รู้จัก Flash Mob! : การชุมนุมรูปแบบใหม่ บทเรียนที่ 1 ของคนเล่นเน็ต


 

ตติกานต์ เดชชพงศ

 


 

 

ยามค่ำยังคงเป็นชั่วโมงเร่งด่วนของชาวลอนดอน และในวันธรรมดา สถานีรถไฟใต้ดินแทบทุกแห่งมักจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน

 

หากเมื่อวันศุกร์ที่ 6 เมษายน ซึ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ ชาวลอนดอนที่ขึ้นรถไฟใต้ดิน ณ สถานีวิคตอเรีย ได้พบกับกลุ่มคนกว่า 4 พันชีวิต ที่มาร่วมชุมนุมกันเมื่อเวลา 18:53 น.ตามเวลาท้องถิ่น

 

สิ่งที่ผู้ชุมนุมครั้งนี้มีเหมือนๆ กันคือหูฟังที่เชื่อมต่อกับเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ยี่ห้อต่างๆ และเสียบอยู่กับหูจริงๆ

 

ผู้คนกว่า 4 พันเหล่านั้นพากันเต้นรำตามจังหวะดนตรีจากเสียงเพลงเอ็มพี 3 ที่แต่ละคนเปิดกรอกหูตัวเอง

 

แต่สิ่งที่ชาวลอนดอนคนอื่นมองเห็น (เพราะไม่ได้ยินเสียงเพลงกับเขาด้วย) คือภาพการเต้นรำอย่างเมามันท่ามกลางความเงียบของกลุ่มคนจำนวนมากที่แออัดยัดเยียดกันอยู่ที่สถานีวิคตอเรียในเวลานั้น...

 

แฟลชม็อบ - กับกิจกรรมฮาๆ ขำๆ

การชุมนุมของกลุ่มคนกว่า 4 พันคน ณ กรุงลอนดอน คือการรวมตัวกันก่อ "ม็อบชั่วพริบตา" หรือว่า Flash Mob ครั้งล่าสุด หลังจากที่แฟลชม็อบถือกำเนิดขึ้นในปี 2546 และเป็นปรากฏการณ์แรกที่ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จัก "การชุมนุม" ที่ไม่มีข้อเรียกร้อง ไม่ได้คิดต่อต้านใคร จะมีก็แต่ความพึงพอใจที่ได้แสดงออกซึ่งการกระทำบางอย่างร่วมกันเท่านั้น

 

แฟลชม็อบครั้งแรก เกิดจากกลุ่มคนราว 100 คนที่เข้าไปกลุ้มรุมพนักงานขายพรมในห้าง Macy ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในย่านแมนฮัตตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 โดยเงื่อนไขที่ม็อบต้องปฏิบัติตามก็คือว่า ถ้ามีพนักงานขายคนไหนสอบถามว่าพวกเขามาจากไหน ให้ทุกคนตอบเหมือนกันว่าพวกเขามาจากชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในชนบท-ทางตอนเหนือของเมืองนิวยอร์ก และพวกเขาตั้งใจจะมาซื้อ "พรมแห่งความรัก" ไปไว้ในชุมชน ซึ่งหมายความว่าการจะตัดสินใจซื้อพรมสักผืน ขึ้นอยู่ความเห็นชอบของคนทั้งหมดร้อยกว่าคน...

 

ยังไม่ทันที่พนักงานขายจะหายงงหรือตั้งรับกลุ่มคนมากมายที่กรูเข้ามาสอบถามเรื่องพรมราคาเรือนแสนที่วางโชว์อยู่เรียงราย จู่ๆ คนเหล่านั้นก็แยกย้ายสลายตัวไปจากห้าง-เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน ทิ้งให้พนักงานขายงุนงงกับ "ม็อบ" หรือ "การรวมตัวของกลุ่มคน" ที่มองไม่เห็นว่ามีการจัดตั้งหรือมาชุมนุมกันได้อย่างไร และคำถามที่น่าสงสัยกว่านั้นก็คือพวกเขารวมตัวกันทำแบบนั้น "เพื่ออะไร?"

 

จากการกล่าวอ้างของ "บิล วาสิก" - Bill Wasik บรรณาธิการอาวุโสแห่งนิตยสาร Harper"s Magazine ซึ่งเขียนบทความเผยแพร่ในฮาร์เปอร์สเมื่อปี 2549 เขาบอกว่าแฟลชม็อบที่แมนฮัตตัน เกิดจากการที่เขาส่งข้อความไปยังชื่อและที่อยู่ในอีเมล์ลิสต์ของเขา เพื่อนัดแนะให้กลุ่มคนที่ (อาจจะ) ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน ออกมารวมตัวกัน และทำกิจกรรมแปลกๆ ที่เขาตั้งเงื่อนไขไว้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกคนมา "สนุก" ด้วยกันก็เท่านั้น [1]

 

บิล วาสิก อธิบายไว้ในบทความของตัวเองว่าแรงจูงใจในการจัดแฟลชม็อบครั้งนั้น เป็นเพราะเขาต้องการทดลองปรากฏการณ์ทางสังคม และอีกแง่หนึ่งก็อยากจะแหย่พวก "ฮิปสเตอร์" หรือ "เด็กแนว" ที่กินความถึงคนหนุ่มสาววัยใกล้ยี่สิบไปจนถึงสามสิบต้นๆ ที่พยายามแสดงออกซึ่งความมีตัวตนของตัวเองผ่านการเข้าร่วมหรือการเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่สังคมจะพูดถึงและจดจำในขณะหนึ่ง

 

การทดลองของวาสิกประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากแฟลชม็อบเกิดขึ้นที่แมนฮัตตันก็มีการจัดตั้งม็อบแบบนี้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ และข่าวคราวก็แพร่สะพัดผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้แนวคิดเรื่องแฟลชม็อบแพร่ระบาดไปไกลกว่าที่คิด ซึ่งคงต้องยกเครดิตให้กับวาสิกในฐานะผู้สร้างกระแส (Trend Setter) ให้ม็อบสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในโลกแห่งการชุมนุม

 

องค์ประกอบของแฟลชม็อบไม่มีอะไรมาก เพราะไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งในเชิงปลุกระดมจิตใจผู้เข้าร่วมชุมนุมให้ฮึกเหิมพร้อมสู้อยู่ตลอดเวลา คนที่คิดจะจัดม็อบแบบนี้ขึ้นมาสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการกำหนดรายละเอียดของกิจกรรมที่ต้องการให้ม็อบทำร่วมกัน พร้อมทั้งระบุวันเวลาและสถานที่ที่จะมารวมตัวกันให้ชัดเจน ซึ่งโดยมาก รายละเอียดทั้งหมดมักถูกส่งผ่านข้อความสั้น หรือ SMS ทางโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ก็ส่งผ่านอีเมล์

 

แฟลชม็อบที่ระบาดไปทั่ว ทำให้ผู้คนในที่ต่างๆ เจอกับประสบการณ์แปลกๆ ที่กลุ่มคนจำนวนมากออกมาทำกิจกรรมอะไรแผลงๆ ร่วมกัน และแน่นอนว่ามัน "เป็นข่าว" ที่ขายได้ทุกครั้งเสียด้วย ตัวอย่างเช่น ม็อบหนึ่งในลอนดอน เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ส่งข้อความลูกโซ่ผ่าน SMS รวมถึงการส่งต่อจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังรายชื่ออีเมล์ที่มีอยู่ในเมล์บอกซ์ของตัวเอง และนัดแนะกันแต่งตัวเป็น "ผีดิบ" ออกมาเดินกลางถนนให้คนตกใจเล่น

 

ม็อบอีกหนหนึ่งที่ฝรั่งเศส ผู้คนที่อยากร่วมสนุกกับแฟลชม็อบได้แทรกตัวเข้าไปปะปนกับนักท่องเที่ยวผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ พอถึงเวลาที่นัดกันไว้ แฟลชม็อบก็ล้มตัวลงนอนเกลื่อนห้องโถงอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะลุกขึ้นเดินแยกย้ายกันไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น (ทิ้งให้คนที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นงงเป็นไก่ตาแตกเล่นๆ เสียอย่างนั้น)

 

หากจะนำบทสัมภาษณ์ของผู้แสดงตัวว่าเป็นหนึ่งในแฟลชม็อบที่สื่อต่างประเทศจากที่ต่างๆ สัมภาษณ์มาใช้เป็นดัชนีชี้วัดการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของม็อบประเภทนี้ อาจจะพอสรุปได้ว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ออกมาแฟลชม็อบมีเจตนารวมตัวกันเพื่อ "ความสนุก" ล้วนๆ และกลุ่มคนที่เข้าร่วมกิจกรรมม็อบประเภทนี้ก็ "มาด้วยใจ" และรู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ระดับ "ปรากฏการณ์" ด้วย

 

ถ้าหากจะมอง "ม็อบ" ในแง่ของการรวมตัวของผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน และจะต้องมีการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องบางอย่างเป็นแรงขับเคลื่อนในการรวมตัว แฟลชม็อบดูจะเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่มีจุดยืนชัดเจน แต่สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกว่า "ความสนุก" ก็อาจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากออกมารวมตัวกันก็เป็นได้

 

ปรากฏการณ์นี้ช่วยยืนยันสภาพสังคมพื้นฐานได้ดีว่ามนุษย์มักแสวงหาผู้มีจุดยืนหรือความต้องการที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับตัวเองเสมอ-ไม่ว่าความต้องการนั้นจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเหตุผลส่วนรวมหรือจะเป็นเหตุผลที่เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

 

แต่ก็ใช่ว่าเรื่องที่เกิดจากแฟลชม็อบจะเป็นเรื่องฮาๆ ขำๆ และสนุกสนานสำหรับทุกคนเสมอไป เพราะชาวลอนดอนวัยทำงานรายหนึ่งบ่นให้นักข่าวฟังว่าสิ่งที่เขาอยากพบเจอหลังจากผ่านการทำงานอันหนักหนามาทั้งวัน ไม่ใช่ม็อบเอ็มพี 3 ที่ออกมาเต้นรำกันเต็มสถานีวิคตอเรีย เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2550 และม็อบ "งี่เง่าไร้สาระ" ที่เกิดขึ้น ทำให้เขาพลาดรถไฟขบวนที่ขึ้นเป็นประจำ เขาจึงกลับบ้านสายกว่าเวลาปกติเป็นชั่วโมงๆ เลยทีเดียว...[2]

 

เรื่อง "การเมือง" และโจทย์ที่เปลี่ยนไปของแฟลชม็อบ

คำจำกัดความของ "แฟลชม็อบ" ถูกนิยามขึ้นหลังจากที่แนวคิดเรื่องนี้แพร่กระจายไปยังฝั่งยุโรป และการอธิบายความหมายของแฟลชม็อบก็คือ "การชุมนุมกันในที่สาธารณะของกลุ่มคนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านอีเมล์และข้อความทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน โดยกิจกรรมนั้นจะต้องไม่เป็นอันตราย ไม่รุนแรง และกลุ่มคนที่มาชุมนุมจะแยกย้ายหายไปทันทีที่ทำกิจกรรมภายในเวลาที่กำหนดเสร็จสิ้นลง" [3]

 

แฟลชม็อบที่ถูกมองว่า "ทรงพลัง" กว่าม็อบประเภทเดียวกัน เกิดขึ้นที่ปักกิ่ง ในปี 2547 เมื่อชาวจีนนับพันออกมารวมตัวกันที่ถนนเซี่ยงไฮ้ และผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนส่งเสียงตะโกนให้ชาวจีนแสดงความรักชาติ และสนับสนุนรัฐบาลจีนที่เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นชำระประวัติศาสตร์ และยอมรับถึงการทำทารุณกรรมต่อชาวจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

แน่นอนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้อง...

 

รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งระบุว่าผู้ชุมนุมที่หลั่งไหลมารวมตัวกันบนถนนเซี่ยงไฮ้ภายในพริบตาเดียว ได้รับ SMS ผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งข้อความดังกล่าวบอกให้ชาวจีนที่ "รักชาติ" แสดงออกซึ่งการต่อต้านกรณีที่ญี่ปุ่นปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  

 

การเดินชุมนุมเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน และถือเป็น "ม็อบ" เพียงไม่กี่ครั้งที่มีคนมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก นับจากที่รัฐบาลจีนสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เดินไปตามถนนอย่างสงบ แม้จะมีการส่งเสียงตะโกนข้อความในเชิงปลุกระดมบ้าง แต่ผู้คนเหล่านั้นก็แยกย้ายสลายตัวไปภายในเวลาไม่นานโดยไม่ได้แสดงความรุนแรงให้เห็น ซึ่งจะว่าไป การชุมนุมครั้งนี้ยังอยู่ห่างไกลจากคำว่า "ประท้วง" เพื่อเรียกร้องกดดันให้อีกฝ่ายหนึ่งทำตามความต้องการของตัวเอง เพราะแฟลชม็อบในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหลักๆ อยู่ที่ "การแสดงออก" ให้โลกรู้ถึงแรงต่อต้านที่ชาวจีนต้องการส่งไปให้ถึงญี่ปุ่นเท่านั้น

 

แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีรายงานระบุว่ารถยนตร์ที่จอดอยู่ในสถานฑูตญี่ปุ่นถูกขว้างด้วยของแข็งจนได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับกระจกอาคารที่ทำการสถานฑูต จึงดูเหมือนว่าแฟลชม็อบครั้งนี้จะเลยเถิดไปจากจุดมุ่งหมายเดิมมากนัก

 

แม้ว่าเหตุผลเริ่มแรกของการจัดตั้งแฟลชม็อบจะเป็นเพียงความสนุกสนานเฮฮาของคนกลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อม็อบประเภทนี้ถูกพิสูจน์ให้เห็นว่ามันสามารถสร้างกระแสและดึงความสนใจจากผู้คนได้ เจตนารมณ์ในการรวมตัวกันระยะหลังๆ จึงมีเหตุผลอื่นๆ ที่แตกประเด็นจากความสนุกไปไกลโข…

 

และเมื่อแฟลชม็อบครั้งใหญ่ที่จีนสิ้นสุดลงโดยสร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนไปทั่วโลก นักแฟลชม็อบในประเทศอื่นๆ ก็ออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก

 

ในปีเดียวกันนั้นเอง กลุ่มหนุ่มสาวชาวรัสเซียประมาณ 60 คน ปฏิบัติการแฟลชม็อบก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกิดขึ้น โดยผู้ชุมนุมได้สวมหน้ากากยางเลียนแบบใบหน้าของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และใส่เสื้อยืดสกรีนข้อความเชิงเสียดสี เช่น "Boba (ฉายาที่ชาวรัสเซียใช้เรียกปูติน) กลับบ้านไปซะ!" "ภารกิจของนายล้มเหลว!" จากนั้นก็เดินว่อนไปทั่วถนนหนทางในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเป็นบ้านเกิดของปูติน

 

แฟลชม็อบครั้งนี้เกิดขึ้นจากความไม่เห็นด้วยต่อการบริหารประเทศของผู้นำในขณะนั้น ซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการตัดสินใจของวลาดิเมียร์ ปูตินที่นิยมความรุนแรงและไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เช่น การจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยการสั่งควบคุมสื่อ หรือการสั่งให้หน่วยเฉพาะกิจใช้กำลังอาวุธบุกเข้าจับกุมกลุ่มก่อการร้ายที่ยึดตัวครูและเด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมของเมืองเบสลันเป็นตัวประกัน ทำให้ประชาชนโดนลูกหลงและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก และเหยื่อหลายต่อหลายชีวิตคือเด็กนักเรียนประถมที่ตกเป็นตัวประกันในนั้นด้วย

 

ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นโศกนาฎกรรมซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันทั่วโลก และมันก็สร้างความพอใจให้ชาวรัสเซียสายเหยี่ยวที่มีแนวคิดแบบเดียวกับปูติน ซึ่งเชื่อว่าการจัดการด้วยวิธีเด็ดขาดรุนแรงเหมาะสมแล้วกับการแก้ปัญหาการก่อการร้าย แต่ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคสงครามเย็นสิ้นสุดจะไม่ชอบวิธีการดำเนินงานของปูตินอย่างแรง

 

ถึงจะมีแนวโน้มว่าปูตินอาจได้รับเลือกให้กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้งหนึ่ง แต่ผู้ร่วมชุมนุมในแฟลชม็อบสวมหน้ากากก็ยังต้องการแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มีต่อแนวคิดและวิธีบริหารประเทศของปูตินอยู่ดี

 

ผลก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ก่อแฟลชม็อบได้ 15 คนด้วยข้อหา "กีดขวางทางจราจร" [4]

 

ช่วงปลายปี 2547 อีกเช่นกัน ที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย แฟลชม็อบที่ประกอบด้วยผู้คนต่างสาขาอาชีพประมาณ 70 ชีวิตรวมตัวกันวิ่งจ็อกกิ้งบริเวณหน้าที่ทำการสถานีโทรทัศน์ Televiziunea Română ซึ่งเป็นของรัฐ แต่อุปกรณ์ประกอบฉากที่ทำให้คนแถวนั้นรู้ว่าการวิ่งจ็อกกิ้งครั้งนี้เป็นการก่อแฟลชม็อบก็คือเทปกาวที่ใช้ผนึกกล่องซึ่งผู้ชุมนุมใช้ปิดปากตัวเองขณะวิ่ง

 

เชื่อกันว่าเทปกาวที่ปิดปากคนกว่า 70 ชีวิต คือสัญลักษณ์แทนการปิดกั้นหนทางในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐบาลโรมาเนียพยายามทำในขณะนั้น แฟลชม็อบดังกล่าวจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะก่อนหน้าที่จะมีแฟลชม็อบครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวของสถานีฯ ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการเสนอข่าวด้านดีของรัฐบาล

 

จากเหตุการณ์แฟลชม็อบปิดปาก ร่วมกับการคัดค้านอื่นๆ ทำให้รัฐบาลโรมาเนียต้องทบทวนท่าทีของตนเอง และนำไปสู่การเปลี่ยนตัวคณะกรรมการระดับสูงของสถานีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นที่ยอมรับมากกว่าเดิมในที่สุด [5]

 

ถึงแม้ว่าแฟลชม็อบจะไม่มีการปลุกระดมทางอารมณ์หนักหน่วงเท่าม็อบอื่นๆ และยังไม่มีการกำหนดข้อเรียกร้องมาต่อรองกับใคร แต่การกระทำที่ม็อบประเภทนี้เลือกใช้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการแสดงจุดยืนและความคิดเห็นที่ชัดเจนไม่แพ้ม็อบใดๆ เลย

 

ลักษณะเฉพาะของแฟลชม็อบ ว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น SMS หรืออีเมล์เป็นสื่อกลางในการส่งข่าวถึง "ผู้ร่วมอุดมการณ์" ที่เห็นดีเห็นงามในเรื่องเดียวกัน ทำให้การส่งข้อมูลไปยังกลุ่มคนอีกเป็นจำนวนมาก ทำได้ง่ายดายโดยไม่มีใครผิดสังเกต ม็อบประเภทนี้จึงต่างจากม็อบประท้วง, ม็อบเรียกร้อง, ม็อบกดดัน หรือม็อบอื่นๆ ตรงที่ "ขั้นตอนการจัดตั้ง" ดำเนินไปท่ามกลางความเงียบที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งลักษณะเฉพาะดังกล่าวน่าจะช่วยลดแรงเสียดทานหรือความขัดแย้งที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการรวบรวมกลุ่มคนได้บ้าง

 

นอกจากนี้ ต่อให้เจตนาในการรวมตัวกันเพื่อความสนุกจะขยับเข้าไปใกล้ความหมายทาง "การเมือง" มากขึ้น แต่แฟลชม็อบก็ยังมีแนวโน้มว่าจะดำเนินไปในทางที่ประนีประนอมมากกว่า เพราะจุดมุ่งหมายหลักๆ ยังอยู่ที่ "การแสดงออก" ของคนหมู่มากที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน ไม่ใช่การเรียกร้องกดดันหรือประกาศ "สู้ตายไม่เลิกลา" เพื่อปิดทางถอยของอีกฝ่าย

 

หรืออย่างน้อยที่สุด วิธีการแบบแฟลชม็อบก็ไม่น่าจะถ่างช่องว่างแห่งความไม่เข้าใจให้กว้างออกไปสักเท่าไหร่ เพราะการแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยต่างกันมากจากการม็อบที่พยายามบีบบังคับให้ทุกฝ่าย "เชื่อ" หรือ "ยอมรับ" ในสิ่งที่ตนเองเชื่อเพียงฝ่ายเดียว...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท