Skip to main content
sharethis

นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในฐานะอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้พิพากษาชั้นต้น 1,400 คนออกมาเคลื่อนไหวล่ารายชื่อคัดค้านการเปลี่ยนสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ว่า เป็นเรื่องที่เขาจะต้องตกลงกันเองซึ่งกรรมาธิการยกร่างจะรับฟังตามที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเสนอ ส่วนผู้พิพากษาศาลชั้นตนจะยื่นผ่านสมาชิก ส.ส.ร. เพื่อแปรญัตติก็สามารถกระทำได้ ซึ่งมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) บางคนได้ขอแปรญัตติในเรื่องนี้แล้ว


ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนี้จะทำให้เกิดความแตกแยกในองค์กรหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ผู้พิพากษามีความเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว แม้แต่ความเห็นที่ศาลท่านสรุปมาก็ยังมีผู้พิพากษายื่นกับตนและมองอีกแบบหนึ่งก็มี ซึ่งมีบางส่วนเห็นว่าการที่ให้ศาลเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรอื่นเป็นเรื่องที่ดี


 


อย่างไรก็ตามเนื้อหาในการกำหนดสัดส่วนของ ก.ต.ที่กรรมาธิการยกร่างฯเขียนขึ้นมา ถึงอย่างไรก็จะต้องมีการเปลี่ยนอยู่แล้ว เพราะว่าเดิมเราพูดชัดเจนและตรงกับองค์กรตุลาการเห็นมา คือ 1.เรื่องของเด็กปกครองผู้ใหญ่ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางตุลาการ ซึ่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนี่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีเวลาอยู่แค่ปีเดียวยังไม่ทันได้ทำอะไรก็เปลี่ยนแล้ว ดังนั้นความไม่ถาวรความไม่ยั่งยืนของการทำหน้าที่เป็นเรื่องที่ถูกผลกะทบอย่างรุนแรง ซึ่งเหมือนไม่ได้มีการมองในระยะยาว เพราะต่างฝ่ายต่างมัวไปหาเสียงด้วย เพราะตุลาการศาลชั้นต้นในเรื่องของคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถ ไม่ได้มีเป็นที่ประจักษ์ พูดง่ายๆ คือท่านเพิ่งเริ่มมาดำรงตำแหน่งตำแหน่งที่สำคัญๆ เพราะนั้นท่านก็จะต้องหาเสียง แล้วฐานเสียงของศาลชั้นต้นก็ถูกใช้กระบวนการหาเสียงของศาลสูงด้วย


 


"พูดง่ายๆ ท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา ต้องการเป็นตัวแทน ก.ต.ท่านก็ต้องมาหาเสียงกับเด็กๆ พูดง่ายๆว่าผมเห็นถึงขนาดว่าท่านต้องลงไปยกมือไหว้ ไปไหว้เด็กๆ แล้วบอกว่าขอเสียงผมเถอะ ไอ้แบบนี้ผมถามว่าเราจะปกครองกันอย่างไร ถ้าหากเรามองถึงความราบรื่นในการปกครองดูแลกันและการบริหารงานบุคคล องค์กรตุลาการไม่ใช่องค์กรหาเสียง ตรงนี้เราต้องดูให้ชัดเจน ซึ่งในที่สุดแล้วความเห็นใดๆ ต้องผ่านความเห็นชอบของกรรมาธิการยกร่างฯและส.ส.ร.ทั้งหมดด้วยที่จะปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร ผมก็คงต้องยกให้เป็นเรื่องของท่านที่จะตกลงกันเองแล้วกัน เพราะหากท่านยื่นมา 1,400 คน แต่อย่าลืมว่าตุลาการทั้งหมดมี4 พันกว่าคน


 


ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การออกมาเคลื่อนไหวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เป็นเพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองใช่หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า จะเห็นได้ว่าที่ตุลาการเสนอมามี 3 ไม่ที่ชัดเจน คือ 1.ไม่ยุ่งกับใคร 2.ไม่เปลี่ยนแปลงองค์กร 3.ไม่อยากให้ใครมาตรวจสอบ ซึ่ง 3 ข้อเสนอนี้เป็นแนวทางของตุลาการบางส่วน ซึ่ง 3 ไม่นี้ ประชาชนต้องช่วยกันพิจารณาด้วยว่าเห็นอย่างไร เพราะการใช้รูปแบบเดิม การคัดเลือก ก.ต.ทำให้เกิดการหาเสียง เพราะแต่ละศาลก็ไม่รู้จักกัน ดังนั้นกระบวนการจึงต้องได้มาด้วยการหาเสียง เราจึงต้องบอกว่าท่านอยู่ศาลชั้นไหนจะต้องเลือกศาลชั้นนั้น ซึ่งข้อเสนอต่างๆ เราจะต้องนำมากลั่นกรองอีกที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net