Skip to main content
sharethis

นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


แม้จะมีคำสั่งห้ามดูดทรายมาจากระดับอธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี แต่สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเดินหน้าเปิดเสรีขยี้แม่น้ำปิงกันต่อ โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรีว่าเชียงใหม่จะต้องแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเร่งด่วน                                                                                                   


ข้ออ้างของการแก้น้ำท่วม ได้ถูกเบี่ยงประเด็นจากการ "ขุดลอก" สู่การ "ดูดทราย" อย่างเป็นล่ำเป็นสันและต่อเนื่อง ถึงขั้นมีปฏิกิริยาที่แปลกประหลาด กลุ่มชาวชุมชนเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เข้ายื่นหนังสือขับไล่เจ้าท่าฯ ข้อหาห้ามเอกชนดูดทรายจนเกรงจะเกิดปัญหาน้ำท่วมอีกในปีนี้ความเหิมเกริมเช่นนี้ ถึงขั้นเมื่อถูกจับกุม ก็ยกหูสายตรงถึงผู้ใหญ่บนศาลากลางได้ทันที และด้วยการกอดข้อสั่งการด้วยคาถาต้อง "แก้ปัญหาน้ำท่วมเร่งด่วน" และสิ่งที่จะทำได้คือการขุดลอกลำเหมือง ลำน้ำตามอำนาจของท้องถิ่น
แต่ขุมทรัพย์ใต้ลำเหมืองกับแม่น้ำปิงไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นช่องโหว่ให้เม็ดทรายและท้องน้ำปิงเมืองเชียงใหม่ถูกผันเป็นเม็ดเงินมหาศาลเข้ากระเป๋าอย่างไร้ร่องรอย


 


หลังจาก "พลเมืองเหนือ" เปิดประเด็นเรื่องเอกชนลักลอบดูดทราย โดยไม่ได้รับอนุญาต และแฉหลักฐานความเกี่ยวโยงกับผู้บริหารในเทศบาลนครเชียงใหม่จนกระทั่งสำนักงานการขนส่งทางน้ำจังหวัดเชียงใหม่สั่งระงับการดูดทราย พร้อมกันนี้อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ยังได้ออกคำสั่งให้ระงับการดูดทรายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะแม่น้ำปิง แต่ในความเป็นจริง เอกชนที่เทศบาลนครเชียงใหม่ว่าจ้างมาดูดทรายยังคงดำเนินการต่อไปโดยไม่สนใจคำสั่งของราชการ และยังมีกรณีน่าตั้งข้อสังเกต เมื่อกลุ่มชุมชนในเทศบาลนครเชียงใหม่ขับไล่เจ้าท่าฯ เชียงใหม่เพราะห้ามดูดทราย


ประหลาด ! ชุมชนยื่นเร่งดูดทราย-ไล่เจ้าท่า
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเครือข่ายชุมชนนครเชียงใหม่ ประกอบด้วย ผู้นำชุมชนแขวงกาวิละ ชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พ่อค้าแม่ค้าตลาดไนท์บาซาร์ที่ถูกน้ำท่วม และตัวแทนจากชุมชนที่รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตอำเภอสารภี ได้ส่งตัวแทนเข้าพบนายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัย                


เนื้อหาจดหมายข้อเรียกร้องมีนัยยะน่าสนใจ...โดยระบุว่า "การเตรียมป้องกันอุทกภัยเมืองเชียงใหม่หยุดชะงัก ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ แม้แต่จุดวิกฤต 7 จุดที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการก็ไม่ทำต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นความหวัง สำหรับชาวชุมชนว่าจะไม่เกิดอุทกภัยซ้ำซากอีก ชาวเครือข่ายชุมชนฯ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเทศบาลนครเชียงใหม่ และนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ เนื่องจากทราบว่ามีการติดตามความคืบหน้า


จนกระทั่งล่าสุดมีหนังสือตอบตกลงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติยินยอมให้มีการขุดลอก และขยายตลิ่งเข้าไปอีก 10 เมตร แต่ปัญหาที่แท้จริงกลับเกิดขึ้นจาก สำนักงานการขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวีจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ใส่ใจที่จะร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และวางแผนป้องกันมิให้เกิดอุทกภัยในปีต่อๆ ไปอีก โดยเฉพาะไม่ให้ความสำคัญต่อการขุดลอกแม้น้ำปิงใน 7 จุดวิกฤต ที่ถูกกำหนดไว้แล้ว โดยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในระหว่างที่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ให้เอกชนเข้าไปขุดลอกลำน้ำปิง โดยวิธีดูดทรายออกมา สำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ ได้สั่งระงับการขุดลอก ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ทุกจุด โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด                                                                          


เมื่อเครือข่ายชุมชนฯ ได้ติดตามสอบถามทราบว่าเกิดจากหัวหน้าสำนักงานฯ ที่สั่งระงับโครงการขุดลอกดังกล่าว โดยไม่สนใจมติที่ประชุมเพื่อการแก้ไขปัญหาแม่น้ำปิงระดับจังหวัด และไม่มีเหตุผลอันควรให้หยุดดำเนินการ ดังนั้นจึงได้เคลื่อนไหวขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิจารณาเปลี่ยนตัวนายวิเชียร เปรมานุกรรักษ์ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ โดยเร็วที่สุด"


ในช่วงท้ายของหนังสือดังกล่าวมีการทวงถามถึงเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยทั้ง 4 ครั้งในปี 2548 ว่าจะมีการขึ้นบัญชีไว้ หรือไม่ และจะส่งถึงมือผู้ที่ประสบภัยไปแล้วเมื่อใด พร้อมทั้งได้ย้ำให้เร่งพิจารณาให้มีความคืบหน้าในโครงการขุดลอกแม่น้ำปิงอีกด้วย                                                  


อนึ่ง ก่อนหน้าที่จะเกิดการรวมตัวขับไล่เจ้าท่านี้ ได้มีหนังสือฉบับหนึ่งลงนามโดยประธานชุมชนในเขตเทศบาล ถ่ายเอกสารเป็นปึกใหญ่วางไว้ที่ประชุมแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของจังหวัดเชียงใหม่ เนื้อหาสลับกับการร้องเรียนครั้งนี้ โดยมุ่งทวงถามเงินชดเชยความเสียหายจากอุทกภัยเมื่อปี 2548 ก่อนและลงท้ายด้วยการขอให้เร่งดูดทราย ซึ่ง "พลเมืองเหนือ" ได้ขยายประเด็นนำเสนอข้อมูลให้รับทราบชัดเจนขึ้นแล้วว่าเงินชดเชย 54 ล้านบาทที่ว่าคือน้ำคำของนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติที่รับปากประชาชนไว้ ซึ่งน่าประหลาดที่เครือข่ายชุมชนไม่เรียกร้องเอากับผู้บริหารท้องถิ่นและนักการเมืองที่เป็นผู้ชงเรื่องเบื้องต้น


แจงไล่เพราะไม่ให้ดูดทราย..ไม่มีใครจ้าง
นายสุกิจ ภู่ทาสิน ประธานชุมชนหนองหอย หนึ่งในตัวแทนของเครือข่ายชุมชนนครเชียงใหม่ กล่าวกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า หลังจากมีโครงการขุดลอกแม่น้ำปิง ในปี 2549 พบว่าสถานการณ์น้ำท่วมไม่รุนแรงมากนัก ปัญหาจะอยู่ที่ตำรวจภาค 5 เพียงแห่งเดียวเพราะลำน้ำปิงแคบที่สุด ซึ่งการ ยื่นหนังสือครั้งนี้ต้องการให้เจ้าท่าฯ ดำเนินการขุดลอกขยายร่องนำให้ไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่เดือนนี้อีกด้วย เพราะไม่นานมานี้พบว่าบริษัทเอกชนหยุดดำเนินการ เมื่อสอบถามกับเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงทราบว่ามีคำสั่งจากสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ สาขาเชียงใหม่ ให้ระงับการขุดลอกโดยไม่มีกำหนด เกรงว่าถ้าไม่เริ่มดำเนินการโดยเร็วจะส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยเหมือนปี 2548 พร้อมกันนี้ยืนยันว่าไม่ได้ถูกผู้ใดว่าจ้างมาให้ยื่นหนังสือเพื่อขับไล่หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ แต่อย่างใด    


"ผมไม่เข้าใจว่าจะห้ามดูดไปทำไมพอถามกับเทศบาล จึงรู้ว่า เจ้าท่าแทงกั๊กไว้ตลอด ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง ผมจึงอยากย้ายคนที่ไม่เข้าใจออกไปซะ การทำงานมันต้องใช้คนในพื้นที่ถึงจะเข้าใจ ถ้าไม่ทำภายในเดือนนี้ หรือเดือนหน้า ก็คงป้องกันน้ำท่วมไม่ทันแล้ว"  


นางนวพร โอสถาพันธุ์ นักวิชาการที่ดิน เปิดเผยว่าเรื่องดังกล่าว สำนักงานที่ดินได้รับเรื่องแทนผู้ว่าราชการจังหวัด และได้ทำหนังสือเสนอไปยังนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ดูแลเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอต่อไปยังผู้ว่าฯ ตามขั้นตอนแล้ว จากนี้เรื่องจะถูกกระจายออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของการขุดลอกจะส่งไปที่เทศบาลนครเชียงใหม่ และสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาการขุดลอก ตามระเบียบปี 47 ซึ่งว่าด้วยการขุดลอก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปที่สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเพื่อติดตามเงินค่าชดเชยน้ำท่วมเมื่อปี 48 เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน


ตั้งป้อมดูดต่อเมินคำสั่งเจ้าท่า
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 "พลเมืองเหนือ" ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในบริเวณที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการขุดลอกด้วยวิธีการดูดทรายว่า แม้จะมีคำสั่งห้ามจากราชการ แต่บริษัทเอกชนก็ยังคงดำเนินการขุดลอกต่อ โดยที่ไม่มีใบอนุญาต และขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่เพื่อเข้าไปตรวจสอบ พบคนงานกำลังขุดลอกจำนวน 3 ราย ใช้เครื่องจักรแบ่งเป็นรถแบ็คโฮ จำนวน 1 คัน เรือดูดทรายจำนวน 2 ลำ และเรือสำรวจ 1 ลำ เมื่อสอบถามคนงานพบว่า เป็นของบริษัท พิบูลย์ทราย จำกัด ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดก้องกิดากรได้ว่าจ้างให้มาดำเนินการอีกที ทั้งนี้คนงานรายดังกล่าวยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าการดำเนินการในครั้งนี้ได้รับการอนุญาตจากเทศบาลนครเชียงใหม่แล้ว                                          


เจ้าท่าผนึกอำเภอนำทีมตรวจสอบ
จากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม 2550 "พลเมืองเหนือ" ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวรายหนึ่งว่า มีรถตู้จากสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ แล่นเข้าจอดที่บริเวณเชิงสะพานรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นจุดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก้องกิดากร กรุ๊ป ได้ว่าจ้างให้บริษัท พิบูลย์ทราย จำกัด เข้ามาดำเนินการขุดลอกแทน จึงไปร่วมตรวจสอบ พบเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.)จากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 นาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ เข้าตรวจสอบการดำเนินการขุดลอกของบริษัทเอกชนรายดังกล่าว ที่อ้างว่าได้รับอนุญาตจากเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยในพื้นที่ดังกล่าวปรากฎว่ามีเครื่องจักรกำลังดำเนินการขุดลอก ประกอบด้วย รถแบ็คโฮ พร้อมทั้งเรือดูดทรายจรูญรัตน์จำนวน 2 ลำ กำลังเดินเครื่องทำงานขุดลอก ด้วยวิธีดูดทรายจากแม่น้ำปิงขึ้นมา โดยในบริเวณดังกล่าวมีกองทรายขนาดใหญ่กองอยู่ประมาณ 2 - 3 กอง และคนงาน 3 คน


เอกชนยกหูหา "ท่านรองฯ"
เมื่อเจ้าหน้าที่แสดงตัวเข้าตรวจสอบ ปรากฎว่าคนงานทั้ง 3 รายดังกล่าวนั้น ได้หลบหนีลงเรือ และขับหนีเจ้าหน้าที่ไปทิศใต้ ผู้สื่อข่าวเดินสำรวจรอบบริเวณที่ดำเนินการขุดลอกพบนายธนวัฒน์ พุทธยศ หรือ "แต๋ง" ตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก้องกิดากร กรุ๊ป เดินไปมาอยู่ในบริเวณดังกล่าว พร้อมกับใช้โทรศัพท์ติดต่อจนกระทั่งระยะเวลาหนึ่ง นายธนวัฒน์ ได้ยื่นโทรศัพท์ให้กับนายไฉน นาคทรัพย์ นักวิชาการขนส่ง 6 ว. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ คุยทราย โดยอ้างว่า"ท่านรองฯ ต้องการคุยด้วย"                                                                                                                             


หลังจากที่นายไฉนใช้โทรศัพท์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้สื่อข่าวจึงเข้าสอบถาม โดยนายไฉนบอกแต่เพียงว่าการดำเนินการครั้งนี้ แค่นำกำลังเสริมมาตรวจสอบว่ากระทำผิดหรือไม่ และถ้าพบว่ามีการกระทำผิดก็จะดำเนินการเพียงแค่ลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามเปรียบเทียบกับกรณีเดียวกันที่สำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ ดำเนินการจับกุม เอกชนรายเดียวกันนี้ที่บริเวณตอนเหนือของสะพานมหิดล เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (พลเมืองเหนือ ฉบับที่ 272) ที่มีการแจ้งความกับบริษัทดังกล่าว จนล่าสุดมีการประกันตัวไปแล้วนั้น นายไฉนก็ยังยืนยันว่าในการดำเนินการครั้งนี้เป็นเพียงแค่การตรวจสอบเพื่อลงบันทึกประจำวันเท่านั้น จากนั้นเวลาประมาณ 14.00 น. ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปตรวจสอบในบริเวณที่บริษัทเอกชนดังกล่าวขุดลอกอีกครั้งพบว่า เครื่องจักร และคนงานดูดทรายต่อเนื่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น                                                                                                                                 


นายธนวัฒน์ พุทธยศ ตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก้องกิดากร กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์"พลเมืองเหนือ" ทางโทรศัพท์โดยปฏิเสธว่าวันดังกล่าวที่สำนักงานการขนส่งทางน้ำ ดำเนินการตรวจสอบนั้น ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และไม่ได้รู้เรื่องใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นก็วางโทรศัพท์ไป


จนท.ปัดให้ข้อมูล                                                                                                              เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ อีกครั้ง โดยนายไฉน นาคทรัพย์ นักวิชาการขนส่ง 6 ว. กล่าวว่า ตนไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ ซึ่งในวันที่นำกำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวนั้น นายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ หัวหน้าสำนักงานฯ เป็นผู้มอบอำนาจให้ตนรักษาการปฏิบัติหน้าที่แทนเนื่องจากติดราชการ ตนจึงดำเนินการตามคำสั่ง ซึ่งรายละเอียดของการตรวจสอบตนได้เสนอเรื่องกลับขึ้นไปหาหัวหน้าสำนักงานฯ ตามขั้นตอนของทางราชการแล้ว ส่วนประเด็นเรื่อง "ท่านรองฯ" ที่นายธนวัฒน์ อ้างถึงต้องการพูดคุยด้วยนั้น ตนยอมรับว่าบุคคลรายนี้เป็นข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่จริง โดยในรายงานการตรวจสอบตนได้นำเสนอไปยังหัวหน้าสำนักงานฯ ให้ไปติดต่อขอทราบข้อมูลด้วยตนเอง ส่วนจะเปิดเผยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหัวหน้าสำนักงานฯ ว่าเห็นสมควรเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้หรือไม่ พร้อมกันนี้ตนได้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ในการดำเนินการต่อไป


ทั้งนี้นายไฉนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการขุดลอกที่เข้าไปตรวจสอบว่า ในการตรวจสอบครั้งนี้ไม่พบหลักฐานการดำเนินการขุดลอกของบริษัทเอกชนรายนี้ เนื่องจากมีการอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ได้รับมอบหมายจากเทศบาลนครเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการรายนี้ ยังยืนยันด้วยว่ามีการอนุญาตให้ดำเนินการโดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้อนุญาต อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าถ้าตรวจสอบตามมติครม.ปี48แล้วพบว่าการทำงานภายใต้ชื่อการบูรณาการนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่สามารถอนุญาตให้เอกชนดำเนินการ ขุดลอกได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ เนื่องจากในการบูรณาการตามมติครม.ปี48 นี้ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำฯ และหัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ ได้มอบอำนาจให้ดำเนินการ และสาเหตุที่เกิดการตรวจสอบขึ้นในครั้งนี้ และที่ผ่านๆ มาเนื่องจากเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องคำสั่งดังกล่าวนี้ กับระเบียบการดำเนินการว่าด้วยการขุดลอก ที่จะต้องเขียนแบบโครงการขออนุมัติ ผ่านสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ ให้เห็นชอบออกใบอนุญาตให้ จากนั้นจะต้องมีกระบวนการขอจำหน่ายวัสดุที่ขุดลอกขึ้นมาได้จากสำนักงานที่ดินจังหวัดจึงจะเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพอมีการขออนุญาตผ่านกระบวนการต่างๆ จนได้ใบอนุญาตแล้ว แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ ไม่ควบคุมกำกับดูแลให้บริษัทเอกชนที่เข้ามารับจ้าง ปฏิบัติตามแบบของโครงการจึงเป็นเหตุให้มีปัญหาเกิดขึ้น


นายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ เปิดเผยว่า จากรายงานที่ตนได้รับระบุว่ามีการตรวจพบการขุดลอกบริเวณใกล้สะพานรัตนโกสินทร์ พบผู้ดูแลชื่อนายคะนองเดชสีผึ้ง อ้างว่าได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจากเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยรับคำสั่งจากนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตามติครม.แก้ไขปัญหาน้ำท่วม พร้อมกับสั่งการให้เร่งรัดจัดประชุม เพื่อให้เข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้เป็นไปตามมติครม. ซึ่งระหว่างนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ และการดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ได้ระงับการดำเนินการดังกล่าวไว้ เพื่อรอผลการตรวจสอบคำสั่งดังกล่าวให้ชัดเจน โดยตนจะเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด


ส่วนสาเหตุที่ไม่ดำเนินการจับกุม เนื่องจากมีการอ้างเรื่องข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ จึงต้องมีการตรวจสอบ พร้อมกันนี้ยืนยันว่าภายหลังจากตรวจสอบแล้ว ถ้าพบว่าบริษัทเอกชนรายนี้ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะใช้บันทึกที่ตนได้รับมานั้น เป็นหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
ทำใจหากโดนย้าย ยันอนุมัติแค่ขุดขยายเท่านั้น                                                                       


ส่วนประเด็นการถูกกดดันจากเครือข่ายชุมชนเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ยื่นเรื่องขอเร่งรัดให้ตนดำเนินการขุดลอก และขับไล่ตนนั้น นายวิเชียร ยืนยันว่าไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากการขุดลอกนั้นตนจะอนุญาตเฉพาะการขุดลอกเพื่อการขยายความกว้างของแม่น้ำปิงเท่านั้น ไม่ใช่การขุดลอกเพื่อดูดทรายเพื่อเพิ่มความลึกให้กับแม่น้ำ ด้านการขับไล่ที่กลุ่มเครือข่ายฯ เรียกร้องนั้น ตนเชื่อว่ายังไม่ใช่ปัญหา เพราะตนมั่นใจว่าการทำงานของตนที่ผ่านมาทำตามระเบียบ และความเหมาะสม ซึ่งเป็นการขัดผลประโยชน์ หรือทำให้บุคคลบางกลุ่มต้องสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาลไป ทั้งนี้จะสามารถยืนยันได้แน่ชัดก็จำเป็นต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางมาก่อน ซึ่งตนเชื่อว่าหากมีการย้ายก็น่าจะอยู่ในช่วง 1 - 3 เดือนนี้     


"จะย้ายก็ย้าย ที่ผ่านมาผมก็ทำเต็มที่ ผมเหนื่อยกับที่นี่มามากพอแล้ว ปัญหาเยอะมาก เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มากมาย ถึงอย่างไรถ้าผมย้ายไปแล้วก็ไม่ได้ย้ายไปเป็นลูกน้องใคร แต่ยังทำงานอยู่ในตำแหน่งเดิม"


"รองผู้ว่าฯ"รับมีโทรมาจริง ยันทำตามมติ ครม.
นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ" อธิบายว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบอำนาจให้แก่ตนเป็นผู้ดำเนินงาน แต่จะต้องมีการเสนอเรื่องจากสำนักงานที่ดินจังหวัด และสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ เสนอเรื่องขึ้นมาตนจึงจะอนุญาต แต่ทั้งนี้ในกรณีเร่งด่วนตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยนั้นไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อน แต่ภายใน 15 วัน กระบวนการขออนุญาตจะต้องเสร็จสิ้น ส่วนการพ่วงกรณีเร่งด่วน(ต่อเนื่อง) นั้น เป็นการจ้างพ่วง


"ในส่วนนี้ตนไม่สามารถตอบได้จำเป็นจะต้องสอบถามไปยังท้องถิ่นที่จ้างเอกชน และเขียนโครงการดังกล่าวนี้ ตนยืนยันว่ามีการประชุมการดำเนินการในวันที่ 21 มี.ค.2550 เป็นการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะการขุดบริเวณตำรวจภูธรภาค 5 ที่ล่าสุดยินยอมให้ดำเนินการขุดแล้ว แต่ได้แค่ 10 เมตร และต้องไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม และอนุสรณ์สถาน พร้อมกับมีมติให้ทำบายพาสน้ำจากแม่น้ำปิง ไหลอ้อมออกนอกเมืองไปลงที่แม่น้ำแม่คาว ซึ่งมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีการเร่งรัดให้เทศบาลฯ และการขนส่งทางน้ำเพื่อที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะการใช้อำนาจตามมติครม. โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ก็สามารถทำได้เช่นกัน ทั้งนี้ตนได้รับแจ้งจากเทศบาลนครเชียงใหม่ว่ามีความจำเป็นต้องใช้ทรายในประเพณีการก่อเจดีย์ทราย ตนจึงเร่งรัดให้มีการดำเนินการ และถ้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ ไม่ดำเนินการ ถ้าเกิดปัญหาน้ำท่วมให้ปีนี้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือสำนักงานการขนส่งทางน้ำฯ เนื่องจากไม่มีการอนุญาตให้ดำเนินการขุดลอก ซึ่งถ้ายืนยันว่าจะรับผิดชอบเองจังหวัดก็คงจะยกเลิกคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ปล่อยให้สำนักงานการขนส่งทางน้ำเป็นผู้ดำเนินการเองแต่เพียงผู้เดียว ส่วนการขุดทรายของเทศบาลว่าจะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ขอมาหรือไม่นั้นจำเป็นต้องตรวจสอบกันต่อไป"                                                                             


ส่วนประเด็นโทรศัพท์ที่นายธนวัฒน์ส่งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งทางน้ำฯคุยด้วยนั้น นายกองเอกวิลาศ กล่าวยอมรับว่า ตนได้รับโทรศัพท์จากนายธนวัฒน์ และได้พูดคุยกับนายไฉนจริง เนื่องจากตนได้สั่งในที่ประชุมไว้ว่าให้เทศบาลนครเชียงใหม่เร่งแก้ไขปัญหาขุดลอก ซึ่งทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นก็ร่วมรับฟัง และยังสั่งการให้นายอำเภอเร่งดำเนินการขุดลอกลำเหมือง เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถ้าไม่ดำเนินการก็เข้าข่ายบกพร่องในหน้าที่ เนื่องจากเข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วยกัน พร้อมกันนี้ยืนยันด้วยว่าเบอร์ตนใครๆ ก็โทรเข้าได้ ด้วยถือว่าตนไม่มีความลับ เพราะสิ่งที่ตนทำมันต้องเกี่ยวข้องกับคนหลายคน แต่ถ้าผู้ประกอบการทำผิดก็จำเป็นต้องให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการตามระเบียบ และการที่ขนส่งทางน้ำเข้าเข้าจับกุมนั้นมีความถูกต้องหรือไม่ และใช้มาตรฐานเดียวกันกับการขุดลอกทุกที่หรือไม่ ถ้าจะจับกุมก็จะต้องจับกุมให้เหมือนกันหมด อย่างไรก็ตามตนยอมรับว่าในบางเรื่องเทศบาลฯ ชอบทำอะไรแปลกๆ ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่าเป็นเพราะเหตุใด


แฉเม็ดเงินจากเม็ดทรายแม่ปิง
สำหรับประเด็นที่ประชาชนสงสัยในการขุดลอกนี้ก็คือปริมาณทรายที่เทศบาลนครเชียงใหม่ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามาดำเนินการนั้น จากการสอบถามนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรี นายธนวัฒน์ พุทธยศ ตัวแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดรายดังกล่าว และผู้ที่เกี่ยวข้องล้วนบอกแต่เพียงว่ายังดูดทรายไม่ได้ตามเป้าหมายที่เขียนขอให้สำนักงานการขนส่งทางน้ำออกใบอนุญาตให้                         


อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการดูดทรายของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก้องกิดากร กรุ๊ป ระบุว่า ถ้าบริษัทเอกชนที่รับช่วงต่อดูดทรายได้ปริมาณเท่าใด ก็จะต้องนำราคาทรายนั้นมาเป็นค่าตอบแทนให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก้องกิดากร กรุ๊ปจำนวน 30% ต่อ 1 จุดขุดลอก โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละจุดขุดลอกจะดูดทรายได้ปริมาณ 300 - 600 คิวต่อวันขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเรือว่าจะเป็นเรือประเภทใด ทั้งนี้ในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการอนุญาตให้ดำเนินการขุดลอกจำนวน 7 จุด บริษัทเอกชนที่ดำเนินการดูดทรายรวมทั้งหมดแล้วได้ปริมาณวันละ 2,000 คิว โดยประมาณ เป็นระยะเวลากว่า 90 วัน ซึ่งในช่วงนั้นราคาทรายอยู่ที่คิวละ 150 บาท


แต่ในเวลาต่อมามีการลักลอบดูดทรายโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 3 จุดตามที่ฉบับก่อนหน้านี้ได้นำเสนอไปแล้ว ผลปรากฎว่าราคาทรายปรับตัวสูงขึ้นเป็นคิวละ 200 บาท โดย 3 จุดดังกล่าวดูดทรายได้ปริมาณรวมกันวันละ 600 คิว ต่อวันเป็นระยะเวลากว่า 100 วัน                                                                    


จากข้อมูลที่แหล่งข่าวรายนี้เปิดเผยกับ"พลเมืองเหนือ" การดูดทราย 7 จุด ได้ปริมาณรวมวันละ 2,000 คิวก็เท่ากับว่าปริมาณทรายที่ได้ในเวลารวมทั้งหมดจะอยู่ที่180,000 คิวเป็นเงิน 27,000,000 บาท และระเบียบได้กำหนดว่าหากดูดทรายได้เกินกว่าที่จำนวนวัสดุที่กำหนดจำเป็นจะต้องจ่ายในส่วนที่เกินนั้นให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อนำไปใช้การสาธารณะก็เท่ากับว่าเอกชนรายนี้จะต้องจ่ายคืนให้เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวนราว 885,000 บาท เนื่องจากได้ทรายเกินกว่าที่ยื่นขอใบอนุญาตจำนวน 5,900 คิว แต่ที่ผ่านมากลับอ้างว่าดูดทรายไม่ถึงระดับที่ขออนุญาตไว้                                                                    


ส่วน 3 จุด ที่ดูดทรายได้ปริมาณรวมกัน 600 คิวต่อวันเป็นระยะเวลากว่า 100 วันนั้น เมื่อนำมาคำนวณก็จะได้ปริมาณทรายทั้งสิ้น 60,000 คิว รวมเป็นเงิน12,000,000 บาท อย่างไรก็ตามมูลค่าของเงินดังกล่าวเป็นการประมาณจากปริมาณทรายต่ำสุดและราคาทรายตามท้องตลาด ขณะที่ราคาที่ชัดเจนจะต้องตรวจสอบกับราคาวัสดุที่ระเบียบของสำนักงานที่ดินกำหนดอีกครั้ง และขึ้นอยู่กับชนิดของทรายที่ดูดขึ้นมาได้ เพราะจะมีราคาแตกต่างกัน


ระบุเทศบาลใช้ทรายเพื่อสงกรานต์ 2 คันรถก็หรูแล้ว                                                         แหล่งข่าวรายนี้เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ก็ยังคงดูดทรายเพื่อจำหน่ายอยู่เช่นเดิม แต่เปลี่ยนจากเดิมที่ดูดแล้วกองไว้ เป็นดูดไว้เฉพาะที่ขายเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรคาดว่าการดูดต่อวันขึ้นต่ำต้องได้ประมาณ 200 คิวแน่นอนอยู่แล้ว โดยสาเหตุที่เปลี่ยนมาเป็นการดูดขึ้นมา ต่อเมื่อมีผู้สั่งทรายเท่านั้น เป็นเพราะยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่เนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาต โดยรายละเอียดส่วนนี้สามารถตรวจสอบจากบัญชีรายรับรายจ่ายของนายท่าซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ก้องกิดากร กรุ๊ป จะส่งคนงานมาเช็คเป็นประจำทุกๆ วัน และจะมาเก็บเงิน 30% ดังกล่าวเป็นรายเดือน


พร้อมกันนี้ยังกล่าวถึงประเด็นที่เทศบาลนครเชียงใหม่อ้างกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดว่า ได้ยื่นขอดูดทรายเพื่อเอาไปใช้กับประเพณีก่อเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์ ว่าช่วงเวลานี้ยังไม่ถึงสงกรานต์ จึงยังเป็นการดูดขายเหมือนเดิม และการใช้งานทรายในประเพณีที่วัดแต่ละแห่งจะใช้เพียงแค่ใช้รถบรรทุกทรายเต็มที่ 2 - 3 คัน ก็เพียงพอต่อการใช้ในประเพณีดังกล่าวแล้ว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net