Skip to main content
sharethis

นพพล อาชามาส




 



 


ในโลกโลกาภิวัตน์ รูปแบบการสื่อสารและเครื่องมือสื่อสารได้พัฒนาและก้าวล้ำไป สื่อในรูปแบบใหม่ๆ (New media) ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยแค่นักวิชาชีพสื่อมวลชนอีกต่อไป มันกระจายออกไปยังคนที่มีข้อมูล รู้ข้อมูล หรือมีความสามารถในการสื่อสาร เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง อีเมล์ เว็บไซท์ เว็บบล็อค เป็นสิ่งที่ทำให้อุปสรรคบางอย่างในการสื่อสารหายไป


 


สื่อสมัยใหม่นี้เอง ที่เปิดพื้นที่ และโอกาสให้ชาวบ้านธรรมดาสามัญสามารถแสดงทัศนะ ออกความเห็น บอกเล่าเรื่องราว พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นระหว่างกัน และกระทั่งนำเสนอข่าวด้วยตนเอง...


 


สำนักข่าวชาวบ้าน (www.thaipeoplepress.com) จึงเกิดขึ้นภายใต้สโลแกน "พลังสื่อขับเคลื่อนในมือคุณ" (New media people can do) ด้วยความมุ่งหวังที่จะเปิดพื้นที่การเสนอข่าวให้กับ "คนตัวเล็กตัวน้อย"


 



 


สมเกียรติ จันทรสีมา อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา และกำลังก่อร่างสร้างสำนักข่าวชาวบ้าน เล่าให้ฟังว่า ไอเดียของสำนักข่าวชาวบ้านนั้นมาจากการทำ "ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้" (www.deepsouthwatch.org) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2549


 


ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง สร้างความรู้อีกชุดหนึ่ง แก่สาธารณะในเรื่องเหตุการณ์ภาคใต้ นอกจากคำอธิบายเดิมๆ ที่มีแต่ขยายความรุนแรงออกไป  สื่อทั่วไปได้แต่พูดถึงแต่ปรากฏการณ์เฉพาะหน้า เหตุการณ์จำนวนครั้งความรุนแรงที่เกิด แต่กลับไม่มีการให้องค์ความรู้ที่จะอธิบาย ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น


   


แนวคิดของศูนย์เฝ้าระวังฯ คือคนในพื้นที่สามารถเป็นผู้สั่นกระดิ่งเอง สามารถส่งสัญญาณอธิบาย ปรากฏการณ์ด้วยตนเอง  จากเดิมที่มีแต่คนนอกเข้ามาอธิบาย คนในซึ่งอยู่กับข้อมูล และน่าจะเห็นประเด็นหรืออธิบายได้ดีกว่า จึงมาร่วมจับมือกับศูนย์เฝ้าระวังฯ เกิดเป็นภาคีความร่วมมือที่เสนอข่าว ประมวลข้อมูล สร้างองค์ความรู้ในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น และมีเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมมากขึ้น อาทิ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายองค์กรครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย


 


สมเกียรติเล่าว่า ตัวคนที่ทำศูนย์เฝ้าระวังฯ เดิมก็เป็นแหล่งข่าวของบรรดานักข่าว ที่ทำงานในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงที่ทำศูนย์ข่าวอิสรา เมื่อถูกตั้งคำถามมากๆ แทนที่จะรอให้สื่อวิ่งเข้ามาถาม จึงคิดกลับว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่คิดไปก่อนล่วงหน้า ไม่ต้องรอให้สื่อเข้ามาถาม หรือกระทั่งเข้ามามีส่วนในการแชร์ความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ และมีส่วนร่วมโดยตรง


 


ศูนย์เฝ้าระวังฯ ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ มีเพียงคนทำหน้าที่ประสานงาน และธุรการ ที่เป็นคนทำงานประจำ ที่เหลือเป็นอาสาสมัคร ซึ่งต่างก็มีงานประจำของตนอยู่แล้ว


 


รูปแบบการทำงานจึงเป็นความสัมพันธ์แบบ คู่หู (partner) กันระหว่างตัวนักข่าวจากศูนย์กลาง กับภาคี ที่มีตั้งแต่นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา หมอ ครู  ในความสัมพันธ์แบบนี้ การทำข่าวจึงไม่ได้เป็นแค่ความสัมพันธ์แบบนักข่าวกับแหล่งข่าว ที่นักข่าวสัมภาษณ์ แล้วก็เขียนข่าวออกมา แต่เป็นการพูดคุย การคิด การทำงานร่วมกัน นำไปสู่การจัดกิจกรรมร่วมกัน และการเปิดเวทีเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น


 


สิ่งสำคัญที่ทำให้ศูนย์เฝ้าระวังฯ เกิดขึ้นได้คือ การเชื่อมร้อยความหลากหลายของความคิด เชื่อมร้อยตัวคนที่หลากหลายเข้าด้วยกัน  และการเห็นความสำคัญของการสื่อสารของคนในพื้นที่เอง เห็นว่าการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะเป็นการลดช่องว่างทั้งระหว่างคนในพื้นที่ และคนในพื้นที่กับคนในส่วนอื่นของประเทศ


 


จากศูนย์เฝ้าระวังฯ นี้เอง สำนักข่าวชาวบ้านจึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยแนวคิดเดียวกัน เพียงแต่ขยายฐานพื้นที่ข่าวออกไปครอบคลุมทั้งสังคมไทย


 


โดยที่แนวคิดสำคัญของสำนักข่าวชาวบ้าน คือการเปิดพื้นที่สื่อ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม คนที่สื่อทั่วไปไม่สนใจ ให้เขาได้สื่อสาร ได้กระโดดโลดเต้น ได้ส่งเสียงของเขาออกมาด้วยตนเอง และมีโอกาสได้อธิบายปรากฏการณ์ อธิบายความเป็นตัวของเขาเอง  ชาวบ้านจึงสามารถเป็นผู้สื่อข่าวด้วยตนเอง (Citizen Journalism)    


 


ด้วยความมุ่งหวังให้การสื่อสารเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมแบบฟันเฟืองตัวหนึ่ง พอเฟืองตัวนี้หมุนก็ไปหมุนเฟืองตัวอื่น เกิดการขับเคลื่อน การไหลเวียนของข้อมูลขึ้น แล้วจึงเกิดการกระทำ (Action) ตามมา


 


สมเกียรติเห็นว่า วิธีคิดแบบสื่อเดิมนั้นคือสื่อไม่ได้รู้ แต่รู้ว่าควรจะไปถามใครที่รู้ แต่ปัจจุบันสิ่งนี้กลับไม่เพียงพอ สื่อก็คิดไม่ทัน จึงจำเป็นต้องดึงคนที่รู้เข้ามาร่วมด้วย ข่าวจึงมาจากพื้นที่โดยตรง มาจากตัวคน จากชุมชน ซึ่งอาจจะต้องเริ่มต้นจากแกนนำชุมชน ผู้นำชาวบ้าน และลงลึกต่อไปอีก ขยายไปในระดับคนตัวเล็กตัวน้อย ชาวบ้านธรรมดาทั่วไป


 


อีกทั้งเดิมนั้น ชุมชนกับสื่อต่างแยกออกจากกัน ลักษณะการสื่อสารจึงเป็นไปในแนวดิ่ง สื่อจะเป็นผู้เลือกประเด็น เลือกตัวคนที่จะนำเสนอเอง  จึงต้องมีการแย่งชิงพื้นที่ เพื่อจะปรากฏตัวบนสื่อกระแสหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น "คนตัวใหญ่" ที่แย่งชิงได้


 


"คนตัวเล็ก" จึงต้องหาวิธี หากิจกรรมที่ดึงดูด เช่นปีนทำเนียบ ปิดถนน เผาหุ่น ฯลฯ เพื่อดึงดูดความสนใจ ของสื่อ ให้ตนเองได้ปรากฏตัวบนพื้นที่สาธารณะ ได้อธิบายถึงการกระทำของตนเองบ้าง   


 


แต่สำหรับสำนักข่าวชาวบ้าน การสื่อสารที่เกิดขึ้นเป็นการสื่อสารแนวราบ และการสื่อสารสองทางไปด้วยในตัว คือแทนที่จะแข่งกันมุ่งปีนขึ้นไปเพื่อปรากฏตัวในพื้นที่สื่อแบบแนวดิ่ง ก็ทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสามารถสื่อสารด้วยกันเอง ชาวบ้านสามารถเชื่อมต่อกันได้ และเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น ปะทะสังสรรค์ระหว่างชาวบ้านด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแบ่งข้อมูล และพัฒนาเกิดเป็นองค์ความรู้


 


แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการปฏิเสธสื่อกระแสหลัก เพราะการจะให้เกิดผลในเชิงนโยบาย และมีผลต่อสังคมในวงกว้าง ก็จำเป็นต้องต่อเชื่อมกับสื่อแนวดิ่ง เช่น มีนักข่าวส่วนกลางเอาประเด็นที่เกิดขึ้นจากศูนย์เฝ้าระวังฯ ไปถามนายกฯ หรือทำข่าวให้ได้รับความสนใจในวงกว้างมากขึ้น


 


หน้าที่ของสำนักข่าวจึงเป็นการเชื่อมต่อประเด็นให้เข้าสู่กระแสหลักในแนวดิ่ง และเป็นพื้นที่กลางในการแชร์ข้อมูลในแนวราบระหว่างชาวบ้านด้วยกัน นอกจากนั้นก็ดึงสื่อท้องถิ่นเข้ามาร่วมด้วย


 


สิ่งที่นำเสนอก็ครอบคลุมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 70 ต่อ 30 คือพยายามที่จะเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวชาวบ้านในอัตรามากกว่าคือ 7 ส่วนใน 10 ส่วน


 


สมเกียรติเชื่อว่าทุกคนมีพื้นฐานที่สามารถสื่อสารได้เอง ไม่จำเป็นต้องจบนิเทศศาสตร์หรือเป็นนักสื่อสารมวลชน เรื่องความสละสลวย ทักษะอาจจะมีไม่เท่า แต่ก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และสิ่งสำคัญกว่าคือการมองเห็นประเด็น มองเห็นว่าอะไรคือจุดสำคัญ เข้าใจประเด็นที่ต้องสื่อสารออกไป


 


ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือการเข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ทของชาวบ้าน ซึ่งสมเกียรติเห็นว่าการทำสำนักข่าวไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวเฉพาะในเว็บไซท์เพียงอย่างเดียว เว็บไซท์เป็นแค่พื้นที่เปิดหนึ่งเท่านั้น เขายกตัวอย่างชาวบ้านพิมพ์ข่าวในอินเตอร์เน็ทใส่กระดาษออกมา ก็อปปี้แจกจ่ายกันอ่าน หรือนำไปติดไว้ที่อบต.หรือที่ทำการชุมชน หรือศูนย์เฝ้าระวังฯ เองก็มีการจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้กับผู้คนในพื้นที่ หรือในหนังสือพิมพ์ อย่างกรุงเทพธุรกิจ ผู้จัดการ โพสต์ทูเดย์ มติชน ก็มีการนำข่าวหรือบทความของสำนักข่าวชาวบ้านไปลงอยู่


 


สำนักข่าวชาวบ้าน ยังคาดหวังที่จะสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง โดยเฉพาะกรณีภาคใต้ ที่เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว มันทำลายการสื่อสารระหว่างชุมชน เช่นระหว่างคนพุทธกับมุสลิม พอไม่มีการสื่อสาร ก็ไม่รู้ว่าต่างฝ่ายต่างคิดอะไร ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน พอไม่เข้าใจมันก็คิด จินตนาการไปได้มากมาย ซึ่งนำไปสู่ทัศนคติที่ผิดๆ และการรับฟังอีกฝ่ายหนึ่งก็หมดไป  หน้าที่ของสื่อจึงต้องสื่อสารสิ่งที่สร้างความเข้าใจกัน ทำให้มองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวอีกฝ่าย และหันมาฟังกันมากขึ้น 


 


กล่าวกันอย่างถึงที่สุด การที่เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยดังขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และการปรากฏตัวของชาวบ้านที่ห่างไกลจากอำนาจ เพื่อแสดงความมีอยู่ แสดงการมีความคิด มีตัวตน โดยอาศัยเครือข่าย อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มันก็คือ การเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบใหม่ (New Social Movement)


 


การเคลื่อนไหวแบบนี้จะก้าวข้ามการแบ่งแยกชนชั้น อาชีพหน้าที่การงาน หรือกระทั่งตัดข้ามพรมแดนของรัฐ มุ่งหวังจะสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็งตื่นตัว และเปิดพื้นที่การเมืองสังคมให้ประชาชนธรรมดามีบทบาทมากขึ้น


 


อีกทั้งแนวคิดผู้สื่อข่าวชาวบ้านยังทำให้รูปลักษณ์หน้าตาของสื่อมวลชนเปลี่ยนไป ทฤษฎีเดิมที่เชื่อว่าสื่อมวลชนเป็นหมาเฝ้าบ้าน (Watchdog) เป็นผู้รักษาช่องทางการสื่อสาร (Gatekeeper) ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ตรงกันข้ามชาวบ้านกลับจะลุกขึ้นมาเฝ้าบ้านกันเอง และสร้างช่องทางสื่อสารด้วยตนเองต่างหาก


 


ณ วันนี้ สำนักข่าวชาวบ้านยังเพิ่งเริ่มต้น ยังอยู่ในช่วงทดลอง ทดลองคน ลองเขียนข่าว ลองเสนอข่าวบนเว็บ ลองพื้นที่ข่าว ซึ่งมีฐานอยู่แล้วในพื้นที่ภาคใต้ แต่ยังมีงานยากรออยู่ โดยเฉพาะการลงพื้นที่ ขยายเครือข่ายออก การสร้างผู้สื่อข่าวชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ


 


กระนั้นฟันเฟืองที่จะส่งเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อย ก็กำลังค่อยๆ เริ่มหมุน บางทีอีกไม่นานเสียงของพวกเขาเหล่านั้นอาจดังขึ้นเรื่อยๆ  


 


แล้วอย่าลืมรอฟัง...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net