19 พฤษภาคม : รวมพลนักเขียนเชียงใหม่

ภฤศ ปฐมทัศน์

 


จากซ้ายไปขวา ภัควดี  วีระภาสพงษ์ , บัณรส บัวคลี่ , กริ่มกมล มหัทธนวิศัลย์  และ ชลธี  ตะพัง (กำลังนั่งซ่อมไมค์ ;- )  


 

 

ในวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะทำงานกลุ่มนักเขียนเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมงานกลุ่มนักเขียนเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 ขึ้นที่บ้าน อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ซอยวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่

           

โดยการรวมกลุ่มนักเขียนเชียงใหม่นั้นมีจุดประสงค์หลัก ๆ สองอย่างคือ หนึ่งเพื่อส่งเสริมนักเขียนในฐานะเป็นอาชีพสุจริตและถือเป็นแรงงานชนิดหนึ่ง ได้มีคุณภาพมาตรฐานในการครองชีพ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ สองเพื่อขยายพื้นที่ของวรรณกรรม จากในแวดวงของนักวิชาการและภาคประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งมีบทบาทในสร้างสรรค์งานวรรณกรรม ให้ได้เผยแพร่ออกไปสู่นักเขียนนักอ่านวรรณกรรมทั่วไปด้วย

 

งานในครั้งนี้เริ่มเมื่อเวลา 16 นาฬิกา ในกิจกรรมเสวนา "ชีวิตกับงานของนักเขียนเชียงใหม่" ดำเนินรายการโดย บัณรส บัวคลี่ กับ ชลธี ตะพัง มีผู้ร่วมเสวนาคือ ภัควดี วิระภาสพงษ์ นักเขียน-นักแปล ทั้งเรื่องวรรณกรรมและบทความวิชาการ กับ กริ่มกมล มหัทธนวิศัลย์ นักเขียน ซึ่งปัจจุบันมีผลงานนิยายอยู่ในนิตยสาร

 

ภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้พูดถึงเรื่องประสบการณ์การอ่าน ว่าเริ่มอ่านวรรณกรรมก่อนแต่ต่อมาก็อ่านงานวิชาการด้วย โดยงานเขียนนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นวรรณกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บทความวิชาการก็มักจะมีวาระแฝงเร้นทางการเมือง ต่อมาจึงพูดถึงการทำงานแปลโดยการแปลงานวิชาการนั้นมักจะเลือกเองเป็นส่วนใหญ่ เรื่องของลิขสิทธิ์งานแปลของฝั่งยุโรปจะของ่ายกว่าอเมริกา เว้นของอเมริกันฝ่ายซ้ายจะของ่ายกว่า โดยเฉพาะบทความถ้า E-mail ไปขอส่วนใหญ่เจ้าของบทความจะให้

 

ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามว่าถึงสาเหตุที่ต้องแปลงานจำพวกที่ต่อต้านบรรษัทข้ามชาติหรืออะไรพวกนี้ด้วย คุณภัควดีตอบว่า

 

"มันเป็นความอยากของยุคสมัย เราต้องต่อต้านสู้กับมัน ถ้าเราไม่กล้าสู้มัน เราก็จะอยู่ไม่ได้"

 

ส่วน กริ่มกมล มหัทธนวิศัลย์ ผู้ที่จากเดิมที่เคยเป็นอาจารย์ ต่อมาได้ลาออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัว ได้พูดถึงนักเขียนในฐานะอาชีพเอาไว้ว่า เวลาอยู่หน้ากระดาษหรือจอคอมพิวเตอร์นักเขียนคือศิลปิน แต่ในขณะเดียวกันนักเขียนก็มีความจำเป็นต้องดำรงชีพ มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจอย่างฐานะทางบ้าน จึงต้องเลี้ยงดูตัวเองให้ได้ด้วย การทำงานของนักเขียนบางครั้งจึงเหมือนเป็นกรรมกรทางตัวอักษร เคยท้าทายตัวเองว่าจะดำรงชีพในฐานะเป็นนักเขียนอาชีพได้หรือไม่

 

และเมื่อผู้ดำเนินรายการได้ถามถึงงานเขียนของคุณกริ่มกมล จึงได้รับคำตอบว่า

 

"ดิฉันมีแนวคิดเรื่องของนิเวศวิทยาแล้วก็การเมือง เพราะฉะนั้น จึงอยากให้ตัวละครของดิฉันซึ่งเป็นเด็กชนบทได้สะท้อนภาพของชีวิตในชนบทให้ชนชั้นกลางกับชนชั้นสูงซึ่งเข้าใจชีวิตของชาวบ้านน้อยมาก ได้รู้จัก"

 

"แล้วยังมีนิยายอีกเรื่อง ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องรักธรรมดา แต่คราวนี้ มันจะเป็นนิยายที่ทำให้คนเห็นผู้หญิงในมิติอื่น ๆ นอกจากที่เห็นในทีวี คือพี่อยากเห็นผู้หญิงในฐานะที่เป็นมนุษย์จริง ๆ  ให้นายทุนได้เห็นว่านิยายที่ผู้หญิงไม่ได้ตบตีกันเนี่ยก็สามารถเป็นนิยายขายดีได้"

 

เมื่อเวลา 18 นาฬิกา หลังจากพักรับประทานอาหารและชมการแสดงของ ฮวด วงสุดสะแนน แล้วก็ได้มีกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ 5 เล่ม ได้แก่ นกเสรีภาพ ของ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร , ดินแดนลม ของ คำ พอวา , อินเดียที่ที่ทำให้เราตัวเล็ก ของ วดีลดา เพียงศิริ , เซว่า ตัวสุดท้าย ของ โถ เรบอ , ปีกัสโซ่ ของ อัคนี มูลเมฆ

 

ในการพูดถึงหนังสือเรื่องอินเดียที่ที่ทำให้เราตัวเล็ก อาจารย์นกผู้สนใจ ด้านการใช้ภาษาในวรรณกรรมของผู้หญิงได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมในอีกแง่มุมหนึ่ง

 

"เรามักจะติดอยู่กับว่าวรรณกรรมจะต้องเป็นกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นิยาย แต่โลกในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ก็จะมีพวกงานวิชาการ เรื่องการเมือง หรือสารคดี การเดินทาง ซึ่งแล้วงานเขียนพวกนี้เองก็ควรจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของวรรณศิลป์ด้วย เพื่อที่จะได้ช่วยกันพัฒนากันต่อไป"

 

นอกจากนี้ยังได้พูดถึงสารคดีการเดินทางที่มีแง่มุมแตกต่างจากแนวคิดเดิม ๆ ซึ่งมักแฝงด้วยแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่และแนวคิดแบบผู้ล่าอาณานิคม

 

"งานสารคดีการเดินทาง ในแง่ของที่เป็นวีธีคิดมาตลอดเลยก็คือ เราจะพบว่าวรรณกรรมการเดินทางในสมัยก่อน มักจะเขียนโดยฝรั่งที่เป็นผู้ชาย ที่เข้ามาในต่างแดนซึ่งไม่ศิวิไลซ์ในความคิดของพวกเขา แล้วก็นำเรื่องราวน่าตื่นเต้นของดินแดนอันไกลโพ้น ป่าเถื่อน กลับไปเล่าให้ประเทศตัวเองฟัง ให้รู้สึกว่าลี้ลับ มหัศจรรย์ ตอบสนองความต้องการของผู้คนที่อยากให้ชีวิตมันตื่นเต้น แตกต่างไปจากชีวิตประจำวัน พร้อมกับระบบสังคมที่ผู้ชายมีโอกาสมากกว่า ผู้หญิงแทบจะไม่มีโอกาสได้เขียนเลย

 

แล้วการท่องเที่ยวของชนชั้นกลาง มันกลายเป็นเหมือนความใฝ่ฝันของทุกคนที่จะออกจากโลกซึ่งเป็นอยู่ทุกวัน เพื่อที่จะไปแสวงหาดินแดนอันไกลโพ้น ที่ได้ยินมาจากสื่อต่าง ๆ เป็นการดีที่ในยุคสมัยนี้ได้เห็นเรื่องของการเดินทางที่มาจากผู้หญิง เป็นพื้นที่งานเขียนที่นอกเหนือไปจากเรื่องของบ้าน ของครอบครัว อีกทั้งผู้หญิงยังเป็นผู้ออกแบบการเดินทางเองด้วย"

 

หนังสืออีกเล่มที่มีแง่มุมในการพูดถึงคือ เรื่อง "เชว่า ตัวสุดท้าย" ของ โถ่ เรบอ นักเขียนชาว ปกากอญอ อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ผู้ที่ได้อ่านแล้วก็พูดถึงเรื่องนี้ว่า

 

"การพูดภาษาไทยไม่ชัดภาษาแบบที่ไม่รู้ไวยากรณ์ไทย มันทำให้ภาษาของเขามีเสน่ห์ ภาษาพูดห้วน ๆ แบบปกากอญอของเขาเนี่ยสื่อความรู้สึกได้ดี ควรจะภูมิใจว่าสามารถขึ้นมาเขียนหนังสือได้ทัดเทียมกับคนที่ใช้ภาษาไทย เรื่องสั้นของเขาก็เอามาจากประสบการณ์จากบนดอย ถ่ายทอดเรื่องบนดอยให้คนในเมืองได้อ่าน"

 

แสงดาว ศรัทธามั่น กวีเอกของเชียงใหม่ยังได้กล่าวปิดท้ายว่า นอกจากปกากอญอแล้ว อยากให้ชนเผ่าอื่น ๆ ได้มีโอกาสแบบนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท