รายงาน : 40 วันที่ปอเนาะสะบ้าย้อย ความเคลือบแคลงยังไม่จางหายไป

 

 

เช้าก่อนวันสิ้นเดือนเมษายน 2550 ที่สถาบันปอเนาะอิสลาฮุดดีน หรือโรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา หมู่ที่ 2 บ้านควนหรัน ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปอเนาะควนหรัน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ จาน ชาม เต็นท์ ยังวางระเกะระกะอยู่กลางสนามฟุตบอล อาคารเรียนชั่วคราว และอาคารเรียนใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ

 

ไม่ต้องพูดถึงขยะพวกถุงพลาสติก กระดาษ มีอยู่กลาดเกลื่อน ทั้งในสนามฟุตบอล อาคารเรียน ใต้ถุนปอเนาะที่เป็นกระท่อมที่พักของนักเรียน บ่งบอกว่าได้ผ่านการจัดงานใหญ่มาไม่นานนัก

 

เด็กหญิงวัยรุ่น 4 - 5 คน กำลังเก็บของบางส่วนขึ้นรถ บ้างก็จัดแจงให้เข้าที่เข้าทาง ส่วนคนงานชายคนหนึ่งกำลังเก็บของบางอย่างขึ้นรถ ขณะที่คนขับรถเดินเข้ามาสมทบในวงสนทนาที่มีผู้สื่อข่าวประชาไท กับบาบอเลาะ หรือนายอับดุลเลาะห์ หะยีเจ๊ะเลาะห์ ซึ่งเป็นโต๊ะครูเจ้าของกับชาวบ้านอีกหนึ่งคน

 

"คืนนี้จะครบ 40 วัน ที่มีการละหมาดฮายัต เพื่อขอพรต่ออัลเลาะห์ ซึ่งเป็นพระเจ้าของทุกสรรพสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องเคารพนับถือ ให้ประทานความสันติสุขแก่พวกเรา หลังจากผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด"

 

บาบอเลาะเอ่ยขึ้นหลังจากที่วงสนทนาเริ่มไปได้สักพักใหญ่ แล้วบอกต่อว่า คนที่มาร่วมละหมาดฮายัตแต่ละคืนก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนคนนอกพื้นที่ที่ทราบข่าวก็เข้ามาเหมือนกัน หมุนเวียนกันไป ส่วนหนึ่งก็เพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนบาบอ ไม่อยากให้บาบอเหงา หรือไม่ก็เป็นห่วงกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับบาบออีก

 

ส่วนข้าวของที่กระจัดกระจายเพราะเพิ่งผ่านการจัดงานเลี้ยงข้าวยำ เพื่อหารายได้สบทุนสร้างกำแพงปอเนาะเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา

 

บาบอเลาะ บอกว่า จะเอาเงินมาสร้างล้อมรอบสถาบันปอเนาะ เพื่อให้เด็กได้สบายใจ เพราะตอนนี้ยังเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีแต่สวนยางพาราล้อมรอบอยู่

 

ในงานดังกล่าวสามารถรวบรวมเงินได้กว่า 1 ล้านบาท บาบอบอกว่า น่าจะเพียงพอกับการสร้างรั้ว ที่ได้เงินมามากมายก็เพราะชาวบ้าน ประชาชนทั่วทุกสารทิศ ไม่เฉพาะใน 3 จังหวัดเท่านั้นที่มาร่วมงาน แม่แต่คนมุสลิมจากกรุงเทพมหานครก็ยังอุตสาห์มาร่วมงาน บางคนก็ไม่ได้ไปเชิญ แต่เขาทราบข่าวคราวที่เกิดขึ้นกับโต๊ะครูและกับสถาบันปอเนาะ เขาก็มา

 

"เหตุการณ์แบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยในอดีต ตั้งแต่ตั้งปอเนาะมา หรือได้ยินได้ฟังจากคนเฒ่าคนแก่ก็ยังไม่เคยได้ยินว่าเกิดเหตุการณ์ยิงถล่มปอเนาะแบบที่ผมโดน"

 

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านไปแล้ว 40 กว่าวัน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงติดตาติดใจบาบอเลาะ รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง

 

เวลาประมาณ 3 ครึ่งของวันที่ 17 มีนาคม 2550 หลังจากที่เด็กนักเรียนและชาวบ้านประมาณ 40 คนกลับจากละหมาดศพในอีกหมู่บ้านหนึ่ง ขณะที่ต่างแยกย้ายกันเข้าที่พักของตนเอง ปรากฏมีกลุ่มคนร้ายซึ่งชาวบ้านคาดว่าน่าจะมีกันประมาณ 15 คน ที่ซุ่มอยู่ในสวนยางพาราอ่อน ข้างๆ กลุ่มปอเนาะซึ่งเป็นที่พักของนักเรียน ได้ระดมยิงเข้ามายังที่พักของนักเรียนชาย ด้วยอาวุธปืนหลายชนิด ทั้งเอ็ม 16 อาก้า ลูกซอง และเอ็ม 79 เป็นเหตุให้มีเด็กนักเรียนเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 8 คน

 

เหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาสู่การชุมนุมปิดทางเข้าสถาบันปอเนาะถึง 3 วัน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบพร้อมอาวุธครบมือ เพราะชาวบ้านคิดว่า คนก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง ในขณะที่ชาวบ้านจากทั่วสารทิศได้เข้ามาสมทบจำนวนมากขึ้น

 

จนกระทั่งวันที่สาม ที่มีการประสานงานกับแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาตร์ และนางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตรที่หายตัวไป ให้เข้ามาตรวจในที่เกิดเหตุ ชาวบ้านจึงยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจในที่เกิดเหตุด้วยเช่นกัน

 

บาบอเลาะบอกว่า ตนเองคงบอกไม่ได้ว่าคนร้ายเป็นใคร แต่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะไปห้ามไม่ได้ที่ชาวบ้านเชื่ออย่างนั้น เพราะตอนเกิดเหตุเด็กนักเรียนบอกว่า ได้ยินเสียงคำสั่งให้ยิงเป็นภาษาไทย พอยิงไปได้ซักพัก จากนั้นคนร้ายบางคนเดินตามมายิงถึงบนที่พัก จนตายไปสองคน

 

"เด็กคนหนึ่งบอกว่า คนร้ายเข้ามาเปิดประตูปอเนาะที่ตนเองพักอยู่ พอเห็นเขา คนร้ายคนนั้นก็พูดขึ้นมาว่า 'มันเล็กเกิน' เป็นภาษาไทย ก็เลยไม่ยิง"

 

เป็นที่น่าเสียดายว่า ขณะที่ผู้สื่อข่าวประชาไทไปขอพบเด็กคนดังกล่าว ซึ่งมีอายุ 13 ปี ที่อยู่อีกหมู่บ้านใกล้เคียงกัน ได้รับคำตอบว่า ไม่อยู่ ไปมาเลเซีย จะกลับมาก่อนเปิดเทอมในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550

 

ย้อนกลับมาที่วงสนทนา ชาวบ้านคนหนึ่งได้พูดถึงหมวกเบเร่ต์แดงของทหารหน่วยรบพิเศษ 2 ใบที่พบในสวนยางของนายอับดุลเลาะห์ โต๊ะมิง ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ห่างจากสถาบันปอเนาะประมาณ 500 เมตร [1] ด้วยว่า ในวันที่ชาวบ้านชุมนุมกัน หลายคนก็เห็นเฮลิคอปเตอร์ทหารบินวนโปรยใบปลิว แต่จะให้เชื่อไปอย่างไรว่าหมวกนั้นตกมาจากเฮลิคอปเตอร์ เพราะตกห่างกันไม่ถึง 5 เมตร และคว่ำทั้ง 2 ใบ แสดงว่าไม่ได้ตกจากที่สูงแน่นอน

 

เมื่อสำรวจบริเวณรอบๆ สถาบันปอเนาะ พบว่า สภาพโดยทั่วไปยังไม่แตกต่างไปจากช่วงหลังจากเกิดเหตุมากนัก ข้าวของในปอเนาะ เช่น ข้าวสารที่รับแจกจากการไปละหมาดศพ เสื้อผ้า ผ้าห่ม โดยเฉพาะหลังที่มีคนตายและบาดเจ็บ ยังกระจัดกระจาย ปรากฏร่องรอยกระสุนจำนวนมาก และรอยระเบิดของกระสุนเอ็ม 79

 

เช่นเดียวกับที่ต้นละมุดใหญ่ต้นหนึ่งที่อยู่กลางบริเวณสถาบันปอเนาะ กับที่บาลาย หรือสถานที่ละหมาด ก็ยังปรากฏร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากกระสุน เอ็ม 79 ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป้าหมาของคนร้ายน่าจะอยู่ที่บ้านบาบอ หรือไม่ก็หอพักนักเรียนหญิง เพราะถ้าดูจากจุดที่คนร้ายซุ่มยิง จะมีวิถีกระสุนที่ตรงกันพอดี แต่ไปติดต้นไม้กับบาลายเสียก่อน

 

สภาพปอเนาะยังอยู่เช่นเดิม แต่บางหลังมีบันไดหักบ้าง บาบอบอกว่า เพราะคนที่มาร่วมงานต่างก็ต้องการขึ้นไปดูสภาพที่เกิดเหตุให้ใกล้ชิดที่สุด จึงแห่กันขึ้นไปดูจนบันไดหัก ทั้งนี้ในวันงานได้มีการจำลองเหตุการณ์และจัดทำแผนผังจุดเกิดเหตุทั้งหมดเพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รับทราบด้วย

 

ส่วนบริเวณหน้าบาลายด้านตะวันตก ยังมีก้อนอิฐหลายร้อยก้อนวางกองอยู่ เพื่อให้ผู้มิจิตศรัทธาซื้อเพื่อบริจาคไปสร้างกำแพง

 

ส่วนที่กำแพงกูโบร์ หรือสุสานชาวมุสลิมที่อยู่ในบริเวณสถาบันปอเนาะ มีป้ายระบุว่าเป็นที่ฝังศพ "ชาฮีด ซาการียา ซำซุดดีน" ซึ่งบาบอบอกว่า ซาฮีดมีหลายประเภท คนที่ถูกยิงตาย หรือจมน้ำตาย หรือแม้แต่ผู้หญิงที่คลอดลูกตาย ก็เรียกชาฮีดเหมือนกัน ซึ่งต้องทำพิธีศพเหมือนกับคนมุสลิมทั่วไป คือต้องมีการอาบน้ำศพ ห่อศพ และละหมาดศพ แต่สุดยอดของชาฮีด คือคนที่ตายในการรบเพื่อปกป้องศาสนาของอัลเลาะห์ ซึ่งชาฮีดตรงนี้ก็ทำเหมือนกับคนทั่วไป

 

ขณะที่ชาวบ้านที่ร่วมพูดคุยด้วยคนหนึ่งพูดเสริมขึ้นว่า คนที่มาศึกษาหาความรู้ทางศาสนาอิสลามก็เป็นคนที่ต่อสู้ในทางศาสนาเช่นกัน

 

ก่อนจากกัน บาบอเลาะทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ ยากยิ่งกว่าจะแก้ไขปัญหาได้แล้ว แม้แต่จุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลามสูงสุดในประเทศไทยก็ยังช่วยแก้ปัญหาไม่ได้

 

บาบอเลาะบอกว่า ยิ่งเหตุการณ์ร้ายเกิดกับสถาบันปอเนาะ ซึ่งเป็นสถานที่ทางศาสนา หรือแม้เกิดขึ้นกับวัดของชาวไทยพุทธ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ถามว่าใครเป็นคนทำ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าใครเป็นคนทำ ไม่อย่างนั้นก็อย่าหวังว่าจะแก้ปัญหาได้

 

ความเคลือบแคลงสงสัยและหวาดระแวงยังไม่จางหายไป ทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ คงต้องพูดอย่างเดียวกับบาบอเลาะ คือต้องเร่งทำความจริงให้ปรากฏนั่นเอง





[1] พ.ต.ท.สมชัย ยอดแก้ว รองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย กล่าวว่า "หมวกทหารที่พบในสวนยางพารานั้น ทางกองกำลังสันติสุข แจ้งมาก่อนชาวบ้านพบหมวกอีกว่า เขาทำตกจากเฮลิคอปเตอร์ และได้ขอให้ตำรวจตระเวนชายแดนที่ตั้งฐานอยู่ในพื้นที่ช่วยหาแล้ว แต่หาไม่พบ พอชาวบ้านพบก็เลยเอาไปคืนให้เขา ไม่ได้เชื่อมโยงกับคดียิงนักเรียนปอเนาะควนหรันจึงไม่ได้เอามาเป็นหลักฐานในคดี ส่วนคดียิงเด็กปอเนาะนั้น ขณะนี้ก็กำลังสืบสวนอยู่ ส่วนปลอกกระสุนที่พบในที่เกิดเหตุทางกองพิสูจน์หลักฐานก็ยังตรวจสอบอยู่เช่นกัน ยังไม่ได้รายงานความคืบหน้ามาให้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท