บทความ: JTEPA กับตำราพิชัยสงคราม (2)

บทความก่อนหน้า

บทความ : JTEPA กับตำราพิชัยสงคราม (1)

           

 

นันทน อินทนนท์

มหาวิทยาลัยสต๊อกโฮล์ม

 

           

 

 

ในตำราพิชัยสงครามบทที่ 4 ซุนวูกล่าวว่า "ผู้ที่เราไม่อาจเอาชนะ พึงตั้งรับ ผู้ที่เราอาจเอาชนะ พึงเข้าตี ผู้สันทัดการตั้งรับ จักประหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้บาดาล ผู้สันทัดการเข้าตี จักประหนึ่งเคลื่อนตัวอยู่เหนือฟากฟ้า ฉะนั้น จึงสามารถพิทักษ์ตนเองให้ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์"

           

สงครามการค้าก็ไม่ต่างจากสงครามการรบ แต่รูปแบบการทำสงครามการค้าในอดีตต่างจากปัจจุบัน การเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสงครามการค้ายุคใหม่ ซึ่งเราไม่เพียงต้องให้ความสนใจแก่เนื้อหาของการเจรจาเท่านั้น แต่ต้องให้ความสนใจแก่ความสามารถในการเจรจาของคณะเจรจาด้วย

           

ในความตกลง JTEPA มีหลายประเด็นที่เกินเลยไปกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของความตกลงทริปส์คือ (1) การคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ (2) การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป (3) การคุ้มครองแบบผลิตภัณฑ์บางส่วน และ (4) การคุ้มครองพันธุ์พืช

           

ในประเด็นแรก ความตกลงทริปส์ไม่มีหลักการในที่กำหนดให้มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศไว้แม้แต่น้อย แต่ความตกลง JTEPA ได้กำหนดหลักการใหม่ในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไว้เพิ่มเติม 3 ประการคือ 1) การให้ความคุ้มครองสิทธิในการแพร่แพร่ต่อสาธารณชนในงานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต 2) การให้ความคุ้มครองมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยี (Technological Protection Measure หรือ TPM) และ 3) การให้ความคุ้มครองข้อมูลบริหารสิทธิ (Right Management Information)

           

หลักการทั้งสามประการนี้ปรากฏอยู่ในความตกลงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกสองฉบับที่เรียกกันว่า "สนธิสัญญาอินเทอร์เน็ต" (WIPO Internet Treaties) โดยสนธิสัญญานี้ได้รับการผลักดันจากประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องการขยายความคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้กว้างขวางขึ้น ประเด็นการให้ความคุ้มครองมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยีดูเหมือนจะได้รับการคัดค้านอย่างหนักที่สุด เนื่องจากอาจถูกนำไปใช้เพื่อกีดกันไม่ให้สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเต็มที่ เช่น เจ้าของลิขสิทธิ์ในแผ่นซีดีเพลงจะใช้ TPM เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเปิดแผ่นซีดีนั้นโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไม่ให้มีการทำสำเนาแผ่นซีดีนั้น แม้ว่าจะเป็นการทำสำเนาเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตาม ดังนั้น นักศึกษาหรือาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องการทำสำเนางานนั้นแม้เพียงบางส่วนเพื่อใช้ในการศึกษาก็ไม่สามารถทำได้ หากมีการหลีกเลี่ยง TPM เช่นโดยการถอดรหัส TPM การกระทำเช่นนี้จะเป็นความผิดตามกฎหมาย

           

เจ้าของลิขสิทธิ์จำนวนมากได้ใช้ TPM เพื่อสร้างอำนาจผูกขาดทางการตลาด เช่น มีการใส่รหัสภูมิภาค (Region Coding) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำแผ่นดีวีดีหรือแผ่นเกมจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่ามาใช้ในประเทศ ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ใช้ TPM เพื่อห้ามมิให้มีการนำหมึกพิมพ์ของผู้ผลิตรายอื่นมาใช้กับเครื่องพิมพ์ของตนเพื่อบังคับใช้ผู้ซื้อเครื่องพิมพ์ต้องซื้อหมึกพิมพ์ที่มีราคาแพงจากบริษัทนั้นตลอดไป เช่นเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคพยายามที่จะหลีกเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเหล่านี้ การกระทำนั้นก็จะเป็นความผิด หลักการเช่นนี้ได้ถูกที่เขียนไว้ใน JTEPA โดยแทบจะลอกสนธิสัญญาอินเทอร์เน็ตนี้มาแบบคำต่อคำ ซึ่งเมื่อประเทศไทยลงนาม JTEPA ก็ไม่ต่างไปจากการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาอินเทอร์เน็ต รายงานการวิจัยของ TDRI จึงได้สรุปไว้อย่างน่าชวนโมโหว่า JTEPA ไม่มีข้อน่ากังวลเพราะไม่ได้กำหนดให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศฉบับใด

           

ประเด็นทริปส์ผนวกประการที่สองในความตกลง JTEPA คือ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป (Well-known Mark) ประเด็นนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน เพราะมีพัฒนาการในหลักกฎหมายนี้มาโดยตลอดนับแต่อนุสัญญากรุงปารีส ความตกลงทริปส์ มาจนถึงการทำความตกลงร่วมระหว่างองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกกับที่ประชุมใหญ่สหภาพปารีส แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ ปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าที่จะถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจะต้องเป็นเครื่องหมายที่มีการจดทะเบียนแล้วหรือไม่ และเครื่องหมายการค้านั้นต้องมีการใช้ในประเทศที่ต้องการได้รับความคุ้มครองก่อนหรือไม่ ข้อ 16 (2) ของความตกลงทริปส์เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกกำหนดให้ต้องมีการใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศที่ต้องการได้รับความคุ้มครองก่อนจึงจะถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปได้ แต่ความตกลง JTEPA ก็ปิดโอกาสเช่นนั้น โดยกำหนดว่าไม่ว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นที่ใดในโลก ก็อาจถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปได้ ซึ่งแตกต่างจากความตกลงทริปส์ แต่ข้อสังเกตนี้อาจถูกโต้แย้งว่า หลักการเช่นนี้สอดคล้องกับกฎหมายไทยในปัจจุบัน เนื่องจากระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรี มีประกาศกระทรวงพาณิชย์แก้ไขความหมายของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

           

ประเด็นที่สามคือ การคุ้มครองแบบผลิตภัณฑ์บางส่วน (partial design) ในประเด็นนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า โดยปกติแล้ว แบบผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาขอรับสิทธิบัตรได้ต้องเป็นรูปร่างของผลิตภัณฑ์นั้นทั้งหมด แต่กฎหมายญี่ปุ่นอนุญาตให้มีการจดทะเบียนแบบผลิตภัณฑ์บางส่วนได้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอ หลักการนี้ในความตกลง JTEPA ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่มีปรากฏในความตกลงทริปส์ แต่เข้าใจว่าฝ่ายไทยแจ้งให้ญี่ปุ่นรู้ว่าไทยกำลังจะออกกฎหมายให้ความคุ้มครองแบบผลิตภัณฑ์บางส่วนอยู่แล้ว จึงมีการกำหนดให้นำประเด็นการคุ้มครองนี้ไปหารือในคณะอนุกรรมการทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป

           

ผู้เขียนไม่ทราบว่าแนวคิดในการร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองแบบผลิตภัณฑ์บางส่วนเกิดขึ้นมาจากปัญหาใด แต่การให้ความคุ้มครองนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบ หากคำว่า "ผลิตภัณฑ์บางส่วน" ถูกตีความให้หมายความรวมถึงชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ หากอนุญาตให้มีการจดทะเบียนชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ ผู้ทรงสิทธิก็จะมีอำนาจผูกขาดมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ผลิตชิ้นส่วนเหล่านั้นได้ ดังนั้น การร่างกฎหมายไทยในส่วนนี้จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง แต่ที่น่าหวั่นเกรงก็คือคณะอนุกรรมการร่วมของไทยและญี่ปุ่นจะมีบทบาทอย่างไรต่อปัญหานี้

           

คราวหน้ามาถึงปัญหาสำคัญว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท