Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 พ.ค.50 แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร จัดการเสวนาเรื่อง"คนเดือนพฤษภากับการต่อต้านเผด็จการและอุดมการณ์ประชาธิปไตย" ดำเนินรายการโดยนางสาวชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ นิสิตปริญญาโท อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ห้องประชุมตึกอเนกประสงค์ 2 คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





 



วรดุลย์ ตุลารักษ์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจของอาจารย์จรัล ดิษฐาอภิชัย ในหนังสือพิมพ์มติชน ที่มีข้อเสนอว่าคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์พฤษภา และมีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดรัฐประหาร ในปัจจุบันนี้มีแค่สองทางเลือกคือไปขอโทษวีรชนเดือนพฤษภา หรือขอโทษ พล.อ.สุจินดา คราประยูร


 


อาจารย์จรัล กำลังจะพูดถึงเจตนารมณ์เดือนพฤษภาที่มันถูกกัดกร่อนไปโดยบรรดาแกนนำเอง ผมจึงมานั่งคิดดูว่า เจตนารมณ์หรือจิตวิญญาณเดือนพฤษภามันคืออะไร และได้ลองสอบถามคนรุ่นหลังๆ ได้คำตอบมาว่า ส่วนใหญ่จะนึกถึงการกันทหารออกจากการเมือง และนึกถึงนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมันก็คือสัญลักษณ์ของการกันทหารออกจากการเมือง ดังนั้น เจตนารมณ์เดือนพฤษภาจึงมีเป้าหมายแคบกว่าเจตนารมณ์เดือนตุลามาก


 


15 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ไม่ได้บอกพฤษภาเทียบกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ เห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน เจตนาพฤษภาไม่ได้มีเป้าหมายอะไรมากนอกจากเอาทหารออกไป คือ เมื่อ 15 ปีก่อนมันชัดเจนและยึดกุมเป้าหมายนี้เป็นหัวใจ ซึ่งเหมารวมวีรชนในเหตุการณ์ด้วย


 


พอนิยามว่าจิตวิญญาณเดือนพฤษภาว่าคือการกันทหารออก มันก็มีปรากฏการณ์น่าสนใจคือ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว มีคนจัดงานเดือนพฤษภา 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สวนสันติพรใกล้สำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กลุ่ม 11 องค์กร และกลุ่มที่เน้นการปลูกสร้างถาวรวัตถุ ประติมากรรม ผมไม่พูดถึงกลุ่มที่ 3 แล้วกัน แต่ที่น่าสังเกตคือ ปัจจุบันนี้ทุกองคาพยพเต็มไปด้วยทหารกลับมาในการเมือง ดังนั้น เราจะพูดถึงเหตุการณ์พฤษภาอย่างไร เช่น ปัจจุบันนี้ทหารก็เป็นคนรณรงค์ประชาธิปไตยในหมู่บ้าน ทหารนั่งคุมรัฐวิสาหกิจ คมช. เป็นคนออกแบบขั้นตอนทุกอย่างให้พวกเราปฏิบัติตาม รวมทั้งยังกลายเป็นวีรบุรุษที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยไม่ได้


 


15 ปีที่ผ่านมา พฤษภากำลังหลุดมือไปจากคนกลุ่มที่สอง พูดได้เลยว่า พิภพ (ธงไชย) สุริยะใส (กตะศิลา) จำลอง (ศรีเมือง) [พฤษภา] กำลังหลุดมือไปจากคนพวกนั้นที่เอาตัวเองไปไว้ในเหตุการณ์พฤษภามาโดยตลอด พวกเขาคงตอบตัวเองไม่ได้ว่าการที่ทุกองคาพยพมีทหารเข้าไปอยู่ ไม่ว่าจะพูดให้สวยหรูอย่างไร พฤษภาก็กำลังจะหลุดจากมือคนกลุ่มนี้ไป


 


จากเป้าหมายที่เรียวแคบของพฤษภา เรื่องเอาทหารออกไปจากการเมือง นายกฯ มาจากการเลือกตั้งมันได้ลงหลักปักฐานในสังคมมากน้อยแค่ไหน คำตอบก็จะเห็นได้ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบางคนก็เสนอชัดว่าไม่จำเป็นต้องบัญญัติว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้เขียนว่านายกฯ มาจากการเลือกตั้ง นักกฎหมายมหาชนหลายคนก็พูดแบบนี้ ข้อโต้แย้งของผมก็คือ เรื่องนายกฯ มาจากการเลือกตั้งมันมีประวัติศาสตร์ของมัน มีบริบทของสังคมไทย ซึ่งอาจไม่สามารถเปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ มันเป็นสัญลักษณ์ของการกันทหารออกไปจากการเมือง


 


หลังพฤษภาใหม่ๆ ภาพพจน์ของทหารในสังคมไทยค่อนข้างแย่มาก เช่น ทหารไม่กล้าใส่ชุดทหารไปขึ้นรถเมล์ โรงพยาบาลในต่างจังหวัดหลังเหตุการณ์พฤษภาใหม่ๆ ติดป้ายผ้า "ไม่รับรักษาทหาร" ยืนยันได้ที่โรงพยาบาลในฉะเชิงเทรา


 


สำหรับผม เป้าหมายเดือนพฤษภาเป็นเป้าหมายที่แคบกว่าเดือนตุลา ซึ่งมีเรื่องความเท่าเทียม เรื่องอุดมการณ์ ซึ่งทำให้คนหลายกลุ่มมีความเห็นที่แตกต่างออกไป และมันแหลมคม ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่มันจะรักษาไว้ได้ยาก แต่สำหรับเป้าหมายเดือนพฤษภาที่แคบเพียงกันทหารออกจากการเมือง นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เพียงเท่านี้น่าจะรักษาไว้ได้ง่าย แต่มันกลับทำไม่ได้


 


ทำไมเรารักษาจิตวิญญาณนี้ไปไม่ได้ ผมคิดว่ามันมีปัจจัย 3 ประการ คือ 1.หลังเหตุการณ์พฤษภา เรามี "ความเชื่อ" ว่าทหารจะไม่ออกมายุ่งกับการเมือง ไม่กล้าออกจากกรมกอง และเราคิดว่า "รัฐธรรมนูญที่มองไม่เห็น" ฉบับนี้ได้กันทหารออกไปแล้ว เราจึงไม่มีการสร้างกลไกอื่นๆ ในการจำกัดอำนาจทหารอย่างเป็นรูปธรรมแม้แต่น้อย เช่น ให้ผู้ตรวจการรัฐสภาสามารถตรวจงบลับทหารได้ เช่น ในอินโดนีเซีย หลังจากซูฮาโตลงจากอำนาจหลังจากอยู่มา 30 ปี เกิดการปฏิรูปทหารอย่างเป็นรูปธรรม เช่น แต่ก่อนทหารมีโควตาในสภาเยอะ ก็มีการจำกัดที่นั่ง และมีแผนขั้นตอนว่าอีกกี่ปีจะลดจำนวนทหารไปจนเหลือ 0 และที่เราไม่ได้พูดกันก็คือ การปฏิรูปให้เป็นทหารอาชีพ ในอินโดนีเซียไม่มีการเกณฑ์ทหาร และทหารเป็นงานอย่างหนึ่ง ไปสมัครก็ได้รับเงินเดือน


 


ประเด็นที่สองก็คือ หลังจากเดือนพฤษภาเป็นต้นมา เราสร้างสถาบันการเมืองที่อยู่บนอคติ เป็นลบต่อนักการเมืองมาก ความคิดชุดนี้ผลิตโดยชนชั้นนำของไทย เช่นราษฎรอาวุโสบางท่านที่ชอบพูดว่า ประเทศไทยมีแต่นักการเมืองเพียง 2,000 กว่าคนวนเวียนกันแสวงหาประโยชน์ และชนชั้นนำก็มักรังเกียจนักการเมืองและพรรคการเมือง ผมมองว่าการเหมารวมนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งเดียวกันนั้นค่อนข้างประหลาด และไม่อยู่บนหลักการประชาธิปไตย กล่าวคือ เวลาเราพูดถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองเรามักพูดรวมๆ ว่าเป็นสิ่งเลวร้าย แต่ในทางการเมืองแล้วพรรคการเมืองถือเป็นสถาบันที่มีความหมาย ต้องดำรงอยู่เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะมันย่อมมีสมาชิกพรรค มีนโยบายพรรคสอดคล้องกับสมาชิกพรรค และในอนาคตต้องให้สมาชิกพรรคควบคุมพรรคการเมือง


 


ผมขอโค้ดคำพูดแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่งที่เพิ่งเขียนบทความลงใน open online เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาคือ คุณสุริยะใส กตะศิลา ในฐานะของนักศึกษาปริญญาโทรัฐศาสตร์ ท่านก็วิจารณ์รัฐบาลทักษิณว่า "ยุทธศาสตร์งานมวลชนของรัฐบาลทักษิณ ที่มีผู้เชี่ยวชาญงานมวลชน ต้องแต่อดีตสหาย และนักกิจกรรมเดือนพฤษภา เป็นขุนพลปฏิบัติการภาคสนามให้ จนสมาชิกพรรคไทยรักไทยมีมากถึง 14 ล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" สุริยะใสมองว่า สมาชิกพรรคการเมืองคือปัญหาของการเมืองไทย แทนที่มันจะเป็นเรื่องดี แต่มันกลับกลายเป็นปัญหา ผมก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น


 


ประเด็นที่สามที่ทำให้จิตวิญญาณพฤษภาต้องสูญเสียไปก็คือ หลังจากเหตุการณ์เดือนพฤษภา ภาคประชาชนมีแต่การเมืองเชิงยุทธวิธี กล่าวคือ ก่อนหน้าพฤษภามีการพูดถึงหลักการประชาธิปไตย แต่หลังพฤษภามา วิวาทะหลักของสังคมไทยคือ จำลองพาคนไปตาย อันนี้ผมเรียกว่าการเมืองเชิงยุทธวิธี เราจะรู้จักพฤษภาในแง่มุมนี้ เรื่องนี้ก็ส่งต่อการเลือกตั้งหลังจากนั้นด้วย คือพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศว่ายึดมั่นในหลักประชาธิปไตย การเมืองเชิงยุทธวิธีมันอยู่ในการขับเคลื่อนของฝ่ายต่างๆ ที่จะหยิบไปใช้ หรือพูดอีกอย่างว่า พฤษภาถูกใช้ไปในทางยุทธวิธีมาก เช่น การใช้ด้านที่น่ากลัวของพฤษภามาบดบังเจตนารมณ์ของเดือนพฤษภา


 


บทความวันที่ 4 ก.พ.ปีที่แล้ว (2549) เมื่อพันธมิตรฯ กำลังนัดชุมนุมใหญ่อยู่ที่ลานพระบรมรูป บทความของอดีตผู้นำนักศึกษาเดือนพฤษภา อาจารย์ปริญญา เทวนฤมิตรกุล เขียนว่า "บทเรียนพฤษภาถึง 4 ก.พ.เลี่ยงการนองเลือด" หมายความว่าหลังพฤษภา 15 ปี แนวความคิดที่ผลิตขึ้นมาจะเป็นเรื่องยุทธวิธี เรื่องความน่ากลัว บทความชิ้นนี้ไม่มีแม้แต่ประโยคเดียวที่พูดถึงการเอาทหารออกจากการเมือง หรือหลักการพฤษภา กลายเป็นว่าเจตนารมณ์ของเหตุการณ์เดือนพฤษภาเป็นแค่ไม้ประดับ และคนจะรู้จักมันในแง่ยุทธวิธีแทบทั้งสิ้น


 


เรื่องนี้นำมาสู่คำถามที่สำคัญว่า เมื่อมีการเสนอนายกฯ พระราชทานและเสนอให้ใช้มาตรา 7 มีคำถามในหมู่แกนนำพันธมิตรฯ ว่าจะแยกตัวจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หรือไม่ ซึ่งคำอธิบายเป็นการจับแพะชนแกะ บ้างบอกว่าเราต้องร่วมกันสนธิต่อไปเพราะว่าถ้าเราแยกตัวไปจะเกิดความรุนแรงเช่นเหตุการณ์เดือนพฤษภา ด้วยเหตุดังนี้ นักเคลื่อนไหวขับไล่คุณทักษิณจึงหันมาทุ่มเทกับเรื่องยุทธวิธีโดยไม่ดูหลักการ


 


ช่วงหนึ่งผมไปร่วมฟังในเวทีพันธมิตร ก็จะเห็นคุณมนูญกฤต รูปขจร ที่พูดเรื่องการเชิญทหารมาปฏิวัติ การเคลื่อนพลของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไปที่กองทัพบก อันนี้มันหมายความว่า มันไม่มีหลักการเดือนพฤษภาอยู่ในการชุมนุมขับไล่ทักษิณในช่วงที่ผ่านมาเลย


 


ข้อสังเกตอีกอันที่น่าสนใจว่า เหตุการณ์พฤษภามันถูกใช้ตีความไปในเชิงยุทธวิธีมาก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ขณะที่พันธมิตรกำลังชุมนุมอยู่ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศได้ ได้แพร่ภาพผ่านทุกช่องโดยนำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์พฤษภา 35 มาเตือนสติทุกฝ่าย แล้วตัดภาพสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในวันที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร และพล.ต.จำลอง เข้าเฝ้า คือในความหมายนั้น ผ่านมา 15 ปี ในขณะที่เหตุการณ์การเมืองมีความขัดแย้งสูง ก็มีบุคคลนำเหตุการณ์พฤษภามาฉาย ซึ่งออกมาจากบริบทของพฤษภาโดยที่ไม่มีการพูดถึงหลักการเดือนพฤษภา กลายเป็นเรื่องการยุติความขัดแย้ง


 


ข้อสังเกตเหล่านี้สอดคล้องกับความคิดของผมที่ว่า ทำไมเป้าหมายเดือนพฤษภา ไม่สามารถจะคงอยู่ได้ ทั้งที่ผ่านเวลามาเพียง 15 ปีเท่านั้น


 


การเมืองเชิงยุทธวิธีที่กล่าวไปแล้ว การพูดถึงความน่ากลัวของเหตุการณ์พฤษภาโดยไม่พูดถึงหลักการประชาธิปไตยรัฐสภาเลยได้ฝังรากลึกในประชาธิปไตยไทยและได้ลดทอนวิญญาณของพฤษภา


 


สองคือ ผมเคยอ่านบทความและพูดคุยกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของเกาหลี เขาบอกว่าเขาเคยขับไล่เผด็จการ เน้นที่ความกล้าหาญเป็นหลัก เพราะรัฐบาลทหารมีธรรมชาติในการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจถูกเผด็จการจับติดคุก แต่การต่อสู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องใช้สมองและใช้เวลา ในช่วงที่ผ่านมา การต่อสู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐบาลทักษิณ พันธมิตรฯ ของไทยไม่ได้ใช้ทั้งสองอย่าง ทั้งสมองและเวลา


 



  ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข


บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท


 


เป้าหมายของเหตุการณ์พฤษภา ถ้ามองในเชิงตัวบุคคล อาจคือ สุจินดาโกหก สุจินดาสืบทอดอำนาจ นี่อาจเรียกว่า อุดมการณ์ได้ลำบาก แต่หากมองในแง่สังคมวิทยาว่า สังคมทั้งสังคมเป็นบุคคลคนหนึ่ง บอกได้ว่า มีการสืบทอดบางอย่างชัดเจนอย่างปฏิเสธไม่ได้


 


มีสองเรื่อง คือ พฤษภา ไล่ทหารกลับไปกรมกอง ทำให้อย่างน้อย เราเชื่อว่า ทหารกลับไปกรมกองแล้ว แต่จริงๆ ก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ทางวิชาการว่าถึงวันนี้กองทัพเข้ามายุ่งกับการเมืองไหม เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ใจว่า คมช. เป็นตัวแทนของกองทัพได้หรือไม่ เพราะในกองทัพแตกเป็นเสี่ยงจนกระทั่ง คมช. แทบจะไม่ใช่ตัวแทนกองทัพ แต่หากถามว่า ทำไมเคลื่อนไหวในนามกองทัพได้เป็นอีกเรื่อง อาจเพราะมีแบคอัพชัด หรือมีการกระทำอะไรบางอย่างให้กองทัพอยู่นิ่ง


 


สอง การเคลื่อนไหวก่อนเหตุการณ์ พฤษภา คือการรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญของนักศึกษา ชูประเด็นเรื่อง นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ประธานสภาฯ ต้องมาจาก ส.ส. ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ เป็นต้นทุนอันดีที่ทำให้เมื่อมองภาพรวมแล้ว ก่อนและหลังพฤษภาเป็นกระบวนการต่อเนื่องของ "รัฐธรรมนูญนิยม" หรือความต้องการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้น


 


เรื่องทหารกลับเข้ากรมกอง หลังการรัฐประหารเมื่อ 23 ก.พ. 34 ทหารได้รับการต้อนรับจากประชาชนมากมาย โดยทหารมีเงื่อนไขของการทำรัฐประหารคล้ายกันเลย คือเรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว โดยภาคประชาชนไม่ได้เข้มแข็ง เป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้ 15 ปีที่แล้วแทบจะมีแต่นักศึกษาเท่านั้น มีการจัด มหกรรมโกงบ้านกินเมือง ที่วิจารณัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณว่า คอร์รัปชั่นเป็นบุฟเฟ่ต์คาบิเนต เมื่อจัดได้เพียงเดือนเดียว หนังสือพิมพ์ตีข่าวเรื่องคอร์รัปชั่นตาม จากนั้นก็มีรัฐประหาร


 


วันนี้ นักศึกษาคงตัวเล็กเกินไป เลยกลายเป็นเอ็นจีโอเต็มไปหมด ในชื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร


 


สูตรการกลับมาของกองทัพ ทหาร ข้าราชการ เป็นสูตรเดิม คือปั่นกระแสเรื่องคอรัปชั่น เรื่องเจ้า และมีภาคประชาชนเคลื่อนไหว


 


อย่างไรก็ตาม ในวันนั้น เมื่อกลุ่มนักศึกษาที่รู้ตัวว่าหลงกลเสียแล้ว หลังรัฐประหาร นักศึกษาก็เป็นกลุ่มแรกที่ออกมาต้านรัฐประหาร โดยจุฬาฯ ออกใบปลิวแถลงการณ์เป็นที่แรก พอวันที่สอง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีใบปลิวโปรยลงมาจากตึกอเนกฯ นี่คือจุดสำคัญ เพราะ 15 ปีผ่านไป กลุ่มเหล่านี้แทนที่จะเลือกกลับตัว แต่กลับหาเหตุผลในเชิงยุทธวิธีว่า ถูกแล้ว แม้จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ถ้าไม่เกิดรัฐประหารอาจเกิดการนองเลือด นี่คือการเมืองของความกลัวที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์เขียนถึง คือสร้างฉากไว้ก่อน ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่นเดียวกับ 30-40 ปีที่ผ่านมาที่สร้างฉากไว้ก่อนว่า ถ้าไม่ละเมิดสิทธิ์ ไม่รบ คุณจะเจอกับคอมมิวนิสต์


 


15 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า กองทัพ ข้าราชการ ขุนนางทั้งหลายไม่ได้แตกต่างจากเดิม แต่ทำไมผลลัพธ์เขาดีกว่าเดิม คือไม่มีการต้านมากนักหลังจากการรัฐประหาร ผมคิดว่าภาคประชาชนต่างหากที่ถอยหลัง อยู่กับการอุปถัมภ์เอ็นจีโอเสียชิน อยู่กับการอยู่ดีมีสุขเสียชิน ได้รับทุนโดยไม่พึ่งพาตัวเอง ไม่ต่อสู้ดิ้นรนและห่างเหินมวลชน หลงอยู่กับมวลชนจัดตั้งของตนเองเสียจนนิยามว่ามวลชนของตนก้าวหน้าและมวลชนอื่นๆ ล้าหลัง


 


กระบวนการต่างๆ หลังเหตุการณ์พฤษภา ซึ่งจุดประกายโดยผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภา และการเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมของฉลาด วรฉัตร ที่ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เนื่องจากไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนของประชาชน หลังจากนั้นมีการรับลูกเป็นทอดๆ 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมือง โดยประชาชนตื่นตัวอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้น เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นผลผลิตของเหตุการณ์พฤษภาด้วย


 


แต่ขณะที่โลกเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา ภาคประชาชนกลับตามไม่ทัน และคิดไปว่า คน 16 ล้านที่เลือกทักษิณเป็นพวกโง่เง่าซื้อเสียงได้ มองแค่ประเด็นคนดีมีศีลธรรม ทั้งที่ชาวบ้านไปไกลแล้ว รู้แล้วว่าเลือกทักษิณ เพราะจะใช้ทักษิณอย่างไรและจะไล่อย่างไร รู้ว่าจะต้องต่อรองอย่างไร


 


ไม่ว่าใครจะบอกว่ารัฐธรรมนูญมีอุดมการณ์อะไร เสรีนิยม ทุนนิยมอะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ต่อรองได้มากที่สุดเท่าที่เราเคยมี ชาวบ้านเข้าไปได้มากที่สุด และเป็นมันแค่ก้าวแรกของการปฏิรูปการเมือง หลังเหตุการณ์พฤษภา ไม่ใช่เพียงถูกทำให้เหลือแค่ "สุจินดาออกไป" เท่านั้น รัฐธรรมนูญ 40 ก็ยังทำให้หยุดอยู่แค่นั้นด้วย เราลืมไปว่า การปฏิรูปการเมือง ไม่ได้เท่ากับรัฐธรรมนูญ 40 รัฐธรรมนูญ 40 จบกลายเป็นว่าการปฏิรูปการเมืองเสร็จ ซึ่งไม่ใช่ เป็นแค่ก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองและยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ยังมีกฎหมายลูกที่ระบุว่า "ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ร้อยกว่าฉบับที่ยังไม่ได้ออกมา ตรงนั้นเองคือกระบวนการก้าวทีละก้าวของการปฏิรูปการเมือง ต้องไปเร่งตรงนั้นผลักมันออกมาทีหลัง โดยต้องใช้สมองและอดทน การปฏิรูปการเมืองมันเริ่มแล้ว เป็นเด็กที่ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ และสง่างาม


 


ต่อมาเรื่องสื่อ สื่อในปี 2534 ไม่ต่างจากวันนี้ เอาเข้าจริงๆ ว่ากันแฟร์ๆ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหลายๆ คนหัวเก่าในยุค 34 ยุคนี้ก็ยังหัวเก่า แต่บางคนหัวใหม่เห็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 40 มีทัศนะกว้างไกลขึ้น แต่เจอกับดักให้ต้องยอมรับกับการรัฐประหาร คือนักวิชาการที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร


 


อย่างไรก็ตาม อยากให้ความหวังว่า ถึงวันนี้ นักวิชาการและเอ็นจีโอเหล่านั้นกำลังถูกเบียดออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลืออยู่ไม่กี่เหตุผลแล้วว่า ทำไมตัวเองถึงยอมรับการรัฐประหาร ไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหาร ทุกคนประกาศไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเวทีไหนทุกคนต้องฟอกตัวก่อนว่า "ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่..." เช่น กลัวว่าจะนองเลือด นี่เป็นการอธิบายยุทธวิธีที่ดูถูกวีรชนผู้เสียชีวิตมาก เมื่อพูดถึงการนองเลือด วีรชนเหล่านั้นเขาโง่หรือ? เปล่า เขาเห็นความสำคัญของอะไรบางอย่างมากกว่าชีวิต เขาต่อสู้เพื่อคนอื่นมากกว่าชีวิตตัวเอง เราพูดเรื่องการนองเลือดได้ แต่ถ้าพูดมากไปอาจเป็นการดูถูกวีรชนโดยไม่รู้ตัว



 


ส่วนคำถามที่ว่าอะไรสำคัญที่สุดระหว่างความมั่นคงกับเสรีภาพ คำว่า ความมั่นคง ต้องนิยามก่อนว่าความมั่นคงของใคร เช่น ความมั่นคงของชาติถูกหยิบใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ถ้าถามว่า ระหว่างเสรีภาพกับความมั่นคง ผมเลือกที่จะมีเสรีภาพในการกำหนดความมั่นคงของตัวเอง อย่างน้อย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมมั่นใจได้ว่า สี่ปีครั้งไม่เกิน ผมอยู่กับพรรคราชการมาตั้งแต่เด็ก มันยังไม่ไปไหนเสียที รัฐบาลชาติชายมีที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกขึ้นมาทำงานโดยไม่ผ่านกลไกราชการ มีนโยบายของตัวเอง ไม่นานนักเพียง 2 ปี 6 เดือนไปเลย รัฐบาลทักษิณมีนโยบายของตัวเอง ใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ผ่านราชการ ดีไม่ดีไม่รู้ ไปเลยเหมือนกัน ใครจะบอกได้ว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นจากอะไร


 


ผมคิดว่าภายใต้ราชการหรือำมาตยาธิปไตยกลับมาเอาอำนาจคืนอีกครั้ง ถ้าตอบแบบวัฒนธรรม คิดว่าเป็นเรื่องยอมไม่ได้ที่ "ผู้ดีเดินตรอกแล้วขี้ครอกมาเดินถนน"


 


ทางการเมือง ถามว่า ทำไมการขับไล่ทักษิณจึงไปเหมือนสมัยปรีดี พนมยงค์ ผมคิดว่ามันอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถ้าอ่านงานของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล 4 ชิ้น ในประชาไท ตั้งแต่ตุลาคม 2548 จะเห็นภาพว่า อาจารย์ธงชัย พยายามอธิบายว่า สังคมไทยเดินไปภายใต้ "ระบอบประชาธิปไตย" ตัวเล็กๆ กับ "อันมีพระมหากษัตริย์เป็นมุข" ตัวใหญ่ๆ คือพยายามกลมกลืนระหว่างระบอบกษัตริย์นิยมกับระบอบประชาธิปไตย มีการสู้กันสองขั้วระหว่างขี้คอกและผู้ดีเสมอมา


 


สำหรับเรื่องสื่อ ยังไงก็ตาม ผมไม่ได้คิดว่าไทยรัฐจะก้าวหน้า แต่วันนี้ผมก็ยังอ่านไทยรัฐอยู่ เพราะมีหลักการในบท บก.ที่ชัด ไม่เคยเป๋ แต่ฉบับอื่นๆ รวมทั้งที่ทำงานเก่าผมด้วย หลงไปว่าสื่อเป็นแค่กระจก ความเป็นตะเกียงลดลง สื่อไม่ค้นหาความจริง ไม่ตั้งคำถามกับมายาภาพ หมดศักยภาพในการวิเคราะห์ กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ บางทีเว็บไซต์อาจเป็นความหวัง ในสังคมประชาธิปไตยที่อำนาจอยู่กับเรา ทุกคนเป็นนักข่าวโดยสายเลือด เราต้องบอกกล่าวเรื่องราว นี่คือการที่เราคือเจ้าของอำนาจที่จะกำหนดข่าวสาร เสรีภาพ และความมั่นคงของตัวเอง  


 


 


 


สมชาย ปรีชาศิลปกุล


คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่รับพูดเวทีพฤษภา เพราะเราตระหนักว่าเราเป็นคนตัวเล็กๆ ในเหตุการณ์พฤษภา ต้องขอเน้นย้ำ พฤษภาไม่ใช่เป็นการเคลื่อนไหวของเรา เราไม่ใช่ตัวแทน มันมีหลายส่วนประกอบกันมากมาย การบอกว่าเป็นคนเดือนพฤษภาจึงใหญ่เกินไป


 


งานนี้มีการแยกจัด 2 งานคือ พวกสนับสนุนรัฐประหาร และพวกสนับสนุนทักษิณ โดยตัวผมเองนั้นเป็น 2 ไม่เอา ผมไม่เห็นด้วยรัฐประหาร แต่ทักษิณก็มีปัญหาต้องวิจารณ์


 


ทำไมเราต้องมางานรำลึก เพราะเหตุการณ์นั้นมันมีคุณค่าสัมพันธ์กับเรา มีความหมายต่อการดำรงอยู่ของเรา โดยที่ไม่จำเป็นต้องเกิดทัน หรือร่วมเหตุการณ์ การที่พฤษภามีคนจัดหลายกลุ่ม แสดงว่ามันมีความหมายต่อคนหลายกลุ่ม


 


คุณค่านั้นคืออะไร (โชว์เสื้อตัวที่ดังสุดในยุคพฤษภา No More Dictatorship in Thailand) ผมใส่เสื้อตัวนี้สองครั้ง คือ หลังสุจินดาลาออก และหลังจากนั้น 20 ก.ย.49


 


 



 


หลังจากนั้นคืออุดมการณ์ของพฤษภา ก็คือ การผลักทหารออกไป มันไม่ใช่เหตุการณ์สั้นๆ แต่สะท้อนการเมืองไทยในระยะเกือบ 2 ทศวรรษก่อนหน้านั้นที่อยู่ภายใต้ระบอบเปรมาธิปไตย นี่คือสิ่งที่เราเห็นว่ามันเป็นปัญหา แล้วมันก็เริ่มพัฒนาไปสู่นักการเมือง แต่ รสช.กำลังจะผลักโลกกลับไป


 


มันทำให้ระบอบอมาตยาธิปไตยที่ขุนนางมีอำนาจมาก ลดอำนาจลงพร้อมกับการผลักดันระบบการเมืองในรัฐสภา ข้อเรียกร้องในช่วงนั้นชัด เช่น นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ประธานสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นประธานรัฐสภา นอกจากการผลักทหารและการสถาปนาอำนาจนำของระบบรัฐสภา มันยังมีจุดเล็กๆ หรือถูกทำให้เล็ก คือ การเคลื่อนไหวของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง เช่น ชาวบ้านปากมูล พร้อมกับการเคลื่อนไหวของแรงงาน การผลัดดันอำนาจรัฐสภามันมาพร้อมกับการเรียกร้องการกำหนดชะตากรรมตัวเองของชาวบ้านด้วย


 


แต่หลังพฤษภาแล้ว ส่วนอื่นเห็นผล แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกดอง ไม่ถูกพูดถึงหรือทำให้ขยายตัวมากขึ้น


 


หลัง 19 กันยา มีความยุ่งยากในการทำความเข้าใจพอสมควร มันเป็นการดึงเอาระบอบอมาตยาธิปไตยกลับมา ขุนนาง ทหาร ซึ่งเป็นการดึงแบบออกบัตรเชิญด้วย มันต่างกันนิดหน่อย ตอนนั้นมีการจัดมหกรรมโกงบ้านกินเมืองมันเป็นสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่การเคลื่อนไหวปีที่แล้วเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อดึงเอาทหารเข้ามาในการเมืองอย่างชัดเจน มันต่างที่ "อุดมการณ์" ของพันธมิตรฯ ที่ต้องการดึงทหารเข้ามา ตอนนี้เป็น One More Dictatorship โดยภาคประชาชน


 


ไม่น่าเชื่อ 15 ปีผ่านไป ข้อเรียกร้องมัน....ชิบหาย


 


น่าสนใจว่าอุดมการณ์ 2 ชุดที่วางบนฐานที่ต่างกัน มันเกิดได้อย่างไรในเวลาที่สั้นขนาดนี้ 15 ปีสำหรับประวัติศาสตร์สังคมมันสั้นมาก เพราะยังอยู่ในคนรุ่นเดียวเลย เอาเข้าจริงเราไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ หรือมีข้อสรุปกับมันมากเท่าไร


 


พฤษภามีผู้เสียชีวิต มีคนฟ้องกองทัพ เรียกร้องค่าเสียหาย 29 ล้านตอนนั้นค่าธรรมเนียมศาลร้อยละ 2.5 นักศึกษาเห็นว่าการฟ้องนี้ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง จึงรณรงค์ได้เงินมาประมาณ 7 แสนกว่าบาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกฟ้อง เพราะว่ามีกฎหมายนิรโทษกรรม


 


กฎหมายนั้นออกโดยคนที่ลงมือเอง พอขึ้นศาลฎีกา คุณสุมาลีและพวกก็ลดเหลือ 17 ล้าน เสียค่าธรรมเนียมประมาณ 4 แสน ศาลฎีกาก็ยกฟ้อง เพราะมีกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่มีการสืบพยานเลยสักปากหนึ่ง


 


2549 ตุลาการภิวัตน์ ข้อเสนอตุลาการภิวัตน์โดยธีรยุทธ บุญมี ได้รับการตอบรับท่วมท้นในสังคมไทย โดยเฉพาะขุนนางเอ็นจีโอ พันธมิตรฯ โดยที่ชาวบ้านของตัวเองได้ติดคุกไปเป็นจำนวนมาก ก็ยังไม่เข้าใจว่ามันตุลาการภิวัตน์ไปได้ยังไง


 


เราสรุปอะไรบ้าง 15 ปีทหารได้เปลี่ยนอะไรไปบ้าง ศาลได้ทำอะไรบ้างในสังคมไทย ปัญหาในการอธิบายพฤษภาคือ มันเป็นช่วงในชั่วอายุคนเดียว มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่คาบเกี่ยวทั้งสองเหตุการณ์และมีบทบาทนำทั้งสองเหตุการณ์ ปัญหาคือ คุณเชื่อกับคุณค่าของพฤษภาหรือไม่ ถ้าคุณเชื่อ 19 กันยาต้องเป็นสิ่งที่ผิด รวมถึงการเรียกร้องมาตรา 7 ด้วย เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาโดยประชาชน หรือ ถ้าคิดใหม่ ทำใหม่ 19 กันยาต่างหากที่เป็นหนทางดับทุกข์ ก็ต้องออกมารับสารภาพว่า 15 ปีที่แล้วข้าพเจ้าหลงผิด หลงไปประณามกับระบอบอมาตยาธิปไตย ผมจึงเห็นด้วยกับ จรัล อย่างยิ่งสำหรับคนมีบทบาทนำ ถ้ายึดมั่นในอุดมการณ์พฤษภา แล้วหลงไปเชิดชู 19 ก.ย. ต้องออกมาขอโทษวีรชนพฤษภา แต่ถ้าเห็นว่า 19 ก.ย. คุณต้องเดินไปบ้านคุณสุจินดา แล้วไปขอโทษเขาซะ


 


สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง คนที่มีบทบาทนำปรากฏในท่าที 2 รูปแบบ 1.คนที่มีส่วนร่วมกับพฤษภา เขาก็จะบอกว่า "ไม่เคยเห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่อย่างไรก็ตาม คมช.ยังดีกว่า รสช." ท่าทีมันคลุมเครือ อาจกล่าวได้ว่ามียางอายต่อประวัติศาสตร์นิดหน่อย 2.คุณเชิดชู 19 ก.ย.แล้วจัดงานพฤษภาได้ ต้องลงกินเนสบุคเลยว่าเชื่อหรือไม่ มันต้องมีอะไรบกพร่องถ้าไม่กับคนเหล่านั้นก็คงจะกับสังคมไทย เช่น สุริยะใส พิภพ ปริญญา ร่วมกันจัดงานพฤษภา นี่คือวิกฤตของความทรงจำที่มีต่อพฤษภาทมิฬ ก่อนหน้านี้เวลาเราพูดถึงความทรงจำที่มีต่อประวัติศาสตร์ เช่น 14 ตุลา เราจะโทษรัฐว่าบิดเบือน ทำให้มันถูกลืม แต่หลังพฤษภา มันมีสิ่งพิมพ์ วิดีโอ เอกสารทางประวัติศาสตร์ ออกมาเยอะมาก ทุกสำนักพิมพ์ต้องพิมพ์หนังสือเดือนพฤษภา แต่คราวนี้ภาคประชาสังคมทำเอง ลืมเอง และทำให้มันไร้ความหมายเอง ประเด็นนี้สำคัญมาก


 


ถ้าเอาเจตนารมณ์พฤษภาเป็นที่ตั้ง นี่เป็นข้อเสนอขำๆ 15ปีผ่านมา ใครควรเป็นวีรบุรุษเดือนพฤษภา Man of May คนแรก จรัล ดิษฐาอภิชัย เขาพูดในหลักการที่ชัดเจน, ตู่ จุตพร พรหมพันธุ์ เพราะเขายืนยันหลักการอำนาจนำของรัฐสภา แม้ในวันที่นักการเมืองไม่สู้แล้ว


 


ถ้าอยากทำให้งานพฤษภามีความหมายต้องทำอย่างไร เราต้องรำลึกถึงหลักการมันด้วย ถ้ามาโดยไม่สนใจหลักการมันไม่มีความหมาย นอกจากนี้การตรวจสอบการตั้งคำถามก็สำคัญมาก หลักการอันหนึ่งไม่สถิตสถาพร มันอาจเปลี่ยนก็ได้ มันอาจมีระบอบที่ดีกว่าประชาธิปไตยในอีกพันปีข้างหน้า แต่ทั้งหมดนี้ต้องตรวจสอบตั้งคำถามกัน


 


ข้อเสนอผมมีง่ายๆ ถ้าผู้นำเดือนพฤษภาทั้งหมดยังมีเสื้อตัวนี้อยู่ และยังจัดงานเชิดชูวีรชนเดือนพฤษภา ขอให้ใส่เสื้อตัวนี้ในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าคุณจะไปจับมือกับสพรั่ง (กัลยาณมิตร) สุรยุทธ์ (จุลานนท์)สนธิ ลิ้มทองกุล


 


 


 



สมภพ รัตนวลี


ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี ในฐานะอดีตตัวแทนเยาวชนคลองเตย


 


ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ผมชอบสถานการณ์แบบนี้ สังคมไทยมันถึงเวลาต้องปะทะสังสรรค์กันแรงๆ สักที เวลานี้เหมาะกับการหามิตร...และหาศัตรูด้วย


 


เวลาเราเห็นสถานการณ์ทั้ง 3 ช่วง พฤษภา พันธมิตรฯ เคลื่อนไหวใหญ่ๆ และวันนี้ที่แบ่งเป็น 3 ก๊กหลัก


 


สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราได้เห็นว่าพัฒนาการประชาธิปไตยมันคลี่คลาย หรือวนหมุนกลับมาที่เดิม ตอนพฤษภาก็มีหลายกลุ่มเคลื่อนไหว แต่ที่เด่นก็มีกลุ่มจำลอง สนนท. สมาพันธ์ประชาธิปไตย และเรียกกันว่าม็อบรถเก๋ง แต่คนร่วมมีหลายกลุ่ม จัดตั้งจากคลองเตย และคนที่มาจากชนบทที่เอ็นจีโอพาเข้ามาก็เยอะ และคนที่ตายไปก็คนเหล่านี้เพราะหนีไม่ทัน คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้พูดว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยคืออะไร การเคลื่อนไหวของคนยากคนจนไม่มีทางเลือก แต่ยิ่งเราพัฒนาไปเป็นคนชั้นกลางมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งคิดซับซ้อนมากเท่านั้น


 


15 ปีที่ผ่านมา ถึงขณะนี้คนที่ตายในพฤษภาปีที่แล้ว ที่จะตายในการปะทะที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คนที่จะตายในโอกาสข้างหน้า คนที่จะตายก็คือพวกเดิมอีกเช่นกัน พวกที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงิน 300 บาท ตายโดยไม่มีโอกาสได้พูด คนเหล่านี้จะเป็นเพื่อนตายของคนที่ยึดมั่นในทฤษฎี แม้ชาวบ้านจะรู้น้อย รักจริง เราก็ต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าที่เจ็บมาแล้วก็อย่าให้มันเจ็บอีก หรือเจ็บน้อยลง


 


อันที่จริงหลายคนที่เคลื่อนไหวในพันธมิตรฯ ก็เป็นเพื่อนกัน แล้วก็เห็นยุทธวิธีของการเคลื่อนไหว ผมเคยพูดว่าการเคลื่อนไหวนั้นมันแพ้ได้ ไล่ทักษิณข้อหาเยอะแยะ แต่เขาก็อยู่ในระบบ สู้ไปเลย ใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายได้ แต่แพ้ได้ ไม่ใช่จะต้องชนะให้ได้ไม่เลือกวิธี มันจะมีความหมายอะไรเมื่อเคลื่อนไหวแล้วไม่เหลืออะไรเลย


 


เราเคลื่อนไหวคราวนี้ ในการต้านรัฐประหาร มันก็แพ้ได้เช่นกัน ไม่ใช่ดึงดันไปจนไม่เหลืออะไรเลย และถ้าหลักการแม่น ในวันที่ไม่มีทางออก เราจะมียุทธวิธีใดให้เรามี "ทางลง" ได้


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net