Skip to main content
sharethis






 


ขัดขืนอารยะ  : "ยา" วิทยาศาสตร์บนกลไกตลาด


 


วิทยากร  บุญเรือง


 


 



 


 


หลายคนคงชอบอ่าน-ชม นวนิยายแนววิทยาศาสตร์หรือหนัง Sci-Fi ที่กล่าวถึงจินตนาการในโลกที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปถึงขีดสุด ... วิทยาศาสตร์ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์อย่างสบายแฮ


 


ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานหนักแทนคน การเดินทางไปตั้งถิ่นฐานบนอวกาศ หรือยารักษาโรคที่ทำให้มนุษย์โลกมีอายุยืนยาวขึ้น --- สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เหนือความสามารถของมนุษย์เท่าไรนัก แต่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เหล่านั้นคือ มนุษย์ทุกคนจะได้รับประโยชน์แบบเท่าเทียมกันหรือไม่ ?


 


ซึ่งในปัจจุบัน ... ในอพาร์ตเมนท์หรูๆ เราอาจจะเห็นหุ่นยนต์ถูพื้นกวาดพื้นแทนแม่บ้าน , มนุษย์โลกที่มีตังค์หลายคนก็ได้ไปเหยียบอวกาศแบบเชิงท่องเที่ยวมาแล้ว , และคนมีเงินหลายคนก็มียาแพงๆ เอาไว้รักษาอาการป่วยไข้ต่างๆ ที่ได้ผลกว่ายาราคาจิ๊บจ๊อย  --- ในปัจจุบันคนส่วนหนึ่งที่มีเงินก็ได้ใช้ชีวิตหยั่งกะถอดแบบมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์อย่างที่เราๆ ท่านๆ ได้อ่านกัน


 


แต่ไม่ใช่สำหรับคนส่วนใหญ่!


 


ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เราไม่ควรปฏิเสธ แต่เราควรตั้งคำถามและหาวิธีแก้ไขโจทย์ที่ว่าจะทำให้ความก้าวหน้านั้นรับใช้คนส่วนใหญ่ได้อย่างไร?  โดยเฉพาะเรื่องวิทยาการความก้าวหน้าของยารักษาโรคที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ --- ซึ่งเรื่องนี้วิทยาศาสตร์น่าจะทำหน้าที่ของมันภายใต้พื้นฐานของการทำเพื่อสังคมโดยไม่มุ่งหวังกำไร


 


แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการผลิตยารักษาโรค มันกลับยืนอยู่บนพื้นฐานกลไกกลตลาด --- และอุตสาหกรรมบรรษัทผลิตยายังเป็นรากฐานการทำกำไรให้แก่นายทุนและฝ่ายปกครองที่สำคัญให้กับระบบทุนนิยมปัจจุบัน


 


เพราะความเจ็บป่วยของมนุษย์คือสินค้าที่จะไม่มีวันหมดไป ... แน่ล่ะว่าใครจะไปรู้ว่าในปัจจุบันแต่ละโรคไม่ว่าจะเป็น เอดส์,มะเร็ง,นกเขาไม่ขัน ฯลฯ โรคเหล่านี้ในห้องทดลองเขาอาจจะมีสูตรลับที่สามารถรักษาให้มันหายขาดได้ แต่จะทำให้มันหายขาดไปทำไม? สู้เราเลี้ยงไข้เลี้ยงต้อยโรคร้ายเหล่านั้นไว้ทำกำไรกับยาตัวใหม่ที่แล็ปของบรรษัทยายักษ์ใหญ่ค่อยๆ ทยอยออกมันมาหากินกับชาวโลก ผู้ที่หนีการ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย นี้ไปไหนไม่ได้แล้ว ไม่ดีกว่าหรือ?


 


ยารักษาโรคยังคงเป็นสินค้าที่ความต้องการมันยังคงล้นเฝือมหาศาล! --- และบรรษัทยาก็มีข้ออ้างไว้เต็มกระเป๋าในการค่อยๆ พัฒนา , ทำให้มันมีราคาแพง และกีดกันคนไม่มีกะตังค์ออกไปจากการใช้ยาเหล่านี้ คนไม่มีกะตังค์เป็นพรีเซนเตอร์ชั้นยอดให้กับบรรษัทยาทั้งหลาย ... คุณไม่มีตังค์ซื้อยาแพงๆ ของเรา เห็นมั๊ย! คุณจะตายแบบทุรนทุราย แบบคนจนๆ เหล่านั้น!


 


และเมื่อถามว่าทำไมยาของพวกเราราคาแพง --- อืมม ... ก็เพราะยาทุกเม็ดเกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไง เราต้องค้นคว้าวิจัย ทำให้ต้นทุนมันสูงเข้าใจมั๊ย?


 


แต่สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับข้ออ้างของบรรษัทยาที่ว่าพวกเขาได้ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลลงไปในการวิจัยนั้น เป็นความจริงเพียงส่วนเดียว ความจริงที่คาดไม่ถึงที่เขาปิดบังไว้ก็คือ เงินจำนวนมหาศาลพอๆ กันกับงบพัฒนาวิจัยนั้นถูกใช้ไปในการล๊อบบี้นักการเมืองและบริจาคให้พรรคการเมืองใหญ่-รัฐบาล-ฝ่ายปกครอง-ชนชั้นนำทั่วโลกเพื่อแลกกับการออกกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ทำให้พวกเขาขายยาได้แพงๆ ไปได้เรื่อยๆ


 


ยาหนึ่งเม็ดจึงประกอบไปด้วย ค่าวัตถุดิบและแรงงานการผลิต ( ที่ต่ำมาก ) , ค่ามันสมอง ( ที่สูงมาก ) , ค่าล๊อบบี้ (ที่สูงมากเช่นกัน) อ้อ! แล้วยาลืมค่าบริหาร,ประชาสัมพันธ์และทำการตลาดด้วยล่ะ! ( ก็สูงมากเช่นเดียวกัน )


 




 


ที่มาตาราง : http://cgkd.anu.edu.au/menus/PDFs/Patents%20and%20FTA%20final.pdf


 


ในปี 2001 จะพบว่าบรรษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลายออกเงินลงทุนค่าวิจัยและพัฒนา ( R & D ) น้อยกว่าค่า ทำการตลาดและค่าบริหารที่อาจมีค่าล็อบบี้สอดไส้อยู่ ( Marketing/advertising/administration ) เกือบเท่าตัว


 


 



 


ที่มาตาราง : http://en.wikipedia.org/wiki/Pharmaceutical_industry


 


และในปี 2004 เราจะพบว่าเมื่อเทียบกับรายได้รวมแล้ว ค่าพัฒนาและวิจัยของบรรษัทยามันก็เปรียบเสมือนเศษเงินดีๆ นี่เอง ... และผลจากการล๊อบบี้ทำให้กฎหมายลิขสทธิ์ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดทั่วโลก ทำให้เป็นครั้งแรกที่มูลค่าการค้าขายในอุตสาหกรรมนี้พุ่งสูงถึง 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2006


 


เหตุผลที่อ้างถึงการนำเงินไปพัฒนาและวิจัยต่อนั้นมันจึงเป็นเพียงเหตุผลหลอกเด็ก กำไรมหาศาลจากการขายยามันพยายามดำรงทฤษฎีชนชั้นไว้ต่างหาก มีหลายคนที่เงินจากการทำกำไรบนโรคร้ายต้องคอยไปประเคนสู่พวกเขา ไม่ว่าจะเป็น CEO มือฉกาจ, ล็อบบี้ยิสต์ลิ้นสองแฉก ,นักการเมืองผู้ไหลลื่น , ชนชั้นปกครองผู้บ้าอำนาจ และชนชั้นนำที่ชอบทำนาบนหลังคน


 


แน่ล่ะถ้ายาถูกลงคนที่กล่าวไปเหล่านั้นจะมีอำนาจในสังคมเหมือนเดิมหรือไม่? บรรษัทและรัฐชาติจะคงความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่? หากคนจนๆ สามารถเข้าถึงปัจจัยที่โดนกีดกันได้อย่างเท่าเทียม ... แต่ทั้งนี้หลายๆ ประเทศที่มีแนวคิดสังคมนิยมอ่อนๆ ก็เริ่มที่จะกระจายยาราคาถูกให้ประชาชนของเขาบ้างแล้ว 


 


ส่วนประเทศไทยที่ว่าจะทำเลียนแบบบ้างนั้น ตอนนี้เรายังให้คำตอบไม่ได้ว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารนี้จะสามารถทนแรงเสียดทานจากการกดดันของประเทศมหาอำนาจได้อีกนานเท่าไร? เพราะรัฐบาลไทยไม่มีแนวทางสังคมนิยม และรัฐบาลไทยพร้อมที่จะสอพลอชาติมหาอำนาจได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะการใช้ข้ออ้างทางเศรษฐกิจ


 


 


 


รอบโลกการต่อสู้ 22 - 28 เมษายน 2550


 


สหภาพแรงงานอัลมอนด์ ประท้วงเพื่อศักดิ์ศรี !


 


 


[ ที่มาภาพ : แฟ้มภาพประชาไท ]


 


19 เมษายน 2007 - สมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอลด์ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ กว่า 200 คน ได้เดินทางมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือ หลังจากถูกนายจ้างปิดงานตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน  โดยนายสมพงศ์ พัฒนภูมิ รักษาการประธานสหภาพแรงงานกล่าวถึงสาเหตุที่นายจ้างใช้วิธีปิดงาน ทำให้คนงานไม่มีรายได้นั้น เกิดจากเมื่อหลังจากสหภาพแรงงานพยายามเจรจาข้อเรียกร้องกับผู้บริหารกว่า 6 ครั้งตั้งแต่ 30 มกราคม 2550 และมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยแต่ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ผู้บริหารของบริษัทเลือกใช้วิธีปิดงานเฉพาะส่วนของพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน


 


เหตุดังกล่าว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานที่ถูกปิดงานลำบากมาก เพราะวันๆ หนึ่งคนงานมีค่าใช้จ่ายในการครองชีพแต่พอปิดงานแล้วไม่มีรายได้ สำหรับข้อพิพาทแรงงานที่เจรจากับบริษัทนั้น ตนเห็นว่าทั้งๆ ที่อยู่ระหว่างการที่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานกำลังเข้ามาเจรจาเพื่อใกล่เกลี่ยในเดือนมีนาคมเป็นตนมากว่า 3 ครั้ง ทำไมจึงต้องใช้วิธีปิดงาน ซึ่งตนสงสัยว่าการที่นายจ้างทำเช่นนี้ ไม่น่าจะทำได้ เพราะประกาศ คปค.ฉบับที่ 6 ยังบังคับใช้อยู่ นายสมพงศ์กล่าว  นอกจากนี้ นายสมพงศ์ยังกล่าวว่าระหว่างการต่อสู้ของสหภาพแรงงานดังกล่าว ผู้บริหารของบริษัทยังมีความพยายามแทรกแซงสหภาพแรงงานด้วยการทำใบลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพมาให้พนักงานลงนามอีกด้วย


 


โดยทางสหภาพแรงงานอัลมอนด์ยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดำเนินการยุติปัญหาการปิดงานของบริษัทที่มีต่อลูกจ้างโดยเร็ว และให้ทาง คมช. และรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่สร้างปัญหาความเดือดร้อนกับลูกจ้าง กรณีที่ คมช. และรัฐบาลแก้ไขดังกล่าวไม่ได้ ให้ คมช. รัฐบาล ลาออกไปโดยเร็วที่สุด และคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน คืนบรรยากาศในการลงทุน และการส่งออกให้กับภาคเศรษฐกิจและประชาชนโดยพลัน แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ   ทั้งนี้สมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาดังกล่าว ให้นายจ้างบริษัทอัลมอนด์ยุติการปิดงาน ภายเวลา 7 วันนับจากนี้ หากไม่มีมาตรการแก้ไขจะกลับมาทวงข้อเรียกร้อง นายสมพงศ์กล่าว --- โดยการต่อสู้ของสหภาพแรงงานอัลมอนด์ยังคงดำเนินอยู่จนถึงวันนี้ ( 28 เมษายน 2550 )


 


อ่านเพิ่มเติม: แรงงานบุกทำเนียบประท้วงนายจ้างลอยแพ นายฝรั่งลอยแพ! คนงานอัลมอนด์ร่อนจดหมายขอทูตสหรัฐฯช่วย  รายงาน: มีที่ไหน...ยิ่งใช้เสรีภาพมาก หลักประกันการทำงานหดหาย  เรียกร้องทูตสหรัฐช่วยติดต่อนายจ้างบริษัทอัลมอนด์ที่นิวยอร์ค


 


 


★ ★ ★


 


ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือกว่าร้อยคนประท้วงอดข้าว อารยะขัดขืนต่อท่าทีของรัฐบาลไทย


 




 


ห้องลูกกรงและพัดลม 1 ตัว คือสิ่งที่รัฐไทยเอาไว้ต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ


[ที่มาภาพ: AFP/File/Pornchai Kittiwongsakul ]


 


24 เมษายน 2007 - ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือกว่าร้อยคนประท้วงอดข้าวที่ศูนย์กักกันของไทย เพื่อประท้วงต่อความล่าช้าในการส่งตัวพวกเขาต่อไปยังประเทศเกาหลีใต้  ทั้งนี้ Kitty McKinsey โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า กลุ่มผู้ลี้ภัยดังกล่าว มีกำหนดจะต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อหลายวันก่อน แต่ทางการไทยได้ระงับกำหนดการเดินทางอย่างกระทันหันโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล ขณะที่นักการทูตของเกาหลีใต้ประจำประเทศไทยก็ปฎิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้



ปัจจุบันประเทศไทยกำลังกลายเป็นจุดหมายยอดนิยมของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ ที่หลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในประเทศจีน และเดินทางลักลอบเข้ามาในประเทศไทย เพื่อที่จะขอลี้ภัยต่อไปยังประเทศเกาหลีใต้  โดยเมื่อปี 2005 ทางการไทยจับกุมผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือไว้ถึง 50 คน ส่วนเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 400 กว่าคน


 


อ่านเพิ่มเติม:  NKorean refugees continue Thai hunger strike


★ ★ ★


 


นักโทษกรีซประท้วงบนหลังคา ขอความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น / นักเคลื่อนไหวแนวอนาธิปไตยเป็นผู้ต้องสงสัยเผารถที่กรีซ


 




ความวุ่นวายที่เรือนจำ Malandrinos [ ที่มาภาพ : AP ]


 


23 เมษายน 2007 - ตั้งแต่เวลาประมาณ 12.30 น. นักโทษ 200 กว่าคนในเรือนจำ Malandrinos ที่เมือง Fokida ประเทศกรีซได้ร่วมกันก่อจลาจลและประท้วงบนหลังคาเรือนจำ เพื่อเรียกร้องให้ทางการดูแลความเป็นอยู่นักโทษให้ดีขึ้น  ทั้งนี้เรือนจำ Malandrinos มีความจุนักโทษที่ 6800 คนแต่ขณะนี้มีนักโทษอัดกันราวกับปลากระป๋องประมาณ 10600 คน --- และการประท้วงนี้มีการถ่ายทอดสดความคืบหน้าผ่านสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศกรีซด้วย


 


จากนั้นวันที่ 26 เมษายน 2007 นักเคลื่อนไหวแนวอนาธิปไตยกลายผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ปาระเบิดใส่ลานจอดรถ สถานีตำรวจกลางกรุง Athens ประเทศกรีซ ส่งผลให้ยานพาหนะ 12 คันได้รับความเสียหาย โดยคาดว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวเหล่านี้จะมีประมาณ 30 - 40 คนซึ่งเป็นวัยรุ่น โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงนักเคลื่อนไหวแนวอนาธิปไตยก็ตกเป็นจำเลยว่าขว้างระเบิดขวดในเหตุการณ์จลาจล ณ ค่ายตำรวจที่เมือง Zographou ทางตะวันออกของกรุง Athens


 


ทั้งนี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวแนวอนาธิปไตยในกรีซชอบที่จะโจมตีสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจการควบคุมของรัฐ  (symbols of authority)  ด้วยวิธีซุ่มโจมตี-ลอบวางเพลิงก่อนที่จะโกยหนีด้วยเท้าเปล่า --- ความรุนแรงเหล่านี้คาดว่าเป็นแรงกระเพิ่มมาจากเหตุการณ์จลาจลที่เรือนจำ Malandrinos ที่ผ่านมา


 


อ่านเพิ่มเติม: Suspected anarchists burn cars outside Athens police station  Police face off protesting convicts in Greek high security prison  Second Day on the Roof  


 


★ ★ ★


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net