Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 10 เม.ย. 2550 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 เม.ย. 50 นี้เริ่มต้นเมื่อเวลา 9.30 น. ซึ่งเป็นการพิจารณาในหมวดที่ 12 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


 


นายศรีราชา เจริญพานิช กมธ.กล่าวว่า ในการโหวตลับในวันที่ 10 เม.ย. นั้นเขาอยากทราบเหมือนกันว่าจะมีกรรมาธิการที่เห็นด้วยกับเขากี่คน อยากให้สมาชิกทุกคนกล้าที่จะตัดสินใจเพราะการตัดสินใจของพวกคุณจะกระทบต่ออนาคตของชาติในวันข้างหน้า


 


ต่อมาที่ประชุมก็เริ่มพิจารณาในมาตราที่ 271 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังต่อไปนี้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรต่อคณะกรรมการป้องกันละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งคือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทราษฏร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกท้องถิ่นตามที่กฏหมายบัญญัติ โดยในวรรคสุดท้ายระบุอีกว่า การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้รวมถึงทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าทางตรงทางอ้อมด้วย


 


ซึ่งนายสมคิดกล่าวว่า ทางอนุกรรมาธิการกรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมืองขอเพิ่มเติมในเรื่องบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย


 


นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กมธ.กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการแต่อยากขอแนวทางว่าจะมีทางออกหรือไม่หากบุตรและบิดาทะเลาะกันและแบ่งงานกันถ้าเป็นสามีภรรยาหย่าขาดกันก็มีช่องทางให้แต่หากบุตรและบิดาทะเลาะกันมีช่องทางให้เขาหรือเปล่า


 


นายวิชา มหาคุณ กมธ. กล่าวว่า มีอีกกรณีคือหากสามีภรรยาแยกกันอยู่ติดต่อกันไม่ได้เลยและไม่ยอมติดต่อกันด้วย โกรธขนาดไม่เผาผีกันและไม่สามารถนำบัญชีทรัพย์สินมายื่นได้ แต่ต้องมีข้อมูลประกอบว่าเขาบริสุทธิ์จริงๆ ยกตัวอย่างในครม.ชุดนี้ก็มีหนึ่งท่านแต่คงไม่ต้องเอ่ยนามซึ่งเลิกกันไปแล้วแต่ไม่ได้จดทะเบียนหย่าอย่างชัดเจน เขาก็เอาพยานมายืนยันและมีหลักฐานชัดเจนว่าได้เลิกรากันไปแล้วแต่ไม่ได้จดทะเบียนหย่า ซึ่งเรื่องนี้เขามองว่าเป็นกฏหมายลูกที่จะบันทึกเป็นเจตนารมณ์ให้ชัดเจนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้


 


นายประพันธ์ นัยโกวิท กล่าวว่า กมธ. กล่าวว่า เห็นด้วยในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้เป็นเร่องที่ดี แต่การที่ระบุว่าบอกให้บุตรยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยเป็นการระบุลอยๆ ต่างจากรัฐธรรมนูญปี2540 มาตรา 291 ที่ให้ยื่นทั้งของตนเองและผู้สมรสในครั้งนั้นมีเหตุผลประกอบอยู่แล้ว ส่วนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะผู้ปกครองก็ยังต้องดูแลอยู่ แต่ให้รวบบุตรเฉยๆ ซึ่งหมายความถึงบุตรที่ทั้งบรรลุนิติภาวะและไม่บรรลุนิติภาวะหากบุตรบางคนทะเลาะกับบิดา หรือบางคนแต่งงานแต่งการไปก็จะเป็นภาระมาก ถ้าหากว่านักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เอาทรัพย์สินไปฝากไว้กับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมันก็จะเข้าในวรรค 2 ที่เราเพิ่มอยู่แล้วคือคนที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ต้องแสดงอยู่แล้ว ถ้าเขียนลอยๆ มันกระทบสิทธิบุคคล ที่เขียนเพิ่มในวรรค 2 ดีแล้วถ้าเป็นบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะตามหลักการเดิมต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน


 


นายอัครวิทย์ สุมาวงษ์ กมธ. กล่าวว่า บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะน่าจะอยู่ในวรรค 2 สำหรับวรรคแรกน่าจะใช่สำหรับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ


 


ซึ่งนายสมคิด กล่าวสรุปว่า งั้นเขาก็ขอสรุปว่าควรกำหนดเฉพาะบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและให้ไปตีความในวรรค 2


 


นักการเมืองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน 3 เวลา ก่อน-หลังเล่นการเมืองและตาย


ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา 272 ที่ระบุว่า บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 271 ให้แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้ที่มีอยู่จริงในวันที่ยื่นบัญชีดังกล่าว และต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาต่อไปนี้ คือ 1.กรณีเข้ารับตำแหน่งยืนภายใน 30 วันก่อนเข้ารับตำแหน่ง 2. กรณีพ้นตำแหน่งให้ยื่น 30 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง 3.หากยื่นแล้วตายในระหว่างดำรงตำแหน่งหรือก่อนยื่นบัญชีหลังจากพ้นตำแหน่ง ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินภายใน 30


 


นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กมธ. กล่าวว่า มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนว่า หากผู้ดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งติดต่อกัน ทุกๆ 3 ปีก็ต้องยื่นน่าจะเป็นการขยายความในเรื่องนี้ได้ เช่นถ้าอยู่ในตำแหน่ง 6 ปี 3 ปีก็ต้องยื่นอีกครั้ง


 


นายวิชา กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ปฏิบัติมานานในกฎหมาย ปปช. เราถือเป็นแนวปฏิบัติมีกฎหมายเท่าไหร่ก็ใช้หมดเพราะกฎหมายออกมาแบบนี้ ซึ่งจะใส่อย่างไรให้สอดคล้องกันซึ่งถ้าถือมาตรานี้เป็นหลักก็ต้องแก้กฎหมาย ปปช.


 


เน้นให้เปิดเผยบัญชีต่อสาธารณชน


ส่วนในการพิจารณาในมาตรา 273ที่ระบุว่า บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว บัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาด และได้รับการร้องขอจากศาลหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งในวรรค 2 และ 3 สรุปใจความได้ว่า ให้ ปปช.จัดตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินต่างๆ เหล่านั้นว่ามีความถูกต้องหรือไม่ และหากไม่ถูกต้องให้ ปปช.ส่งเรื่องให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปทำการเก็บภาษีย้อนหลังเป็นเวลา 10 ปี และหากศาลพิจาณาถึงที่สุดแล้ว ผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลา 10 ปี


 


โดยนายประพันธ์ กล่าวว่า ในร่างวรรคที่ 2 และ 3 ที่เพิ่มเข้ามาในการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง 10 ปีเป็นระยะเวลที่ยาวมากซึ่งทางปฏิบัติกรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้แค่ 5 ปี เพราะหากกำหนดเป็น 10 ปี อาจจะยากในเรื่องของเอกสารก็ได้ ส่วนการที่กำหนดว่าหากพ้นจากตำแหน่งจะต้องเสียค่าปรับเพิ่ม เราต้องเขียนให้ชัดเจนว่าจงใจยื่นภาษีเงินได้ประจำปีโดยทุจริต ซึ่งหากดูตามถ้อยคำแล้วมันแข็งมากและในทางปฏิบัติจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้


 


นายสมคิดกล่าวว่า ที่เพิ่มเข้ามาเป็นทางปฏิบัติที่ละเอียดจะนำไปเขียนในกฎหมายลูก ซึ่งเราคุยกันมาแล้วว่าจะให้ ปปช.ไปดู ซึ่งเขาจะขอตัดออกได้หรือไม่


 


จงใจปกปิดบัญชีละเว้นจากการเมือง 5 ปี


ส่วนการพิจารณาในมาตรา 275 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่น หรือนับแต่วันที่ตรวจพบการกระทำดังกล่าวแล้วแต่กรณี และผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นสมาชิกพรรคการเมืองและสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง


 


และวรรค 2 ระบุว่า เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป


 


นายอัครวิทย์ สุมาวงษ์ กรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่าในช่วงตอนท้ายของวรรคหนึ่งที่ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี ซึ่งเวลาเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลฏีกาเวลาอาจจะเลื่อนไปอาจจะทำให้ระยะเวลายืดยาว น่าจะนับตั้งแต่วันที่ศาลพิจารณาเรื่อง


 


นายวุฒิสาร ตันไชย กมธ. กล่าวว่า การห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหนักไปเพราะโดยหลักสิทธิพื้นฐานเขาสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกพรรคได้


 


นายสมคิด กล่าวว่า ตามข้อบังคับแล้วตำแหน่งห้ามตำแหน่งทางการเมืองรวมหมดเหลืออย่างเดียวที่ไม่ได้ห้ามคือตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน


 


นายวิชา กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของกรอบ 3 แล้วห้ามทุกตำแหน่งและเป็นการตัดวงจรในทางการเมืองเลย ซึ่งหากเราพูดกันว่าจะต้องตัดเด็ดขาดก็คือต้องเด็ดขาดต้องไม่เหมือน คมช.


 


แต่นายวุฒิสาร กล่าวว่า การห้ามเป็นรองหัวหน้าพรรคเป็นดุลยพินิจของพรรคที่จะพิจารณา เราไม่ควรก้าวเข้าไปเกี่ยว โดยภายหลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวางแล้วที่ประชุมเห็นมีมติให้คงเดิม


 


ตำรวจ อัยการ อธิการบดี หนีไม่พ้นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหมด


ส่วนการพิจารณาในมาตรา 276 เรื่องการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินตามมาตรา 271, 272 ,273 วรรคหนึ่งวรรคสามและวรรคสี่และมาตรา 275 วรรค 1 ให้ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับ 9 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า


 


วรรค 2 ระบุว่า ปปช.อาจเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของบุคคลใดที่มีการยื่นต่อ ปปช.แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีหรือการวินิจฉัยการกระทำความผิด ตามที่บัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นายสมคิดบอกว่าที่ประชุมได้ลดลงเป็นระดับ 8 แล้ว


 


นายเดชอุดมกล่าวว่า อยากขอตั้งข้อสังเกตุว่าระดับ 8 เราเทียบรัฐวิสาหกิจจึงอยากให้เทียบสายตุลาการและอัยการด้วยว่าอยู่ในระดับในสายยุติธรรมอยู่ไหนและอยู่ในระดับใด


 


นายอัครวิทย์ สุมาวงษ์ กมธ. ฯกล่าวว่า ผู้พิพากษา ตุลาการ ศาลปกครอง และอัยการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กำหนดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย ตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งเป็นข้าราชการตุลการ


 


นายศรีราชา กล่าวว่า เขามีข้อสังเกตว่า ถ้าดำรงตำแหน่งระดับ 9 จะมีปัญหาในการทำงานเพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับ 9 มี 2000 -3000 คนจะต้องเข้าใจด้วย ถ้าจะกำหนดจริงๆ ต้องเอาผู้บริหารที่อยู่ในระดับนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นข้าราชการที่ไม่มีประโยชน์ให้เห็นโดยตรงก็จะโดนด้วย


 


ตอนนี้มีตำแหน่งในระบบการศึกษามีการกล่าวขวัญกันมากเช่นผู้อำนวยการเขตพื้นที่และรอง ผอ. เขตมีพฤติกรรมในการต่อรองเรียกรับผลประโยชน์ในตำแหน่งโดยเฉพาะผู้อำนวยการเขตต่างๆ ถ้าจะเอาระดับ 8 ต้องบอกว่าเป็นระดับ 8 ระดับผู้บริหาร เพราะระดับ 8 ขณะนี้มีหลายคนมีเป็นหมื่นๆ คน ตัวองค์กรที่รับเรื่องจะรับไม่ไหว


 


นายสมคิด กล่าวว่า ให้เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ ปปช.กำหนด และให้เป็นระดับ 8 ของฝ่ายบริหารขึ้นไป


 


นายวิชา กล่าวว่า เรื่องตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสารวัตร ระดับผู้กำกับก็เทียบเท่า ผอ.กอง กรมสรรพสามิตร หรือผู้บริหารการศึกษาก็ทุจริตเยอะเราไม่เคยตรวจสอบเรื่องนี้เลย ถ้าใช้คำกลางๆ แบบนี้เราจะต้องไปเขียนเจตนารมณ์ในกฎหมายลูกให้ชัดเจนด้วย


 


ห้ามนักการเมือง-คู่สมรส-ลูก เจ้าของสื่อ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมในช่วงเช้ารอบสองเป็นการเริ่มประชุมในหมวดที่ 2 เรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยมาตรา 277 ที่ระบุว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรต้อง 1.ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสากิจและตำแหน่งในท้องถิ่น 2.ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสากิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน


 


ทั้งนี้ได้มีการบัญญัติให้ ส.ส.ห้ามเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว ซึ่งความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรธิดาของส.ส.ทั้งนี้รวมถึงบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คู่สมรส และบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร


 


โดยที่ประชุมได้อภิปรายในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นควรให้แก้เรื่องบุตรธิดาของส.ส.ว่าจะเป็นบุตรที่บรลุนิติภาวะแล้วหรือเป็นบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งฝ่ายเลขารับเรื่องนี้ไว้พิจารณา


 


ห้ามนักการเมืองแทรกแซง ขรก. ประจำ-เดชอุดม จวก "ร่างรธน. ด้วยความกลัว"


ส่วนการพิจารณาในมาตรา 278 ซึ่งระบุว่า ส.ส. ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง โดยมีการเพิ่มเติมให้ รวมถึงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นดังกล่าว


 


นายมานิจ สุขสมจิตร กล่าวว่า อยากให้ระบุว่าไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อม


 


ซึ่งนายสมคิดกล่าวว่าถ้ามีคนมาร้องเรียนต่อ ส.ส. ว่าถนนมีปัญหาแล้ว ส.ส.จะไปบอกให้ข้าราชการดำเนินการแก้ไขได้หรือไม่ แบบนี้จะเรียกว่าการแทรกแซงหรือเปล่า เพราะคำว่าแทรกแซงการทำงานของข้าราชการกว้างมากไป


 


นายสนั่น อินทรประเสริฐ กมธ.กล่าวว่า ถ้าทำโดยมีผลประโยชน์แอบแฝงเขาก็รับไม่ได้ จึงอยากให้เติมว่าเป็นการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของ ส.ส.เอง ถ้าเข้ามาแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไปด้วยกันได้อยู่แล้วแต่ที่เขารับไม่ได้คือการมาในทางอื่น


 


นายวิชา กล่าวว่า ปัญหาที่ ปปช.ตรวจสอบการทุจริตและพบเจอบ่อยครั้งคือนักการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของราชการโดยวางแผนเอางบส.ส.ที่จะได้ไปให้โรงเรียนที่อยู่ในเขตอำนาจซื้อรถยนต์หรือเอาไปให้ภรรยาใช้ ซึ่งเรื่องนี้ทำกันอย่างแพร่หลาย เขาเศร้าใจอยากจะบอกเลยว่าเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเท่าไหร่ ถ้าไม่แก้พวกที่มาจากศาสตร์หน้าด้านใจดำให้ได้มันก็ต้องเกิดเรื่องขึ้นอีก ซึ่งเรื่องนี้เราต้องระบุให้เป็นเรื่องใหญ่เลย


 


นายเดชอุดม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มนุษย์ต้องต่อสู้กับความโลภในอำนาจหน้าที่อยากจะดำรงตำแหน่งก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งผิดๆ ก็รู้ว่าผิดยังทำ


 


"อยากถามว่าท้อแท้เหรอครับที่เขาจะปลดจากปลัด ท้อแท้เหรอครับที่เขาจะปลดจากผู้ว่า ทำไมล่ะครับปลดก็ปลดสิครับ กลัวอดตายเหรอครับ กลัวลูกไม่ได้ไปเรียนเมืองนอกเหรอครับ ถ้าอย่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ร่างด้วยความกลัวแล้วล่ะครับ ท่านจะบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดมันไม่ใช่หรอกครับหากไม่บัญญัติเรื่องนี้ให้ชัดเจน คำสั่งที่ไม่มีตัวตนไม่ชอบด้วยกฎหมายและยังกล้าปฏิบัติผมไม่สงสารท่านหรอกเลย ถ้าผมตัดสินคดี ผมก็จะสั่งให้ท่านเข้าคุกเลยเพราะท่านไม่มีความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมแม้แต่นิดเดียว" กมธ.ผู้นี้กล่าว


 


นายจรัญ ภักดีธนากุล กมธ.กล่าวว่า คิดว่าน่าจะจำเป็นต้องเขียนว่าการที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมไม่ได้ เพื่อค้านฝ่ายที่จะมีอำนาจเอาไว้ก่อน ส่วนข้าราชการประจำตน เข้าใจว่า วิสัยของข้าราชการประจำ เราคล้ายถูกตอน หรือเลี้ยงไว้ในระบอบระบบที่ต้องยำเกรงเจ้านายมาตลอด ความกล้าหาญน้อยไป แต่การจะแก้ปัญหานี้ของข้าราชการประจำ ไม่เห็นว่าต้องมาเขียนในนี้เพราะเป็นเรื่องฝ่ายการเมือง ส่วนข้าราชการประจำอยากให้ไปอยู่ ไปอยู่หมวด 13 ว่าข้าราชการประจำต้องไม่รับคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ต้องไม่เกรงกลัวภัย ปลุกจริยธรรมข้าราชการขึ้นมา กล้าหาญในสิ่งที่ถูกต้อง ใครจะมาสั่งอะไรผิดวิธีไหน ต้องยืนยันหลักการที่ถูกต้องไม่สยบยอม ไม่ใช่ปกป้องข้าราชการที่สยบยอมแต่ต้องปลุกขวัญข้าราชการคืนมา


 


นายวิทยา งานทวี กมธ. กล่าวว่า ส่วนของการบริหารต้องมีบทบาทมาดำเนินการเรื่องที่ไปตามนโยบาย แต่ถ้าการกระทำไม่ถูกต้อง ข้าราชการคงวางตัวลำบาก ถ้าอำนาจผู้บริหารยังมีอยู่ เป็นไปได้ไหมที่ให้อุทธรณ์ได้ มีองค์กรที่มาปกป้อง ถ้าพิจารณาแล้วขัดกับระเบียบปฏิบัติ ถ้าการสั่งไม่ชอบควรมีการเคาเตอร์ เป็นวาล์วหรือทางออกให้ผู้ดำเนินการ


 


ขณะที่นายศรีราชา เจริญพานิช กมธ. กล่าวว่า ชีวิตของข้าราชการเป็นชีวิตที่ต้องปกป้องตัวเอง เพราะถ้าออกจากราชการ ในจังหวะที่เกิน 40-50 แล้ว คงไปประกอบอาชีพอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น สถานภาพความเป็นอยู่จึงต้องมั่นคง เพราะเราไม่ได้มาคนเดียวปากเดียวท้องเดียว เพราะมีหลายคนต้องดูแล เพราะฉะนั้นช่วงจังหวะชีวิตนี้เป็นช่วงที่ก้าวสู่การบริหาร แต่ต้อง secure ต้องมีเซฟตี้วาล์วเพื่อหาทางออกให้ข้าราชการที่ได้รับแรงกดดันที่ทำอะไรไม่ชอบ โดยให้ข้าราชการแจ้งต่อ ปปช. หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยถือเป็นความลับ และดำเนินการสอบสวน เมื่อแจ้งแล้วถือว่าได้แจ้งเบาะแสของการกระทำความผิดแล้ว และแม้ต้องทำหน้าที่ต่อถือว่าได้รับการอภัยโทษแล้ว ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีและเอานักการเมืองผู้มีอิทธิพลออกจากระบบนี้ และแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นได้


 


นางสดศรี สัตยธรรม กมธ. กล่าวว่า การก้าวก่ายข้าราชการจากนักการเมือง ต้องยอมรับว่ามีมาตลอดและแก้ลำบาก ท่านที่ไม่เคยโดนจะไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น ท่านที่ไม่เคยอยู่ในวงการราชการ จะไม่รู้ว่าข้างในเป็นอย่างไร บางครั้งไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง แต่รวมถึงครอบครัวมาบังคับขู่เข็ญ ถ้าไม่ดำเนินการจะถูกไล่ออก ถูกย้าย ถูกกลั่นแกล้ง


 


นางสดศรี เห็นว่า บทมาตรานี้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นภูมิคุ้มกันข้าราชการประจำด้วย ข้าราชการประจำของสรรพากรถูกออกจากงาน แต่เมื่อสาวเรื่องกลับไม่ถึงนักการเมือง นี่เป็นความยุติธรรมหรือ ต้องยอมรับว่า นักการเมืองเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ เพราฉะนั้นถ้าจะดำเนินการคุ้มครองก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ต้องถึง ปปช. คิดว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็น่าจะดำเนินการได้ด้วยซ้ำ ดังนั้น คิดว่าน่าจะคงมาตรานี้ไว้ แต่ถ้าตัดก็ขอสงวน


 


นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กล่าวว่า ทุกวันนี้มีหน่วยงานภายนอกอีกลักษณะหนึ่งที่รัฐไม่ได้เรียกว่ารัฐวิสาหกิจ แต่รัฐถือหุ้นใหญ่ อาจถือหุ้น 10% เมื่อถือไม่ถึง 30% ตามกฎหมายก็ไม่ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่คนที่ถือหุ้นใหญ่ คนของรัฐก็มีบทบาทสูงมาก เป็นช่องโหว่ที่ ส.ส. ส.ว. เข้าไปก้าวก่าย ใช้อำนาจรัฐมนตรีบีบผู้บริหาร ทำให้ถูกแทรกแซง ขอเสนอให้เติมท้ายรัฐวิสาหกิจให้รวมถึงกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่


 


นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม กล่าวว่า วิวัฒนาการในการประกอบธุรกิจ ระบบของบริษัทใหญ่ 30% ก็คอนโทรลได้แล้ว ที่พิสิฐพูดมีเหตุมีผลและเกิดขึ้นแล้วในบ้านเรา ถ้าใส่ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็พอ


 


นายสมคิด กล่าวกรณีกรรมาธิการบอกว่า ข้าราชการไม่มีอาวุธว่า เขามีอาวุธทุกประเภท จะร้องศาลปกครอง ปปช.ก็ได้ ขาดอย่างเดียวคือความกล้าหาญที่จะฟ้อง วาล์วทุกวาล์วเปิดหมด แต่ที่ผ่านมา ไม่กล้าร้องกัน


 


ภายหลังจากการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นายสมคิด ได้สรุปว่า ให้ระบุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำ การบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้พ้นจากตำแหน่งด้วย


 


ทั้งนี้ นายสมคิด ได้กล่าวว่า หน้าที่การเขียนตรงนี้ให้ร่วมกันรับผิดชอบ เพราะเดิมเราไม่เคยเขียนเรื่ององค์กรเอกชน นี่เป็นการเขียนครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกที่เข้าไปแทรกในองค์กรเอกชน


 


ถกไม่จบ ห้ามลูก รมต. ทุกคน หรือแค่ลูกไม่บรรลุนิติภาวะ ถือหุ้นบริษัท


ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา 281 ซึ่งระบุ "รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้รัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้รัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว"


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างที่ฝ่ายเลขาฯ ร่างมา เสนอให้เพิ่มเติม ให้นำความในมาตรานี้ใช้บังคับคู่สมรสและบุตรของรัฐมนตรีด้วย


 


นายพิสิฐ กล่าวว่า วรรคสุดท้ายที่เติมมา มีปัญหาพอสมควร หารือว่าถ้าเขียนให้สอดคล้องกับวรรคอื่นๆ ที่นายประพันธ์ยกมาในมาตราก่อนหน้านั้นจะเหมาะสมไหม โดยให้เหตุผลว่า ถ้าบุตรทำธุรกิจแล้วไม่ได้ยุ่งกับพ่อแม่น่าจะปล่อยเขาไป


 


นายคมสัน กล่าวว่า แม้กิจการของบุตรจะไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของพ่อแม่ แต่อาจมีผลโน้มน้าวทางจิตใจต่อบิดามารดาที่เป็นรัฐมนตรี ทำให้มีการกำหนดเรื่องที่จะเป็นส่วนได้ส่วนเสีย


 


นายสมคิด กล่าวว่า เดิม ให้ทิ้งการเป็นผู้บริหารบริษัทไป ต้องไปทำงานอย่างอื่น จะทำงานบริษัทไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นก็ต้องกำหนดว่าบริษัทขนาดไหนที่จะให้ทิ้งหุ้น


 


นายประพันธ์ เห็นด้วยกับนายสมคิด เนื่องจากการกำหนดเช่นนี้จะกระทบคนเยอะมาก กว้างมาก อาจบรรเทาได้โดยวรรคท้าย คนที่เป็นลูกนักเมืองอาจไม่ใช่คนที่เห็นด้วยกับพ่อ และอาจได้รับผลกระทบจากการที่พ่อเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ


 


นายพิสิฐ กล่าวว่า หลักใหญ่คือเราต้องการป้องกันการทุจริต ซึ่งถ้าเกินเลยไปกว่านั้น ถ้าเราปล่อยออกมาจะมีปัญหาต่อเนื่อง ทำให้เขามองว่าเราไม่รอบคอบ


 


นายจรัญ กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ คู่สมรสก็จะมีปัญหา ถ้าเราอยู่ดีๆ ต้องไปเป็น รมต. ต้องหย่ากับภรรยาเลย เพราะถือหุ้นในบริษัท ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยว เพราะมาตรา 277 ก็ห้ามบุตรคู่สมรสไว้มากพอแล้ว แต่ถ้าเขาทำกิจการค้าขายอะไรที่เกี่ยวเลย เราห้ามเขาหมด ซึ่งมันก็ไม่ใช่ เห็นว่าเป็นวรรคที่เกินความจำเป็น


 


นายสุพจน์ กล่าวว่า เหมือนเราร่างรัฐธรรมนูญด้วยความกลัว รมต. คู่สมรสและบุตรคงไม่มีอะไรเหลือแล้ว เรากันไว้หมด อย่าไปละเมิดเขามากกว่านี้เลย


 


นายเดชอุดม กล่าวว่าโดยหลักการเห็นด้วยว่า ไม่อยากให้ยุ่งเกี่ยวกับบริษัทที่ทำสัมปทาน ไม่ต้องบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ได้ ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างกรณีที่มีบริษัทของสามีนักการเมืองไปวิ่งเต้นหาผลประโยชน์ในสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง และสุดท้ายจำเป็นต้องให้สัมปทาน สามีนักการเมืองก็กินหัวคิว คนที่มาทำสัญญาก็เป็นคนอื่นไป หรือ เมื่อมีคนไปประมูลป้ายโฆษณาหมดแล้ว ลูกนักการเมืองก็ไปยกเลิกเพราะต้องการประมูลใหม่ ลูกนักการเมืองเอาการแสดงมาจากต่างประเทศ กลัวคนไปดูน้อยก็ให้รถไฟใต้ดินเปิดถึงตีสอง ดังนั้น แม้ไม่มีสัมปทานกับรัฐแต่ก็ได้ผลประโยชน์ จะทำอย่างไร ทั้งนี้ แม้จะมีระเบียบสำนักนายกฯ ห้ามใช้สถานะนักการเมือง ก็ไม่เคยมีใครปฏิบัติตาม เราทำอะไรไม่ได้เลย


 


ซึ่งนายสมคิด สรุปว่า ในวรรคท้าย จะยังคงให้ใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อย่างไรก็ตาม มีผู้แย้งว่า พฤติกรรมที่พูดมาเป็นการกระทำของเป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว นายสมคิดจึงให้นำประเด็นนี้ไปโหวต ว่าบุตรของรัฐมนตรีจะเป็นบุตรทุกคนหรือเป็นบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net