Skip to main content
sharethis


พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ แปลและเรียบเรียง


 



กษัตริย์คเยนทรา (ที่มา : AFP/Devendra M. Singh)


 


ประชาไท 8 พ.ค. 50 - กษัตริย์เนปาลผู้อื้อฉาว "คเยนทรา" (King Gyanendra) ผู้ต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนจากการที่อดีตกบฏลัทธิเหมาเรียกร้องให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์นั้น บัดนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า พระองค์เป็นหนี้ค้างชำระค่าไฟฟ้า สำหรับพระราชวัง 4 แห่งและบ้านตากอากาศ โดยพระองค์ไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้านับตั้งแต่ต้นปี 2548 ที่พระองค์ยึดอำนาจจากรัฐบาลและขึ้นสู่อำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์!


 


กษัตริย์ที่ค้างชำระค่าไฟ


 "เราได้ส่งใบแจ้งหนี้ไปยังสมาชิกของพระราชวงศ์แล้ว แต่ไม่มีใครรับผิดชอบ ทำให้พระองค์ (กษัตริย์คเยนทรา) ต้องจ่ายโดยลำพัง" หนังสือพิมพ์กาฐมาณฑุโพสต์อ้างจากคำพูดของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่ไม่เปิดเผยชื่อ


 


โดยกษัตริย์คเยนทราค้างชำระค่าไฟถึง 30.5 ล้านรูปี หรือ 462,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 14.7 ล้านบาท


 


เฉพาะค่าไฟฟ้าของพระราชวังนารายันหิติ (Narayanhiti Royal Palace) แห่งเดียว เป็นเงินค้างชำระถึง 24.3 ล้านรูปี ทั้งนี้พระราชวังดังกล่าวเป็นสถานที่ทรงงานของพระองค์ในเมืองหลวง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่รวมถึงที่ประทับของพระองค์นอกกรุงกาฐมาณฑุ


 


ถ้ารวมค่าไฟฟ้าของพระบรมวงศานุวงศ์ของกษัตริย์คเยนทราเข้าไปด้วยล่ะก็ น่าจะมีบิลค้างชำระค่าไฟตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ เป็นมูลค่ากว่า 33 ล้านรูปี เจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดิมกล่าวผ่านหนังสือพิมพ์กาฐมาณฑุโพสต์ ซึ่ง เงิน 33 ล้านรูปีนั้นเท่ากับ 500,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 16 ล้านบาทโดยประมาณ


 


กษัตริย์คเยนทราไม่ยอมชำระค่าไฟฟ้าตั้งแต่เขาทำรัฐประหารยึดพระราชอำนาจปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2548 ซึ่งพระองค์อ้างว่าต้องทำเช่นนี้เพื่อปราบกบฏนิยมลัทธิเหมา


 


พระองค์ถูกบังคับให้ลงจากพระราชอำนาจจากพันธมิตรพรรคการเมืองและกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์นิยมลัทธิเหมา ซึ่งบัดนี้ทั้งสองกลุ่มได้ทำสัญญาสงบศึกและจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันแล้ว


 


เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ผู้บริหารกิจการไฟฟ้าน่าจะตัดไฟกับพระราชวัง "ถ้าพิจารณาจากข้อมูลนี้"


 


นับตั้งแต่เขาลงจากพระราชอำนาจ กษัตริย์คเยนทราถูกลดทอนพระราชอำนาจลง รวมทั้งถูกเพิกถอนการเป็นประมุขของประเทศอันยากจนแห่งนี้ด้วย


 


ไม่เพียงเท่านั้น อนาคตของสถาบันกษัตริย์จะถูกตัดสินหลังจากมีการเลือกตั้งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งกำหนดเอาไว้ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ แต่คาดว่าจะถูกเลื่อนออกไป


 


โดยความเห็นทางการเมืองของแต่ละกลุ่มในเนปาลก็แตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มนิยมลัทธิเหมาต้องการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แต่นักการเมืองบางกลุ่มต้องการให้คงพระราชอำนาจของกษัตริย์ไว้แต่ในทางพิธีกรรม


 


 


อนาคตของกษัตริย์เนปาล และการต่อสู้ "ครั้งที่ 3" เพื่อ "สาธารณรัฐ" ของฝ่ายเหมาอิสต์


 



ประจันดา ปราศรัยเรียกร้องให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐเมื่อวันแรงงานสากลที่ผ่านมา (ที่มา : AFP/Devendra M Singh)


 



เด็กชาวเนปาลและฝูงชนหลายพันคน กำลังฟังปราศรัยของประธานพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ประจันดา (ที่มา : AFP/Devendra M Singh)


 

ล่าสุดเมื่อวันแรงงานสากล 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ชายผู้มีชื่อจัดตั้งว่าสหาย "ประจันดา" (Prachanda) หรือแปลเป็นไทยว่า "นายโหด" (the fierce one) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรืออดีตกบฏนิยมลัทธิเหมาที่ปัจจุบันได้เข้าร่วมกับรัฐบาลเฉพาะกาล ได้เรียกร้องให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ทันที หลังจากที่เขาเคยกล่าวเช่นนี้มาแล้วใน "วันประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีการสละอำนาจของกษัตริย์คเยนทรา


  


โดยการปราศรัยครั้งล่าสุด เขาขู่ว่าเขาจะทำให้ประเทศเกิดความโกลาหล ด้วยการขับเคลื่อนมวลชนประท้วงทั่วประเทศ จนกว่ารัฐสภาจะขับไล่กษัตริย์คเยนทราและประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐ


 


"เราจะจัดตั้งการเคลื่อนไหวรอบที่ 3 ทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคมนี้ ถ้ารัฐบาลเฉพาะกาลยังประวิงเวลาการประกาศให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ" สหายประจันดากล่าวกับฝูงชนในวันแรงงาน ในกรุงกาฐมาณฑุ


 


โดยกลุ่มนิยมเหมาอิสต์และรัฐบาลลงนามในสัญญาสันติภาพซึ่งทำให้ยุติสงครามกลางเมืองที่ยาวนานนับทศวรรษ ซึ่งสงครามกลางเมืองดังกล่าวกลุ่มเหมาอิสต์เรียกว่า "การเคลื่อนไหวครั้งแรก" หรือ "สงครามประชาชน"


 


"การเคลื่อนไหวครั้งที่สอง" หมายถึง การชุมนุมอย่างนองเลือดบนท้องถนน เพื่อบีบให้กษัตริย์คเยนทราสละพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการลงนามสันติภาพกับรัฐบาล


 


"เรากำลังเตรียมการประท้วงเพื่อกดดันให้บรรดาพรรคการเมืองและรัฐบาลรุดหน้าสู่การเป็น "สาธารณรัฐ" ประจันดากล่าว


 


"เอกภาพของพรรคการเมือง 8 พรรค (หมายถึง 7 พรรคการเมืองในรัฐสภา และกลุ่มเหมาอิสต์) ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พื้นฐานแห่งเอกภาพของ 8 พรรคการเมืองนี้ จะถึงจุดแตกหัก" นายประจันดากล่าว


 


"เพื่อวางรากฐานใหม่ให้กับ 8 พรรคการเมือง การประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐเป็นเพียงหนทางเดียวเท่านั้น" ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) กล่าวท่ามกลางเสียงสนับสนุนของฝูงชน


 


ประจันดากล่าวว่ากลุ่มนิยมเหมาอิสต์พร้อมแล้วที่จะรณรงค์สาธารณะ โดยวางแผนที่จะชุมนุมในเดือนนี้ ซึ่งคาดว่ากลุ่มเหมาอิสต์จะเริ่มต้นการ "ระดมมวลชน" ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้


 


อย่างไรก็ตาม นายราม จันทรา พูเดล (Ram Chandra Poudel) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพื่อสันติภาพและการฟื้นฟูของเนปาล เชื่อว่าการเรียกร้องของผู้นำฝ่ายนิยมเหมาอิสต์เป็นเพียงแท็กติกกดดัน


 


"การประกาศเช่นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ 'วาระ' ของฝ่ายนิยมเหมาอิสต์ที่ต้องการให้การสถาปนาระบอบสาธารณรัฐบรรลุผล" นายพูเดล ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคองเกรสเนปาล (the Nepali Congress) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเนปาลกล่าว


 


"ผมคิดว่าเราคงจะมีการร่างข้อตกลงทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค ซึ่งรวมกลุ่มนิยมเหมาอิสต์ด้วย ให้สำเร็จ แต่การจะบรรลุเป้าหมายของเรา คือการจัดการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นไปได้ยาก หากพรรคการเมืองหมดสิ้นซึ่งความอดทนอดกลั้น" นายพูเดล กล่าว


 


ทั้งนี้ อนาคตของสถาบันกษัตริย์เนปาลนั้นคาดหมายกันว่า จะถูกตัดสินในการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญของเนปาลที่มีกำหนดการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนนี้ แต่กรรมการการเลือกตั้งของเนปาลกล่าวล่าสุดนี้ว่า กำหนดเวลาดังกล่าวกระชั้นชิดเกินไปและจำเป็นต้องมีเวลามากกว่านี้สำหรับเตรียมการเลือกตั้ง


 


แปลและเรียบเรียงจาก


Nepal king biggest electricity defaulter: report, AFP, Sat May 5, 6:00 AM ET


http://news.yahoo.com/s/afp/20070505/wl_sthasia_afp/nepalpoliticsking_070505100033


 


Nepal Maoists threaten mass protests for republic, by Deepesh Shrestha, AFP, Tue May 1, 11:05 AM ET

http://news.yahoo.com/s/afp/20070501/wl_afp/nepalpolitics_070501150557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net