Bloc Party - A Weekend in the city

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภฤศ ปฐมทัศน์

 

 

พอถึงวันหยุดแล้ว คุณๆ ทำอะไรกันบ้างครับ

 

หลายคนที่ตอบว่า "กลับบ้าน" กลับไปอยู่กับครอบครัว กับเพื่อนฝูง กับคนรัก หรือกับใครก็ได้ ที่คิดว่าเข้าใจเราดี อันนี้ผมก็ยินดีด้วย

 

สำหรับอีกหลายคนที่ไม่ได้กลับบ้าน หรือมีสถานที่ทำงาน/สถานศึกษา ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านของตัวเองอยู่แล้ว ก็คงต้องหากิจกรรมตามแบบของคนในเมืองทำ เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการงาน เพื่อเยียวยาโรคเหงา แม้ชั่วยามก็ยังดี

 

ผมเองก็เป็นหนึ่งในสัตว์เมืองผู้ผูกพันอยู่กับสถานที่อย่างโรงภาพยนตร์, ห้างสรรพสินค้า, ร้านอินเตอร์เน็ต, ร้านเกมส์, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านเหล้า ฯลฯ ไม่ต้องถามก็รู้ว่าหากขาดสถานที่เหล่านี้ ชีวิตวันหยุดในเมืองจะอับเฉาขนาดไหน...ความกระหายแสงสีกลายเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของสัตว์เมืองโดยกำเนิดอย่างผมไปเสียแล้ว

 

ถึงแม้ว่าความกระหายเหล่านี้จะได้รับการตอบสนอง แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งผมกลับรู้สึกเบื่อหน่าย ว่างโหวง บางครั้งก็รู้สึกแปลกแยกจนอยากจะหนีไปให้ไกลๆ แต่ไม่รู้จะหนีไปทางไหน เมืองนี้ช่างดูกว้างใหญ่ หากแสงไฟที่ส่องบนทางเท้านั้นมันดูเหมือนกันไปหมด จนทำให้รู้ว่า ต่อให้วิ่งไปไกลแค่ไหนเราก็ยังอยู่ที่เดิม เอาเถอะครับ... ผมคิดเสียว่า นี่เป็นแค่อาการกำเริบของ "โรคแห่งยุคสมัย"

 

และผมยังได้รู้อีกว่า ความเจ็บปวดจากอาการกำเริบนี้ ช่างเล็กน้อยนักเมื่อเทียบกับผู้คนอื่นๆ ในเมืองอันแสนหลากหลาย

 

 

Bloc Party เป็นวงจากประเทศอังกฤษที่เคยเปลี่ยนชื่อวงมามากมายจนมาตกลงเป็นชื่อ Bloc party ได้ในปี 2003 ด้วยแนวทางของดนตรี Indie Rock, Post-Punk (ที่เติมแต่งจากเดิมไปมากจนบางคนเรียกว่าเป็น Art Punk เลยทีเดียว) อัลบั้มแรกของพวกเขาคือ Silent Alarm นั้นได้รับการตอบรับที่ดีในหมู่ชาวอินดี้ มาจนถึงอัลบั้มใหม่ สด ซิง อย่าง A Weekend in the City ที่นอกจากจะเปลี่ยน Producer ใหม่เป็นคนที่เคยทำงานร่วมกับวง U2 อย่าง Jacknife Lee แล้ว Sound ดนตรีเองก็ยังหลุดไปจากเดิมพอสมควร จาก Silent Alarm ที่ทั้งชวนดิ้นจับใจ ฟังลื่นหูกว่า และพังค์กว่า (Power chord ในหลายเพลงยังชัดเจนอยู่) สรรพเสียงใน A Weekend in the City ดูจะอยู่กับการลองผิดลองถูก แปลกหูมากขึ้น และฟังยากขึ้นหน่อย

 

ในส่วนของเนื้อหานั้น อัลบั้ม Silent Alarm มีแนวทางออกจะเหมือนวงวัยรุ่นอื่นๆ ส่วนใหญ่ ที่พูดถึงอะไรสนุกๆ ส่วนหนึ่ง มีทั้งชีวิตวัยรุ่นบ้าง ความรักบ้าง มีความขบถแฝงอยู่พอให้เห็นจิตวิญญาณหนุ่มสาว และ แน่นอน ไม่ลืมต้านโยบาย War on Terror กับ การยึดครองอิรัก ซึ่งเป็นประเด็นดังในสมัยนั้นไว้ในเพลงอย่าง "Price of Gas" กับ "Helicopter"

 

ด้านอัลบั้ม A Weekend in the City นี้ Kele Okereke นักแต่งเพลง/ร้องนำ/มือกีต้าร์ ของวงบอกว่า เนื้อหาก็เช่นเดียวกับชื่ออัลบั้มเลย คือพูดถึงชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ ถึงแม้จะลดสเกลลงจากการประท้วงเรื่องระดับโลก มาเป็นเรื่องวิถีชีวิตทั่วไป แต่พวกเขาก็ดูซีเรียสกันมากขึ้น แล้วยังสามารถมองลึกลงในสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย อีกทั้งวัตถุดิบเขียนเพลงก็ยังเก็บเกี่ยวมาจากประสบการณ์ของ Kele เองเป็นส่วนใหญ่

 

เริ่มต้นอัลบั้มด้วยเพลง Song for Clay (Disappear Here) พูดถึงชีวิตอันแสนว่างเปล่าของผู้คนในยุคสมัยหลังกำแพงเบอร์ลินแตก ชื่อเพลงและเนื้อหา ได้แรงบันดาลใจจากนิยายเรื่อง Less Than Zero ของ Bret Easton Ellis ซึ่งเนื้อเรื่องก็สะท้อนในสิ่งเดียวกัน (Clay เป็นชื่อของตัวเอกในเรื่องนี้) ดนตรีเปิดเวิ้งๆ หม่นๆ ก่อนจะเติมพลังพังค์ลงไปปนกับความหม่นชองเพลง เสียงร้องของ Kele เองก็เข้ากับดนตรีมากๆ ด้วย

 

"So I enjoy and I devour
flesh and wine and luxury.
But in my heart,
I am lukewarm;
nothing ever really touches me."

 

- Song for Clay (Disappear Here)

 

วันหยุดยาวที่ผ่านมามีข่าวหนึ่งที่สะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เช่นข่าวการประกาศเข้มงวดเรื่องการควบคุมแรงงานต่างด้าวเพื่อไม่ให้ก่อเหตุร้ายในช่วงเทศกาล ซึ่งจากประสบการณ์ผมเองแล้ว วัยรุ่นโรงเรียนไฮโซ (ที่ผมเคยเรียน) บางคนมันก็แต่งรถเสียงหนวกหู แถมยังเป็นผู้นำความกร่าง-ความเกรียน เป็นหัวโจกคอยระรานชาวบ้าน (ถือว่าพ่อรวย)  คิดไปคิดมาพวกนี้ยังดูเป็นตัวอันตรายเสียมากกว่า

 

ผมซึ่งเป็นชนชั้นกลางโดยกำเนิดอาจไม่มีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิดกับชีวิตของกลุ่มแรงงานต่างด้าวนัก แต่ลำพังการที่พวกเขาต้องพยายามปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ก็ยากลำบากพออยู่แล้ว ยังจะมาได้รับสิทธิพิเศษในการถูกระแวงเป็นของแถมอีก วันหยุดยาวช่วงเทศกาลของพวกเขาคงสนุกน้อยลง

 

Kele เป็นชายผิวดำชาวอังกฤษ ซึ่งประสบปัญหาเรื่องเชื้อชาติไม่ต่างจากในอเมริกาเลย เขาได้ระบายความรู้สึกแปลกแยก รวมถึงความรู้สึกถูกเหยียดหยาม กดทับ ของการเป็นคนผิวสีไว้ในเพลง Where is home? ที่ดนตรีช่วงต้นจะฟังดูแปร่งๆ ไปเสียหน่อย แต่ก็เข้าที่เข้าทางขึ้นในช่วงกลางเพลง

 

"In every headline

we are reminded

 That "this is not home for us" "

 

- Where is home?

 

อีกเพลงหนึ่งคือ Hunting for Witches ก็พูดถึงการที่คนบางกลุ่มโดยเฉพาะชนชั้นล่างและกลุ่มผู้อพยพถูกจับตามองว่าเป็นตัวอันตราย หลังเกิดเหตุการณ์วางระเบิดลอนดอนในปี 2005 โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าพวกเขารู้สึกแย่ขนาดไหน ที่รัฐและสื่อได้สร้างวัฒนธรรมความกลัวจนทำให้พวกเขาถูกมองเหมือนเป็นมารร้าย ทั้งที่พวกเขาก็คือมนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆ

 

"The newscaster says the enemy's among us
As bombs explode on the 30 bus
Kill your middle class indecision
Now is not the time for liberal thought"

 

- Hunting for Witches

 

เพลง Uniform เป็นเพลงที่ใช้เสียงสังเคราะห์ได้เข้ากับดนตรีมากเมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นเพลงที่ผมชอบเนื้อหาของมันมากที่สุดในอัลบั้ม Uniform ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเพียงเครื่องแบบพนักงาน, นักเรียน หรือ นักศึกษา เท่านั้น แต่มันยังหมายถึงวัฒนธรรมของกลุ่มที่วัดกันเพียงพื้นผิวเปลือกนอก ว่าใส่เสื้อสีอะไร มีตราแบบไหน เครื่องประดับประเภทใด ฯลฯ แม้กระทั่งการแสดงออกถึงความขบถแบบผิวเผิน โดยที่ไม่ได้มีการรับรู้เข้าใจมิติของวัฒนธรรมนั้นๆ ลึกลงไปข้างในเลย ทำให้วัฒนธรรมนั้นๆ กลายเป็นเพียงแฟชั่นฉาบฉวย เป็นแค่ "เครื่องแบบ" ที่มีผู้คนสวมใส่ประดับประดาตามๆ กันไป ก็เท่านั้นเอง

 

"There was a sense of disappointment as we left the mall

All the young people look the same

Wearing their masks of cool and disinterest

Commerce dressed up as a rebellion

 

…

 

Drink to forget your blues on the weekend

Think about more things to buy

The TV taught me how to sulk and love nothing

And how to grow my hair long"

 

- Uniform

 

ถึงแม้อัลบั้มนี้เนื้อหาจะซีเรียสและหม่นๆ ไปบ้าง แต่ก็ยังมีบางเพลงที่ฟังดูสดใสมีความหวังอย่าง Waiting for The 7.18 กับอีกเพลงที่พูดถึงความว่างเปล่าของวิถีชีวิตในเมืองอย่าง Kreuzberg (เป็นชื่อเมืองหนึ่งของเยอรมนี) ก็ได้สำเนียงกีต้าร์ของ U2 ปะปนมาพอได้กลิ่น

 

นอกจากนี้ยังมีเพลงหวานๆ สว่างไสว อย่าง I Still Remember เพลงนี้พูดถึงความรักจากมุมมองของคนรักเพศเดียวกันได้อย่างจับใจมาก ขนาดคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์รักเพศเดียวกันมาก่อนอย่างผมฟังแล้วยังเคลิ้มตาม ต่อด้วยเพลง Sunday ที่แม้เสียงกลองหนักแน่นเกินเหตุจะฟังดูขัดๆ ไปเสียหน่อย แต่พอไปกันได้กับเสียงกีต้าร์ที่รายล้อมอย่างอ่อนโยน มาจนถึงเพลงสุดท้ายคือ Sxrt มีดนตรีพลิ้วเบา (จนเกือบเป็นแนว Post-Rock) และอบอุ่น ทั้งเนื้อหาเองก็พูดถึงการ...กลับบ้าน

 

ซึ่ง "บ้าน" ในที่นี้ คงจะหมายถึงสิ่งใดไปไม่ได้เลย นอกจากสถานที่พักพิงหัวใจอันอ่อนล้าจากเมืองใหญ่ สถานที่ที่ไม่มีใครมาดูแคลน คอยใส่ร้าย หรือแบ่งแยกเรา สถานที่ที่มีแต่คนเข้าใจ

 

...ในสิ่งที่เราเป็น...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท