รัศมี ชูทรงเดช:วงวิชาการโบราณคดีต้องศึกษาวิจัยอย่างลุ่มลึกเพื่อให้เกิด "ความจริง" ไม่ใช่ "นิยาย"

 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัด การประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 6 "รัฐ: จากมุมมองของชีวิตประจำวัน" ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2550 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

การประชุมครั้งนี้ ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิจัยดีเด่นรางวัลชมเชยสาขาสังคมวิทยา จากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2549[1] ได้นำเสนอบทความเรื่อง "รัฐกับการจัดการอดีต เรื่องจริงหรือนิยาย"[2] ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์เรื่อง "การจัดการอดีต" และได้ให้ข้อคิดที่สำคัญเกี่ยวกับ "เรื่องจริง" และ "นิยาย" ในความรับรู้ของสังคมไทย

 

ผศ.ดร.รัศมี เริ่มจากการไล่เรียงลำดับการจัดการอดีตโดยรัฐ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จนมาถึงสมัยปัจจุบัน โดยให้ข้อมูลด้านการสืบค้นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญๆ การก่อตั้งองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอดีต แนวคิดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอดีต และที่สำคัญคือปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลาต่างๆกันที่ส่งผลกระทบต่อแนวคิดการจัดการอดีต

 

ในการจัดการอดีตโดยรัฐนั้นพบว่า "ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย" ซึ่งถูกสร้างตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมานั้นสร้างโดย "ประวัติศาสตร์ของภาคกลาง"เป็นหลักเพื่อการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว จุดประสงค์เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากภายนอกซึ่งมีตัวอย่างจากประเทศรอบข้างที่ถูกคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคม

 

ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตความรู้ การเขียนประวัติศาสตร์ และการเขียนวรรณกรรม ก็มักถูกผลิตภายใต้แนวคิดแบบ "ชาตินิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

 

ทั้งนี้เมื่อมองจากภาพรวมของการจัดการอดีตโดยรัฐ ผศ.ดร.รัศมี ได้จำแนกการจัดการอดีตเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ การจัดการความรู้ การจัดการพื้นที่ และการจัดการความขัดแย้ง

 

การจัดการความรู้

มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ

ส่วนที่หนึ่ง การจัดลำดับยุคสมัยทางวัฒนธรรม มีความสำคัญสำหรับการจัดหมวดหมู่หรือลำดับความเจริญ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบนี้จากตะวันตก ทำให้การจัดการความรู้ของ "กรมศิลปากร" เป็นแนวความคิดแบบสายเดี่ยวหรือแบบเส้นตรงไปด้วย จนละเลยช่วงเวลาการซ้อนทับกันของแต่ละอารยธรรม

 

ส่วนที่สอง เรื่องพิพิธภัณฑ์ การจัดลำดับยุคสมัยด้วยแนวคิดพัฒนาการแบบสายเดี่ยวทำให้การจัดพิพิธภัณฑ์ มีรูปแบบในการจัดการเป็นแบบการเรียงลำดับการวิวัฒนาการ โดยเฉพาะการจัดแสดงที่เกิดจากหน่วยงานรัฐก็มักเน้นการให้โบราณวัตถุเป็นตัวแทนของยุคสมัย การจัดการพิพิธภัณฑ์แนวนี้มาจากแนวคิดการมองอดีตแบบสายเดี่ยว

 

ส่วนที่สาม หนังสือที่มีการตีพิมพ์ เดิมทีเป็นเช่นเดียวกับสองส่วนก่อนหน้าคือผูกขาดความคิด ความรู้และการจัดการโดย "กรมศิลปากร" ขณะที่ยุคหลังๆประมาณ 10 -15 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงการจัดการความรู้โดยการเชื่อมโยงกับวิชาการสายอื่น ทั้งจากนักวิชาการอิสระ หรือนักวิชาการในสายอื่น ดังนั้นการผลิตความรู้ผ่านหนังสือในยุคหลังจึงมีแง่มุมใหม่ๆ มีการสังเคราะห์ความรู้แบบใหม่ๆซึ่งต่างไปจากสองส่วนแรกซึ่งมักถูกผูกขาดโดย "กรมศิลปากร"

 

การจัดการพื้นที่หรือแหล่งโบราณคดี

ตั้งแต่ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ จนก่อให้เกิด "อุทยานประวัติศาสตร์" ที่ภาครัฐมีบทบาทจัดการพื้นที่แหล่งโบราณคดีอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเป้าหมายโดยเฉพาะด้านการเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

ต่อมา เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาเชื่อมโยง ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอันหนึ่งเกิดขึ้นมาด้วย คือแนวคิดเรื่อง "มรดกโลก" ที่มีการจัดสร้างมาตรฐานและจัดระเบียบทางวัฒนธรรมแบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดการจึงไม่ได้มาจากภาครัฐโดยตรงฝ่ายเดียวอีกต่อไปแต่เกิดจากผลของโลกาภิวัตน์ด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของโลก เราก็โดนโลกย้อนกลับมาบีบด้วยเช่นกัน

 

ส่วนการจัดการพื้นที่อีกแบบหนึ่งแต่ถือว่าเป็นผลจากการจัดการการท่องเที่ยวก็คือ "พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง" แต่เดิมก็เป็นการดำเนินการจัดการโดยกรมศิลปากร แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองคือการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น คนในท้องถิ่นจึงได้มีส่วนในการจัดการมากขึ้น

 

การจัดการความขัดแย้ง

ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เกิดการต่อรองแย่งชิงสถานะความเป็นเจ้าของในทรัพยากรต่างๆหรือพื้นที่แหล่งโบราณคดี

ในระดับท้องถิ่น "รัฐ" มักจะปล่อยไปตามธรรมชาติ ขณะที่ในระดับชาติและนานาชาติจะถูกจัดการจากภาครัฐในหลายๆกรณี ในระดับชาติ เช่น กรณี "มัสยิดกรือเซะ" รัฐเข้าไปจัดการให้เป็นโบราณสถาน หรือขณะในระดับนานาชาติก็มีกรณีสำคัญๆหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น กรณี "เขาพระวิหาร" ที่เกี่ยวพันกับทั้งเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือกรณี "ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์" ซึ่งเป็นศิลปะแบบเขมร แต่คนไทยปฎิเสธความเป็น "เขมร" โดยใช้แนวคิดชาตินิยมซึ่งอาศัยเรื่องดินแดนว่าเป็นสมบัติของไทย เป็นต้น

 

หลังจากกล่าวถึงภาพรวมของการจัดการอดีตแล้ว ผศ.ดร.รัศมี ได้กล่าวต่อในประเด็น "เรื่องจริง" กับ "นิยาย" จากกระบวนการวิชาการด้านโบราณคดี โดยตั้งคำถามว่า

 

"เรื่องจริง" หมายถึง ความรับรู้ของสาธารณชน ซึ่งถ้าความรับรู้นั้นถูกผลิตโดย "กรมศิลปากร" ก็จะได้รับการการันตีว่าเชื่อถือได้และถูกทำให้เป็น "เรื่องจริง" เพราะ "กรมศิลปากร" ถือว่าเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อถือได้

 

หรือที่จริงแล้ว "เรื่องจริง" อาจเกิดจากการค้นคว้าและการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกระบวนการวิชาการ และยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ถ้าสามารถพิสูจน์หรือหักล้างได้

 

และเมื่อ "เรื่องจริง" เหล่านี้เกิดจากการตีความ "อดีต" ภายใต้อิทธิพลแนวคิดแบบตะวันตกที่มองเป็นเส้นตรงหรือสายเดี่ยว ทำให้บางครั้งมองไม่เห็นความแตกต่างและความหลากหลายของ "ความจริง"

 

ซึ่ง "เรื่องจริง" เหล่านี้มักเป็น "ความรู้" ที่ถูกผลิตในแวดวงที่จำกัดและเฉพาะทางมาก ส่วนสาธารณชนก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะนักโบราณคดีมักจะบอกว่าความรู้ทางโบราณคดีเป็น "technical report" คนที่ไม่ใช่นักโบราณคดีจะไม่รู้ ดังนั้น "ความรู้" เหล่านี้จึงล้วนถูกผูกขาดการสร้างโดย "นักโบราณคดี"

 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.รัศมี ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ "ความจริง" เหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ "การเมือง" มาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่อง "การสร้างชาติ" ดังจะเห็นจากการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของ "รัฐ" ในขณะที่ "ความรับรู้" ที่ถูกสร้างขึ้นแบบนี้นั้นเราไม่อาจรู้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็น "ความจริง" หรือไม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเมื่อเราตระหนักถึงความไม่รู้ตรงนี้แล้วต้องสามารถวิพากษ์หรือตรวจสอบ "ความจริง" ได้

 

ขณะที่ "นิยาย" อาจหมายถึง ความรู้ซึ่งถูกผลิตโดยไม่ได้รับการตรวจสอบจากประชาคมวิชาการแต่ก็ทำให้ "นิยาย" กลายมาเป็น "ความจริง" โดยไม่ได้ตั้งใจ และกลายเป็น "ความรับรู้" ของสังคมได้ในที่สุด

 

ขณะเดียวกันอาจมองได้ว่า "นิยาย" อาจหมายถึง ความจริงที่ถูกบิดเบือนระหว่างการทำงานโบราณคดีซึ่งมักเกิดจากการขุดค้นขุดแต่งบูรณะโบราณสถานเพื่อการท่องเที่ยวจนกลายเป็นการทำลายภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม

 

ผศ.ดร.รัศมี ให้ข้อสังเกตว่าการนำข้อมูลทางโบราณคดีไปใช้ในการทำภาพยนตร์ซึ่งมีผลต่อ "ความรับรู้" และ "ความทรงจำ" ของสังคม โดยนักโบราณคดีแทบไม่มีบทบาทในการเสนอข้อเท็จจริงหรือแสดงข้อคิดเห็นเลย ในขณะที่เรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือสารคดีเหล่านั้นหลายๆครั้งกลายเป็น "นิยาย" ไปโดยปริยาย

 

ในช่วงท้าย ผศ.ดร.รัศมี เสนอว่าสิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อไปในวงวิชาการโบราณคดีคือ การศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างลุ่มลึกในแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาความรู้ความคิดเพื่อให้เกิด "ความจริง" ไม่ใช่ "นิยาย"

 

ส่วน "คนที่ควบคุมอดีต" โดยเฉพาะ "รัฐ" และการดำเนินการของ "กรมศิลปากร" ควรจะต้องหนักแน่น งานที่ควรจะมุ่งเน้นคือการทำงานวิจัย มากกว่างานที่จะต้องทำตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าคงจะยากเพราะกรมศิลปากรอยู่ในโครงสร้างหลักของภาพใหญ่ของรัฐ

 

หมายเหตุ:

[1] ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นรางวัลชมเชยสาขาสังคมวิทยา จากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2549 จากผลงานวิจัย "โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน"

[2] จากการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 6 "รัฐ: จากมุมมองของชีวิตประจำวัน" ในวันที่ 29 มีนาคม 2550 ที่ห้อง 407 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท