณาข้อตกลงซึ่งมีความหนา 942 หน้าอย่างรอบคอบ รอบด้าน แต่ประการใด

เราขอยืนยันว่าหนังสือสัญญาหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่รัฐบาลได้ลงนามในวันนี้นั้น เป็น "โมฆะสัญญา" เราไม่ยอมรับและขอปฏิเสธผลผูกพันใดๆ ที่สัญญาฉบับนี้มีต่อประชาชนชาวไทย
หนังสือสัญญาฉบับนี้หาได้เป็นสัญลักษณ์ใดๆที่สะท้อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศญี่ปุ่น-ไทยไม่
หากเป็นตัวแทนการกดขี่ของกลุ่มทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สมคบคิดกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและกลุ่มทุนบางกลุ่มในประเทศไทยบดขยี้กลุ่มธุรกิจรายย่อย สร้างผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่แตกต่างใดๆ กับหนังสือสัญญาที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามลงนามและนำประเทศไทยกลายเป็นบริวารของรัฐบาลญี่ปุ่นในอดีต


เอฟทีเอว็อทช์และพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์/เอชไอวี เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายสลัมสี่ภาคจะประสานงานกับประชาชนทั่วประเทศเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกหนังสือสัญญาที่ไม่ชอบธรรมนี้โดยเร็วที่สุดเช่นเดียวกับที่ "ขบวนการเสรีไทย"
ที่ได้เคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของประเทศจนเป็นผลสำเร็จในท้ายที่สุด"

จากนั้นผู้ชุมนุมได้เผาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ทั้งฉบับภาษาอังกฤษ และภาษาไทย รวมทั้ง "บัญชีหนังหมา" ซึ่งเป็นเอกสารรวบรวมรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาความตกลง
และผู้ที่ให้การสนับสนุน ประกอบไปด้วย คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคณะ,
คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทั้งคณะ ยกเว้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเคยอภิปรายท้วงติงการลงนามความตกลงเพราะเป็นห่วงการนำเข้าขยะและการส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นมาใช้บริการสาธารณสุขไทย และยกเว้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง



นางสาวสารี อ๋องสมหวัง สมาชิกกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์กล่าวว่า การมาประท้วงในวันนี้เพื่อสะท้อนความไม่เห็นด้วยกับการลงนามความตกลงที่จะมีขึ้นในเวลา18.00 น. เชื่อว่ามีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ไม่โปร่งใสของรัฐบาลชุดนี้มากกว่า 70% และเรามาบอกกล่าวแก่สถานฑูตญี่ปุ่นให้นำสารไปถึงรัฐบาลญี่ปุ่นว่าความตกลงนี้มีหลายประเด็นที่กระทบกับคนไทย เช่น เรื่องขยะที่แม้แต่คนญี่ปุ่นก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ญี่ปุ่นพยายามยัดเยียดขยะสารพิษมาทิ้งในประเทศไทย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลย
การจำกัดมาตรการบังคับใช้สิทธิการคุ้มครองนักลงทุนซึ่งละเมิดอธิปไตยของประเทศ และการกระตุ้นการบริการสุขภาพจนเกิดปัญหาหมอสมองไหล

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น จะต้องนำความตกลงฯที่ลงนามแล้วผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จึงอยากเห็นรัฐสภาญี่ปุ่นจะแก้ไขเนื้อหาสาระที่น่ากังวลเหล่านี้เพื่อเฉลิมฉลอง120 ปีความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น นอกจากนี้ หวังที่จะเห็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 20-30 ท่านเข้าชื่อกันเพื่อขอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญตีความว่า
สิ่งที่รัฐบาลไปลงนามนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


"เราเรียกร้องสปิริตจาก สนช. ในครั้งนี้ที่จะปกป้องประเทศไทย เพราะการลงนามครั้งนี้ไม่ต่างจากการที่ จอมพล ป.พิบูลสงครามทำสัญญาร่วมสงครามกับญี่ปุ่นโดยที่ไม่ผ่านสภา และต้องเป็นโมฆะในที่สุด" นางสาวสารีกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net