Skip to main content
sharethis

ประเวศ วะสี


28  เมษายน  2550


…………………………………………………………………………………………………………………………………………………..


 


 


 


ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมาถึงทางสองแพร่ง


 


ทางหนึ่งคือหลุดไปสู่มิคสัญญีกลียุค


 


อีกทางหนึ่งคือยกระดับไปสู่สิ่งใหม่ที่ดี


 


 


 


1.


มิคสัญญีกลียุค


            คนไทยจำนวนมากกำลังหวั่นวิตกว่าเมืองไทยกำลังจะหลุดเข้าไปสู่มิคสัญญีกลียุค เพราะความแตกแยกกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน


ประเทศดูไม่มีสมรรถนะในการแก้ปัญหาใดๆ


ความรุนแรงนองเลือดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดูไม่มีความหวังที่จะแก้ไขได้ ประชาชนถูกฆ่าตายไม่เว้นแต่ละวัน ทำรัฐประหารกันมาก็ดูจะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ หลายฝ่ายเคลื่อนไหวจะคว่ำรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่าง รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ผ่านก็ยังดูลูกผีลูกคน ถ้าไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น เช่นว่าฝ่ายต่อต้านคมช. และรัฐบาลก็นำไปเป็นข้ออ้างได้ว่า เห็นไหม ประชาชนเขาไม่เอากับคมช.และรัฐบาล หรือว่าถ้าผ่านมีการเลือกตั้งหลายฝ่ายก็เกรงว่าจะเข้าอีหรอบเดิม คือมีการซื้อสิทธิขายเสียงแล้วก็ได้นักการเมืองเข้ามาโกงกินอีก บ้านเมืองก็จะติดขัด กองทัพก็จะทำรัฐประหารอีก แต่รัฐประหารแล้วก็แก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ แล้วจะทำยังไงกัน


เมื่อบ้านเมืองแก้ปัญหาไม่ได้เรื้อรังนานเกินไป ผู้คนก็จะขัดแย้งกันมากขึ้น


เดี๋ยวนี้ความขัดแย้งก็ยกระดับไปถึงขั้นเรียกร้องให้ปลดประธานองคมนตรี หรือถึงกับมีการเผยแพร่ข่าวสารและภาพที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หรือปรากฏการณ์พระเดินขบวนขู่จะปิดล้อมสภาและเคลื่อนไหวคว่ำรัฐธรรมนูญก็ช่วยบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทย ยังความวิตกกังวลลึกๆ ของคนไทยเกี่ยวกับการเจริญพระชนมายุของพระเจ้าอยู่หัวและความเป็นอนิจจัง นอกจากนั้นยังมีคนบอกว่าในประเทศมหาอำนาจบางแห่งมีบริษัทรับจ้างโค่นล้มรัฐบาลต่างชาติโดยก่อความปั่นป่วนขึ้นด้วยวิธีการที่แนบเนียนและมีประสิทธิภาพยิ่ง รวมถึงฆาตกรรมผู้นำด้วย ถ้าใครจ้างมันด้วยเงินเยอะๆ มันก็ทำ ถ้ามันมาทำกับประเทศของเราก็ยิ่งยุ่งและยากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ


            เหล่านี้คือสภาพโกลาหล (Chaos) ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา


 


2.


ที่ชายขอบความโกลาหล สิ่งใหม่ที่ดีผุดบังเกิดขึ้นได้


            ตามทฤษฎีความซับซ้อน (Complexity Theory) ความโกลาหล (Chaos) เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ที่ชายขอบความโกลาหล (At the edge of chaos) เกิดสิ่งใหม่ที่ดี (Order) ได้ จนมีผู้บัญญัติศัพท์ว่า Chaordic (Chaos+order) คือเกิดโกลาหลแล้วเกิดสิ่งใหม่ที่ดีตามมาได้ สิ่งใหม่ที่ดีเป็นอย่างไร และเกิดขึ้นเมื่อใด    ไม่สามารถพยากรณ์ได้ เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อมสิ่งใหม่ที่ดีก็เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันที คนโบราณเรียกว่าความมหัศจรรย์หรือเทวดาช่วย แต่ในทฤษฎีความซับซ้อนเรียกว่า การผุดบังเกิด (Emergence)


            อะไรที่แน่นเกินสิ่งใหม่ที่ดีก็เกิดไม่ได้ อะไรที่เหลวเกินสิ่งใหม่ที่ดีก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ที่ชายขอบความโกลาหลสิ่งใหม่ที่ดีเกิดขึ้นได้ ขณะนี้สังคมไทยถูกสั่นคลอนจนหลวมไปหมด ถ้าช่วยกันทำสิ่งที่ถูกต้องสิ่งใหม่ที่ดีก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าไม่สร้างความถูกต้องก็อาจหลุดเข้าไปสู่มิคสัญญีกลียุคนองเลือด


            ถ้าเข้าใจทฤษฎีความซับซ้อนดังกล่าวข้างต้น เราก็ไม่ควรหดหู่ท้อแท้สิ้นหวัง เพราะสิ่งใหม่ที่ดีอาจเกิดขึ้นได้อย่างกระทันหันและมหัศจรรย์ถ้าเรามีการกระทำที่ถูกต้อง คนไทยจึงควรต้องสนใจเรื่องความถูกต้องกันให้มากที่สุด


 


3.


ความถูกต้องของทุกส่วนและทั้งหมด


            รถยนต์จะวิ่งไปได้เรียบร้อยทุกส่วนประกอบต้องมีความถูกต้องและสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ถูกต้อง รถก็วิ่งไม่ได้หรือขัดข้อง ร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน ประกอบด้วยอณู เซลล์ และอวัยวะ อันหลากหลาย ทุกส่วนต้องถูกต้องและสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง ชีวิตร่างกายจึงจะมีความเป็นปรกติ บางครั้งอณูเพียงอณูเดียวผิดปรกติไป ทำให้ระบบร่างกายรวนไปทั้งระบบ สังคมก็เช่นเดียวกัน ที่ทุกส่วนต้องมีความถูกต้องและสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง สังคมจึงจะมีความเป็นปรกติ เรื่องนี้เป็นสัจธรรมจะหลอกกันไม่ได้ด้วยประการใดๆ คนไทยควรทำความเข้าใจและตั้งใจสร้างความถูกต้องอย่างจริงจัง มิฉะนั้นประเทศไทยก็จะสะดุด และอาจหลุดเข้าไปสู่ความรุนแรงล่มสลาย จะทำแบบศรีธนญชัยไม่ได้


 


4.


โครงสร้างทางดิ่งทำให้ถูกต้องไม่ได้


            โครงสร้างกำหนดคุณสมบัติของสรรพสิ่ง โครงสร้างของสังคมกำหนดคุณสมบัติของสังคม สังคมไทยมีความสัมพันธ์ทางดิ่ง ความสัมพันธ์ทางดิ่งหมายถึง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนข้างบนกับคนข้างล่าง ไม่มีความเสมอภาคและภราดรภาพ ความสัมพันธ์ทางราบหมายถึงการมีความเสมอภาคและเข้ามารวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยภราดรภาพไม่ใช่ด้วยอำนาจ สังคมที่มีโครงสร้างทางดิ่งจะมีการเรียนรู้น้อย เพราะใช้อำนาจไม่ได้ใช้ความรู้ คนข้างบนจะโกงมาก คนข้างล่างจะวิ่งเต้นเส้นสายแสวงหาความอุปถัมภ์ นินทาว่าร้าย ออกใบปลิว หวาดระแวง แก่งแย่ง แทงข้างหลัง ไม่ไว้ใจกัน รวมตัวร่วมคิดร่วมทำไม่ได้


            สังคมใดเป็นสังคมทางดิ่ง เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี และจะไม่มีวันดีตราบใดที่ยังเป็นสังคมทางดิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าเราไม่สามารถแก้ความยากจนได้ เพราะความยากจนเกิดจากความอยุติธรรม โครงสร้างอำนาจทำให้ขาดความเป็นธรรม ทำอย่างไรๆ ประชาธิปไตยก็ไม่เกิด เพราะประชาธิปไตยเกิดจากความเสมอภาค ทำอย่างไรๆ ศีลธรรมก็ไม่เกิด  ทั้งๆ ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนศีลธรรมมาตลอดเวลา 60 ปี ทั้งๆ ที่อาจารย์พุทธทาสก่อตั้งสวนโมกข์ เมื่อ 2475 และสอนศีลธรรมตลอดอายุขัยของท่าน ทั้งๆ ที่เรามีวัด 30,000 วัด มีพระอีก 250,000 รูป แต่ศีลธรรมกลับเสื่อมลง เพราะโครงสร้างทางดิ่งหรือโครงสร้างเชิงอำนาจ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียทางศีลธรรม


            สังคมที่มีโครงสร้งทางดิ่งจะมีสมรรถภาพในการแก้ปัญหาน้อยในสังคมที่ซับซ้อน เพราะมีการเรียนรู้น้อย จะแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้ เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้สังคมก็จะขัดแย้งกันมากขึ้นๆ และนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย


            สังคมที่มีความสัมพันธ์ทางราบ มีความเสมอภาคและมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยประการต่างๆ เรียกว่ามีความเป็นประชาสังคม ประเทศที่มีความเป็นประชาสังคมสูง เศรษฐกิจจะดี การเมืองจะดี และศีลธรรมจะดี


            ประชาธิปไตยที่จะได้ผลต้องมีความเป็นประชาสังคม หรือความเป็นประชาสังคมนั่นแหละคือประชาธิปไตย ถ้ามีแต่การเลือกตั้ง แต่โครงสร้างทางสังคมยังเป็นโครงสร้างทางดิ่งที่ขาดความเสมอภาคและภราดรภาพ ประชาธิปไตยก็ไม่ได้ผล


5.


ต้องเปลี่ยนอำนาจเป็นธรรม


            โครงสร้างอำนาจหรือโครงสร้างทางดิ่งในสังคมไทย ซึ่งมีระบบราชการเป็นโครงกระดูก เป็นโครงสร้างแห่งความไม่เป็นธรรม ทำให้ทำอะไรๆ ไม่สำเร็จ เช่น แก้ความยากจนไม่ได้ ประชาธิปไตยไม่เกิด ศีลธรรมเสื่อมโทรมบนโครงสร้างที่ขาดความเป็นธรรม เมื่อเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามายิ่งทำให้ความอยุติธรรมถ่างมากขึ้น คนได้เปรียบเอาเปรียบมากขึ้น คนเสียเปรียบเสียเปรียบมากขึ้น ถ้าสังคมมีความเป็นธรรมอยู่ถึงทุนนิยมจะเข้ามา ความเสียหายก็จะอาจจะไม่มากเท่า เรามีรัฐบาลมาหลายชนิดทั้งรัฐบาลพระราชทาน รัฐบาลทหาร รัฐบาลพลเรือน รัฐบาลนายทุน ไม่ปรากฏว่าสามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ แม้รัฐบาลในอนาคตก็คงจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตราบใดที่โครงสร้างอำนาจทางดิ่ง หรือโครงสร้างแห่งความไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่


            ในการที่จะก้าวข้ามมิคสัญญีกลียุคไปสู่สิ่งใหม่ที่ดี จะต้องปรับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมไปสู่โครงสร้างที่เป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้ หรือระบอบประชาธรรม


                        ต้องปรับอำนาจทั้งปวงไปสู่ธรรม หรือความถูกต้อง


                        อำนาจของพระราชาเปลี่ยนเป็นราชธรรม


                        อำนาจรัฐเปลี่ยนเป็นรัฐธรรม


                        อำนาจเงินเปลี่ยนเป็นธนธรรม


            การเปลี่ยนอำนาจให้เป็นธรรม คือระเบียบวาระของเราร่วมกัน ถ้าเราต้องการก้าวไปสู่สิ่งใหม่ที่ดี


            ทั้งราชธรรม รัฐธรรม และธนธรรม ต้องหนุนให้เกิดประชาธรรม หรือประชาธิปไตยที่แท้ บ้านเมืองจึงจะสงบสุข


 


6.


ระบอบประชาธรรม หรือประชาธิปไตยที่แท้


            ประชาธิปไตยที่แท้หรือประชาธรรมต้องอยู่บนพื้นฐานทางศีลธรรมที่ลึกซึ้ง มีโครงสร้างทางสังคมที่ส่งเสริมความเสมอภาค ภราดรภาพ และความยุติธรรม มีการกระจายอำนาจ ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการของประเทศได้โดยตรง มีการพัฒนาจิตและปัญญาให้ยิ่ง


            เบญจสดมภ์ของระบอบประชาธิปไตยที่แท้หรือประชาธรรม คือ


๑.      การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน


๒.     อธิปไตยโดยตรงของปวงชน


๓.      ประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่น


๔.     ประชาสังคม (อิสรภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ)


๕.     การพัฒนาจิตและปัญญาให้ยิ่ง


ซึ่งขยายความได้ดังนี้


๑.      การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นศีลธรรมพื้นฐานของสังคม และเป็นรากฐานของสิ่งดีงามทั้งปวง เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ถ้าประชาชนรู้สึกมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าแห่งความเป็นคน จะเกิดสุขภาวะและปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ ทุกองคาพยพของประเทศต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน


๒.     อธิปไตยโดยตรงของปวงชน ในสมัยที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารโดยทั่วถึง ประชาชนสามารถมีอธิปไตยโดยตรง คือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบาย มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ ควรจัดให้มีวิทยุประชาชน และอินเตอร์เนตประชาชน ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถสื่อสารได้โดยตรง วันหนึ่งๆ ประชาชนจะมีการสื่อสารเป็นแสนๆ เรื่อง ควรมีการสังเคราะห์ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เช่น ร้องเรียนเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบราชการ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนา ฯลฯ แล้วนำเรื่องที่ร้องเรียนหรือข้อคิดเห็นไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์นี้จะมีผลอันยิ่งใหญ่ประดุจการปฏิวัติประชาธิปไตย


๓.      ประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยชุมชนและประชาธิปไตยท้องถิ่นเป็นฐานของประชาธิปไตย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เราสนใจแต่ประชาธิปไตยระดับชาติแล้วล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา เพราะอะไรที่ไม่มีฐานก็จะพังลงๆ ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนจะเป็นไปได้โดยปราศจากความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นต้องส่งเสริมอธิปไตยของชุมชนและท้องถิ่นให้สามารถอภิบาลตัวเองให้ได้มากที่สุด รัฐบาลจะได้มีเวลาพัฒนาเรื่องที่สำคัญๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นทำเองไม่ได้ ไม่ใช่ปัญหาทุกชนิดจากทุกตารางนิ้วของประเทศพุ่งเข้าใส่นายกรัฐมนตรีเยี่ยงปัจจุบันเพราะการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ


๔.     ประชาสังคม (อิสรภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ) ในขณะที่ระบบราชการเป็นโครงสร้างอำนาจทางดิ่ง ทำให้ทำอะไรๆ ให้สำเร็จได้ยาก ประชาสังคมเป็นรูปธรรมของอิสรภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ คือคนทั้งปวงมีอิสรภาพที่จะเข้ามารวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยความเสมอภาคและภราดรภาพ ควรมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง สังคมที่มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเต็มหรือเกือบเต็มพื้นที่ทางสังคม เรียกว่ามีความเป็นประชาสังคม (Civil Society) เป็นความสัมพันธ์ทางราบ คือมีความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกัน เมื่อมีความเท่าเทียมกันก็เกิดภราดรภาพ ทั้งนี้เป็นไปโดยความสมัครใจ ความเป็นประชาสังคมจะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี


๕.     การพัฒนาจิตและปัญญาให้ยิ่ง การพัฒนาจะมีแต่ทางกายและทางสังคมเท่านั้นไม่พอ แต่ต้องมีการพัฒนาจิตและปัญญาด้วย เป็นการพัฒนากาย จิต ปัญญา สังคมไปพร้อมกัน ระบบและกลไกของประเทศทั้งหมดจะต้องส่งเสริมการพัฒนาจิตและพัฒนาปัญญาของประชาชนให้ยิ่ง เพื่อส่งเสริมชีวิตและการอยู่ร่วมกันที่เจริญ


เมื่อเบญจสดมภ์ทั้ง 5 ประสานสอดคล้องกันจะเกิดระบอบประชาธรรม หรือระบอบประชาธิปไตยที่แท้


ถ้ามีความเห็นพ้องในเบญจสดมภ์ของระบอบประชาธิปไตย ที่เหลือก็จะลงตัวง่ายขึ้น


 


7.


รัฐส่งเสริมเบญจสดมภ์แห่งระบอบประชาธิปไตย


            คำว่ารัฐบาลในบริบทของไทยใช้ในความหมายที่แคบกว่าคำว่า government ของฝรั่ง ซึ่งหมายถึงระบบของรัฐทั้งหมด ถ้าเรามีความเห็นพ้องว่าเราจะมีระบอบประชาธิปไตยที่แท้ และเบญจสดมภ์เป็นเสาหลักแห่งระบอบประชาธิปไตย ระบบและกลไกของรัฐทั้งหมดก็ต้องเข้ามาส่งเสริมเบญจสดมภ์แห่งระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริง รัฐต้องจัดการให้ระบบทั้งหมดของประเทศ เช่น ระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบการสื่อสาร ระบบความยุติธรรม เป็นต้น เข้ามาเสริมสร้างเบญจสดมภ์แห่งประชาธรรม


 



8.


ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


 


            ที่แล้วมาเมื่อประชาธิปไตยยังไม่ลงตัว ทุกฝ่ายลำบากไปหมด พระมหากษัตริย์ก็ลำบาก รัฐบาลก็ลำบาก ประชาชนก็ลำบาก ถ้าทุกส่วนมีความถูกต้องและสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดความลงตัว สงบ ราบรื่น คล่องแคล่ว


            ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและธุรกิจ มีสถานะเป็นความดี ความงาม ความถูกต้อง และความต่อเนื่อง ทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย ถ้าระบอบประชาธิปไตยเป็นไปด้วยดีเกิดสันติประชาธรรม พระมหากษัตริย์ก็ไม่ต้องทรงเหน็ดเหนื่อยและถูกเรียกร้องให้ใช้พระราชอำนาจ ซึ่งทำให้ตกอยู่ในฐานะยากลำบากและอันตราย ถ้าระบอบประชาธิปไตยเป็นไปด้วยดี ไม่จำเป็นต้องคาดหมายหรือเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ต้องเป็นคนเก่ง การคาดหมายให้พระมหากษัตริย์ต้องเป็นคนเก่ง ก่อให้เกิดความยากลำบากและวิตกกังวลอย่างมากในการคิดถึงการสืบราชสันตติวงศ์ ลองศึกษาระบบกษัตริย์ของอังกฤษย้อนขึ้นไปก่อนพระนางเจ้าวิคตอเรียเมื่ออังกฤษเป็นประชาธิปไตยแล้วว่า กษัตริย์หลายพระองค์ของเขาก็ไม่ได้เป็นคนเก่งเลย หรือบางองค์ก็ไม่ได้เป็นคนดีเสียด้วยซ้ำ แต่ระบบของเขาก็อยู่ได้ เพราะเป็นประชาธิปไตย มีนายกรัฐมนตรีที่เก่งๆ ทำงานและช่วยประคับประคองสถาบัน


            พระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรีมีความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนอันไม่ปรากฏต่อสาธารณะ บางครั้งบางเรื่องพระมหากษัตริย์ก็ทรงแนะนำนายกรัฐมนตรี บางครั้งบางเรื่องนายกรัฐมนตรีก็ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้โดยไม่ทำในที่สาธารณะ แต่ด้วยความเคารพในความเป็นสถาบันซึ่งกันและกัน คือสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันนายกรัฐมนตรี








สถาบันพระมหากษัตริย์







รัฐบาล







ประชาธรรม

            ทั้งสองสถาบันส่งเสริมสนับสนุนประชาธรรม บรรจบเป็นสามเหลี่ยมแห่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อเมื่อเรามีระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้นที่พระมหากษัตริย์จะไม่ต้องทรงลำบากและเสี่ยง และมีรัฐประหารกันอย่างซ้ำซาก แล้วก็เข้าไปสู่ความยากลำบากและตีบตันอย่างที่เป็น

 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


รูปที่ 1   สามเหลี่ยมระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


9.


การถอดสลักความรุนแรงเฉพาะหน้า


 


            ก่อนจะกล่าวถึงวิธีถอดสลักความรุนแรง ขอเล่าเรื่องเมื่อครั้งพุทธกาล 2 เรื่อง คือ


หนึ่ง มีพระองค์หนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่าชาวบ้านทะเลาะกันเพราะอะไร ตรัสตอบว่า เพราะกามราคะ หรือความกำหนัดอยากได้เป็นของตน พระทูลถามต่อไปว่า แล้วภิกษุล่ะทะเลาะกันเพราะอะไร ตรัสตอบว่าเพราะทิฐิราคะ หรือความกำหนัดในความคิดของตนๆ เรื่องนี้คงใช้ได้กับนักวิชาการด้วย


            สอง ครั้งหนึ่งในกรุงโกสัมพี พระภิกษุแตกแยกเป็นสองพวกทะเลาะกันอย่างไม่มีวันหยุด พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามก็ไม่หยุด มิหนำซ้ำยังว่าพระพุทธองค์ว่า "ขอพระผู้มีพระภาคจงขวนขวายน้อย" ซึ่งก็คือ อย่าขยันมาห้ามทำนองนั้น หนักเข้าชาวบ้านเขารำคาญเลยหยุดใส่บาตรทั้งคู่ พระสงฆ์ทั้งสองข้างหมดแรงหยุดทะเลาะกันไปได้ เรื่องนี้แสดงว่าแม้พระพุทธองค์ซึ่งทรงเป็นพระศาสดายังหยุดยั้งการทะเลาะกันของพระสงฆ์ไม่ได้ ประชาชนต้องเข้ามามีบทบาท


            ความขัดแย้งบาดหมางในประเทศไทย มีทั้งกามราคะและทิฐิราคะ สังคมทั้งหมดต้องเข้ามาช่วยกันดูแลป้องกันความรุนแรง ส่วนว่าจะทำอย่างไรนั้น ขอเสนอให้พิจารณาเป็น 7 มาตรการ คือ


(๑) การปรับวิธีคิด ความรุนแรงเกิดจากวิธีคิด วิธีคิดที่นำไปสู่ความรุนแรงคือวิธีคิดแบบแยกส่วนตายตัว วาทะของประธานาธิบดีบุชที่ว่า "ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา คุณก็เป็นศัตรูของเรา" เป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบแยกส่วนตายตัวอย่างสุดๆ คนไทยก็คิดแบบแยกส่วนตายตัวอยู่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีคนที่แล้ว นำความคิดแบบนี้ให้เพิ่มมากขึ้นเต็มสังคม ชาวพุทธไม่สนใจวิธีคิดในพระไตรปิฎก เอาแต่เนื้อหา วิธีคิดในพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิธีคิดแบบมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งน้อยคนเข้าใจ รวมทั้งพระสงฆ์จำนวนมากด้วย ถ้าเข้าใจวิธีคิดแบบพุทธ จะไม่เกิดความรุนแรง


(๒) วจีสุจริต การพูดจาที่สะท้อนวิธีคิดแบบแยกส่วนตายตัวนำไปสู่ความรุนแรง ในพระไตรปิฎกสอนเรื่องวจีสุจริตเป็นอันมากว่าการพูดอะไรต้อง


(๑)   เป็นความจริง มีที่มา มีที่อ้างอิง


(๒)   เป็นปิยวาจา


(๓)   พูดถูกกาละเทศะ


(๔)  พูดแล้วเกิดประโยชน์


การพูดจาสื่อสารกันในสังคมขาดวจีสุจริตเป็นอันมาก เป็นชนวนนำไปสู่ความรุนแรง ต้องปรับไปสู่การพูดจาสื่อสารกันด้วยวจีสุจริต ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็ต้องใช้วจีสุจริต


(๓) การรู้จำแนกระหว่างสิทธิกับหน้าที่ เรื่องนี้มั่วมากในสังคมไทยและเข้าใจยาก ขออธิบายโดยอุปมาอุมัย 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ในสังฆะของพระป่า พระทุกองค์ตั้งแต่หัวหน้าจนพระอ่อนอาวุโสที่สุดฉันเสมอกัน แต่หัวหน้ามีความรู้ความสามารถมากกว่าจึงทำงานหนักกว่าในการแนะนำสั่งสอน เรียกว่ามีสิทธิในการบริโภคเสมอกัน แต่มีหน้าที่ต่างกัน สอง ในการตัดสินใจว่าจะผ่าตัดหัวใจหรือไม่ คนไข้ พ่อแม่ พี่น้อง ควรมีสิทธิในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ว่าจะผ่าหรือไม่ผ่า เมื่อตัดสินใจว่าจะผ่าแล้วอย่าไปมีส่วนร่วมในการผ่าด้วย เพราะจะยุ่งมากและอาจทำให้คนไข้ตาย


สิทธิในการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆ ควรเป็นของส่วนรวม แต่เทคนิคในการทำตามการตัดสินใจนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความเหมาะสม ถ้าเราเข้าใจเรื่องการจำแนกระหว่างสิทธิกับหน้าที่ ความยุ่งเหยิงพัลวันอาจลดลงได้บ้าง


(๔) เมื่อถึงจุดต้องหยุดการต่อสู้ กลายเป็นความร่วมมือ ความขัดแย้งและต่อสู้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าไปจนสุดๆ ตามความต้องการหรือทิฐิของตนๆ อย่างไม่มีวันหยุด จะนำไปสู่ความรุนแรง การอยู่ร่วมกันนั้นถึงจุดต้องรู้จักหยุด สามีภรรยาทะเลาะกันต้องรู้จักหยุด มิฉะนั้นครอบครัวแตกหรือถึงฆ่าแกงกัน ในการเมืองที่เจริญเขาอาจแข่งขันต่อสู้กันถึงพริกถึงขิงแต่ถึงจุดเขาจะหยุด เมื่อจอร์จบุชกับอัลกอร์แข่งขันกันเป็นประธานาธิบดีนั้น จริงๆ แล้วอัลกอร์อาจได้คะแนนมากกว่าบุช และควรเป็นประธานาธิบดี แต่เมื่อศาลสูงสั่งให้ยุติการนับคะแนน อัลกอร์ก็ยอมรับยุติการต่อสู้เพื่อรักษาระบบ ถ้าไม่ยุติคนอเมริกันฝ่ายละเท่าๆ กันมิตีกันตายหรือ


      การรู้จักหยุดต้องการการเสียสละ


      สังคมขัดแย้งกันได้ แต่ถ้ามันถึงขั้นจะนำไปสู่ความรุนแรงต้องรู้จักหยุด การจะอยู่ร่วมกันด้วยดีต้องการการเสียสละ หรือจาคะ


(๕) การคิดเชิงยุทธศาสตร์ การคิดเชิงยุทธศาสตร์คือการมีปัญญารู้ล่วงหน้าว่าทำอะไร แล้วจะเกิดอะไรตามมา แล้วเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร เพื่อป้องกันผลอันไม่พึงปรารถนา ขอยกตัวอย่าง 2 ตัวอย่าง คือ


หนึ่ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศอังกฤษ คนอังกฤษรักเชอร์ชิล แต่ไม่เลือกเชอร์ชิล เพราะรู้ว่าถ้าเลือกเชอร์ชิล อังกฤษจะต้องไปทำสงครามกับอินเดียอีก ซึ่งคนอังกฤษไม่ต้องการ


สอง จีนคอมมูนิสต์เมื่อเดินทัพทางไกลไปสู่เยนานนั้น ถูกกองทัพเจียงไคเช็คไล่ฆ่าตายไปประมาณครึ่งหนึ่งและเกลียดเจียงไคเช็คเข้ากระดูกดำ ต่อมานายพลจางโซเหลียงพวกคอมมูนิสต์จับเจียงไคเช็คได้ที่เมืองซีอาน แทนที่จะฆ่าเจียงไคเช็ค โจวเอินไหลกลับมาปล่อยเจียงไคเช็คด้วยตนเอง เพราะยุทธศาสตร์ไม่ใช่ฆ่าเจียงไคเช็ค แต่ให้เจียงไคเช็คไปรวมผู้คนต่อสู้กับญี่ปุ่น


                  การคิดเชิงยุทธศาสตร์ไม่ใช้อารมณ์แต่ใช้สติปัญญา คนไทยต้องหัดคิดเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น รู้ว่าทำอะไรแล้วจะเกิดอะไร รู้ว่าทำอะไรแล้วจะนำไปสู่การนองเลือดหรือไม่นองเลือด เป็นต้น


(๖) ยุทธศาสตร์การสื่อสาร เรื่องทั้ง 5 ที่กล่าวมาข้างต้นดูจะยากเต็มทีที่จะทำได้ แต่ขณะนี้มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้าถึงทุกคนพร้อมกันทั้งประเทศ ถ้ามีการสื่อสารดี ๆ สัมมาทิฐิเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้ามิคสัญญีกลียุคมันจ่อคอหอยเราอยู่


(๗)      การยกระดับไปสู่เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ถ้าเป้าหมายเล็กหรือต่ำ ผู้คนจะทะเลาะและขัดแย้งกัน แต่ถ้าเป้าหมายใหญ่และสูงผู้คนจะเห็นร่วมกัน เช่น สมัยหนึ่งคนเมืองกาญจน์ทะเลาะกันเรื่องจะสร้างสะพานข้ามมาหน้าเมืองหรือไม่ ประเด็นเรื่องสะพานเป็นเรื่องเฉพาะและเรียวมาถึงว่าสร้างหรือไม่สร้าง แต่เมื่อยกประเด็นให้สูงขึ้นว่าคนเมืองกาญจน์ต้องการให้ลูกหลานของเราอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันใช่ไหม ทุกคนต้องว่าใช่ ต้องเริ่มจากเป้าหมายที่ใหญ่และเห็นร่วม เมื่อมีจิตใจร่วมกันแล้วสามารถหาทางออกให้แก่เรื่องที่เห็นต่างได้โดยไม่ยากนัก


                  เพราะมนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ


                  เราต้องไปให้ถึงพลังแห่งความดีในใจของมนุษย์


 


            เราอาจเข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสูงสุดสุด ๆ แล้ว ไม่มีอะไรสูงกว่านี้อีกแล้ว แล้วเลยทะเลาะกันใหญ่ ถ้ายังทะเลาะกันใหญ่แสดงว่ายังไม่ใช่เรื่องสูงสุด หากเป็นเรื่องสูงสุดจริงจิตของผู้คนจะรวมกัน


            สิ่งที่สูงกว่ารัฐธรรมนูญคือการที่คนไทยปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสุขบนดินแดนแห่งนี้ อยากให้ลูกหลานมีศานติสุข


            ฉะนั้นต้องตั้งโจทย์ให้ยาก เช่นว่า


                  ประเทศไทยที่สันติเป็นธรรมรุ่งเรืองเป็นอย่างไร


                  ระบอบประชาธิปไตยที่แท้ที่จะอำนวยประโยชน์สุขควรเป็นอย่างไร


                  เราควรจะร่วมกันทำอะไรบ้างที่จะสำเร็จประโยชน์สุขอันนั้น


                  รัฐธรรมนูญควรบรรจุหลักการที่สำคัญ ๆ อะไรบ้าง


            รัฐบาลควรจัดสัมมนาให้คนไทยทุกภาคส่วนเข้ามากำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม ทั้งในส่วนกลางและในต่างจังหวัดทุกจังหวัด ในระดับจังหวัดควรจะมีผู้นำชุมชนท้องถิ่นทั้งหมดเข้าร่วมคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. นายกเทศมนตรี นายกอบจ. ทั้งประเทศมีกำนันผู้ใหญ่บ้านรวมกันประมาณ 88,000 คน มีผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นประมาณ 8,000 คน รวมแล้วเกือบแสนคน ถ้าผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นได้มีส่วนสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมจะเป็นพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ที่ฐานของสังคม


            ในการประชุมในส่วนกลางนั้นต้องมีผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคร่วมด้วย เพราะนักการเมืองมีสัมพันธภาพกับประชาชนในพื้นที่มากกว่าข้าราชการ


            การที่คนมีส่วนร่วมสร้างอะไร เขาจะรักและผูกพันในสิ่งนั้น


            การที่คนไทยมีส่วนสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมอย่างกว้างขวาง เขาจะรักและผูกพันกับสิ่งที่เขาร่วมสร้าง


            การมีกระบวนการสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมของคนไทยจะทำให้เกิดจิตร่วม  ซึ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ  รัฐธรรมนูญอาจจะยังไม่สมบูรณ์  แต่เมื่อมีจิตร่วมแล้วก็ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ ไป


            ถ้าคนไทยมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมว่า เราจะร่วมกันด้วยความสุขบนดินแดนแห่งนี้ เราจะต้องร่วมสร้างประเทศไทยที่สันติเป็นธรรมรุ่งเรืองให้ลูกหลานของเราอยู่ร่วมกันด้วยศานติสุข การทำอะไรๆ ต่อไปก็ไม่สู้ยากนัก เพราะจะมีพลังสร้างสรรค์ทางสังคมสูง


           


ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยให้สังคมไทยหลุดพ้นมิคสัญญีกลียุคได้ เพราะเรามีกรรมร่วมหนักมาก แต่ถ้าหากวิกฤตไปแล้ว เท่าใด ๆ คนที่เหลือก็ยังต้องฟื้นฟูบูรณะประเทศให้ยกระดับไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า เมื่อนั้นก็หวังว่าสิ่งที่คนแก่ผู้มีปัญญาน้อยคนหนึ่งฝากไว้ อาจจะมีประโยชน์กับเพื่อนคนไทยบ้าง


 


            ขอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net