Skip to main content
sharethis



(ที่มาของภาพ: Fatih Saribas/REUTERS)


 


 


(ที่มาของภาพ: Fatih Saribas/REUTERS)


 


 


(ที่มาของภาพ: Osman Orsal/REUTERS)


 


 


(ที่มาของภาพ: Murad Sezer/AP)


 

อิซเมียร์, ตุรกี - ผู้คนกว่าล้านคนเดินขบวนไปตามท้องถนนในเมืองใหญ่อันดับสามของตุรกี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นับเป็นการเดินขบวนใหญ่ครั้งที่สี่ในรอบปี เพื่อต่อต้านรัฐบาลนิยมอิสลาม ก่อนการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้


 


โดยผู้จัดการชุมนุมโจมตีรัฐบาลว่า กำลังพยายามที่จะกัดเซาะแนวทางการแยกศาสนาออกจากรัฐ ด้วยการทำให้กลายเป็นประเทศเคร่งศาสนาอิสลาม และผู้ชุมนุมคาดหวังว่าการประท้วงจะทำให้เกิดการรวมพลังกันของฝ่ายต่อต้านแนวทางเคร่งศาสนา ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้


 


 


ทะเลสีแดงที่อิซเมียร์


 


ผู้ชุมนุมจากทุกสารทิศในตุรกีมารวมกันที่เมืองอิซเมียร์ โดยไม่เกรงเหตุระเบิดเมืองท่าอิซเมียร์ในวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 14 ราย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในตลาด


 


ถนนหนทาง อาคารต่างๆ รวมทั้งในค่ายทหาร ถูกปกคลุมด้วยทะเลสีแดงจากธงชาติตุรกีและภาพของมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk) ผู้สถาปนาตุรกีเข้าสู่รัฐสมัยใหม่


 


ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเมืองตะโกนคำขวัญระหว่างการชุมนุมที่เหมือนเทศกาลรื่นเริงว่า "ตุรกีแยกศาสนาออกจากการเมืองและจะเป็นเช่นนี้" และ "เราไม่เอาชารีอะห์ (ระบบกฎหมายอิสลาม)"


 


นายกรัฐมนตรีไทย์ยิป เออร์โดเกน (Tayyip Erdogan) จากพรรค AK ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ถูกกดดันให้ประกาศเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนกำหนดในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ เพื่อปลดชนวนความขัดแย้งของชาวตุรกีสายต่อต้านแนวทางเคร่งศาสนาที่ออกมาต่อต้านการที่ ส.ส.ในสภาเสนอชื่อนายอับดุลลาห์ กุล (Abdullah Gul) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้นิยมแนวทางรัฐอิสลามเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี


 


ชนชั้นนำฝ่ายสนับสนุนให้แยกศาสนาออกจากการเมืองที่ทรงพลัง อันได้แก่พรรคฝ่ายค้าน ผู้พิพากษาศาลสูงสุด และนายพลในกองทัพ ประสบความสำเร็จในการขัดขวางไม่ให้นายอับดุลลาห์ กุล ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยพวกเขากลัวว่านายอับดุลลาห์ กุล จะอาศัยการเป็นประธานาธิบดียับยั้งแนวทางแยกศาสนาอิสลามออกจากการเมืองของประเทศ การคัดค้านดังกล่าวทำให้เสียงสนับสนุนนายอับดุลลาห์ กุลในสภาไม่ถึง 2 ใน 3 ทำให้ไม่สามารถรับตำแหน่งประธานาธิบดีได้


 


ทั้งนี้ รัฐบาลตุรกีภายใต้การนำของพรรค AK ตุรกีบรรลุผลสำเร็จในการเริ่มต้นเจรจาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่ลดลง หลังจากก่อนหน้านี้ตุรกีถูกบริหารโดยรัฐบาลผสม และมีปัญหาขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการทุจริต


 


 


พลังเงียบ ของเสียงข้างมาก


 


"พรรค AK มีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้ง แต่พรรค AK จะต้องคิดคำนวณเสียงของผู้ชุมนุมและข้อเรียกร้องของพวกเขา พรรค AK จะมาหยิ่งจองหองกว่านี้ไม่ได้แล้ว" ดร.ฮาลุก เบิร์ก (Haluk Berk) ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอิซเมียร์กล่าว


 


"พลังเงียบซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ออกมาจนหมดแล้ว" เขากล่าว ขณะยืนอยู่ข้างลูกชายวัยหนุ่ม


 


พรรคฝ่ายค้านปีกซ้ายกลางอย่าง พรรคสาธารณะรัฐประชาชน (Republican People's Party - CHP) และพรรคที่มีขนาดเล็กกว่าคือ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Left Party - DSP) กำลังเจรจาเพื่อเป็นพันธมิตรร่วมกัน เพื่อที่จะสร้างพลังขึ้นมาถ่วงดุลต่อรองการเลือกตั้ง


 


เจ้าหน้าที่ตำรวจตุรกีรายงานว่ามีประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านคนออกมาเดินขบวนไปตามริมชายหาด จนริมชายหาดเต็มไปด้วยคลื่นฝูงชนสีแดง ในขณะที่ผู้จัดการชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปีกซ้าย คาดว่ามีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 2 ล้านคน โดยการประท้วงดังกล่าวซึ่งเต็มไปด้วยการตะโกนคำขวัญชาตินิยม สิ้นสุดลงในช่วงเย็น


 


นักวิเคราะห์ระบุว่า ความสำเร็จในการยับยั้งแผนการของพรรค AK ที่จะส่งนายอับดุลลาห์ กุล ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี สร้างความมั่นใจรอบใหม่ให้กับบรรดาพรรคฝ่ายค้าน แต่บรรดาพรรคฝ่ายค้านเองก็ต้องแข่งกับเวลาการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา และการมีนโยบายการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ


 


"คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่คิดว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะเป็นตัวแทนของพวกเขาได้ พวกเขาไม่รู้ว่าจะควรเลือกใครดี นี่คือความท้าทายสำหรับบรรดาฝ่ายค้าน" ศาสตราจารย์โดกู เออร์กิล (Dogu Ergil) จากมหาวิทยาลัยอังการากล่าว


 


โพลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าพรรคกลางขวาอย่าง AK จะชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถครองเสียงส่วนใหญ่ได้ และจะทำให้พรรค AK ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม


 


ฝ่ายคัดค้านแนวทางเคร่งศาสนากล่าวว่านายกรัฐมนตรีตุรกีล้มเหลวในการจัดการปัญหาสำหรับประชากรตุรกีกว่า 74 ล้านคน ที่จะทำอย่างไรที่จะทำให้ความกลัวของฝ่ายค้านแนวทางเคร่งศาสนาลดลง ในขณะเดียวกันก็ต้องหาที่ทางให้กับผู้สนับสนุนแนวทางเคร่งศาสนาที่ต้องการให้ประเทศใช้แนวทางของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดกว่านี้


 


ฝ่ายคัดค้านยังโจมตีพรรค AK ว่ากำลังบ่อนเซาะแนวทางแยกศาสนาออกจากการเมืองด้วยการยกเลิกการห้ามใช้ผ้าคลุมหน้าและส่งเสริมผู้สนับสนุนแนวทางศาสนาอิสลามผ่านระบบการบริหารประเทศ


 


"ในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันกลัวว่าวันหนึ่งฉันจะต้องใส่ผ้าคลุมหน้าและฉันขอประณามพรรค AK" เดนิช เออบูเล็น (Deniz Erbulen) วัย 26 ปีกล่าวขณะโบกธงชาติตุรกี


 


 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


One million Turks protest ahead of early elections, By Paul de Bendern (Additional reporting by Thomas Grove in Istanbul), Reuters, Sun May 13, 12:32 PM ET

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net