Skip to main content
sharethis


ช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกิจกรรม "15 ปีพฤษภา ทวงคืนประชาธิปไตย เอารัฐธรรมนูญ 40 คืนมา" ซึ่งจัดโดยแนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.) หลังการปาฐกถาเชิงประวัติศาสตร์ ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แล้ว รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ก็ขึ้นมากล่าวปาฐกถาเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง

 


 


 


"นึกไม่ถึงว่า 15 ปีผ่านไปแล้ว แก่ขึ้น 15 ปีแล้ว


ยังต้องมานั่งชูกำปั้นไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาเผด็จการทหาร


และยิ่งกว่านั้น 15 ปีผ่านไป


พรรคพวกเพื่อนฝูงพี่น้องที่เคยอยู่ข้างๆ เรามันตายไปหมดเลย ทั้งรุ่นเลย


ตายไปหมด ตายทางวิญญาณ ตายทางปัญญา


และตายทางประชาธิปไตย"



………..


พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์


18 พ.ค. 50)


 


 


 


เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535


รศ.ดร.พิชิต กล่าวสรุปเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 35 ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทหาร ถ้ามองแบบผิวเผิน คือม็อบมือถือ ม็อบชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ คนมีฐานะ ส่วนใหญ่เป็นคนจากรุ่น 14 ตุลา, 6 ตุลา และมีรุ่นน้องมาเสริมบ้าง เช่น ปริญญา เทวานฤมิตกุล ที่ รศ.ดร.พิชิตบอกว่า เป็นคนที่ควรเอ่ยชื่อเป็นพิเศษ


 


"จริงๆ แล้วเหตุการณ์เดือนพฤษภาเป็นผลพวงของการต่อสู้ของแนวร่วมชนชั้นกลางในเมือง ชนชั้นล่างในเมือง และกลุ่มสหภาพแรงงาน แต่บทบาทที่อาจเห็นไม่ชัดนัก คือกลุ่มเกษตรกร และชนชั้นล่างในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้น เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม จึงเป็นการต่อสู้เอาชนะเผด็จการทหารด้วยแนวร่วมที่กว้างขวาง แต่ดอกผลนั้นในที่สุดก็ถูกปล้นชิงไปเหมือนกับ 14 ตุลา 2516"


 


รศ.ดร.พิชิต กล่าวต่อมาว่า รัฐธรรมนูญฉบับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หมดความชอบธรรม เพราะเป็นรัฐธรรมนูญในระบบเก่าซึ่งระบบราชการและทหารเป็นแกนกลางของอำนาจรัฐ นักการเมืองเป็นแค่จำอวด ตัวตลก ตลกคาเฟ่ ขึ้นมาเล่น สภาเป็นแค่ตลกคาเฟ่ให้นักการเมืองท้องถิ่นขึ้นมาแสดงบทบาท รัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นเพียงเวทีให้ทุนภูธรเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์โกงกิน


 


"เพราะเจตจำนงของรัฐธรรมนูญฉบับ รสช. ก็เหมือนกับเจตจำนงของรัฐธรรมนูญปี 50 คือให้อำนาจที่แท้จริงในการปกครองประเทศอยู่ในมืออำมาตยาธิปไตย อภิสิทธิ์ชน แม้ประชาชนอยากมีเลือกตั้งก็ให้มี อยากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ให้มี อยากมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งก็ให้มี แต่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง ทำอะไรก็ไม่ได้ ในเมื่อไม่มีอำนาจที่แท้จริง การเป็นรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่บนฐานของพลังการเลือกตั้งของประชาชน แต่เกิดจากพลังอำนาจนอกระบบ-อำมาตยาธิปไตยที่กำกับระบบรัฐสภาอยู่ เราจึงมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้ประชาชน เพราะภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเหล่านั้น อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่อำมาตยาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน"


 


 


รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญของประชาชน (กลุ่มไหน?)


วิกฤติเศรษฐกิจ 40 ทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญฉบับ รสช. หมดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง และระบบการเมืองที่แกนในเป็นอำมาตยาธิปไตย แต่เปลือกนอกเป็นระบบรัฐสภาหมดความชอบธรรมเพิ่มขึ้น นักการเมืองที่เป็นพวกทุนภูธรก็หมดความชอบธรรมมากขึ้น เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยโดยแนวร่วมเดิม แนวร่วมเหตุการณ์พฤษภา 35 ก็ได้ปรากฏขึ้นมาอีก เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและมาจากประชาชน เราจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540


 


แต่รัฐธรรมนูญปี 40 ก็สะท้อนถึงพลังทางการเมืองที่เป็นแนวร่วมในขณะนั้น ซึ่งประกอบไปด้วยชนชั้นล่างในเมืองและชนบท กรรมกร แรงงาน ชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา และปัญญาชน ซึ่งก็มีปัญญาชนขุนนางอนุรักษ์นิยมที่มองว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดจากรัฐธรรมนูญ รสช. รวมอยู่ด้วย รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นจึงมีเนื้อหาที่ปะปนกันระหว่างความคิดประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและความคิดอนุรักษ์นิยมอภิสิทธิ์ชน เช่น การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี ฯลฯ


 


อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 40 ก็ยังดีกว่าหลายฉบับที่ผ่านมา เนื่องจากมีอิทธิพลของพลังประชาธิปไตยเข้าไปร่วม จึงมีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ซึ่งมาจากการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและมีขนาดใหญ่ มีระบบบัญชีรายชื่อ การไม่ให้ย้ายพรรคโดยง่าย ฯลฯ


 


ปัจจัยสำคัญประเด็นหนึ่งคือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้อำนาจของ ส.ส.เขต ที่จะไปต่อรองกับนายกฯและรัฐมนตรีหรือหัวหน้าพรรคเพื่อผลประโยชน์แบบเดิมๆ ลดลงอย่างมาก


 


ประเด็นที่สอง คือการมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เท่ากับเป็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเป็นการกาเลือกพรรค ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่า แต่ละพรรคใครเป็นหัวหน้าพรรค และรู้ตัวคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีด้วย ระบบบัญชีรายชื่อจึงคล้ายกับเป็นระบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้บุคลิก บารมี ของหัวหน้าพรรคเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ นอกจากนี้ ยังทำให้การสร้างวิสัยทัศน์ การแสดงความสามารถของหัวหน้าพรรคนั้นสำคัญ การมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบรัฐสภาอย่างชัดเจน


 


ส.ส.เขตกลับสถานภาพกลายเป็นต้องพึ่งพาหัวหน้าพรรค การจะได้รับเลือกตั้งต้องมีหัวหน้าพรรคที่ดี เก่ง มีวิสัยทัศน์ นโยบายพรรคต้องน่าเชื่อถือว่าทำได้ ส.ส.เขตหมดอำนาจต่อรอง รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นและรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารประเทศเต็มที่ ไม่ต้องพะวงว่า ส.ส.เขตจะไปร่วมมือกับฝ่ายค้านลงชื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ฯลฯ เมื่อไม่ต้องพะวงหลังก็ไปเล่นงานระบบราชการได้ โยนนโยบายลงไปให้ระบบราชการ ถ้าไม่เห็นผลก็สั่งย้าย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และนี่คือระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว ใครก็ได้ที่เป็นรัฐบาลสั่งข้าราชการได้ทุกคนก็เท่านั้นเอง เผด็จการตรงไหน


 


 


"กลุ่มทุนใหม่" กับ "กลุ่มทุนเก่า" ชาตินี้เราจะรักกันได้ไหม


รศ.ดร.พิชิต กล่าวต่อว่า นโยบายที่นายกทักษิณและไทยรักไทยดำเนินไป เป็นนโยบายชุดใหม่ที่กระทบกระเทือนถึงฐานรากของสังคมไทย ปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทันกับยุคโลกาภิวัตน์ ปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ เปิดเสรีการค้าการลงทุน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตร การเจรจาเอฟทีเอ การผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่เวทีโลกไม่ว่าจะเป็น WTO, APEC, ASEAN, AFTA


 


สิ่งที่เกิดขึ้นคือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เพราะพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนของกลุ่มพลังใหม่ของเมืองไทยซึ่งเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยี ICT โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต ธุรกิจส่งออกไฮเทคฯ เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิคส์ ไฟฟ้า สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นกลุ่มใหม่ซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูง และกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มซึ่งเติบโตโดยการทำธุรกิจร่วมกับกลุ่มทุนเก่า-ทุนอภิสิทธิ์ชนมาโดยตลอด คนกลุ่มนี้ถูกกด ถูกบีบ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกเก็บค่าหัวคิวหรือค่าต๋งมาตลอด กลุ่มทุนนี้เข้าใจดีถึงความฟอนเฟะ เน่าเละ และภาวะการผลิตผูกขาดของกลุ่มทุนเก่า ทุนผู้ดี และอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย


 


กลุ่มทุนใหม่เกี่ยวโยงกับต่างประเทศอย่างมาก จึงมีความเข้าใจถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี รู้จักนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ รู้ว่าประเทศไทยต้องทำอย่างไร รู้ว่าเมื่อโลกาภิวัตน์มาถึงแล้วประเทศที่ไปรอดได้ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้าง กลุ่มทุนใหม่นี้รู้ดีว่าสังคมไทยภายใต้ระบบทุนนิยมอภิสิทธิ์ชน ทุนขุนนางแบบเก่า จะถูกกระแสโลกาภิวัตน์พัดตกเหว


 


สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นโยบายเหล่านี้ไปกระทบฐานรากผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเก่าหรือทุนอภิสิทธิ์ชน การเปิดเสรีทางการเงิน การเจรจาเอฟทีเอ จะทำให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาแข่งกับธนาคารไทย แล้วธนาคารไทยก็เป็นระบบผูกขาดอยู่กันไม่กี่ตระกูลในประเทศไทย ธุรกิจผูกขาดเยอะแยะในเมืองไทยจะต้องถูกกระทบ


 


 


นักการเมืองคือลิ่วล้อของประชาชน นี่แหละประชาธิปไตย


รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า การได้เป็นรัฐบาลก็ต้องทำให้ประชาชนมาลงคะแนนเสียงเลือกมากที่สุด เสียงของประชาชนหนึ่งคนหนึ่งเสียงจึงเป็นของมีค่าที่นักการเมืองต้องการเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ นักการเมืองต้องตอบแทนบุญคุณประชาชน นักการเมืองต้องสำนึกบุญคุณของประชาชน นักการเมืองคือลิ่วล้อของประชาชน


 


"ผมโดนด่าอยู่เป็นประจำว่าเป็นลิ่วล้อทักษิณ ผมตอบกลับไปว่า ไม่ใช่ นายกทักษิณต้องเป็นลิ่วล้อผม ผมชอบนโยบายแบบนี้ คุณต้องทำ ถ้าไม่ทำ ผมก็ไม่กาให้ คุณนั่นแหละลิ่วล้อผม นี่คือประชาธิปไตย"


 


นโยบายที่เกิดขึ้นก็คือนโยบายที่ถูกเรียกว่า "ประชานิยม" ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค โอท็อป กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ นโยบายเหล่านี้แก้ปัญหาความยากจนได้ถึงรากหรือไม่นั้นอีกเรื่อง เพราะความยากจนของประชาชนมันหมักหมมมาตั้งแต่โคตรเหง้าปู่ย่าตายาย จะมาแก้กันในสี่ห้าปีคงยาก แต่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เงินเป็นแสนล้านลงถึงมือประชาชน


 


สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนชั้นล่างหรือที่บางคนเรียกว่า "รากหญ้า" มีความนิยม เชื่อมั่นในพรรคไทยรักไทยโดยเฉพาะตัวนายกฯทักษิณเป็นอย่างมาก แต่ความนิยมอย่างมากมายมหาศาลในตัวทักษิณพร้อมกับเงินอีก 70,000 กว่าล้าน และ ส.ส.ในมือเกือบสี่ร้อยคนมันน่ากลัว เป็นพลังการเมืองที่งอกเกิดจากรัฐธรรมนูญ40 เป็น "ยักษ์" ที่ถูกปล่อยออกมาจาก "ตะเกียง" ซึ่งไปกระทบฐานรากทางการเมืองเก่าของกลุ่มทุนเก่า การที่ทักษิณไปสร้างคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนชั้นล่างก็คือการเซาะกร่อนอำนาจการเมืองของคนเหล่านั้น สองประเด็นนี้แหละที่ทำให้ทักษิณต้อง "ออกไป"


 


 


พันธมิตรฯ, ปัญญาชนขวาจัด, ปัญญาชนตีสองหน้า และ รัฐประหาร 19 กันยา


"ผมวิเคราะห์ไว้ตั้งแต่เดือนกุมภา 49 ว่า กระบวนการขับไล่ทักษิณเป็นกระบวนการที่นำมาสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตยและอำนาจนิยม สร้างความตกใจ-ช็อค-ไม่เชื่อ ให้กับบรรดาเพื่อนๆ ที่ไปอยู่บนถนนร่วมชุมนุม "ทักษิณ ออกไป" ไปกินหญ้าอยู่กับสนธิ ลิ้มทองกุล" รศ.ดร.พิชิต กล่าว


 


แล้วเหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นจริง รัฐประหาร 19 กันยา 49 จึงเกิดขึ้น ด้วยน้ำมือของแนวร่วมกลุ่มทุนเก่า-อภิสิทธิ์ชนราชการ, "ปัญญาชนขวาจัด" ซึ่งในอดีตเคยเป็นฝ่ายซ้าย เป็นเสรีนิยม ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นพวกขวาจัดแล้ว และอีกกลุ่มหนึ่งซึ่ง รศ.ดร.พิชิต เรียกว่า "ปัญญาชนตีสองหน้า"


 


"ปัญญาชนตีสองหน้า" ซึ่งไม่ออกมาคัดค้านการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บางคนเห็นด้วยและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่บอกว่าไม่เอารัฐประหาร แต่พอเกิดรัฐประหาร 19 กันยา ปัญญาชนขวาจัดก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเอาด้วย แต่ "ปัญญาชนตีสองหน้า" หรือพวก "อีแอบ" ก็บอกว่าไม่เห็นด้วย แต่มันก็เลี่ยงไม่ได้ รัฐประหารก็เกิดขึ้นแล้ว มาช่วยกันกอบกู้บ้านเมือง มาช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่กัน ปัญญาชนพวกนี้คือพวกจิตสับสน บางคนบอกว่าไม่เอารัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญ 50 ร่างมาต้องเป็นประชาธิปไตย ถ้าร่างไม่ดีไม่เอา แต่ขอข้อนึงเปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็นสยาม


 


จริงๆ แล้วปัญญาชนกลุ่มนี้ก็เป็นแนวร่วมทางอ้อมให้กับการรัฐประหารด้วยการไม่คัดค้าน ไม่คัดค้านพันธมิตรฯตั้งแต่แรก แล้วตอนนี้ก็ออกมาช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญ


 


 


15 ปีผ่านไป เมื่อ "ซ้าย" ย้ายไป "ขวา"


"ปัญญาชนเหล่านี้ไม่ว่าจะพวก "ขวาจัด" หรือ "อีแอบ" จำนวนมากหรือเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ เคยเคลื่อนไหวเป็นแนวร่วมพฤษภาฯ บางคนมีประวัติเก่าแก่ตั้งแต่ 14 ตุลา"


 


รศ.ดร.พิชิต อธิบายว่า 15 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ คนพวกนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ จากอดีตฝ่ายซ้าย สังคมนิยม เสรีนิยม ประชาธิปไตย มาเป็นพวกฝ่ายขวา และก็เป็นกันยกกลุ่ม อายุตั้งแต่ประมาณ 40 ไปจน 40 ปลายๆ จนถึงมากกว่านั้น เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ผ่านมาทั้ง 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา กลุ่มใหญ่พวกนี้กลายเป็นแนวร่วมของอำมาตยาธิปไตยและอำนาจนิยม และกลายมาเป็นพวกที่คอยให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการ


 


"ช่วง 14-15 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์เดือนพฤษภา ถ้าเราย้อนกลับไปจะเห็นว่า กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือ ชนชั้นกลางในเมืองและปัญญาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว พวกเขาเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างชัดเจน พวกเขาผนวกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง อภิสิทธิ์ชน คนพวกนี้ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองจากปัญญาชนที่เคยอยู่กับประชาชน อยู่กับประชาธิปไตย มาเป็นปัญญาชนขุนนาง สมุนของระบอบอภิสิทธิ์ชนและอำมาตยาธิปไตย"


 


รศ.ดร.พิชิต ชี้ให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ ในสังคมไทยในระดับข้างบนจะมีปัญญาชนวิชาชีพต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการหรือสมาชิก ซึ่งคนที่เข้าไปก็มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย ขณะที่ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา เช่น วัลลภ ตังคณานุรักษ์, เตือนใจ ดีเทศน์, หมอนิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ) ฯลฯ ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ปัจจุบันไปรับใช้เผด็จการหมดแล้ว


 


"ตัวอย่างที่ชัดเจนอีก คืออาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ก็เข้าไปเป็นที่ปรึกษาหน่วยราชการ ที่ปรึกษานักการเมือง ไปนั่งเป็นกรรมการบอร์ดต่างๆ เต็มไปหมด ก็พรรคพวกผมทั้งนั้น คนพวกนี้เข้าไปเสวยสุข เสวยผลประโยชน์และตำแหน่งในระบบของอภิสิทธิ์ชน เวลาผ่านไป คนพวกนี้ความคิดก็เปลี่ยนไป บางคนเป็นคณบดี, อธิการบดี, รองอธิการบดี, หัวหน้าโครงการต่างๆ, หัวหน้าโครงการวิจัยใหญ่ๆ เงินทั้งนั้น ตำแหน่งทั้งนั้น บางคนก็ไปอยู่สถาบันวิจัย เช่น สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งตอนนี้ก็เป็นนักการเมืองกันไปทั้งสถาบัน อัมมาร สยามวาลา ไปอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอัน"ทรงเกียรติ", ฉลองภพ (สุสังกร์กาญจน์) เป็นรัฐมนตรีคลัง และก็คนอื่นๆ อีก สมเกียรติ (ตั้งกิจวาณิชย์)ฯลฯ คนพวกนี้เข้าไปเสวยอำนาจในระบบอย่างเต็มที่ เป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์เดือนพฤษภาปี 35 อย่างเต็มที่"


 


เอ็นจีโอ ยกสถานะเป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก มีอำนาจจนหน่วยราชการต้องกลัวเกรง รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ต้องเจียดงบประมาณให้กับเอ็นจีโอเป็นร้อยเป็นพันล้านทุกปี ผ่านตัวแทนทางจิตวิญญาณของเอ็นจีโอคือประเวศ วะสี, เสน่ห์ จามริก พวกนี้คือท่อน้ำเลี้ยงที่รัฐบาลต้องเจียดเงินไปให้และกระจายไปสู่เอ็นจีโอทั่วประเทศ


 


แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเมื่อทักษิณเป็นนายก ทักษิณไม่ใช้นักวิชาการ และยังไม่ให้ความสำคัญกับเอ็นจีโอ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเซาะกร่อนฐานเงินของเอ็นจีโอ เรื่องนี้เอ็นจีโอพูดไว้ชัดเจนว่า กำลังด้านการเมือง ด้านชาวบ้าน หายไปเยอะ เพราะชาวบ้านทุกวันนี้เขาไม่ต้องพึ่งเอ็นจีโอก็ได้ เพราะมีทั้งกองทุนหมู่บ้าน สามสิบบาทรักษาทุกโรค โอท็อป ฯลฯ ถ้าชาวบ้านมีอาชีพ เอ็นจีโอก็ตกงาน เอ็นจีโอโกรธแค้นมาก เมื่อทักษิณมาบอกว่า คนพวกนี้เป็นนายหน้าค้าความจน


 


รศ.ดร.พิชิต กล่าวสรุปว่า นับแต่เหตุการณ์พฤษภาฯเป็นต้นมา ปัญญาชนกลุ่มใหญ่ นักวิชาการ นักวิจัย ราษฎรอาวุโส เอ็นจีโอ ได้ผนวกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นอภิสิทธิ์ชน ได้เสวยประโยชน์ต่างๆมากมายจากชัยชนะเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 35


 


 


แนวร่วมขวาจัดก่อรัฐประหาร 19 กันยา


รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า การรัฐประหารครั้งนี้ (19 กันยา) ไม่ได้ทำโดยทหารฝ่ายเดียว แต่เป็นแนวร่วมขนาดใหญ่ของกลุ่มทุนเก่า-อภิสิทธิ์ชน, ทหาร, ข้าราชการ, ตำรวจ, ปัญญาชนขวาจัด ฯลฯ หลังการรัฐประหารจึงมีการแบ่งเค้ก แบ่งปันผลประโยชน์มากมายให้คนพวกนี้


 


"ถ้าอยากรู้ว่า "ปัญญาชนขวาจัด" และ "อีแอบ" เป็นใครบ้าง ให้ไปดูรายชื่อในสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมา มีคนที่สนิทกับผมอยู่หลายคนทั้ง สุริชัย หวันแก้ว, ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, โคทม อารียา เป็นต้น ที่ไม่ต้องพูดถึงเลยคือ สมศักดิ์ โกศัยสุข และ พิภพ ธงไชย ซึ่งเคยเป็น "ปูชนียบุคคล" ของภาคประชาชน แต่คนพวกนี้หน้าไหว้หลังหลอก มือถือสากปากถือศีล อาศัยทุนทางสังคมที่สั่งสมไว้มาใช้หลอกคน ไปที่ไหนก็บอกว่าเป็นตัวแทนภาคประชาชน ใครแต่งตั้งเอ็งเป็นตัวแทนภาคประชาชน เอ็งเป็นขุนนางศักดินาไปหมดแล้ว" พิชิต ระบุ


 


คนบางคนพวกนี้ไม่ได้อาศัยทุนสังคมของตัวเองในฐานะนักเคลื่อนไหวหรือทำคุณงามความดีมาบ้างเพียงเท่านั้น แต่ยังไปขโมยทุนสังคมของคนอื่นมาใช้อีก คือทุนสังคมของ อ.ปรีดี และ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์


 


"คนบางคนไปประชุมที่ไหน คำก็ อ.ป๋วย, สองคำ ก็ อ.ป๋วย, ห้าสิบคำก็ อ.ป๋วย คนบางคนเอารูปที่ถ่ายกับ อ.ป๋วย ขึ้นมากราบ กลัวคนไม่รู้ว่าเป็นลูกศิษย์ อ.ป๋วย แต่กลับไปสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา ทั้งอย่างเปิดเผยและอีแอบ ใช้ทุนสังคมของตัวเองไม่พอ ยังใช้ทุนสังคมของผู้มีพระคุณของประเทศไทยสองคนมาใช้ แถมยังใช้อย่างเปลืองเสียด้วย"


 


 


"คว่ำ-ล้ม-โค่น" รัฐธรรมนูญเผด็จการ


"การร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้รัฐบาลต้องอ่อนแอ พรรคในสภาก็เป็น "เบี้ยหัวแตก" นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างๆ สั่งระบบราชการไม่ได้ มันก็จะกลับไปสู่อีหรอบเดิม คือระบบรัฐธรรมนูญ รสช. แต่เลวกว่า นายกรัฐมนตรีก็จะต้องเป็นเพียงหุ่นเชิดที่กลุ่มทุนเก่า-ทุนอภิสิทธิ์ชนสั่งได้ ยกหูกระซิบได้ ถ้ากระซิบแล้วไม่พอใจก็ยึดอำนาจอีกได้"


 


"และนี่คือสิ่งที่ปัญญาชนอีแอบไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจ สับสนไปหมด เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าทักษิณมันเลวแล้วต้องรัฐประหารออกไปเพราะไม่มีทางเลือก ประเด็นอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญ 40 ยังอยู่เป็นกฎหมายบ้านเมืองและกำลังจะมีการเลือกตั้ง ถึงทักษิณจะเลวยังไง คุณก็เอาปืนมาไล่เขาไม่ได้"


 


รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ 1.คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ 2.ล้มองค์กรที่ไม่ชอบธรรมที่เกิดจากการรัฐประหารทั้งหมด และ 3.โค่นระบอบอำมาตยาธิปไตย


 


 


ต้องแยกให้ชัดว่าใครเป็นใคร


รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากการ "คว่ำ-ล้ม-โค่น" แล้ว ในทางปฏิบัติ ต้องแยกให้ชัดว่าใครอยู่ฝ่ายไหน ปัญญาชนขวาจัด ปัญญาชนตีสองหน้า ปัญญาชนอีแอบ โดยเฉพาะพวกปัญญาชนอีแอบตีสองหน้าถึงจุดๆ หนึ่ง คงกลับมาบอกว่าขอร่วมด้วยอีก


 


"การแยกมิตรแยกศัตรูเราไม่ต้องทำ เขาทำให้เราแล้ว เพราะว่าปัญญาชนขวาจัดที่เข้าไปสนับสนุนอำนาจเผด็จการตอนนี้เขาถือพวกเราเป็นศัตรูอยู่แล้ว คนที่เคยกินข้าวมาด้วยกัน เสี่ยงตายมาด้วยกัน ต่อสู้มาด้วยกัน ทำงานด้วยกันมาเป็นสิบปี มาวันนี้มันจะมาเข่นฆ่าเราแล้ว การแยกมิตรแยกศัตรู การแบ่งข้างได้เกิดขึ้นแล้ว และเขาเป็นคนทำ"


 


"นี่ผมก็เพิ่งโดนมาหยกๆ คำนูณ สิทธิสมาน เขียนว่าผมและ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นพวกไม่เอาสถาบันกษัตริย์ แล้วผมไปเขียนตรงไหนว่าผมไม่เอาสถาบันกษัตริย์ ไม่เคยเขียน ไม่เคยพูด ความจงรักภักดีมันอยู่ในใจไม่ต้องแสดงออก ไอ้พวกที่มันจงรักภักดีออกนอกหน้าพวกนี้มันเกาะเพื่อผลประโยชน์ทั้งนั้น"


 


"เพื่อนพ้องน้องพี่ที่หันไปรับใช้เผด็จการทหารได้หันมาชี้เป้าที่เรา เขาไม่ได้เห็นว่าเราเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่อีกต่อไปแล้ว"


 


และสุดท้าย รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า ภารกิจเฉพาะหน้าของประชาชนคือ ปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ 50, เอารัฐธรรมนูญ 40 กลับคืนมา, ให้มีการเลือกตั้งโดยทันที และจากนั้นให้ผู้แทนประชาชนไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ 40 อย่างถูกต้องทำนองคลองธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net