เสรีภาพสื่อไทย ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก


วันที่ 3 พ.ค. นายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แถลงว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการที่จะเสนอยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และได้มอบหมายให้นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาประสานงานกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อดำเนินการในรายละเอียดและต่อมาได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งแต่งตั้งให้ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน 4 คน เข้าร่วมด้วย พบว่าการพิจารณาและความเห็นของกรรมการส่วนใหญ่ต่อการยกร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้หารือในเบื้องต้นกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ทำหนังสือแจ้งการลาออกจากการเป็นกรรมการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา

 

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะทำงานร่วมของผู้แทนองค์กรวิชาชีพ 6 องค์กรได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยในวันที่ 3 พ.ค. ได้ประชุมร่วมกันและมีมติให้ออกแถลงการณ์เพื่อว่าการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ไม่ได้เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วย นอกจากนี้ ยังยืนยันให้มีการยกเลิกกฎหมายการพิมพ์ทั้งฉบับ และไม่ให้นำเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มาใช้เป็นแบบหรือร่างของพระราชบัญญัติฉบับใหม่

 

"หลักการและเหตุผลรวมทั้งบทมาตราที่สำคัญในร่างพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มีเนื้อหาที่ขัดกับมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาตรา 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 รับรองไว้ นอกจากนี้ ผู้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นส่วนใหญ่ มีความเห็นแตกต่างกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่มักมีการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นหน้าที่หลักของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงเห็นว่าการใช้มาตรการที่มีลักษณะควบคุมประกอบกับการจดแจ้งการพิมพ์ย่อมขัดกันอย่างชัดเจน" นายสุวัฒน์กล่าว

 

ด้านนายมานิจ สุขสมจิตร ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะผู้แทนองค์กรสื่อในคณะกรรมการดังกล่าว กล่าวว่า เสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นเรื่องเดียวกับเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น การยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการพิสูจน์ว่ารัฐบาลนี้ มีความจริงใจต่อการให้สิทธิเสรีภาพแก่สื่อและประชาชนหรือไม่ และการที่ประเทศไทยยังมี พรบ.การพิมพ์อยู่ก็มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ในด้านการให้เสรีภาพสื่อของประเทศไทยตกต่ำไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศเอธิโอเปีย คิวบา และกาน่า ฯลฯ  

 

วันเดียวกัน เนื่องในโอกาสฉลองการที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 3 พ.ค.ของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนของทุกประเทศได้ร่วมรำลึกถึงความสำคัญของการที่สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพที่ย่อมหมายถึงการที่ประชาชนจะมีเสรีภาพด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่วงประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงขอร่วมรำลึกถึงความสำคัญของเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมทั้งขอเรียกร้องมายังรัฐบาลไทยและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม หรือ จำกัด สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนดังนี้   

 

1. แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 จะมีบทบัญญัติรองรับเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนไว้ในมาตรา 3 ที่ระบุไว้อย่างคลุมเครือและยากจะตีความให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนได้อย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องง่ายที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะนำเอากฎหมายที่มีเนื้อหาในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนมาใช้เพื่อข่มขู่หรือปิดกั้น การนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นอย่างเสรีของสื่อมวลชนทั้งหลาย โดยหลายครั้งนำไปสู่การปิดกั้นหรือเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลโดยเฉพาะสื่อวิทยุและโทรทัศน์

 

2. จากการที่รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องพยายามให้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นแก่สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ค่อนข้างมาก กลับปรากฎร่องรอยของความพยายามในการปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออินเอทร์เน็ต ที่ถือเป็นสื่อใหม่ที่ตามข้อเท็จจริงแล้วแทบจะไม่สามารถปิดกั้นได้เลย และนับวันจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคข่าวสารของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 3. ด้วยเหตุนี้ จึงถือโอกาสเรียกร้องไปยังเพื่อร่วมวิชาชีพที่ทำงานอยู่ในสื่อกระแสหลักให้ยอมรับการเกิดและดำรงอยู่ของสื่อใหม่ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเข้ามาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสื่อสารทางเดียวไปสู่การสื่อสาร 2 ทาง หรือ หลายทาง ที่ต่างก็ต้องการเสรีภาพในการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องตกอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบและความมั่นคงของประเทศ

 

4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลายดังมีรายชื่อข้างต้น จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมสื่อมวลชนยุคใหม่ และพยายามมองความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีนี้ ในด้านดี เช่น ในฐานะเป็นเวทีเสรีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเสรี ดังนั้น การดำเนินการปิดกั้นเสรีภาพในโลกดิจิตอลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

 

5. นอกจากปัญหาเสรีภาพของสื่อใหม่แล้ว ประเด็นปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเดิม เช่น การดำรงอยู่ของพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 และความล่าช้าในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ก็ถือว่า เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชนเช่นกัน

 

นอกจากนี้ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ยังได้มา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยุคดิจิตอล" เนื่องในวันฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ที่จัดขึ้น ณ ห้องอิสรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวฯ ตอนหนึ่งว่า ดีใจที่เกิดในประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพและสื่อมวลชนเองก็มีสิทธิเสรีภาพ แต่ก็เป็นเรื่องแปลกพอสมควรที่ชาวต่างชาติมองเสรีภาพในประเทศไทยขณะนี้ว่ามีจำกัด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะรัฐบาลมาจากการปฏิวัติก็ได้

 

รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า ความจริงตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกระทรวงไอซีทีไม่มีหน้าที่ดูแลเว็บไซต์ไม่เหมาะสม เช่น เว็บไซต์ลามก เว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเว็บไซต์แสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่จำเป็นต้องทำ เพราะไม่มีหน่วยงานใดดูแลโดยตรง ที่ผ่านมาก็ลำบากใจและระมัดระวังเสมอ เพราะไม่ต้องการปิดกั้นเว็บไซต์และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แม้ขณะนี้ จะมีประกาศ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ฉบับที่ 5 ให้อำนาจกระทรวงไอซีทีและเจ้าหน้าที่ไว้พอสมควร แต่ก็ไม่ต้องการทำ

 

นายสิทธิชัย กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่ง รมว.ไอซีทีมาจนถึงปัจจุบันได้มีคำสั่งให้ปิดหรือบล็อก เว็บไซต์ประมาณ 16 เว็บไซต์ โดยเกือบทุกเว็บไซต์มีปัญหามากๆ และสังคมเรียกร้องให้ปิดอยู่แล้ว ส่วนสถิติของรัฐบาลชุดที่แล้วที่มาจากการเลือกตั้งมีทั้งหมด 9,000 เว็บไซต์ ซึ่งน่าแปลกใจมาก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเว็บไซต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่การดำเนินงานอยู่ในขั้นที่ดี เช่น เว็บไซต์พันทิปและประชาไทที่เกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง คิดว่าถ้าเอาเว็บมาสเตอร์มาดูแลเพิ่มเติกอีกเล็กน้อย และปรับสิ่งที่ประชาชนไม่ใช่สิ่งที่กระทรวงไอซีทียอมรับไม่ได้หรือไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เช่น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการด่าทอรัฐบาล คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวและลามกอนาจารก็คงไม่มีใครไปว่าอะไร

 

รมว.ไอซีที กล่าวด้วยว่า เพื่อต้องการทำเป็นตัวอย่างและดีกว่ากระทรวงไอซีทีไม่ทำอะไรเลยในสถานการณ์ที่มีเว็บไซต์โจม ตีรัฐบาลและ คมช. เยอะมาก โดยเฉพาะมาจากทางอำนาจเก่า ดังนั้น เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้ให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม  จำกัด (มหาชน) หรือ กสท จัดทำเว็บไซต์ชื่อ สภาซุบซิบดอทคอม หรือ www.sapazupzip.com ขึ้นมา โดยตอนนี้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว และจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 7 พ.ค. 2550 เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น การเมืองและรัฐบาล แต่จะไม่มีพิธิเปิดอย่างเป็นทางการเพราะไม่ต้องการให้เป็นเว็บไซต์เชียร์รัฐบาล

 

"เว็บไซต์นี้ จะเปิดให้ทุกคนแสดงความคิดได้ เราจะมีการสกรีนแน่นอน เพราะว่า ถ้าเป็นเว็บที่กระทรวงเปิดแล้วเกิดมีข้อความไม่เหมาะสมตายแน่ แต่การสกรีนจะเป็นแบบมินิมัม เอาเฉพาะเรื่องที่จะไม่เลือกปฏิบัติ เพราะสิ่งที่ต้องการให้คนอื่นทำก็ต้องทำเอง เช่น เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การหมิ่นองคมนตรีในเรื่องส่วนตัว แต่การวิจารณ์องคมนตรีเรื่องการทำงานไม่ได้ปิดกั้นแค่นั้นเอง และเรื่องลามกอนาจารที่เป็นสิ่งสังคมต้องการให้ปิดอยู่แล้ว ซึ่งต้องคอยดู" นายสิทธิชัย กล่าว

 

ด้านนายปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า เท่าที่สัมผัสได้พบว่ารัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ตั้งอยู่บนความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในเว็บไซต์ในสื่อดิจิตอล คิดว่าการสร้างความคิดเห็นของประชาชนคงไปกระทบอะไรบางอย่างของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ถามว่ารัฐบาลที่แล้วมีการบล็อกเว็บไซต์เหมือนอย่างรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลชุดที่แล้วก็ได้มีการวางกลไกและมีการจัดตั้งหน่วยงาน พร้อมตั้งสารวัตรอินเตอร์เน็ตขึ้นมาตรวจสอบและพร้อมที่จะโทรไปข่มขู่กดดันเจ้าของเว็บไซต์เพื่อให้กลัว นอกจากนี้เชื่อว่ารัฐบาลชุดที่แล้วต้องมีการบล็อกเว็บไซต์ตามใบสั่งแน่นอน  เพราะเคยเข้าไปร้องเรียนกับสารวัตรเว็บไซต์ในเว็บที่เชื่อว่าผิดกฎหมายแน่นอน แต่กับนิ่งเฉยและไม่ทำอะไร ขณะที่บางเว็บไซต์ไม่มีอะไรน่าบล็อกแต่กลับถูกบล็อกอย่างง่ายๆ

 

นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยยังกล่าวถึงกรณีรัฐบาลสั่งบล็อกเว็บไซด์ YOUTUBE.Com ของบริษัทเอกชนอเมริกา โดยได้ยกบทเรียนกรณี ที่ผู้นำตุรกีก็เคยถูกโจมตีทางเว็บไซต์ดังกล่าว แต่ปรากฏว่าในกฎหมายของประเทศตุรกีได้เขียนไว้ว่าห้ามละเมิดผู้นำเหมือนกับกฎหมายไทยที่เขียนไว้ว่าเราห้ามหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางรัฐบาลตุรกีเลยใช้คำสั่งศาลสั่งให้มีการแบนเว็บ YOUTUBE.Com จนทำให้ YOUTUBE.Com ต้องลบคลิปดังกล่าวทิ้งภายใน 3 วัน หากประเทศไทยจะนำไปประยุกต์ใช้บ้างก็ได้

 

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยเสนอให้รัฐบาลใช้คำสั่งศาล กรณีเว็บไซต์เผย YOUTUBE.Com แพร่คลิปที่หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น

 

"ขอเสนอให้รัฐบาลไทยขอคำสั่งศาลแทนการใช้อำนาจรัฐบาลไปสั่งบล็อก  เพราะหากมีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งถือว่าผิดกฎหมายก็สามารถขอคำสั่งศาลมาดำเนินการได้ทันที บริษัทเหล่านี้เขาไม่ชอบให้รัฐบาลใช้อำนาจสั่งการแต่หากเป็นคำสั่งเขาก็จะยอมรับ ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอยู่ที่เราไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกับคนที่ทำผิดนอกประเทศได้ ดังนั้นเราควรศึกษากฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนว่าเมื่อความผิดเกิดขึ้นแน่ชัดแล้วเราสามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินการในประเทศไทยได้หรือไม่"

 

ที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยกล่าวอีกว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมี.ค.-เม.ย.50 ที่มีการปิดเว็บไซต์ 3 เว็บ จนทำให้ประเทศไทยถูกจัดลดอันดับในเรื่องการให้อิสรเสรีภาพกับสื่อมวลชน การปิดเว็บไซต์ดังกล่าวก็อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่ามาตรการที่รัฐควรดำเนินการในเรื่องนี้คือส่งเสริมให้มีการดูแลกันเองมากว่าจะให้กฎหมายเข้ามา นอกจากนี้รัฐควรเอากฎกติการะเบียบที่พวกเขาตั้งขึ้นมาเองมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ส่วนขอบเขตในการบล๊อกเว็บไซต์นั้นควรที่จะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนว่ามีเหตุผลหรือความผิดอะไรที่นำไปสู่การบล็อกเว็บไซต์

 

ด้านนายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันธ์ทิพดอทคอม กล่าวว่า ที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นมือ 1 ในการเซ็นเซอร์ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเว็บไซต์นั้น ทุกคนทำได้ แต่ต้องแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่ทำอะไรแบบนิรนาม แล้วใช้ถ้อยคำที่เสียหายไม่ได้ จะกลายเป็นว่าเรากำลังหลงไปสู่ด้านมืดแทนที่จะทำให้เสรีภาพงอกงามกลับทำให้ตกต่ำลงไป  เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตอาจจะแตกต่างจากเสรีภาพของสื่อมวลชน เพราะเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตเป็นเสรีภาพระดับรากหญ้าที่อาจจะมีการแสดงออกที่รุนแรงได้  ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนาการ หากเรามีกฎหมายที่บังคับใช้ก็จะทำให้ทุกอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเสรีภาพของประชาชนมีมานานแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่คนไทยไม่กล้าและกังวลที่จะแสดงออก  จึงทำให้สะท้อนปัญหาความคิดเห็นลงไปในสื่ออินเตอร์เน็ต ดังนั้นเราต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย

 

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันธ์ทิพดอทคอม กล่าวว่า  วันนี้สิ่งที่ประเทศต้องการคือการสร้างความสมานฉันท์ดังนั้นแทนที่รัฐบาลจะออกมาตอบโต้ด้วยการปิดเว็บไซต์คิดว่ายังมีวิธีอื่นอีกมากมายทีสามารถทำได้ เพราะอินเตอร์เน็ตถือว่าเป็นประชาคมอยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องช่วยกันคิดหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนที่เข้ามาแสดงความเห็นแม้ว่าจะอยู่คนละขั้วก็ต้องแสดงความคิดเห็นอย่างสมานฉันท์ด้วย

 






แถลงการณ์ร่วม

 

เรื่อง การลาออกจากคณะกรรมการร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์

 

 

            ตามที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๙ ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการที่จะเสนอยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ และได้มอบหมายให้นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาประสานงานกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อดำเนินการในรายละเอียดต่อไปนั้น

 

ต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๓๔/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งแต่งตั้งให้ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน ๔ คน เข้าร่วมด้วย โดยผู้แทนดังกล่าวได้เข้าร่วมการพิจารณากฎหมายดังกล่าว รวม ๘ ครั้ง พบว่าการพิจารณาและความเห็นของกรรมการส่วนใหญ่ ต่อการยกร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้หารือในเบื้องต้นกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ทำหนังสือแจ้งการ ลาออกจากการเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ต่อนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๖ เมษายนที่ผ่านมา

            ในการประชุมคณะทำงานร่วมของผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ๖ องค์กรได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยในวันนี้ (๓ พ.ค.) ได้ประชุมร่วมกันและมีมติให้ออกแถลงการณ์เพื่อความเข้าใจและประโยชน์ของประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนดังนี้

 

1. การพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยก่อนจะมีการแต่งตั้งผู้แทนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

 

2. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลาย ยังยืนยันให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ทั้งฉบับ และไม่ให้นำเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มาใช้เป็นแบบหรือร่างของพระราชบัญญัติฉบับใหม่

 

3.  หลักการและเหตุผลรวมทั้งบทมาตราที่สำคัญในร่างพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มีเนื้อหาที่ขัดกับมาตรา ๑๙ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาตรา ๓ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ รับรองไว้

 

4.   ผู้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นส่วนใหญ่ มีความเห็นแตกต่างกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่มักมีการตรวจสอบจริยธรรมและกฎหมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นหน้าที่หลักของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงเห็นว่าการใช้มาตรการที่มีลักษณะควบคุมประกอบกับการจดแจ้งการพิมพ์ย่อมขัดกันอย่างชัดเจน

 

5.  องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลาย  เห็นว่าร่างกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ที่ฝ่ายวิชาชีพได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาก่อนหน้านี้ มีเนื้อหาหลักการดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้วดำเนินการอยู่

 

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงขอยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาชนทั้งหลายว่า จะดำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และสนับสนุนการถอนตัวของผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกจากคณะกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ เพื่อยืนยันถึงหลักการความเป็นอิสระของวิชาชีพหนังสือพิมพ์

 

๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐ 

 

 

 

เรียบเรียงจาก :เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท