ศึกษาชนกลุ่มน้อยพุทธ-มุสลิม ณ ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ดร. สุริยะ สะนิวา


suriasaniwa@hotmail.com

สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

 

 

บทความนี้ คัดมาจากงานวิจัยเรื่อง "ผู้แทนทางการเมืองของชนกลุ่มน้อย: ศึกษากรณีชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในชายแดนใต้ประเทศไทยและชาวพุทธเชื้อสายไทยในชายแดนเหนือประเทศมาเลเซีย" เพื่อสืบหาคำตอบของคำถามที่ว่า "ชนกลุ่มน้อยมีผู้แทนทางการเมืองอย่างไร ในการที่จะดำเนินกิจกรรมให้บรรลุถึงเป้าหมายผลประโยชน์ของชุมชนที่ได้กำหนดไว้?"

 

ในบทความบทนี้ จะมีการกล่าวถึงสองกลุ่มชาติพันธ์ คือ ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของประเทศไทย กับชาวพุทธเชื้อสายไทยในภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเราจะเริ่มอภิปรายชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของประเทศไทยก่อน แล้วต่อด้วยการอภิปรายถึงชาวพุทธในภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย

 

หากเราย้อนกลับไปดูในอดีต ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูตกอยู่ในสภาวการณ์ที่หวาดกลัวในช่วงปีค.ศ.1932 - 1979 (พ.ศ.2475 - 2522) จากเหตุการณ์ตั้งแต่ปีค.ศ.2004 (พ.ศ. 2547) จนถึงปัจจุบัน ก็คงไม่ต่างเท่าไหร่นัก

 

อาการหวาดกลัวนั้น อาจเกิดมาจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาของชาติหรือพูดง่ายๆ ก็คือ การใช้การทหารนำการเมืองนั้นเอง

 

จะเห็นว่านโยบายที่สร้างปัญหาให้แก่ชุมชนมุสลิมในท้องถิ่นก็คือ การใช้นโยบายรัฐนิยมในสมัยท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถังแดงในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ นิคมสร้างตนเองในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร และมีการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินในสมัยท่านพันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร

 

พูดถึงสภาวการณ์ที่น่ากลัวนั้น ไม่ได้หมายถึงชาวพุทธเชื้อสายไทยในภาคเหนือของประเทศมาเลเซียไม่มีสภาวการณ์ความเป็นอยู่ที่น่ากลัว ที่นั่นก็มีลักษณะอย่างนั้นเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี ค.ศ.1960s (พ.ศ.2503) ที่เกิดขึ้นแก่ชาวพุทธเชื้อสายไทยในรัฐเคดาห์นั้น คนไทยถูกกวาดต้อนให้เข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน เพื่อที่จะแยกแยะคนดีออกจากกลุ่มคอมมิวนิสต์จีนมาลายา

 

ซึ่งการปฏิบัติงานในการกวาดล้างจากฝ่ายรัฐบาลในครั้งนั้น มีบ้านเรือน วัดวาอาราม ทรัพย์สินมีค่า ซึ่งเป็นมรดกทางตกทอดวัฒนธรรมของคนไทยถูกทำลายไปมากมาย ถิ่นฐานของคนไทยถูกชนกลุ่มอื่นๆ เข้าครอบครองไปหมด การถือสัญชาติของชาวพุทธเชื้อสายไทยก็ไม่สามารถทำได้สะดวก ทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น

 

แต่ที่เป็นคำถามคาใจเรานั้น จึงอยู่ที่ว่า ทำไมชาวพุทธเชื้อสายไทยในประเทศมาเลเซีย ไม่มีการลุกขึ้นต่อสู้โดยวิธีรุนแรงหรือตรงกับภาษาอังกฤษว่า radicalization อย่างที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศไทย?

 

เนื่องจากว่าเรามีพื้นที่และเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องรวบรัดให้กระชับและสั้นลง ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง เราจึงขอเปรียบเทียบความเป็นไปที่เกี่ยวข้องกันระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งจะขอเริ่มต้นที่ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูก่อน

 

ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของประเทศไทยนั้น เป็นเจ้าของพื้นที่ในท้องถิ่นแห่งนี้มาก่อนชาวสยาม และตั้งรกรากอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้เกือบพันปีมาแล้ว มีเจ้าเมืองต่างๆ ปกครองตนเองมาก่อน ก่อนที่อยุธยาจะมาตีเมืองและเผาเมืองไป ซึ่งสภาพมัสยิดกรือเซะในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นหลักฐานอย่างแน่ชัดว่า ปัตตานีเคยถูกตีและเผาเมืองมาก่อน ไม่ใช่ถูกสาปแช่งจากลิ้มโกเหนี่ยวที่พี่ชายของลิ้มโกเหนี่ยวที่ชื่อว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เข้ารับอิสลามในอดีตกาลแต่อย่างใด เพราะนั่นเป็นการป้ายสี ดูเหมือนจะทำไปเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวมากกว่าเหตุผลอื่นใด ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือนไปมาก

 

แท้ที่จริงนั้น ชาวมลายูในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน เคยมีระบบเจ้าเมืองมาก่อน และเพิ่งเลิกไปในสมัยที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพในสมัยรัชกาลที่ห้า เข้าไปมีบทบาทในการจัดการบริหารหัวเมืองและเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารการปกครองเสียใหม่ในรูปแบบของการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารปกครองที่เป็นรูปแบบของระบบรัฐเดี่ยว ทำให้ต้องล้มเลิกระบบเจ้าเมืองต่างๆ ไปในที่สุด

 

ซึ่งมีบางกระแสรายงานว่า ในสมัยนั้น คือ ขณะที่อยุธยามีอำนาจมากขึ้นๆ แต่ปัตตานีกลับมีอำนาจลดลงๆ ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ลูกหลานของเจ้าเมืองปัตตานีไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีการศึกษาสูงนั้นเอง ไม่ได้รับการศึกษาด้านการบริหารการปกครองจากประเทศยุโรปอย่างที่เจ้าเมืองของอยุธยากระทำกันในสมัยนั้นนั่นเอง

 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ มีความด้อยทางด้านการศึกษานั้นเอง จึงทำให้กิจการด้านการบริหารการปกครองถูกอยุธยา เข้ามาเผาเมืองและครอบครองดินแดนแห่งนี้ และปกครองอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี ค.ศ.1902 (พ.ศ.2445) หลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับผู้แทนจากอังกฤษในสมัยของรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การกระด้างกระเดื่องของชาวมลายูปัตตานีที่มีต่อชาวสยาม เพราะว่าชาวปัตตานีในอดีตนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมะละกามาก่อน มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งมะละกาก็เรืองอำนาจในช่วงประมาณศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงที่ไล่เลี่ยกันกับสมัยที่อยุธยาเรืองอำนาจ

 

เพราะชาวสยามซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกันนั้นเอง จึงทำให้มีความรู้สึกของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าเป็นผู้รุกราน สังคมชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูจะมีความเป็นอยู่อย่างกลมเกลียว มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก ทั้งอดีตและปัจจุบันได้มีการก่อตั้งขบวนการต่างๆ ต่อสู้กับชาวสยามทั้งในระบบและนอกระบบ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องสิทธิผลประโยชน์ด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาที่ยึดเหนี่ยวอยู่กับวัฒนธรรมมลายูอิสลาม และด้านสังคมวัฒนธรรมมลายูของตน

 

ที่สำคัญจะเห็นว่า ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูจะไม่ชอบการที่ตนเองถูกประณามว่าเป็นชาวสยาม ฉะนั้น ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูจึงมีการเรียกร้องความเป็นอัตลักษณ์ของตนที่แสดงถึงสัญลักษณ์ความเป็นมลายูของตนสูงมาก ที่ปรากฏเด่นชัดก็คือ การต่อต้านนโยบายรัฐนิยมและมีการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงการบริหารการปกครองของหะญีสุหลงในช่วงปี ค.ศ.1940s - 1950s (พ.ศ.2483 - 2493)

 

หะญีสุหลง ถือเป็นผู้แทนด้านการเมืองของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นคนแรก ที่คัดค้านนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งการกระทำที่มีผลอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐนิยมโดยสรุปก็คือ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในประเทศไทยจากเชื้อชาติมลายูสัญชาติสยามในสมัยนั้นไปเป็นเชื้อชาติไทยสัญชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ก็ให้มีการนุ่งเสื้อผ้าโจงกระเบน สวมหมวกและมารยาทการรับประทานอาหารตามวัฒนธรรมตะวันตก การห้ามทูลของบนหัวแต่ให้แบกของบนบ่าแทน ห้ามกินหมากพลู ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รวมทั้งครูสอนในโรงเรียนสามัญของรัฐที่มีการปฏิบัติตนที่คอยห้ามปรามการพูดหรือการเรียนภาษามลายู มีการปิดหรือปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสถาบันการเรียนการสอนทางศาสนาที่เรียกว่า "ปอเนาะ" อย่างนี้เป็นต้น หะญีสุหลงจึงเสนอข้อเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิผลประโยชน์ดังกล่าวดังต่อไปนี้คือ

 

ร้อยละ 80 จากภาษีบำรุงท้องที่ในสี่จังหวัดชายแดนใต้จะต้องนำมาพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่ การเป็นข้าราชการในท้องถิ่นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ร้อยละ 80 ของข้าราชการในท้องถิ่นจะต้องเป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู จะต้องมีศาลชารีอะห์บังคับใช้ในท้องถิ่น ภาษามลายูจะต้องเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย ภาษามลายูจะต้องมีการสอนในโรงเรียนของรัฐ และเชื้อชาติมลายูจะต้องประกาศใช้เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

 

จากความรู้สึกของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเห็นว่า รัฐบาลในสมัยอดีตนั้นมีการเอารัดเอาเปรียบเรื่องการกระจายงบประมาณเข้าสู่ท้องถิ่น มีการนำเอางบประมาณบำรุงท้องที่จากส่วนที่ต้องบำรุงพื้นที่ในเขตของชาวมลายูไปพัฒนาภาคอื่นๆ ของประเทศ ทำให้การพัฒนาเกือบทุกด้านออกไปอยู่ส่วนอื่นๆ ของประเทศแต่ไม่ใช่ในพื้นที่ของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู จึงเกิดการว่างงานกันเป็นจำนวนมาก มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น ซึ่งตรงนี้เอง จะเห็นว่าวัยรุ่นจากท้องถิ่นแห่งนี้ต้องออกไปหางานทำในต่างแดนคือประเทศมาเลเซีย

 

ทำไมจึงเสนอประเด็นการเป็นข้าราชการในท้องถิ่นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสะท้อนภาพพจน์ให้เห็นว่า ข้าราชการที่เข้ามาปฏิบัติงานในสมัยนั้นเป็นข้าราชการที่ถูกทำโทษจากที่อื่นมา

 

ผลที่ตามมาก็คือ มีการปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรม ดูเหมือนประชาชนในถิ่นนี้จะไม่ได้รับการปฏิบัติดังพลเมืองชาวไทยอย่างที่ควรจะเป็น หากจะพูดอย่างไม่มีความเกรงใจก็คือ ข้าราชการรังแกประชาชนนั้นเอง

หากเราหลับตานึกคิดให้ดี จะเห็นว่า สภาพการณ์ที่ข้าราชการรังแกประชาชนนั้น จะมีความโหดเหี้ยมปานไหน ขอให้ลองนึกภาพดูการเสนอข่าวทั่วๆ ไปจากสื่อต่างๆ จากต่างประเทศที่เสนอถึงความทุกข์ทรมานของชาวบอสเนียในช่วงที่ประเทศยูโกสลาเวียแตกสลายใหม่ๆ ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกทรมานจากอิสราเอลผู้ยึดครอง และชาวอิรักที่ถูกต่างชาติยึดครองว่าเป็นอย่างไร คิดว่าก็คงไม่ไกลนักจากสภาพความรู้สึกของประชาชนที่แหล่งต่างๆ ที่มีชาวมุสลิมถูกทารุณกรรม

 

ประเด็นร้อยละ 80 ของข้าราชการในท้องถิ่นจะต้องเป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ เราจะเห็นว่า ในสมัยนั้นมีการมองถึงการเรียกร้องให้มีการใช้ระบบ proportional representation (PR) ออกมาใช้ ประชาชนได้มองเห็นแล้วว่า การกระจายอำนาจที่ไม่เป็นธรรมนั้นเกิดขึ้นในเมืองไทยที่ปัตตานีประมาณ 60 ปีมาแล้ว การใช้ระบบ merit system คือ มือใครยาวก็สาวได้สาวเอา ใครมือสั้นก็ปล่อยให้อดตาย คิดดูอีกทีก็คล้ายๆ กับอุดมการณ์ของตะวันตกตามทฤษฎี Darwinism ซึ่งเป็นระบบที่ผู้อ่อนแอก็ต้องตายไป ปล่อยให้ผู้ที่แข็งแรงกว่ายืนยงคงกระพันและครอบครองกรรมสิทธิ์ในสิทธิผลประโยชน์ต่างๆ บนโลกใบนี้แต่เพียงผู้เดียว มีการใช้เหตุผลต่างๆ นานาเพื่อรุกรานประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายอยู่เนืองนิตย์

 

ในที่สุดจากการใช้ merit system นี่เอง ที่ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่สามารถที่จะเข้าร่วมเสนอและกำหนดนโยบายที่อาจปกป้องสิทธิผลประโยชน์ของตนได้เลย จะเห็นว่าอัตราส่วนการทำงานในตำแหน่งข้าราชการในท้องที่ การเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย การมีสัดส่วนที่เป็นผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์มลายูเข้าสู่สภา รวมถึงการมีส่วนร่วมบริหารประเทศในคณะรัฐมนตรีจะไม่มีสัดส่วนที่เป็นธรรมได้เลย

 

ประเด็นที่จะต้องมีศาลชารีอะห์บังคับใช้ในท้องถิ่นก็ถือว่าสำคัญ เพราะความเป็นอิสลามนั้นหมายถึง การมีชีวิตความเป็นอยู่ตามระบอบแห่งการดำเนินชีวิตของพระผู้เป็นเจ้าที่กำหนดไว้ ซึ่งมีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นธรรมนูญแห่งการดำเนินชีวิต อัลหะดีษเป็นหลักการปฏิบัติ และฟัตวาหรือคำตัดสินของนักปราชญ์เป็นแนวทางปฏิบัติตัดสินคดีในส่วนที่เป็นคดีความปลีกย่อยหรือยังไม่มีความชัดเจนจากอัลกุรอ่านและอัลหะดิษ ฉะนั้น อิสลามจะไม่มีการยอมรับการตัดสินคดีใดๆ ที่แตกต่างไปหรือคัดค้านจากทั้งสามหลักการดังกล่าวข้างต้น เพราะเหตุนี้แหละจึงต้องมีกฎหมายชะรีอะห์ขึ้นมารองรับในสังคมมุสลิม ซึ่งศาสชารีอะห์จะเป็นองค์กรในการตัดสินคดีคู่ความต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างมุสลิมกับมุสลิมหรือระหว่างมุสลิมกับต่างศาสนิกชน ไม่ว่าจะเป็นคดีความซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการแต่งงาน ปัญหาที่ว่าด้วยทรัพย์สินมรดก หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม

 

ภาษามลายูจะต้องเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย ประเด็นนี้เป็นหลักสากลที่ประเทศยุโรปปฏิบัติกันเพื่อดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ด้านภาษาของชนกลุ่มน้อยในชาติ ถือเป็นการเคารพอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ที่ร่วมกันบริหารประเทศชาติ จะเห็นว่าแคนาดาประกาศใช้ภาษาฝรั่งเศสของชาวควิเบซัวในรัฐควิเบกเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ของชนส่วนใหญ่ของประเทศ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์มีการประกาศใช้สี่ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ เบลเยี่ยมมีการประกาศใช้สองภาษากลุ่มชาติพันธุ์ และที่ใกล้บ้านเราคือประเทศมาเลเซีย ก็มีการส่งเสริมใช้ภาษาจีนและภาษาทมิฬซึ่งเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยชาวจีนและชาวอินเดียเป็นทางการควบคู่กับภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในประเทศชาติ

 

ภาษามลายูจะต้องมีการสอนในโรงเรียนของรัฐ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า ในอดีตนั้น มีการไม่ให้เกียรติในการใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อยในชาติ และประเด็นนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่นิยมส่งเสริมส่งบุตรหลานให้เข้าไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ ความหมายของชาวมุสลิมในท้องถิ่นก็คือ รัฐกำลังกลืนชาติของความเป็นมลายูของชุมชนในท้องถิ่นนั้นเอง ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การที่รัฐพยายามเรียกชื่อภาษามลายูในท้องถิ่นเป็น "ภาษาท้องถิ่น" แทนที่จะเรียก "ภาษามลายู" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์มลายูอย่างถูกต้อง

 

เชื้อชาติมลายูจะต้องประกาศใช้เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รัฐกำลังลบล้างเชื้อชาติมลายูของกลุ่มชาติพันธุ์มลายูในประเทศ พูดให้ตรงประเด็นก็คือ กำลังกลืนชาตินั้นเอง แทนที่จะส่งเสริมเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม

 

ฉะนั้น จะเห็นว่า ประเทศชาติของเรากำลังขาดโอกาสทองที่จะนำเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ เพราะจากประสบการณ์ของผู้เขียนจะเห็นว่า เรายังไม่ได้ประยุกต์ใช้จากสภาพธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นอยู่ให้เป็นโอกาสทองเท่าที่ควร ประเทศที่อยู่ติดชายแดนกับเราอย่างมาเลเซียนั้น ได้ใช้ภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีทั้งชาวจีนและชาวอินเดียให้ดำเนินธุรกิจด้านการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่และติดต่อการค้ากับอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรบริโภคสินค้าเกือบทุกชนิดมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก ซึ่งมาเลเซียได้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม แต่เรากลับเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไปเป็นพวกขบถไปเสียหมด

ในที่สุด ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูถูกปราบปรามอย่างรุนแรง มีโต๊ะครูรวมถึงหะญีสุหลงถูกอุ้มหายตัวไป และถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูบางส่วนต้องอพยพไปอาศัยในรัฐต่างๆ ของมาเลเซีย ในช่วงนี้เองคือ ปี ค.ศ.1950-1970 (พ.ศ.2493-2513) ที่เริ่มมีการก่อตั้งขบวนการต่างๆ เพื่อทำการต่อสู้ปลดแอกรัฐปัตตานี ปัจจุบันได้ปะทุขึ้นมาอีก ตั้งแต่ปีค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) ได้มีการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร หรืออีกชื่อหนึ่งของท่านคือ "อบูบักร" หายตัวไปขณะที่ท่านสมชายอยู่ในระหว่างว่าความคดีความมั่นคงที่ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูกำลังถูกกล่าวหา ซึ่งนับว่าท่านได้ถูกอุ้มหายตัวไปในขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ว่าความตามระบบกลไกของรัฐ ที่ปกป้องชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูผู้บริสุทธิ์ให้ได้รับความเป็นธรรม แต่ท่านสมชายกลับหายตัวไปโดยทางการไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ ในเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับการหายตัวของท่านสมชาย ได้เกิดความไม่สงบขึ้นในภาคใต้ของประเทศ และก็ไม่แน่ใจว่า นโยบายที่ประเทศชาติกำลังแก้ปัญหาอยู่ในขณะนี้นั้น ได้มีการใช้ทฤษฎีการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยที่เป็นสากลหรือไม่ หากมีการทบทวนการแก้ปัญหาจากฝ่ายรัฐอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เราจะเห็นว่าประสบผลสำเร็จได้ไม่มากนัก พูดง่ายๆ ก็คือ สาเหตุที่ใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหายังไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจังคือ "เรายังขาดความจริงใจ ขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ขาดการน้อมรับในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ปัญหาอย่างบริสุทธิใจ" นั้นเอง จึงทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นด้านการดำเนินนโยบาย ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านการคัดเลือกเข้ารับการทำงานในอาชีพราชการ ด้านการส่งเสริมอาชีพ และด้านการศึกษาในสาขาอาชีพที่จำเป็นต่างๆ ต่อสังคม

 

ต่อไปนี้ เราลองหันไปดูชาวพุทธเชื้อสายไทยในประเทศมาเลเซียกันบ้าง มีการบันทึกจากตำราของคุณธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ (ฉบับปรับปรุงปีค.ศ. 2004) ว่ามีชาวพุทธเชื้อสายไทยอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนมลายูเมื่อประมาณ 300-500 ปีมาก่อนแล้ว ซึ่งตรงกับช่วงที่สยามยาตราทัพเข้าไปยึดเมืองปาหัง ผู้ที่ติดตามพร้อมกับกองทัพสยามได้เข้าไปอยู่อย่างกระจัดกระจาย ท่านได้บันทึกไว้ว่าชาวไทยพุทธเชื้อสายไทยอพยพเข้าไปในรัฐกลันตันหรือทางตะวันออกตอนเหนือของคาบสมุทธมลายูประมาณ 300 ปีแล้ว และอพยพเข้าไปอยู่ในรัฐเคดาห์หรือตะวันตกตอนเหนือของคาบสมุทธมลายูประมาณ 500 ปีมาก่อนแล้ว ปัจจุบันได้เริ่มมีการก่อตั้งองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรมคือ ความเป็นบุมีปุตรา (เจ้าของแผ่นดิน) สมัยอดีตประมาณปี 1960s (พ.ศ. 2503) นั้นเริ่มมีสมาคมสยามเคดาห์ - เปอร์ลิสที่พยายามต่อสู้เพื่อคงไว้ซึ่งภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในมาเลเซีย มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยและมีการสอนให้รักชาติไทย รักศาสนาพุทธเทิดทูลพระมหากษัตริย์ไทยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยาเดช มีการยกธงชาติไทยควบคู่กับธงชาติมาเลเซีย แต่จะไม่มีขบวนการที่เคลื่อนไหวนอกระบบหรือวิธีการที่รุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นจากชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของประเทศไทย

 

ข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นสำคัญๆ และนำเสนอผ่านสมาคมไทยกลันตัน และสมาคมสยามมาเลเซียมายังรัฐบาลก็คือ การขอมีสิทธิเป็นบุมีปุตรา การขอมีพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดให้เป็นที่สักการะบูชาของชาวพุทธจากทั่วโลก การขอแก้ไขให้มีการระบุชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยในแบบฟอร์มการขอเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ การขอประกาศวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ การขอประกาศวันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ การขอมีสิทธิในกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาและด้านการประกอบทางธุรกิจ ตลอดจนการขอมีสิทธิเป็นสมาชิกของพรรค UMNO

 

ประเด็นการขอมีสถานภาพเป็นบุมีปุตราถือว่าสำคัญที่สุด ตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซียถือว่า บุคคลที่สืบเชื้อสายเป็นชาวมลายูหรือสืบเชื้อสายเป็นชาวซาบาห์หรือชาวซาราวัคในมาเลเซียเท่านั้นที่เป็นบุมีปุตรา นอกจากนั้นจะไม่ใช่บุมีปุตรา ฉะนั้น จะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นบุมีปุตราเพียงสองกลุ่มเท่านั้นคือ กลุ่มชาติพันธุ์มลายูและกลุ่มชาติพันธุ์คาดาซานจากรัฐซาราวัคและซาบาห์ ส่วนลูกหลานที่เป็นบุมีปตราก็จะต้องมีบิดาหรือมารดาที่สืบเชื้อสายมลายูหรือชาวซาบาห์หรือซาราวัคเท่านั้น ผู้ที่ถือสิทธิเป็นบุมีปุตราจะถือว่าเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง จะมีสิทธิพิเศษมากมายนับว่าเหนือกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในมาเลเซีย ทุกกลุ่มชาติพันธุ์จึงต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้สถานภาพบุมีปุตรา อย่างไรก็ตาม จากการต่อสู้ทางสายกลางของชาวพุทธเชื้อสายไทยนั้น นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะว่าชาวพุทธเชื้อสายไทยถึงแม้ว่า ไม่มีสถานภาพเป็นบุมีปุตรา แต่สิทธิต่างๆ หมายถึง สิทธิด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม จะเหมือนกับบุมีปุตราที่เป็นชาวมลายูทุกประการ ปัจจุบันนี้ ชาวพุทธเชื้อสายไทยจึงมีสถานภาพพิเศษซึ่งถือว่าเป็นสถานภาพที่สูงกว่าชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซีย

 

การขอมีพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดให้เป็นที่สักการะของชาวพุทธจากทั่วโลก ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญ ปัจจุบันนี้ ประเทศมามาเลเซียมีพระพุทธรูปทรงนั่งที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากพระพุทธรูปทรงนั่งของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพระพุทธรูปทรงนั่งในประเทศมาเลเซียจะประดิษฐานอยู่ที่วัดมัชชิมาราม หมู่บ้าน Tereboh อำเภอ Tumpat รัฐ Kelantan ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียจากฝั่งอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ก็จะพบเห็น พระพุทธรูปดังกล่าวทางด้านซ้ายมือห่างจาก Pengkalan Kubor ริมฝั่งแม่น้ำตรงกันข้ามอำเภอตากใบประมาณ 5 - 8 กิโลเมตร

การขอแก้ไขให้มีการระบุชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยในแบบฟอร์มการขอเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ประเด็นนี้ก็ถือว่าสำคัญ เพราะว่า หากไม่มีการระบุกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชัดเจน จะทำให้ลูกหลานชาวพุทธเชื้อสายไทยหมดสิทธิในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันของรัฐ เพราะการเข้าสถาบันการศึกษาของรัฐในมาเลเซียนั้นมีการจัดการเข้าศึกษาตามระบบ PR ซึ่งเป็นอัตราส่วนตามจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์

 

การขอประกาศวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ และการขอประกาศวันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ ทั้งสองประเด็นดังกล่าวถือว่าสำคัญ เพราะการที่ไม่ได้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในชาตินั้น ส่อให้เห็นว่า วัฒนธรรมของชาวพุทธเชื้อสายไทยกำลังถูกกลืนจากกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ รัฐบาลมาเลเซียจึงประกาศให้วัฒนธรรมการละเล่นกลองยาว การฟ้อนรำไทย และประเพณีวันสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ

 

การขอมีสิทธิในการกู้ยืมกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาและด้านการประกอบทางธุรกิจ รัฐบาลมาเลเซียได้ให้สิทธิการขอทุนทั้งการศึกษาอย่างเช่น ทุน MARA ซึ่งเป็นทุนพิเศษสำหรับชาวมลายู และทุนการประประกอบทางธุรกิจอย่างเช่น ASB และ ASN ซึ่งเป็นกองทุนทางธุรกิจสำหรับชาวมลายูและพลเมืองแห่งชาติแก่ชาวพุทธเชื้อสายไทยเท่ากับชาวมลายูในมาเลเซียทุกประการ

 

การขอมีสิทธิเป็นสมาชิกของพรรค UMNO ประเด็นนี้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะว่าประเทศมาเลเซียนั้น พรรค UMNO ซึ่งเป็นพรรคของชาวมลายูเป็นพรรคการเมืองที่ผูกขาดในการบริหารปกครองประเทศ ผู้ที่เป็นสมาชิกของพรรค UMNO จะได้รับผลประโยชน์และสิทธิต่างๆ มากกว่าพรรคอื่นๆ สำหรับชาวพุทธเชื้อสายไทยนั้น นับตั้งแต่มีการต่อสู้การเรียกร้องสิทธิทางการเมือง คุณเจริญ อินทร์ชาติ คุณซิวชุน เอมอัมไพ ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติล้วนแต่เป็นสมาชิกของพรรค UMNO ทั้งสิ้น

 

ที่แตกต่างกันในการดำเนินนโยบายที่มีต่อชนกลุ่มน้อยชาวพุทธเชื้อสายไทยนั้น จะเห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียตอบสนองด้วยการให้มีการจัดตั้งองค์กรกลุ่มชาติพันธ์ชาวพุทธเชื้อสายไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเกิดสมาคมสยามมาเลเซียและสมาคมไทยกลันตันที่ทำการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธ์ รัฐบาลมาเลเซียมีการให้คำมั่นแก่ชาวพุทธเชื้อสายไทยถึงการสงวนสิทธิในตำแหน่งสภานิติบัญญัติไว้สำหรับชาวพุทธเชื้อสายไทยหนึ่งที่นั่งตามประชากรจำนวนประมาณ 60,000 คน และผู้ที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติคนแรกที่เป็นชาวพุทธเชื้อสายไทยในปี ค.ศ.1995(พ.ศ.2538) ก็คือ ประธานของสมาคมสยามมาเลเซีย ชื่อว่าคุณเจริญ อินทร์ชาติ ปัจจุบันนี้ ผู้ที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติต่อจากคุณเจริญ อินทร์ชาติ โดยเริ่มจากปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) คือ คุณซิวชุน เอมอัมไพ จน ท่านเป็นสุภาพสตรีชาวพุทธเชื้อสายไทย ซึ่งในอดีตท่านเคยเป็นรองประธานของสมาคมสยามมาเลเซียและที่ปรึกษาของมุขมนตรีแห่งรัฐเปอร์ลิสนั้นเอง

 

คราวนี้ เรามาถึงประเด็นสำคัญคือ "ชนกลุ่มน้อยมีผู้แทนทางเมืองอย่างไรในการที่จะดำเนินกิจกรรมให้บรรลุถึงเป้าหมายผลประโยชน์ของชุมชนที่ได้กำหนดไว้?" ทำไมชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในประเทศไทยจึงมีพฤติกรรมที่รุนแรง ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนอกระบบ แต่ชาวพุทธเชื้อสายไทยในมาเลเซียมีพฤติกรรมที่เป็นสายกลาง ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายในระบบของรัฐ?

 

ผลจากการวิจัยที่วิเคราะห์ออกมาจากปัจจัยต่างๆ คือ การศึกษาที่สูงขึ้น? ความรู้ด้านศาสนาที่มากขึ้น ? การสื่อสารยุคโลกาภิวัตน์? พฤติกรรมของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์? เสรีภาพของระบบรัฐ? สถานภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น? และทัศนคติที่เปลี่ยนแปลง?

           

ผลลัพธ์ที่ได้มาจากการวิเคราะห์คือ การศึกษาที่สูงขึ้นนั้นเองที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนกลุ่มน้อย เพราะว่ามีร้อยละ 80 ของผู้นำชุมชน (จากจำนวน 60 ท่าน = 100%) ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในชายแดนใต้ประเทศไทยยอมรับ และร้อยละ 100 ของชาวพุทธเชื้อสายไทยในชายแดนเหนือประเทศมาเลเซียเห็นพ้องต้องกัน ส่วนปัจจัยตัวอื่นๆ นั้น มีความขัดแย้งกันระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์นี้ค่อนข้างสูงมาก อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเคลื่อนไหวที่ว่า จะเป็นความรุนแรงหรือสายกลางนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการศึกษาสูงแต่อย่างใด แต่จะขึ้นอยู่กับรูปแบบการตอบสนองจากฝ่ายรัฐที่มีต่อประชาชนนั้นเอง

 

ประเทศไทยเราดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยในชาติ มากเท่าที่ควร ที่จริงแล้ว ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในประเทศไทยเพียงกลุ่มชาติพันธุ์เดียวก็มีเป็นสิบๆ เชื้อชาติแล้ว อย่างเช่น มีชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย ชาวมุสลิมเชื้อสายจีน ชาวมุสลิมเชื้อสายปากีสถาน ชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย และชาวมุสลิมเชื้อสายสยามดังนี้เป็นต้น แต่ชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ นั้นจะอยู่อย่างกระจัดกระจายและก็ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ตามภูมิประวัติศาสตร์ ซึ่งผิดกับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางภุมิประวัติศาสตร์ และมีจำนวนประชากรมากถึงสามล้านคน จัดอยู่ในอัตราส่วนกลุ่มชาติพันธ์ชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่มาก โดยเฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 15 ของประชากรในชาติทีเดียว และมีการรวมตัวกันอยู่ในสี่จังหวัดชายแดนใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลกับอีกสามอำเภอในจังหวัดสงขลาคือจะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย คำถามจึงอยู่ที่ว่า เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการจัดระบบการปกครองเสียใหม่โดยคำนึงถึงกลุ่มชาติพันธุ์เป็นหลัก และมีการใช้ระบบ PR ในการจัดการบริหารแผ่นดิน โดยใช้หลักการที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศรัฐเดี่ยวที่มีหลักการบริหารบางส่วนที่หลากหลายไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ และที่สำคัญที่สุดที่นับว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย อย่างที่ประเทศแคนาดาปกครองจังหวัดควิเบก ที่ดำเนินกิจการการบริหารการปกครองที่มีความหลากหลายเป็นพิเศษเพื่อให้พลเมืองควิเบกเคารพและหวงแหนในความเป็นชาติของแคนาดา ฉะนั้น การเจรจากันทั้งสองฝ่ายคือ ตัวแทนฝ่ายชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูกับตัวแทนของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะได้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกมากมาย ที่กำลังสวดมนต์ขอความโปรดปรานจากเอกองค์อัลลอฮเจ้าเพื่อให้ดลบันดาลจิตใจให้ผู้ที่กำลังเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายหันมาหาสาเหตุที่แท้จริงและกำจัดวิธีการที่ไม่พึงปรารถนาให้ออกไปจากดินแดนแห่งนี้ หันมาสนับสนุนในสิ่งที่เป็นกุศลและเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายโดยหันมาร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของชาติโดยรวม แทนที่จะมีการรบพุ่งกันเอง คิดว่าหากเรายึดถือสุภาษิตที่ว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" จะดีกว่าเป็นไหนๆ เพราะว่าเศรษฐกิจของเราบอบช้ำมามากพอแล้ว!!!

 

เราลองกลับไปดูที่มาเลเซีย ประเทศมาเลเซียไม่เคยมีความคิดและแสดงออกถึงการกระทำในลักษณะที่เป็นการกลืนชาติของชนกลุ่มน้อย แต่กลับยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยและอนุญาตให้มีการจัดองค์กรทางการเมืองด้านเชื้อชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ จะเป็นการง่ายต่อการกระจายซึ่งสิทธิผลประโยชน์ตามสัดส่วนของระบบ PR จะเห็นว่ารัฐปีนังกลุ่มชาติพันธุ์ชาวจีนมีถึงร้อยละ 60 - 70 ก็อนุญาตให้ ดร.โกสุกุน ซึ่งเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนไปเป็นผู้ว่าการรัฐทำการบริหารปกครองรัฐปีนัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของประเทศมาเลเซียโดยรวม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุนี้เองที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวพุทธเชื้อสายไทยไม่เคยมีประวัติที่จะก่อตั้งขบวนการต่างที่ปฏิบัติการอย่างรุนแรงสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติเลยแม้แต่น้อย

 

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยเราไม่ได้เลวร้ายไปทุกอย่าง หากแต่เรายังไม่ได้มีผู้ที่มีอำนาจอย่างแท้จริง มือสะอาดอย่างแท้จริง มีความจริงใจเป็นเลิศ มีความกล้าหาญที่จะปรับปรุงกลไกของประเทศชาติอย่างมีเหตุมีผล และถึงเมื่อนั้นเอง วิกฤตกาลที่เลวร้ายต่างๆ ก็จะกลับเป็นดีได้ในที่สุด อินชาอัลลอฮ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท