คนใต้ 80 เปอร์เซ็นต์ไม่หนุนพุทธเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน. 50

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ ส.ส.ร กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติว่า เพิ่งลงไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคใต้โดยนำตัวแทนของแต่ละศาสนาในภาคใต้มาอภิปรายในประเด็นนี้ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันถึง 80 เปอร์เซ็นต์ว่าไม่ควรบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าควรบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

ส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้นให้เหตุผลว่าถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีการบรรจุชัดเจนว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแต่รัฐธรรมนูญก็ได้บรรจุว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และกำหนดให้รัฐบาลต้องอุดหนุนพุทธศาสนาชัดเจนอยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องบรรจุดชัดเจน ครั้งหนึ่งที่ลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคใต้มีคนนับถือศาสนาอิสลามคนหนึ่งยกมือบอกว่าเห็นด้วยที่จะให้มีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่คนไทยทั้งหมดต้องปฏิบัติตามศีล 5 ให้ได้ นั่งฟังแล้วก็ยังรู้สึกละอาย

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องจนมีการบรรจุให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะได้การบัญยัติไว้ในเชิงสัญลักษณ์แต่เนื้อหาจริง ๆ รัฐบาลอาจะไม่ปฏิบัติตามก็เป็นได้ ทางที่ดีหากมีการเรียกร้องให้บัญญัติในกฏหมายลุกหรือออกมาเป็นพระราชบัญญัติให้มีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นสิ่งที่เกิดผลกว่า อย่างศาสนาอิสลามก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้คนที่นับถือศาสนาอิสลามไปแสวงบุญที่นครเมกกะได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พล.อ.ธงชัย เกื้อสุกล ออกมายอมรับว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากวัดธรรมกายนายเจิมศักดิ์กล่าวว่า ไม่แปลกใจเท่าไหร่เพราะเมื่อครั้งที่พล.อ.ธงชัยลงสมัครเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) สมัยรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับเลือกตลอดและเป็นตัวเก็งที่จะได้นั่งตำแหน่งประธานกสช. ด้วย  โดยมีนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ส.ส.ร. ได้รับเลือกเป็น กสช.ในครั้งนั้น  ดังนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะสามารถตัดสินใจเองได้

นายเจิมศักดิ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มีประเด็นที่น่าสนใจที่ลงไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนคือการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาว่า ซึ่งก่อนที่ร่างแรกจะออกนั้นประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่พอร่างแรกออกประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับส.ว.ระบบสรรหา โดยเหตุผลว่าแม้มีการเลือกตั้งก็ไม่สามารถทำให้ระบบส.ว.ใสสะอาดได้ จึงอยากลองใช้ระบบการสรรหาดูบ้างและประชาชนส่วนใหญ่ก็ไว้ใจในอำนาจศาลซึ่งทำให้แปลกใจมากและรู้สึกหวั่นวิตกมาก

อย่างไรก็ตามมีความคิดเห็นของประชาชนที่น่าสนใจว่าแม้จะมีการสรรหา แต่ก็ขอให้คณะกรรมการสรรหาให้เหลือจังหวัดละ 3 คน แล้วส่งกลับไปให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งซึ่งในประเด็นนี้จะเสนอแปรญัตติให้ประชาชนด้วย ซึ่งต้องนำไปศึกษาในรายละเอียดอีกครั้ง

 

อธิการบดีนิด้าค้านบรรจุพุทธในรธน.     

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย การนับถือศาสนาเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

 

รัฐบาลพึงสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธมีอยู่คู่สังคมไทยมาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนปัจจุบันกลายเป็นจารีตประเพณีและมีความสำคัญมากกว่าตัวอักษร ดังนั้น การเขียนหรือไม่เขียนจึงไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน ถ้าไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะมีประชาชนมานับถือศาสนาพุทธเพิ่มขึ้น ที่อยากให้คิดคือ การถึงเข้าสาระของหลักธรรมคำสอน วันนี้ประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธมีความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน  มีวิถีปฏิบัติเป็นไปตามหลักคำสอนอย่างไร  ครอบครัวชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธได้ปลูกฝังสมาชิกให้เสื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างไร ไม่ใช่สนใจแต่เรื่องพิธีกรรม ปลุกเสก สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าตัวอักษรที่ต้องการบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่  ฉะนั้น ข้อเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือต่อชาวพุทธ

  

ส่วนการชุมนุมขององค์กรชาวพุทธ และพระสงฆ์หน้ารัฐสภาเพื่อกดดันเรื่องนี้มองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ควรประณามผู้คนที่ไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้สังคมโดยเฉพาะชาวพุทธเกิดความแตกแยกมากกว่าเดิม ดังนั้น ต้องระมัดระวังอย่าละเมิดเสรีภาพของคนอื่นด้วย  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่ควรวิตกกังวล ควรจัดเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้มากที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท