Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 



 


สีสันจัดจ้านและความแรงในภาพที่แสดงให้เห็นท่อนล่างของหญิงสาวนางหนึ่งซึ่งสวมถุงน่องตาข่ายสีชมพูแปร๋น คงทำให้ใครต่อใครมองซ้ำอีกครั้งด้วยความสงสัยใครรู้


 


อีกภาพหนึ่งที่น่าจะดึงดูดสายตาได้มากพอกันคือการแลกลิ้นอย่างดูดดื่มระหว่างหนุ่มหน้าสวยสองนายที่หลับตาพริ้มอยู่ในภาพถ่ายของบล็อกเกอร์นามว่าหลินอี้ปิง


 


ทั้ง 2 ภาพ เป็นการสะท้อนเรื่องราว ชีวิต ความเป็นอยู่ และโลกที่กว้างไกลไร้พรมแดนของชาวจีนยุคใหม่


 


รอยจูบของชายหนุ่มที่เป็นโฮโมเซ็กชวลได้รับการบรรยายว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในปาร์ตี้คืนหนึ่งเมื่อฤดูหนาวมาเยือน และหลินอี้ปิงบันทึกภาพดังกล่าวไว้ในบล็อกของเขา


 


000


 


เมื่อปีที่แล้ว (ก่อนวันที่ 19 ก.ย.) องค์กรสื่อไร้พรมแดนจัดอันดับประเทศที่ "เป็นภัย" ต่อการสื่อสารในโลกไซเบอร์ ซึ่งหมายถึงประเทศที่มีการตรวจสอบ เซ็นเซอร์ และสั่งปิดเวบไซต์หลายๆ แห่งด้วยเหตุผลที่สั่งการมาจากคนเพียงกลุ่มเดียว (หรือจะเรียกสั้นๆ ว่ารัฐบาลก็ได้)


 


ปรากฏว่า "ประเทศจีน" เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศจากทั่วโลกที่ติดอันดับจอมโหดในโลกออนไลน์ เห็นได้จากการที่รัฐบาลจีนสั่งปิดเวบไซต์เป็นว่าเล่น บางครั้งก็จับตัวบล็อกเกอร์มานอนในห้องขังเสียหลายวันด้วยข้อหา "เป็นภัยต่อความมั่นคง" แต่คนจีนยุคใหม่ ไม่ได้ยอมแพ้หรือยินยอมให้รัฐบาลมาชี้เป็นชี้ตายเหมือนเดิมอีกต่อไป


 


การสั่งปิดเว็บไซต์หรือบล็อกต่างๆ ไม่สามารถทำได้นาน เพราะรัฐบาลจีนต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ซึ่งพอจะมีความรู้ด้านเทคโนโลยีไว้คอยจัดการเวบไซต์ (หรือเวบล็อก) ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่ในความเป็นจริง คนจีนรุ่นเก่าก็ตามไม่ทันและเข้าไม่ค่อยจะถึงเทคโนโลยีสักเท่าไหร่ ในขณะที่คนจีนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีใครอยากทำงานกับรัฐบาล การไล่จับกันระหว่างรัฐและนักท่องโลกไซเบอร์จึงยังไม่สามารถจับให้มั่นคั้นให้ตายได้


 


ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าองค์กรสื่อไร้พรมแดนจะจัดอันดับประเทศที่เป็นภัยต่อการสื่อสารในโลกไซเบอร์อีกครั้งในปีนี้หรือเปล่า (ครั้งนี้ประเทศไทยอาจมีลุ้นในการมีชื่อติดอันดับกับเขาด้วย) แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะคุมเข้มสื่อออนไลน์ขนาดไหน หัวข้อที่ถูกแบนหรือถูกปิดกั้นส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น ถ้าเวบไซต์หรือบล็อกไม่ได้พูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากนัก ต่อให้เนื้อหาแรงไปบ้างก็ยังไม่โดนหนักเท่าเวบที่เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง


 


เมื่อการสื่อสารโดยใช้ภาษาให้ตาเห็นและได้อ่านกันอย่างชัดเจน กลายเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง และมีส่วนทำให้รัฐสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ บล็อกเกอร์จีนกลุ่มหนึ่งจึงตั้ง photoblogchina.com ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านทาง "ภาพถ่ายดิจิทัล" แทน


 


ผู้ก่อตั้ง photoblogchina.com คือ เหวินปิง หรือที่บล็อกเกอร์จากทั่วโลกรู้จักกันในนาม Ziboy ริเริ่มที่จะโพสต์ภาพถ่ายของตัวเองลงไปในบล็อกตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ด้วยความหวังว่าภาพเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นสะพานข้ามกำแพงภาษาไปได้


 



เหวินปิง หรือ Ziboy


 


ก่อนหน้าที่เหวินปิงจะเขียนบล็อกของตัวเองขึ้นมา เขาพยายามอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้โลกกว้างผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต แต่ทุกครั้งที่เสิร์ชเวบเจอ ประโยคภาษาอังกฤษที่ขึ้นมาให้อ่านจนเต็มพรืดก็บั่นทอนกำลังใจและความอยากรู้อยากเห็นของเขาลงไปอักโข


 


เมื่อตาลายกับตัวอักษรบ่อยๆ (และไม่ค่อยได้อะไรอย่างที่ต้องการ) เหวินปิงจึงคิดแนวทางการใช้ "ภาพ" แทนถ้อยคำ จากนั้นเขาก็ตระเวณถ่ายภาพชีวิตความเป็นอยู่และวิถีชีวิตประจำวันของจีนชาวในยุคปัจจุบัน โดยแอบหวังเล็กๆ ว่าภาพของเขาคงจะช่วยให้คนที่สนใจเกี่ยวกับเมืองจีนได้รู้จักแผ่นดินมังกรได้โดยไม่ต้องรู้ภาษาจีนเสมอไป


 


เหวินปิงเอาจริงและสนุกกับการโหลดภาพลงบล็อก นอกจากนี้เขายังส่งลิงค์ของตัวเองไปยังบล็อกของ เดวิด เอฟ กัลลาเกอร์ ผู้นิยามคำว่า "บล็อก" ขึ้นมาใช้ด้วย


 


ผลก็คือเดวิด กัลลาเกอร์ตื่นเต้นมากที่ได้รับลิงค์จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะเมื่อปี 2001 นั้น การใช้อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายในจีนมากนัก บล็อกของเหวินปิงจึงได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวต่างชาติที่อยากรู้ว่าประเทศจีนเป็นอย่างไรเมื่อมองจากสายตาของ "คนใน"


 


บล็อก ziboy ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และทำให้เหวินปิงมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ใช้ภาพแทนคำบอกเล่าเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เขาจึงตัดสินใจสร้างเวบท่าขึ้นมา เรียกว่า photoblogchina.com ไว้เป็นศูนย์รวมเวบไซต์หรือบล็อกที่เก็บภาพถ่ายจีนสมัยใหม่เอาไว้ และภาพถ่ายเหล่านั้นได้สะท้อนความเป็นไปหลายๆ อย่างที่เป็นลักษณะของเฉพาะของชาวจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น


 


000


 


     


 



 



ภาพถ่ายใน photoblogchina.com ได้รับความสนใจจากนักท่องเว็บจำนวนมาก


 


ทุกวันนี้ จำนวนบล็อกเกอร์ในโฟโต้บล็อกมีเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีภาพต่างๆ มากขึ้นหลายเท่าตัว จนกระทั่งมีการนำผลงานออกแสดงที่นิทรรศการในปักกิ่งไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะถูกนำไปตีพิมพ์รวมเล่มด้วย


 


นอกจากภาพหญิงสาวถุงน่องสีชมพูและภาพการจูบของชายหนุ่ม ยังมีภาพถ่ายบุคคลซึ่งมีทั้งคนรุ่นปู่ที่ฟันหน้าหายไปแล้ว รวมถึงชายหนุ่มอ้าปากโชว์ของที่กำลังเคี้ยวอย่างไม่สนใจใคร และภาพชายหนุ่มสองคน(คนหนึ่งอ้วน คนหนึ่งผอม) กุมมือกันอยู่บนรถไฟ


 


ภาพเหล่านี้มีจุดเด่นตรงที่มันไม่ใช่การทำงานของตากล้องมืออาชีพ แต่เป็นการถ่ายภาพบุคคลธรรมดา ชีวิตธรรมดา และการดำเนินชีวิตในเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่ ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีใครบอกก็ดูออกว่าวิถีชีวิตของคนสองรุ่นที่ผ่านการปกครองมาคนละแบบ เป็นสีสันที่ช่วยทำลายกรอบเก่าๆ อย่างสิ้นเชิง


 


ความคิดของเหวินปิงที่ก่อตั้งโฟโต้บล็อกขึ้นมานั้น เขาให้ความเห็นว่า "ภาพถ่ายของผมไม่มีการกำหนดล่วงหน้าว่าจะนำเสนออะไร แต่มันไม่ใช่ภาพที่ไร้สาระแน่นอน การแสดงภาพในบล็อกก็คือการแสดงงานภาพถ่าย แต่มันจะมีรายละเอียดให้จดจำมากกว่า"


 


"ภาพเพียงภาพเดียวไม่อาจสะท้อนเศษเสี้ยวหนึ่งของปักกิ่งได้ แต่เมื่อมันมีหลายๆ ภาพ จากสิบเป็นร้อยเป็นพัน จากนั้นคุณจะสามารถปะติดปะต่อภาพเมืองจีนและปักกิ่งได้ง่ายขี้น"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net