Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา 


 



 


เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จ.เชียงใหม่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "สันติวิธีในสังคมพหุวัฒนธรรมมุมมองจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยได้เชิญสถาบันอุดมศึกษาทั่วภาคเหนือ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้างเครือข่ายสันติวิธีแบบสังคมพหุวัฒนธรรม


 


ในภาคบ่ายวันนั้น ได้มีปราชญ์ชาวบ้าน ชนเผ่า ผู้นำศาสนามาร่วมแลกเปลี่ยนเสวนากันเพื่อสร้างเครือข่ายสันติวิธีในสังคมพหุวัฒนธรรม ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยได้เริ่มขึ้นที่ภาคเหนือเป็นแห่งแรก


 


อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ เปลี่ยนกันไม่ได้ง่ายๆ


นายแควะเวน ศรีสมบัติ ผู้รู้ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน(เย้า) กล่าวว่า อัตลักษณ์ จารีตความเชื่อวัฒนธรรมนั้นมันเปลี่ยนกันไม่ได้ง่ายๆ ไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ตามต่างก็อยากจะสืบทอดเอาไว้ตามบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องการสลายชาติพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ปัญหาชนเผ่านั้น รัฐโดยกรมประชาสงเคราะห์ สงเคราะห์ชาวเขา ได้มีนโยบายสลายชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด มีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลให้เป็นชื่อไทย จนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีชื่อชนเผ่ากันแล้ว รวมไปถึงวัฒนธรรมชนเผ่าเย้าก็เริ่มเลือนหายไปเกือบหมด เพราะฉะนั้น จึงอยากให้มีการสงวนรักษาอัตลักษณ์ของแต่ละเชื้อชาติเอาไว้ ไม่ว่าเรื่อง การแต่งกาย หรือภาษา เพราะไม่ใช่สิ่งเสียหายและก็ไม่ได้ไปเดือดร้อนใคร


 


"สำหรับมุมมองต่อกรณีปัญหาชายแดนภาคใต้นั้น เราควรจะเคารพต่อชาติพันธุ์ เคารพศักดิ์ศรีในอัตลักษณ์ของพี่น้องชายแดนภาคใต้ ผู้ปกครองหรือข้าราชการควรจะยอมรับและสนับสนุนอัตลักษณ์ของพวกเขาพร้อมทั้งสนับสนุนและสร้างความเข้าใจให้สังคมทั่วไปได้รับรู้ว่า ชาติพันธุ์ นั้นมันไม่ได้หายไปไหน เพราะฉะนั้นเราจึงหนีไม่ออก เพราะในที่สุดแล้ว พวกเขาก็มีความภาคภูมิใจลึกๆ ว่า ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ก็จะเปิดเผยให้โลกรู้ แต่ถ้าถูกกดดันมากๆ ก็จะระเบิด ดังนั้น เราต้องให้โอกาสกับกลุ่มที่เคลื่อนไหว และควรจะเปิดโอกาสให้พี่น้องจังหวัดภาคใต้ได้ประชุมพูดคุยกัน"นายแควะเวน กล่าว


 


ตัวแทนชนเผ่าเย้า ยังกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ทุกฝ่ายต้องอดทน อดกลั้น และหาทางแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของความยุติธรรม แต่ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังมักถูกเอาเปรียบอยู่เช่นเดิม


 



 


ปราชญ์ปวาเก่อญอ ชี้สันติวิธี คือการเดินขบวน ไม่ใช้อาวุธ


นายจอนิ โอ่โดเชา ตัวแทนชนเผ่าปวาเก่อญอ หรือ กะเหรี่ยง กล่าวถึงเรื่องแนวทางสันติวิธีว่า ที่ผ่านมา ได้ใช้วิธีการที่เรียกว่าสันติวิธีนั้นมานานกว่าสิบปีแล้ว คือการเดินขบวนเรียกร้อง เรื่องการรักษาป่าดูแลป่า แต่ก็ถูกมองว่า ทำตัววุ่นวาย ทำให้ขายหน้าเสียหน้าเสียตาของประเทศ แต่เราก็ยังต้องเดินขบวนกันต่อไป


 


"เมื่อถามว่า ทำไมถึงเดินขบวน แล้วทำไมเราไม่ใช้ระเบิด ไม่ใช้ปืนในการเรียกร้องต่อสู้ ก็เพราะว่า เราเห็นว่าสงครามการต่อสู้อย่างทหารกะเหรี่ยงสู้รบกับทหารพม่ามาเป็น 50 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คนที่ผลประโยชน์ ก็คือ คนค้าอาวุธ ดังนั้น ตำรวจ ทหาร ที่ใช้ระเบิด ปืน สู้กันก็ผิด กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ใช้ปืนใช้ระเบิดสู้กัน ก็ผิดเหมือนกันหมด"


                                                    


เคยเสนอให้ 3 จว.ใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ แต่ถูกปฏิเสธ


นายจอนิ ยังกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านั้น เคยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายมาตกลงกันว่า ไม่ต้องแบ่งแยกดินแดน แต่ขอให้มีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ให้คนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จัดการดูแลกันเอง แต่ก็ถูกคัดค้าน กลัวว่าถ้าแบ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ ต่อไปก็อาจสูญเสียดินแดนไปได้ในอนาคต


 


ชี้ต้องใช้กระบวนการผู้อาวุโส-สตรีมุสลิมเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา


ปราชญ์ชนเผ่าปวาเก่อญอ ยังได้เสนอแนวทางสันติวิธี อีกว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี ก็ต้องใช้กระบวนการผู้อาวุโสและกลุ่มสตรีมุสลิมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และภาครัฐและนักวิชาการก็ต้องลงไปในพื้นที่ ไม่ใช่มามัวประชุมกันแต่ในห้องประชุมเพียงเท่านั้น และที่เป็นปัญหาหนึ่งก็คือ ประชาชน ชาวบ้านขาดเครื่องมือสื่อสารเวลาเจอกับปัญหา


 


"จะต้องเชิญผู้เฒ่าผู้อาวุโสทางภาคใต้ แม่หญิงมุสลิมมานั่งพูดคุยกัน และไม่ใช่เพียงแค่ครั้งเดียว อาจจะเป็น 20-30 ครั้ง และอยากบอกว่า ถ้าจะสู้กันด้วยสันติวิธี แต่ถ้าชาวบ้านยังลำบาก ยังยากจนอยู่ สันติวิธีก็แก้ไขไม่ได้ สันติวิธีต้องกินได้ด้วย" นายจอนิ กล่าวทิ้งท้าย


 



   


ต้องสันติวิธีแบบ Harmony


สัมพันธ์สมดุลทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ


คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานร่วมกับพี่น้องชนเผ่ามานาน จะเห็นว่า ชาวเขานั้นถูกรัฐหล่อหลอมให้เป็นคนไทย ในขณะที่ชาวเราก็ถูกกลบความคิดว่า ชาวเขาคือตัวปัญหา เวลาน้ำท่วมก็บอกว่าชาวเขาทำลายป่า พอเกิดควันพิษก็บอกว่าชาวเขาเผาป่า ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งแท้จริงแล้ว เป็นการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติ วิถีชีวิต จิตวิญญาณ ความเชื่อของชาวบ้าน


 


"ดังนั้น รัฐไทยจะต้องรีบเปลี่ยนทัศนคติกันเสียใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน โลกทัศน์ของการพัฒนากระแสหลักจากข้างนอกได้รุกเข้าไปในในหมู่บ้าน ซึ่งคือตัวทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน และต้องไปเรียนรู้โลกทัศน์ทางชาติพันธุ์ โดยที่ไม่เน้นวัตถุ"


 


คุณพ่อนิพจน์ ยังได้พูดแนวทางสันติวิธี ด้วยว่า สันติวิธีในมุมมองของชนเผ่าหรือชาติพันธุ์นั้น จะต้องเป็นสันติวิธีแบบ Harmony เป็นความสัมพันธ์แบบสมดุลสอดคล้องทั้งชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คน


 


"อย่างชนเผ่าปวาเก่อญอ เวลามีความขัดแย้งกับคน ก็จะทำพิธีขอขมา ขอคืนดีกัน เวลาขัดแย้งกับธรรมชาติ ก็จะไปทำพิธีขอขมาธรรมชาติ ขอคืนดีกับธรรมชาติ แต่สันติวิธีแบบนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการประณีประนอม แล้วเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม แต่ต้องเป็นมิติทางวัฒนธรรม จารีต จิตวิญญาณ และความชอบธรรมด้วย อย่างสังคมภาคเหนือถือว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ถ้าเราไม่เรียนรู้ ไม่ยอมรับความหลากหลาย สังคมก็จะเป็นอันตรายในอนาคต" คุณพ่อนิพจน์ กล่าว


 


ย้ำ อย่าเอาศาสนาไปพัวพันกับเหตุการณ์


หลังจากนั้น อาจารย์ถวาย กิตติคุณ ตัวแทนสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย จ.เชียงราย ได้พูดถึงกรณีปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ว่า ถือว่าคนที่ประพฤติและใช้ความรุนแรงกลุ่มนั้น เป็นฝ่ายอธรรม หรือฝ่ายซาตาน ซึ่งอยู่คนละข้างกับฝ่ายธรรมะ หรือพระเจ้า เพราะทุกศาสนานั้นสอนให้เรามีความรัก ความเห็นใจ แต่ถ้านับถือศาสนาแต่เปลือก เราก็จะไม่รอด


 


ตัวแทนสภาคริสตจักร จ.เชียงราย ยังกล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลชอบโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อก่อนจะลงไปในพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่อันตราย และอยากให้ผู้นำของรัฐทุกหมู่เหล่าที่ลงกำกับดูแลและลงไปในพื้นที่ ต้องเป็นคนมีน้ำใจ ซื่อสัตย์ เสียสละ และที่สำคัญ อย่านำเอาศาสนาไปพัวพันกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการปะทะกันรุนแรงมากยิ่งขึ้น


 


รัฐต้องศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่องรัฐชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น


นายวุฒิ บุญเลิศ ประธานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมชุมชน กล่าวว่า สาเหตุปัญหาชายแดนภาคใต้รุนแรงจนถึงวันนี้ มาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมามองข้ามหัวประชาชน คิดว่าการใช้อำนาจ ใช้กำลังจะสามารถจัดการแก้ไขปัญหานี้ได้


 


"ซึ่งถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ในหลายพื้นที่ จะพบว่าประวัติศาสตร์คือความเจ็บปวด โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณี ทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ซึ่งพี่น้องกะเหรี่ยงนับถือว่า เป็นทุ่งใหญ่ที่มีผลไม้สีแดงและฤาษีอาศัยอยู่ เป็นพื้นที่ที่ซึ่งพี่น้องกะเหรี่ยงนั้นอยู่กันมาก่อน แต่พอรัฐเข้าไป ทุกอย่างก็หายไปหมด เหมือนกับว่ามันไปกดทับความความภาคภูมิใจของคนกะเหรี่ยง"


 


ประธานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมชุมชน ยังกล่าวถึงกรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกว่า เพราะฉะนั้น การจะแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี รัฐจะต้องมีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งในเรื่องรัฐชาติ จารีตประเพณี วัฒนธรรม เพื่อจะนำไปสู่ความเข้าใจ


 


"เพราะมิฉะนั้น ถ้าเขาอึดอัด ถูกปิดกั้น กระทั่งท้ายสุดก็จะออกมาตรการตอบโต้ด้วยวิธีการที่รุนแรงยิ่งขึ้น"


 


นี่เป็นบางความคิดเห็นของผู้นำศาสนาและปราชญ์ชนเผ่า ที่มีต่อกรณีปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้จัดขึ้นเวทีเสวนา "สันติวิธีในสังคมพหุวัฒนธรรมมุมมองจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัฒนธรรมได้สะท้อนออกมา ก่อนจะนำไปประมวลเป็นข้อเสนอและหาจุดร่วมที่เหมาะสมของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมไทยต่อไป


 


ในขณะที่ ล่าสุด วันที่ 2 เม.ย.นี้ รัฐบาลสุรยุทธ์-คมช.-กองทัพ ได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการเสริมกำลังชุดทหารพราน 20 กองร้อยลงชายแดนใต้ เพื่อร่วมแก้ปัญหาความไม่สงบ โดยก่อนหน้านั้น ได้จัดส่งกำลังชุดแรกจำนวน 10 กองร้อย เป็นทหารพรานชายและหญิง ลงพื้นที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net