Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชน จัดการเสวนาวิชาการ "ชำแหละต้นร่างรัฐธรรมนูญ กับอนาคตประเทศไทย" ที่ห้องประชุม ทวี บุณยเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


 


วิทยากรที่เข่าร่วมในการเสวนาภาคบ่ายได้แก่ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยพัฒนาประเทศไทย(TDRI) และ รสนา โตสิตระกูล อดีตว่าที่ ส.ว. ดำเนินรายการโดย บุญเลิศ ช้างใหญ่ หนังสือพิมพ์มติชน 


 



 


"พระเอก" ในร่างรัฐธรรมนูญ


 



 


รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แล้วพบว่ามี "พระเอก" อยู่ 3 คน ประกอบไปด้วย 1.พระมหากษัตริย์ 2.ฝ่ายตุลาการ และ 3.ประชาชน


 


จากหมวด 2 ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งว่าด้วย พระมหากษัตริย์ รศ.ดร.ไชยันต์ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จนมาถึงครั้งนี้ หมวดนี้เป็นหมวดที่มีการอภิปรายกันน้อยมาก โดยมีการให้เหตุผลว่า เป็นที่รับรู้อยู่แล้วว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไร ความสัมพันธ์หรือจุดเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์เป็นแบบ "จารีตประเพณี" ประกอบกับบรรยากาศ "เสื้อเหลือง" ทำให้พระมหากษัตริย์เป็น "พระเอก" ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


"พระเอก" คนที่สองนั้น รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า ให้ดูในมาตรา 68 ในร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ว่า เมื่อมีวิกฤติ ให้มีการประชุมร่วมกันของ นายกรัฐมนตรี, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิ, ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด และ ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ถ้ามองผิวเผินแล้วจะพบว่าทั้ง 8 คนนี้เป็น "พระเอก" แต่ก็อาจเกิดปัญหาการตีความได้ เช่น เมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่างขึ้น บางคนอาจเห็นว่าเป็นวิกฤติ แต่บางคนอาจเห็นว่าไม่เป็นวิกฤติ จึงอาจนำไปสู่การแข่งบารมีกันได้ และเมื่อจำแนก "คณะบุคคล" ดังกล่าวจาก "การใช้อำนาจอธิปไตย" แล้วจะเห็นว่าฝ่ายตุลาการซึ่งมีถึง 3 เสียงจาก 8 เสียงน่าจะกลายเป็น "พระเอก" ตัวจริง


 


และ "พระเอก" คนที่สาม คือ ประชาชน เพราะมีบทบัญญัติ ให้ประชาชนสามารถริเริ่มในการเสนอและแก้กฎหมาย รวมไปถึงการถอดถอนนักการเมือง โดยมีการลดจำนวนในการเข้าชื่อยื่นเรื่องจากเดิม 50,000 คน มาเหลือ 20,000 คน อย่างไรก็ดี แม้อำนาจริเริ่มจะมาจากประชาชน แต่อำนาจการตัดสินใจก็ไม่ใช่ของประชาชนแต่เป็นของวุฒิสภา ประชาชนจึงเป็น "พระเอก" ในการเขี่ยลูกเท่านั้น


 


สิทธิเสรีภาพ


 



 


รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญ 2540 มีหลักการอย่างหนึ่งที่บอกว่า เวลาที่สภาจะตรากฎหมายขึ้นมาแล้วกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีการอ้างอิงมาตราหรือบทบัญญัติที่ให้สภามีอำนาจในการตรากฎหมายที่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล เพื่อเตือนให้ระมัดระวังการตรากฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับตัดหลักการนี้ทิ้งไป โดยการตัดข้อความที่ว่า "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ออกไปในวรรคท้าย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อสิทธิของประชาชนได้


 


รศ.ดร.วรเจตน์ จำแนกสิทธิของบุคคลเป็น 2 ลักษณะคือ สิทธิในทางบวก กับ สิทธิในทางลบ


สิทธิในทางบวก คือ สิทธิที่ประชาชนไปเรียกร้องจากรัฐให้กระทำการอันใดที่เป็นประโยชน์กับตน เช่น เรียกร้องให้จัดการศึกษาไม่เสียค่าใช้จ่าย สิทธิเรียกร้องให้ดูแลเมื่อไม่มีงานทำ ฯลฯ เดิมการมีข้อความ "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" แล้วบางทีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดการใช้สิทธินั้น ศาลก็ไม่บังคับตามให้เพราะไม่รู้จะบังคับอย่างไร การตัดข้อความดังกล่าวจึงทำให้ประชาชนสามารถอ้างสิทธิได้โดยตรง และบังคับให้ศาลต้องตัดสินตามหลักกฎหมายเท่าที่มี ดังนั้น สำหรับสิทธิทางบวก การตัดข้อความนั้นจึงถือว่าไม่เป็นปัญหา


 


ขณะที่ สิทธิในทางลบหรือทางปฏิเสธ ซึ่งหมายถึง สิทธิที่จะไม่ให้รัฐก้าวล่วงเข้ามาในเขตแดนสิทธิเสรีภาพของเรา ถ้ารัฐจะเข้ามาต้องมีกฎหมายให้อำนาจ รัฐธรรมนูญจึงเขียนเอาไว้ว่าเมื่อไรก็ตามที่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐก้าวเข้ามาต้องไปตรวจสอบว่ามีกฎหมายรองรับหรือไม่และให้อ้างอิงเลขมาตราด้วย ดังนั้น การตัดข้อความดังกล่าวออกโดยไม่แยกแยะลักษณะของสิทธิทำให้มาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในแง่มุมนี้ด้อยลงไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540


 


วุฒิสภา : สภาคนดี มีคุณธรรม ?


 


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญตั้งเป้าจะลดทอนอำนาจนักการเมืองให้มากที่สุด และเพิ่มอำนาจองค์กรที่เชื่อว่าเป็นกลางและ "มีคุณธรรม" จึงเกิดการปะทะกันระหว่างความคิด "ประชาธิปไตย" กับความคิดเรื่อง "คุณธรรม" และ "ความดี" จนทำให้เกิดคำถามว่ามันสอดคล้องกันหรือขัดแย้งกันหรือไม่ ซึ่งคำถามดังกล่าวสะท้อนออกมาในเรื่องการสรรหาวุฒิสภา และเรื่องการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ


 


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในฉบับนี้มีอยู่มากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยซ้ำ แต่การที่วุฒิสภามาจากการสรรหาทำให้ขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจเพราะขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน


 


"คุณมีคนอยู่ 160 คน ที่มากจากการสรรหาของคน 7 คน แล้วคุณบอกว่าเป็นผู้แทนปวงชน แล้วใช้อำนาจอันมหาศาลแทนปวงชน ผมว่าตรรกะของผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาแล้ว"


 



 


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวเสริมจากประเด็นของ รศ.ดร.วรเจตน์ ว่า วุฒิสภา กับ "คณะบุคคล" มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน คือ "คณะบุคคล" เป็นผู้สรรหาวุฒิสภา และ "คณะบุคคล" จำนวนหนึ่งก็มาจากการรับรองของ วุฒิสภา ด้วย แม้ว่าในเวลาเดียวกันจะไม่สามารถสรรหาตอบแทนกันได้ แต่การที่แต่ละฝ่ายต่างมีอำนาจแต่งตั้งซึ่งกันและกัน จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดการตอบแทนกันข้ามเวลาขึ้น


 



 


รสนา โตสิตระกูล แกนนำ 36 องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชัน และอดีตว่าที่สมาชิกวุฒิสภา มองว่า การที่ "คณะบุคคล" และ ส.ว. มีระบบการแต่งตั้งซึ่งกันและกันนั้นน่าจะเกิดปัญหาได้ นอกจากนี้ระบบการสรรหายังสะท้อนความไม่เชื่อใจประชาชน


 


"ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคิดในการหา "อัศวินม้าขาว" มาตลอด คิดว่าประชาชนไม่มีความรู้ หรือว่าประชาชนมีความรู้มากเกินไปแล้วจะทำให้อำนาจของผู้มีอำนาจน้อยลง"


 


ระบบเลือกตั้ง ส.ส.


 


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต้องให้พรรคการเมืองมีโอกาสพัฒนาตัวเอง และ "ประชาธิปไตย" ไม่มีทางลัด จะใช้เวลาก็ต้องยอม ต้องให้พัฒนาไปเรื่อยๆและอย่าตัดตอนมัน ขณะที่ระบบเลือกตั้งก็ต้องให้สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนให้มากที่สุดและทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและพัฒนาต่อไปได้


 


ในส่วนของการวิจารณ์ระบบเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญอาจยังทำไม่ได้เพราะในร่างฯยังไม่ชัดเจน แต่ในแง่ความคิดเบื้องหลังของผู้ร่างฯ รศ.ดร. วรเจตน์ กล่าวว่า น่าจะมาจากการดูผลการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งมาก จึงพยายามจะทอนความเข้มแข้งของพรรคการเมืองลง และจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการได้รัฐบาลที่อ่อนแอด้วย


 


"ฝ่ายบริหารต้องมีความเข้มแข็งตามสมควร ไม่ใช่ทำลายความเข้มแข็งนั้น ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารนั้นถูกตรวจสอบจากกลไกที่มีประสิทธิภาพต่างหาก" 


 


ดร.สมเกียรติ เห็นว่าการแบ่ง ส.ส. เป็นสองส่วน คือ แบบเขตกับปาร์ตี้ลิสต์เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว แต่ การออกแบบ ส.ส. เขตแบบนี้จะได้รัฐบาล "เบี้ยหัวแตก" เป็นรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็ง ไม่มีความมั่นคง การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวน่าจะเป็นทางที่ดีกว่าเพราะทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง ขณะที่ปาร์ตี้ลิสต์นั้น ดร.สมเกียรติ เห็นว่า การแบ่งเขตระดับภาคของปาร์ตี้ลิสต์เป็นการข้างถอยหลังไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เพราะ ระบบปาร์ตี้ลิสต์ระดับประเทศเป็นการลดปัญหา "เสียงตกน้ำ" ซึ่งน่าจะเป็นทางที่ดีกว่าระบบภาคซึ่งอาจทำให้เสียงของประชาชนจำนวนหนึ่งหายไป


 


รสนา เสนอว่า น่าจะมีกระบวนการจัดการตรวจสอบ ส.ส. ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่อำนาจ โดยการจัดทำ Profile (ประวัติ) นักการเมือง เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ ในระหว่างที่อยู่ในอำนาจก็ต้องมีการตรวจสอบ เช่นว่า ใครโหวตให้เรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ และที่สำคัญควรมีกระบวนการ Recall หรือการเรียกคืนได้เมื่อประชาชนเห็นว่า ส.ส. ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ


 


แนวนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐ


ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า มี 4 ชุดความคิดที่บางเรื่องขัดแย้งกันเอง คือ 1.เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน จริยธรรม 2.เศรษฐกิจเสรี, Deregulation, Privatization, Liberalization 3.รัฐสวัสดิการ และ 4.การให้ภาครัฐมีบทบาทอย่างแข่งขันในการแทรกแซงตลาด จึงน่าจะเกิดปัญหาในการนำไปใช้


 


"การตีความจะทำอย่างไร เพราะมีความขัดแย้งกันโดยปรัชญาพื้นฐาน และในทางเศรษฐศาสตร์เมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องมีการ trade-off ว่าจะเลือกข้อเท็จจริงไหน แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่มีกลไกหรือวิธีการเลือกนโยบายดังกล่าวอย่างไร"


 


ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์ เห็นว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจที่มีมากกว่าหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็น Post-Modern เพราะ เป็นการปฏิเสธอุดมการณ์หนึ่งเดียวที่จะครอบงำสังคม และในแต่ละเรื่องประชาชนก็จะได้เรียกร้องกันเองว่าต้องการอะไร


 


นอกจากนั้น ในส่วน "กฎหมายการคลัง" ที่เป็นสิ่งใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่าเป็นสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์ น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องวินัยการคลังได้


 


ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับอนาคตสังคมไทย


 


ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การพยายามเอาความฝัน ความหวัง และปัญหาทุกอย่างไปฝากกับรัฐธรรมนูญนั้นค่อนข้างเป็นปัญหา และถ้าเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งกันอย่างมากจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Single Issue Politic หรือการเมืองแบบยึดประเด็นเดียว ซึ่งไม่ว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะเป็นอย่างไรแต่จะมีคนส่วนหนึ่งที่จะสนใจเพียงประเด็นเดียวและไม่มีการประนีประนอม เช่น ความเชื่อเรื่องศาสนา เศรษฐกิจเสรี เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความแตกแยก และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ควรรวมอยู่ในรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องที่ต้องการผลปฏิบัติชัดเจนน่าจะไปอยู่ในกฎหมายระดับย่อยมากกว่า


 


รสนา กล่าวว่า บางทีถ้าไม่รับร่างฯ แล้ว คมช. เสนอร่างของตัวเองออกมา ก็อาจทำให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของคมช.ได้มากขึ้น และก็จะนำไปสู่การผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคต


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า มองไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ข้อบกพร่องต่างๆในรัฐธรรมนูญก่อนหน้าได้ และจะสามารถยกระดับการพัฒนาทางการเมืองได้


 


แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน รศ.ดร.วรเจตน์ เห็นว่า คมช.ไม่น่าจะเสนอรัฐธรรมนูญที่แย่กว่าร่างฉบับนี้ การที่ประชาชนไม่รับประชามตินี้ คมช.จึงจำเป็นต้องทำรัฐธรรมนูญที่ดีกว่ามา แต่ถ้ารัฐธรรมนูญ คมช. มันแย่กว่าจริงๆ ก็ต้องต่อสู้กันต่อไป


 

"ประชาชนต้องได้สิ่งที่ดีที่สุด ถ้าเขารู้สึกว่ามันไม่ดีที่สุดก็มีสิทธิโหวตไม่รับ และเป็นหน้าที่ของ คมช.และ ครม. ที่ต้องทำสิ่งที่ดีกว่ามาให้ ถ้ายังไม่ทำมาให้ ประชาชนก็มีสิทธิเรียกร้องต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net