Skip to main content
sharethis

บทความชื่อเดิม : 15 ปี พฤษภาฯ : องค์กรประชาชนต้องเป็นอิสระจากการครอบงำและอุปถัมภ์ โดย "รัฐ" "ทุน" และ "ขุนนางเอ็นจีโอ"



สุรี มิ่งวรรณลักษณ์




 


ขบวนการประชาชนในเหตุการณ์เดือนพฤษภาปี 2535 มิใช่มีเพียงชนชั้นกลาง หรือ "ม็อบมือถือ" เท่านั้น หากแต่ชนชั้นล่างหลายกลุ่ม ได้เข้าร่วมการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ภายใต้รัฐบาลทหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)



ในช่วงกว่า 1 ปี ภายหลังจากการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ปัญหาของชนชั้นล่างทวีความรุนแรงขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ มีการใช้ความรุนแรง เช่น การออกกฎหมายควบคุมแรงงานรัฐวิสาหกิจ การหายตัวไปของผู้นำแรงงาน ใช้กำลังเข้าสลายการชุมชุมของชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากโครงการรัฐในหลายพื้นที่ เช่น โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.)


ชนชั้นล่าง นับตั้งแต่ชาวนาในภาคอีสาน ชาวชุมชุมชนแออัดคลองเตย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ได้ข้อสรุปเหมือนกันว่า ระบบการเมืองที่มาจากคณะทหาร ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาของคนยากคนจน


ในช่วงนั้น ปัญญาชนในนาม "เอ็นจีโอ" มีบทบาทสำคัญในการทำงานทางความคิดกับชาวบ้านเพื่อให้เกิดวาระในการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร โดยเชื่อมโยงให้เห็นว่า ประชาธิปไตย มีความสำคัญต่อชนชั้นล่าง


บทบาทของ "เอ็นจีโอ" ภายหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา มิได้มีการประเมินกันมากนัก ขณะที่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ มีการกล่าวถึงบทบาทของ "เอ็นจีโอ" ให้เห็นกันอยู่บ้าง


ยกตัวอย่างเช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ความเห็นว่า ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ "เอ็นจีโอ" มีบทบาทมากในการดึงประชาชนเข้ามาร่วมประท้วงรัฐบาล และเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ในระยะหลัง "เอ็นจีโอ" หมดพลังนั้นลงไป และ "เอ็นจีโอ" ก็มีฐานประชาชนแคบลง (เสวนา "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" 29 พฤศจิกายน 2546) เป็นไปได้ว่า รัฐบาลทักษิณ ใช้นโยบายประชานิยมดึงมวลชนของ "เอ็นจีโอ" ไปเป็นจำนวนมาก (สมชาย ปรีชาศิลปกุล )


ในงานเสวนาเดียวกัน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าวถึงเอ็นจีโอว่า


"บทเรียนในประวัติศาสตร์สอนเราว่า ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง เมื่อโอกาสมาถึงคราใด เรามักจะพลาดโอกาสตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ หรือถูกฉวยโอกาส ถูกปล้นชิงชัยชนะของประชาชนไปสู่ผลประโยชน์ของคนหยิบมือเดียวอยู่เสมอๆ การไม่สามารถเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างชัดเจน ก็เพราะเรามัวแต่ทำงานอย่างฉาบฉวย"


ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง "เอ็นจีโอ" กำลังปรับเปลี่ยนแนวทางของตนอย่างไร ในเงื่อนไขการเมืองใหม่ยุคหลังประชานิยมทักษิณ?


บทความนี้นำเสนอบางแง่มุมของ "เอ็นจีโอ" ซึ่งประมวลจากคำบอกเล่า และจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน


นิยามใหม่ "ขุนนางเอ็นจีโอ"
"เอ็นจีโอ" ในชนบทส่วนใหญ่ มีปรัชญาหรืออุดมการณ์วัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากสำนักวาติกัน และพวกนักมานุษยวิทยาสาย Anti-Marxist พวกเขามักกล่าวชื่นชมและ "สร้างภาพ" ชุมชนชาวนาถึงความรักใคร่ช่วยเหลือกัน มีน้ำใจอย่างไม่แปรเปลี่ยน ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่มีความแตกต่างทางชนชั้น


พวกเขาสรุปว่าปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนทั้งหมดของชาวนาเกิดมาจาก "ความไม่รู้จักพึ่งตนเอง" "ไม่รู้จักพอเพียง" "หลงลืมวัฒนธรรมดั้งเดิม" แต่พวกเขา "เอ็นจีโอ" ก็ประณามและชี้ว่ารัฐบาลทักษิณได้รับการเลือกตั้งเสียงข้างมากมาจาก "ความโง่เขลา"ของ ชาวนา/ชนบท


ส่วนวัฒนธรรมองค์กร มักจะใช้วัฒนธรรมอาวุโส ฝึกฝนหล่อหลอมผู้ปฏิบัติงานให้ "เชื่อตาม" รุ่นพี่มากกว่าให้ "คิดเป็น" "เอ็นจีโอ" มีโครงสร้างการทำงานเป็นลำดับชั้น ไม่ต่างจากระบบราชการ หรือพรรคการเมืองไทยเท่าใดนัก ภายใต้โครงสร้างการทำงานเป็นลำดับชั้น จึงมีชนชั้น "ขุนนางเอ็นจีโอ"


ด้านอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล และด้วยวิธีการอย่างไร "ขุนนางเอ็นจีโอ" จะสามารถจูบปากเสนอนโยบาย ข้อเสนอแนะ ตลอดทั้งขอเงินโครงการจากรัฐบาล ผ่านผู้นำจิตวิญญาณของพวกเขา เช่น นายแพทย์ ประเวศ วะสี


ในส่วนกลาง ก็จะประกอบด้วยผู้อาวุโสอีกหลายท่าน เช่น นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป, คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, สมสุข บุญบัญชา, อเนก นาคะบุตร ฯลฯ พวกเขายังมีแขนขาที่เป็น "ขุนนางรุ่นกลาง" ในระดับภาค ระดับจังหวัด และเครือข่ายของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.) อีกด้วย


"ขุนนางเอ็นจีโอ" มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลในบางสมัย และเอาใจ "รัฐมนตรี" เป็นพิเศษ ด้วยการของบประมาณพิเศษ ผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นต้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้สร้างผลงานมากนัก มักจะแจกจ่ายงบประมาณกันในหมู่ "แกนนำนักอภิปราย" ที่ห่างเหินฐานมวลชน แต่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของ "ขุนนางเอ็นจีโอ"


ในช่วงต้นของรัฐบาลทักษิณ "ขุนนางเอ็นจีโอ" เชื่อว่า "พี่อ้วน" ของพวกเขา หรือ ภูมิธรรม เวชชัย เป็นบุคคลที่พวกเขาพึ่งพาได้ เป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาประชาชน ต่อมาพวกเขาก็ฝันสลายกับพี่อ้วน พี่อ้วนไม่ฟังเสียงพวกเขาแล้ว หลายคนบอกว่า พี่อ้วนเปลี่ยนสีแปรธาตุ รับใช้นายทุนทักษิณไปเสียแล้ว


แต่ ณ ปัจจุบันนี้ "ขุนนางเอ็นจีโอทั้งรุ่นบิดาและรุ่นลูกศิษย์" เหล่านี้กลับคลานเข้าไปรับใช้เผด็จการ คมช. อย่างน่าละอายและสมเพชยิ่ง


ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง "ขุนนางเอ็นจีโอรุ่นกลาง-ในภูมิภาค" มักชื่นชมการชี้แนะจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ซึ่งปัจจุบันหลายคนเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการรัฐประหาร" พวกเขายอมรับการชี้แนะ เพราะคิดว่าเลือด "เอ็นจีโอ" มีสีเดียวกัน ซึ่งมีอาจารย์ของพวกเขาอย่าง สุริชัย หวันแก้ว มีรุ่นพี่อย่าง พิภพ ธงชัย และมีรุ่นน้องอย่าง สุริยะใส กตสิลา เป็นผู้นำ ครป.


เนื่องเพราะพวกเขาไม่ค่อยได้ใส่ใจค้นคว้าข้อมูลและความรู้ทางทฤษฎีที่รอบด้าน (ประกอบกับจิตใจที่คับแคบ) พวกเขาจึงมองว่า ครป. มีความช่ำชองทางการเมือง แถลงข่าวรายวันได้เป็นอย่างดี มีความรู้ สติปัญญา และมีความชำนาญทางการเมืองมากกว่าพวกเขาซึ่งอยู่ไกลปืนเที่ยง พวกเขาจึงพร้อมนำชาวบ้านขึ้นมาเป็นกองหนุน โดยมี ครป. เป็นธงนำ


ในช่วงที่ผ่านมา พวกเขาสนับสนุนการขึ้นสู่อำนาจทางลัดอย่างเต็มที่ มีการพยายามระดมเครือข่ายชาวบ้านและชาวนา ผู้ซึ่งบรรพบุรุษของคนเหล่านี้เคยถูกเกณฑ์แรงงานไพร่เป็นทาสในระบอบสังคมศักดินา มาเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ และร่วมเรียกร้องคืนพระราชอำนาจในมาตรา 7 (แต่ไม่ประสบความสำเร็จ-ชาวนาไม่มา)


ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาหาได้ชื่นชมเพียงความคิด "วัฒนธรรมชุมชน" (ซึ่งพวกเขามักกล่าวว่า เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เป็นรากฐานชีวิตของชาวบ้าน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น) หากแต่พวกเขา ชื่นชมความคิด "เผด็จการอำนาจนิยม" และ "กษัตริย์นิยม" ไปพร้อมกัน


ในอีกมุมหนึ่ง "ขุนนางเอ็นจีโอ" พร้อมที่จะเชียร์รัฐบาลสมัยหนึ่งๆ อย่างสุดจิตสุดใจในช่วงขาขึ้น และพร้อมที่จะทรยศ หักหลังตีจาก หรือเหยียบซ้ำในบางช่วงเวลาขาลง ความ "ลื่นไหล - เจ้าเล่ห์" นี้ จึงไม่ต่างจากขุนนางในวงการอื่นที่พวกเขารุมประณาม เช่น นักการเมือง ข้าราชการ สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ


ผลจากการขับไล่รัฐบาลทักษิณ พวกเขาบางคนได้เป็นรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นคณะทำงานชุดต่างๆให้เผด็จการ คมช. และกองทัพภาค ซึ่งเป็นผลประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง


จึงไม่ต่างกับการที่พวกเขาได้นิยามนักการเมืองว่า เป็นพวกเจ้าเล่ห์เพทุบาย หาประโยชน์ใส่ตัว ชอบมีตำแหน่ง เชื่อถือไม่ได้ พูดกลับไปกลับมา เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม ในสภาวะความเป็นจริง ในหมู่ "ขุนนางเอ็นจีโอ" ใช่ว่าจะเป็นเอกภาพนัก "ขุนนางเอ็นจีโอ" ในปีกของ ครป. ใกล้ชิดสังวาสกับ พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร, สนธิ ลิ้มทองกุล, และปีศาจคาบไปป์ - อดีต CIA อย่างประสงค์ สุ่นศิริ


แต่อีกปีกหนึ่ง เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปพอช.) เอนเอียงข้างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม


ณ ปัจจุบัน กลุ่มหลังนี้ จึงไม่ยอมรับการชี้แนะจาก ครป. ที่กดดันเรียกร้องให้ คมช. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี


ต่อเรื่องร่างรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น พวกเขาลังเลว่า ควรจะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตยนี้หรือไม่ บางส่วนเสนอว่า อย่าไปสนใจกับโครงสร้างอำนาจระดับบน เช่น อำนาจ ที่มาของ ส.ว. และ ส.ส. ปล่อยเป็นเรื่องของนักการเมือง ควรพิจารณารัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นปัญหาของแต่ละเครือข่ายก็พอ


บางส่วนเลอะเทอะเหลวไหลถึงกับเสนอทางออกวิกฤตการเมืองด้วย "ประชาธิปไตยแบบชุมชน" ที่ว่า "ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง"


อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2550 มีแนวโน้มจะเป็นฉบับอำมาตยธิปไตย ลดอำนาจนักการเมือง-พรรคการเมือง ทำให้เกิดรัฐบาลผสมอ่อนแอ เพิ่มอำนาจราชการ และนี่อาจเป็น "ช่องทางลัด" สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ "ขุนนางเอ็นจีโอ" ที่รังเกียจการเลือกตั้ง ชมชอบเผด็จการอำนาจนิยม และอ้างอิงสถาบันกษัตริย์ ในระบบการเมืองไทยในอนาคต


แต่สำหรับประชาชนชนชั้นผู้ยากจนระดับล่างแล้ว ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2550 พวกเขาบางส่วน (ที่มักได้รับการชี้แนะครอบงำอุปถัมภ์อุ้มชูจาก "ขุนนางเอ็นจีโอ") กลับได้รับผลกระทบจากนโยบายเซ็นสัญญาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น (ตามข้อเสนอของกระทรวงต่างประเทศ) ราวสองสัปดาห์ หลังจากที่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากปากกระบอกปืน )


ไม่นานมานี้ ครม. ได้รับหลักการ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับกรมป่าไม้ (ตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย ชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (ฉบับกระทรวงแรงงาน) ซึ่งล้วนเป็นกฎหมายของราชการรวมศูนย์อำนาจ และบิดเบือนข้อเสนอของภาคประชาชน


นับเป็นผลตอบแทนและบทเรียนที่เจ็บแสบแบบน้ำตาตกในเลยทีเดียว!


ภายใต้ที่สังคมไทยมีระบบราชการเป็นใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และโอกาสที่จะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปได้สูง เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนใหญ่เป็นราชการ มีขุนนางเอ็นจีโอเป็นเพียงไม้ประดับเพื่อให้สภาดูดี


แน่นอนว่าพวกข้าราชการย่อมมีวิธีคิดแบบราชการและเอื้ออำนาจให้ราชการ และเงื่อนไขที่จะเคลื่อนไหวให้มีการต่อรองอย่างมีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ เปิดเผย โปร่งใส ย่อมต่างจากการขับเคลื่อนในยุครัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่ว่าสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย บรรหาร ศิลปอาชา ชวลิต ยงใจยุทธ และทักษิณ ชินวัตร อย่างแน่นอนในเมื่อระบบราชการไม่เคยมาจากเสียงของประชาชนแม้เพียงน้อยนิด ซ้ำยังกลับดูหมิ่นเหยียดหยามว่า ประชาชนโง่เขลาสิ้นดี


ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เช่นกัน เมื่อพิเคราะห์ในหลายมาตรา ก็ชี้ให้เห็นว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตย ได้เข้าควบคุมอำนาจ กำกับปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้อย่างแท้จริงด้วย โดยการบิดเบือนสร้างช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ อาทิ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อ มาตราที่ 47 ที่มีองค์กรของรัฐกลไกในการจัดสรรคลื่นความถี่ มิใช่องค์ภาคประชาชนมีส่วนร่วมแต่อย่างใด และมีบทเฉพาะกาลมาตราที่ 295 ที่ได้เปิดช่องอนุญาตให้นายทุนสื่อเข้าสัมปทานได้อย่างไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเวลาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม  


สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ "มาตรา 186 ว่าด้วย การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลคือ หนึ่ง) บทบาทของรัฐสภาจะยังคงถูกจำกัดอย่างมาก สอง) หนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอาจถูกตีความให้ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเช่นเดิม สาม ) ประชาชนจะมีโอกาสได้เห็นรายละเอียดของความตกลงก็ต่อเมื่อมีการแสดงเจตนาผูกพันไปแล้วเท่านั้น ซึ่งปัญหาทั้งสามข้อนี้จะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่โปร่งใสและความขัดแย้งทางสังคมอยู่เช่นเดิม อันตรงข้ามกลับหลักการว่า "สัญญาระหว่างประเทศ ต้องเห็นก่อนเซ็น รัฐสภาพิจารณา ประชามีส่วนร่วม" (อ่าน "ข้อเสนอของกลุ่ม FTA Watch" ) และมีอีกหลายมาตราที่ชี้ให้เห็นว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยได้ชอนไชถึงรากหญ้าแล้ว


ท้ายสุด ในวาระครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวละครทางการเมืองไทย มิได้มีเพียงระบบราชการ พรรคการเมือง (ทุน) เท่านั้น "ขุนนางเอ็นจีโอ" ก็เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจถึงธาตุแท้เนื้อในด้วย


และที่สำคัญเจตนารมณ์ของวีรชนเดือนพฤษภา เป็นเจตนารมณ์ที่สร้างสรรค์ประชาธิปไตย โค่นล้มเผด็จการ ดังนั้น อนาคต ทิศทางและการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรประชาชนจึงต้องถอยออกมาและเป็นอิสระจากการ "ครอบงำ - อุปถัมภ์" จาก "รัฐ", "ทุน" และ "ขุนนางเอ็นจีโอ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net