Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมมากกว่า 60 คน และอีก 40 องค์กรทั่วโลก ร้องเรียนถึงสหประชาชาติ หลังเกิดเหตุสมาชิกกลุ่ม USDA ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าหนุนหลังก่อเหตุรุมทำร้ายนักสิทธิมนุษยชนพม่าเจ็บสาหัส

นักกิจกรรมมากกว่า 60 คน และอีก 40 องค์กรจาก 3 ทวีปทั่วโลก ส่งจดหมายด่วนร้องเรียนถึงสหประชาชาติเพื่อให้มีการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในพม่า ภายหลังจากที่ "สมาคมสหภาพเพื่อความสมานฉันท์และการพัฒนา" (Union Solidarity and Development Association - USDA) ซึ่งเป็นกลุ่มพลเรือนที่ได้รับการสนับสนุนโดย "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" (State Peace and Development Council - SPDC) หรือรัฐบาลทหารพม่า ทำร้ายสองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า

 

โดยจดหมายร้องเรียนฉบับดังกล่าวลงวันที่ 25 เมษายน ต่อสหประชาชาติ และผ่านเจ้าหน้าที่ของนางฮิน่า จิลานี (Hina Jilani) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน และนาย

เปาโล เซอร์จิโอ ปินเนโร (Paulo Sergio Pinheiro) เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบรายงานด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ของสหประชาชาติ เรียกร้องให้สหประชาชาติสั่งให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการทำร้าย และสอบสวนเหตุการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 เมษายน ตลอดจนเหตุการณ์อื่นที่เคยเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ และมีมาตรการเอาผิดต่อผู้ก่อเหตุ

 

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สมาชิกกลุ่ม USDA ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารพม่าทำร้ายนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในเขตอิระวดี ทางตะวันตกของกรุงย่างกุ้ง

 

โดยเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา นายมิ้นต์ แหน่ง (Myint Naing) และนายหม่อง หม่อง เลย์ (Maung Maung Lay) สมาชิกของ "เครือข่ายปกป้องและเผยแพร่สิทธิมนุษยชน" (Human Rights Defenders and Promoters Network - HRDP) ได้เดินทางออกจากหมู่บ้าน Oatpone ตำบล Henzada เขตอิระวดี ทางตะวันตกของกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ๆ เขาเพิ่งจัดการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับคนในหมู่บ้าน

 

แต่แล้วระหว่างเดินทางผ่านหมู่บ้าน Taluttaw ด้วยมอเตอร์ไซค์ 2 คัน พวกเขาถูกทำร้ายด้วยแส้ ไม้ไผ่ โดยสมาชิกของ USDA กว่า 50 คนนำโดยนายอู นยุ้นต์ อู (U Nyunt Oo) เลขาธิการของ USDA แห่งตำบล Henzada พยานกล่าวว่านายอู นยุ้นต์ อู สั่งการด้วยเสียงอันดัง โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายคือนาย Ne Lin Soe และ Than Taik หัวหน้าสถานีตำรวจ ในหมู่บ้าน Taluttaw ได้แต่ยืนมองโดยไม่ห้ามปรามอะไร

 

ทั้งนายมิ้นต์ แหน่ง และนายหม่อง หม่อง เลย์ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งเห็นเหตุการณ์จึงรีบเข้ามาช่วยเหลือและห้ามการทำร้าย ทั้งสองคนถูกพาไปสถานีตำรวจ และเพราะพวกเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกตี และเฆี่ยน โดยมีแผลทั่วตัว จึงถูกพาไปโรงพยาบาลประจำตำบล Henzada และเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียูที่โรงพยาบาลในกรุงย่างกุ้ง และได้กลับบ้านในวันที่ 24 และ 25 เมษายนตามลำดับ

 

นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่โครงการนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของฟอรั่ม-เอเชีย กล่าวว่า "เราขอประณามความรุนแรงของสมาชิก USDA ที่กระทำต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในพม่เราขอเรียกร้องกับรัฐบาลพม่าในฐานะที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ในการแสดงเจตนารมณ์ในหน้าที่ภายใต้ปฏิญญาว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (the UN Declaration on Human Rights Defenders) และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ในการให้การปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน จากความรุนแรง การถูกคุกคาม การแก้แค้น และแรกกดดันจากการปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชน"

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2539 เคยมีกรณีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนถูกสมาชิก USDA รุมทำร้าย อย่างน้อย 15 ครั้ง และในจำนวนนี้มี 3 ครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต และมีประชาชนอย่างน้อย 200 คนได้รับบาดเจ็บ โดยเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือการสังหารโหดที่เดยาปิน (the Depayin Massacre) ในปี 2546 ที่นางออง ซาน ซู จี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และนายอูทินอู ประธานพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy Party - NLD) และคณะ ถูกทำร้าย ซึ่งพยานระบุว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 คน และไม่มีมาตรการใดๆ ของรัฐบาลทหารพม่าในการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่มีการลงโทษคนลงมือ แม้ว่านักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนจะเรียกร้องให้มีการดำเนินการทางกฎหมาย

 

"ถ้ารัฐไม่สามารถสร้างหลักประกันในหลังนิติรัฐ และทำให้คนบางจำพวกอยู่เหนือกฎหมาย สังคมคงจะเข้าสู่กลียุค ต่อเมื่อผู้คนมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งสิทธิของตนเอง นิติรัฐและความยุติธรรมจะมีชัยชนะ" นายซอว์ เดวิด ทอว์ (Saw David Taw) จากสภาชาติพันธุ์ในพม่า (Ethnic Nationalities Council - ENC) กล่าว

 

และเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ตามที่หนังสือพิมพ์ลงข่าว รัฐบาลทหารพม่าเจตนาลงโทษขั้นรุนแรงต่อนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนที่ปฏิบัติงานในพม่า โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการรักษาสันติภาพ หลังจากกลุ่มองค์กรรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ร่วมถึงองค์การนิรโทษกรรมสากลสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอนเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการสืบสวนกรณีการทำร้าย Maung Maung Lay และ Myint Naing

 

"ถ้าอาเซียนต้องการที่จะสร้างภูมิภาคที่เป็นเอกภาพโดยเป็นชุมชนที่มีความห่วงใยและมีส่วนร่วมต่อกันและกัน สถานการณ์ในพม่าที่ประชาชนไม่มีความมั่นคงในประเทศต้องเป็นสิ่งที่อาเซียนต้องออกมาแก้ไข" โดย โรชาน เจสั้น ผู้อำนวยการของ Asean Inter-Parliamentary Myanmar Caucus (AIPMC) กล่าว

 

ล่าสุด สมาชิกกลุ่ม USDA ยังคงข่มขู่คุกคามต่อ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย, อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 1988, สมาชิก HRDP และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างหนักข้อและบ่อยครั้งมากขึ้น

 

อนึ่งสำหรับองค์กรที่ลงชื่อร้องเรียนไปยังสหประชาชาติประกอบด้วย Asean Inter-Parliamentary Myanmar Caucus (AIPMC), National Coalition Government of the Union of Burma (NCGUB) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของฝ่ายประชาธิปไตยในพม่า, Ethnic Nationalities Council - ENC, FORUM ASIA, Alternative Asean Network on Burma - Altsean-Burma

 

SOLIDAMOR (Indonesia), Front Line - The International Foundation for the Protection of Human Rights Defenders (Ireland), Korea Center for United Nations Human Rights Policy (KOCUN), Vietnam Committee on Human Rights (Vietnam), The Khmer Institute of Democracy (Cambodia), Women's Development Collective,  Front Line - The International Foundation for the Protection of Human Rights Defenders (Ireland) และอื่นๆ รวมกันกว่า 40 องค์กร และมีผู้ลงชื่อในนามส่วนตัวอีกกว่า 60 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net