Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ชื่อบทความเดิม "ปัตตานี ยะลา: ชื่อหมู่บ้านสำคัญไฉน..?"


 


โดย บังหมัด


 


 



ภาพจาก hamarathome.somee.com


 


บันนังสตา ตันหยงลีมอ ฮูแตบองอ กูจิงลือปะ ปะแต กรือเซะ ฯลฯ


 


ชื่อสถานที่เหล่านี้ ท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ หรือบางท่านอาจเคยไปเยือน ไปอยู่...


 


ถามว่าชื่อหมู่บ้านเหล่านี้สำคัญอย่างไร? ถ้าเทียบกับหมู่บ้านโดยทั่วๆ ไป ในสังคมไทย มันก็แค่ชื่อหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งคงไม่ค่อยแปลกเท่าไหร่ ถ้าเราถามคนเฒ่าคนแก่ว่าทำไม หมู่บ้านเราถึงได้ชื่อนี้ แล้วได้คำตอบว่า


 


"ก็ตรงนี้ เมื่อก่อนพ่อของยายบอกว่า มีต้นจำปาดะต้นใหญ่ต้นหนึ่ง พ่อของเปาะแม บานา (บ้านบานา) มันมาปลูกบ้านที่นี่เป็นคนแรก ใกล้ต้นจำปาดะริมลำธาร จากนั้นก็มีคนอื่นตามมาอยู่ด้วย คนก็เลยเรียกว่าบ้านต้นจำปาดะ แหละหลาน"


 


เป็นเรื่องสมมุติครับ เพื่อเปิดเรื่อง แต่ที่จะเล่าหลังจากนี้ เป็นประสบการณ์จริงครับ


 


ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปถามคนแก่ๆ ในหมู่บ้าน "แลแป" เป็นหมู่บ้าน "ไทยพุทธ" ถามแกว่า แปลว่าอะไร


 


ไม่มีใครรู้ครับ..


 


อีกครั้งหนึ่ง ผมได้ไปถามคนแก่คนหนึ่งซึ่งเป็นหมอบ้าน รักษากระดูก ที่บ้าน "นาค้อ" ซึ่งเป็นบ้าน "มุสลิม" ห่างจากบ้านแลแปหลายกิโลฯ อยู่ ถามแกว่า ทำไมถึงชื่อบ้านนาค้อ


 


แกบอกว่า เมื่อก่อนมีต้นข่อยเยอะและมีพื้นราบ คนก็เลยเรียกว่า "บ้านนาข่อย" ต่อมา นานๆ เข้า ก็เพี้ยนเป็น "นาค้อ"


 


แล้ว "บ้านแลแป" ล่ะ หมายถึงอะไร?


 


"ไม่รู้"


 


แต่มีคนแก่อีกคนหนึ่งซึ่งผมเจอโดยบังเอิญ แกบอกว่า "แลแป" มาจากคำว่า "กะดูแป" หมายถึงต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าภาษาไทยเรียกอะไร


 


แกบอกว่า คนแรกๆ ที่ไปตั้งหมู่บ้านเป็นคนมุสลิม แล้วก็มีคนไทยพุทธตามเข้าไปอยู่ด้วย ที่นั่นมีต้นไม้อย่างว่าเยอะ ก็เลยเรียกบ้านกะดูแป วันหนึ่งคนมุสลิมที่เข้าไปตั้งหมู่บ้านย้ายออกไป คนไทยพุทธที่เข้ามาใหม่ ออกเสียงสั้นๆ จนเพี้ยนเป็น "แลแป"


 


000


 


ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเกือบ 10 ที่แล้ว ผมเรียนวิชาโทภูมิศาสตร์ กับอาจารย์ "จิตติมา ระเด่นอาหมัด" เรียนกับท่านอยู่หลายวิชา ตอนนั้นท่านทำวิจัยเรื่อง "ภูมินาม" ศึกษาเรื่องประวัติของชื่อหมู่บ้านในจังหวัดปัตตานีและยะลา


 


มีหลายครั้งที่ท่านชวนผมไปเก็บข้อมูลด้วย เฉพาะจังหวัดปัตตานี ไปกันเกือบครบทุกหมู่บ้าน 600 กว่าหมู่บ้าน ส่วนจังหวัดยะลาก็ไปกันหลายหมู่บ้าน


 


บางหมู่บ้านไปไม่ทันถึง ก็ได้คำตอบเสียก่อน เพราะดันไปเจอคนที่ย้ายออกมาจากหมู่บ้านที่จะไป ก็โชคดีไม่ต้องเหนื่อยมาก


 


ที่โชคร้ายหน่อยก็คือ บางหมู่บ้านต้องเวียนไปตามหมู่บ้านรอบๆ หลายหมู่บ้าน เพราะคนในหมู่บ้านไม่มีใครรู้ หรือบางทีต้องตามคนแก่คนหนึ่ง ซึ่งเดิมเป็นคนที่นี่ แต่ตอนนี้ย้ายไปอยู่อีกจังหวัดหนึ่งแล้ว อาจารย์ก็ตามไปหาจนได้คำตอบ


 


ตัวอย่างเช่น บ้าน "ปุหรน" ครั้งแรกไปถามได้คำตอบว่า หมายถึงกะลามะพร้าว เพราะภาษายาวี เรียกกะลามะพร้าวว่า "ปูรน" ถ้าถามคนหนุ่มๆ หน่อย เขาบอกว่ามันหมายถึง "ปูหล่น" หรือการเอาปูใส่กระสอบ แล้วกระสอบขาดปูก็เลยหล่น ต่อมาก็เพี้ยนเป็นปุหรน แต่คำตอบที่อาจารย์บอกว่าเป็นที่มาของแท้ดั้งเดิม คือคำว่า "อูปุ อารง" แปลว่า หญ้าหนวดดุก


 


จากประสบการณ์ดังกล่าว ผมพบว่า การตั้งชื่อหมู่บ้าน ไม่ได้ตั้งขึ้นตามสภาพภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีการตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อบุคคลหรือเหตุการณ์ด้วย เช่น กลุ่มบ้าน "เจ๊ะแลเงาะ" เป็นเพราะคนแรกที่ไปตั้งบ้านชื่อ "แลเงาะ" ส่วนคำว่า "เจ๊ะ" เทียบได้กับคำว่า "ปู่" หรือ "ตา" ซึ่งเป็นคำเรียกคนแก่ๆ ทั่วไป


 


ส่วนชื่อตามเหตุการณ์หรือกิจกรรม ได้แก่ บ้าน "คลองช้าง" "ท่าแรด" "ตุยง" "ปะนาเระ" "พิเทน" กือฎี" "ปาตานี" ฯลฯ


 


บางแห่งเป็นชื่อศาสนสถานทางศาสนาพุทธ หรือกิจกรรมทางศาสนาพุทธ เพราะในอดีตก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม พื้นที่นี้นับถือศาสนาพุทธมาก่อน เช่น "พิเทน" มาจากคำว่า "พี่เณร"


 


อีกตัวอย่างหนึ่งที่ต่อเนื่องกับข้างต้น ก็คือ "บ้านบางปู" เป็นหมู่บ้านมุสลิม แต่ชื่อ บางปู ซึ่งอาจารย์บอกว่า เพราะกลุ่มคนแรกๆ ที่เข้าไปในพื้นที่ตรงนั้น เป็นคนไทยพุทธ เข้าไปจับปูบริเวณที่เป็นป่าชายเลน คนไทยพุทธ ซึ่งพูดภาษาไทย ก็เรียกว่าบางปู ต่อมามุสลิมเข้าไปอยู่อาศัย ก็ยังเรียกว่าบ้านบางปู


 


บางหมู่บ้าน ก็มีเรื่องเล่าสนุกๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย เพื่อให้เข้ากับชื่อหมู่บ้าน เช่น บ้าน "ล้อแตก" ชาวบ้านบอกว่า สมัยก่อนเป็นเส้นทางเกวียนของพระอินทร์ เมื่อขับผ่านมาถึงที่นี่ล้อเกวียนก็แตก เลยตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านล้อแตก


 


แต่ข้อมูลที่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ บริเวณบ้านล้อแตก เคยเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของอาณาจักรปาตานีในอดีต มีการขนข้าวที่ปลูกไว้ด้วยเกวียน พอบรรทุกหนักๆ เข้า ล้อเกวียนก็แตก เหตุการณ์นี้จึงได้กลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านในเวลาต่อมา


 


ปัจจุบันบ้านล้อแตก เป็นหมู่บ้านสมานฉันท์ไทยพุทธ - มุสลิม ครับ


 


000


 


จากที่ผมได้ประมวลความรู้จากอาจารย์จิตติมา ได้ความว่า ในสมัยหนึ่ง ทางราชการต้องการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อจะมีการตั้งชื่อหมู่บ้านบางแห่ง เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ และพูดภาษาไทย ไม่สามารถออกเสียงชื่อหมู่บ้านซึ่งเป็นภาษายาวีได้


 


เมื่อเป็นดังนั้น จึงพยายามลากเสียงให้เป็นภาษาไทยและมีความหมายที่เป็นภาษาไทย ซึ่งมีหลายแห่งมาก และจากการเข้าไปเก็บข้อมูลหลายหมู่บ้านพบว่า หมู่บ้านมีประวัติอีกอย่างหนึ่ง แต่ชื่อไม่ตรงกับที่มาที่ไปของหมู่บ้าน เช่น ชื่อที่มีความหมายบ่งบอกถึงลักษณะภูมิประเทศอย่างหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงในพื้นที่กลับพบว่ามีสภาพที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น บ้าน "นาเกตุ" ในภาษาไทย คือบ้าน "อาเนาะ บูเก๊ะ"ในภาษายาวี ซึ่งแปลว่า "ลูกภูเขา" หมายถึงภูเขาลูกเล็กหรือเนินเขานั่นเอง ไม่ได้เป็นที่นาแต่อย่างใด


 


อีกตัวอย่างที่จำได้ คือบ้าน "ศาลาลาก" แต่ชาวบ้านมุสลิมเรียกว่าบ้าน "ซือลา มอและ" แปลว่า "ศาลาที่สวยงาม"


 


คนละความหมายเลยครับ...


 


นอกจากการลากคำให้มีความหมายในอีกภาษาหนึ่งแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการสะกดคำเรียกหมู่บ้านเป็นภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งปัญหานี้จะปรากฏตามป้ายริมถนน เช่น บ้าน "ปาลัส" ครั้งหนึ่งกรมทางหลวงเขียนชื่อภาษาอังกฤษว่า PALAD


 


ชาวบ้านโวยครับ เพราะคำนี้ในความหมายภาษามลายู แปลว่า "อวัยวะเพศหญิง" ต่อมาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นคำว่า PALAS แปลว่า "ต้นกะพ้อ"


 


หรืออีกกรณีหนึ่ง ถ้าใครได้ขับรถไปตามเส้นทางสายหาดใหญ่-ปัตตานี ก็จะผ่านหมู่บ้านหนึ่ง ชื่อว่า "พระพุทธ"


 


บ้านพระพุทธ แต่เป็นหมู่บ้านมุสลิม..?


 


ผมเคยถามคนที่นั่นว่า บ้านมุสลิมแล้วทำไมถึงชื่อ พระพุทธ ก็ได้รับคำตอบว่า ในอดีต มีพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำเทพา ชาวบ้านก็เลยเรียกที่นี่ว่า บ้าน "พระผุด" ต่อมา เรียกเป็น "พระพุทธ"


 


คือถ้าไม่ถูกลากคำให้มีความหมายอย่างนั้นแล้ว ก็อาจเป็นคำเรียกที่ "เพี้ยน" มาจากเดิม


 


แล้วประเด็นมันอยู่ตรงไหน?


 


ครั้งหนึ่ง ผมเคยเข้าร่วมฟังสัมมนาที่ประชาไทจัดขึ้น เกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในครั้งนั้นมีคุณ "อับดุลอายิ อาแวสือแม" นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดนราธิวาส เป็นวิทยากรด้วย เขาพูดถึงความไม่เป็นธรรมบางอย่าง ที่ภาครัฐกระทำต่อคนในพื้นที่ นั่นคือ มีชาวบ้านหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนพวกเขาเดือดร้อนมาก เพราะหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ ชื่อ "บ้านโคกกระดูกหมู"


 


"เวลามีคนมาที่หมู่บ้าน เขาก็สงสัยว่า เอ๊ะ! ชื่อโคกกระดูกหมู ทำไมมีมัสยิดด้วย เวลามีงานบุญหรือไปขอเรี่ยไรเงินสร้างมัสยิดในหมู่บ้านอื่นที่คนไม่รู้จัก เขาก็ถามว่า เป็นงานมัสยิดหรือเปล่า ทำไมมีชื่อหมูอยู่ด้วย แล้วมัสยิดชื่ออะไร มัสยิดโคกกระดูกหมูด้วยหรือเปล่า"


 


เป็นเสียงสะท้อนออกมาของอับดุลอายิ


 


"แต่เดี๋ยวนี้ทางการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้แล้ว ชื่อ โคกยามู"


 


สรุปก็คือว่า มีหลายหมู่บ้านที่เป็นชื่อภาษาไทย แต่คนที่อาศัยอยู่เป็นชาวมุสลิม พูดภาษายาวี หรือหมู่บ้านที่ชื่อเป็นภาษายาวี แต่ชาวบ้านที่อาศัยเป็นชาวไทยพุทธ ซึ่งพูดภาษาไทย


 


แต่ก็ยังมีบางหมู่บ้านที่เมื่อตั้งชื่อเป็นทางการ กลับใช้ชื่อใหม่ แทนคำเรียกเดิม อาจเพราะมีความหมายที่เป็นสิริมงคลมากกว่า และถึงตอนนี้ ก็ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่ยังไม่รู้ว่า มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีความหมายอย่างไร


 


การศึกษาและเอาใจใส่ประวัติความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน ก็คือการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดีๆ นี่เอง


 


ชื่อหมู่บ้านทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ (ที่จริงอยากยกให้มากกว่านี้แต่จำไม่ได้) มีทั้งที่ยังเป็นชื่อเดิม ที่เพี้ยนไปแล้วก็มี และที่ตั้งใจลากคำให้มีความหมายเป็นอื่นไป...ก็มี



 


ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยจึงมีชื่อหมู่บ้านหลายแห่งที่ถูกแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเป็นจำนวนไม่น้อยในเวลาต่อมา


 


เพราะความจริงกับสิ่งที่เป็นอยู่ อาจไม่ตรงกันเสมอไป...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net