Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 3 พ.ค. 50 นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอดีตผู้พิพากษา กล่าวถึงกรณีที่ศาลออกมาแสดงจุดยืนว่าจะไม่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญร่างแรกได้ให้อำนาจไว้ว่า ถือเป็นวิสัยของศาลที่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีส่วนร่วมกับการเมือง ซึ่งเขาเห็นว่าศาลคงจะรำคาญ เช่นกรณีกระบวนการสรรหา ส.ว.หรือคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ นักการเมืองก็อาจจะมีการวิ่งเต้นเข้ามาวุ่นวายทำให้ศาลรำคาญ ศาลจึงแสดงความคิดเห็นว่าไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องดังกล่าว หรือในกรณีการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่ให้ศาลเข้าไปร่วม อาจเกรงว่าการแสดงความคิดเห็นอาจจะส่งผลกระทบต่อการวินิจฉัยต่อไป


 


อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นต่างๆ และกลับไปพิจารณาอีกครั้ง เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยนได้อีก อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเกิดจากความคาดหวังของประชาชนที่อยากให้ศาลเข้ามาในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับความสิ้นหวังในสถาบันทางการเมือง ดังนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ จึงร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี ข้อเสีย สิ่งใดมีมากกกว่ากัน นายวิชา กล่าวว่า ในกระบวนการสรรหาที่ให้ศาลเข้ามาร่วมด้วย อาจเป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกระบวนการต่างๆ อาจจะไม่เกิดขึ้นบ่อย ทั้งนี้ การชั่งน้ำหนักเราต้องดูว่า กรณีวิกฤตที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ศาลเข้ามาแก้ไขปัญหาเมื่อครั้งที่ประเทศชาติเกิดวิกฤต ดังนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ออกแบบ แทนที่จะให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องเหนื่อยยากพระวรกาย พวกเราจึงต้องนำมาแก้ไขกันเอง อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าวิกฤติไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และจะวิกฤติหรือไม่นั้นต้องรับฟังความเห็นจากองค์กรต่างๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าศาลเห็นวิกฤติแต่เสียงส่วนใหญ่ไม่ค่อยวิกฤติ ก็ต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่และมาดูว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร


 


"การแสดงความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้ที่มีความรู้ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเคยตรัสกับคณะผู้พิพากษาว่า ท่านไม่ใช่มีหน้าที่บนบัลลังก์เท่านั้น นอกบัลลังก์ท่านในฐานะที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ในด้านกฎหมายเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ให้ข้อแนะนำให้คำปรึกษาได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ให้คำแนะนำไว้อย่างนี้" นายวิชา กล่าว


ส่วนจะมีการหารือกับคณะผู้พิพากษาถึงกรณีดังกล่าวหรือไม่นั้น นายวิชา กล่าวว่า ขณะที่มีการยกร่างก็มีตัวแทนของศาลเข้ามานั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อยู่แล้ว ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ปรึกษาหารือกันตลอดเวลา และตนจะไปพูดคุยกับสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการในสัปดาห์หน้า ซึ่งคงจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทั้งนี้ เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของตุลาการเป็นสิ่งดี ยิ่งแสดง
ความคิดเห็นมากเท่าไร ก็ต้องรับฟังในเหตุผลและนำมาปรับแก้ กรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้ถือความเห็นของตนเองเป็นหลัก


 


เมื่อถามว่า ที่ศาลออกมาปฎิเสธเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อาจมาจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า คงไม่ใช่ เนื่องจากลักษณะของศาลเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว ศาลปกติใกล้จะเป็นพระอรหันต์ คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวเลย สิ่งนี้เป็นมาตั้งแต่บรรพ
ตุลาการแล้ว เหมือนกับเขาที่ออกมาอยู่ในสังคมภายนอกได้ ก็ตอนตนมาอยู่ในคณะทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)


 


"ตอนที่อยู่ศาลก็คงเห็นแล้วว่าเอาสื่อมาจ้องอย่างนี้ ก็ไม่ใช่วิสัยทางศาลคือ ศาลจะระมัดระวังตัวเป็นความเข้าใจ และเป็นลักษณะเฉพาะของศาลอยู่แล้ว แต่ในสิบปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประชาชนมีความต้องการที่จะให้ศาลเข้ามาแก้ไขปัญหา องค์กรอื่นสิ้นหวังก็ต้องเข้ามาหาศาลเป็นเรื่องธรรมดา" นายวิชา กล่าว



ผู้สื่อข่าวถามว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าถึงเวลาหรือยังที่ศาลจะลงมาคลุกคลีกับสังคมมากว่าที่จะอยู่บนบัลลังก์ นายวิชา กล่าวว่า ช่วงที่เราจะส่งผ่านยุคสมัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปต้องคิดถึงใจของศาลด้วย อยู่ดีๆ จะผลักให้ศาลออกมาทำหน้าที่ดังกล่าวเลยไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่กรรมาธิการยกร่างฯ ให้ศาลแสดงจุดยืนใน
สิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องการร้องทุกข์ไปที่ศาลได้ สิ่งนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับศาลเลยทีเดียว


 


ส่วนที่ศาลออกมาปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.ร. หรือไม่นั้น นายวิชากล่าวว่า ไม่น่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะทั้งสองฝ่ายก็เข้าใจกันดีอยู่แล้ว การที่แสดงความเห็นเช่นนั้นก็นำเสนอได้อย่างอิสระ และการที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ให้อำนาจแก่ศาลในทางการเมืองนั้น เป็นความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการฯ เอง ไม่ใช่เพราะศาลเป็นคนสั่ง อย่างไรก็ตาม เขาพร้อมที่จะชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง หากมีโอกาส ทั้งนี้ทางศาลก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย หากประชาชนเรียกร้องให้เข้ามาช่วยบ้านเมือง ศาลเองก็ต้องเข้ามาทำ
 


นายวิชา กล่าวถึงกรณีที่มีนักการเมืองบางคนเสนอให้ ส.ส.ร. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการลงประชามติ เพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนจะไม่ยอมรับอย่างแน่นอนว่า อย่าไปคาดเดาล่วงหน้า หรือไปวางแนวอะไรไว้ในใจว่าประชาชนจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะในเมื่อได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ และประชาชนต่างก็ได้รับรู้แล้ว ก็ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ส่วนตัวไม่ได้วิตกว่า ประชาชนจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็นการทดสอบครั้งแรก


 


"การที่ประชาชนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ควรปล่อยให้ประชาชน เป็นคนตัวสินอย่าไปคาดเดาล่วงหน้า ซึ่งผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนควรรับไปก่อน แล้วค่อยปรับแก้กันภายหลัง เพราะหากยึดแนวทางตามนี้รัฐธรรมนูญก็จะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง" นายวิชากล่าว



นายวิชากล่าวต่อว่า ส่วนที่หลายฝ่ายพยายามให้ยุติการทำประชามติ เพราะเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณนั้น ตนเห็นว่า "ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก จะแกง ก็ต้องแกงให้ถึงรสถึงรสชาติ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net