บทความพิเศษ: เมื่อนักเขียน"มหรรณพ โฉมเฉลา" เสนอ"รัฐธรรมนูญในดวงใจ"

เมื่อเดือนพฤษภาคมมาถึงเชียงดาว ฝนก็เทหลั่งลงมาไม่ขาดฟ้า ฝนมาเร็วกว่าทุกปี ชุ่มฉ่ำเหลือเฟือ จนผ้าที่ต้องซักไม่ยอมแห้ง แม่บ้านต้องฉกฉวยเอาแดดทุกลำที่ทะลุลงมาจากหมู่เมฆเหนือดอยหลวงมาใช้ตากผ้า ผมคิดถึงเดือนพฤษภาคมของเมื่อหลายปีก่อนที่กรุงเทพฯ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าฝนยังไม่ตกลงมาแม้จะผ่านไปกว่าครึ่งเดือนแล้ว  

 

ต้นเดือนพฤษภาคมนั้น บนถนนราชดำเนิน...

อากาศร้อนอ้าว คนมากมาย กลิ่นอับทึบอึดอัด  เสียงขวดพลาสติกกระทบพื้นเป็นจังหวะ รั้วลวดหนามแบบใบมีดโกนบนสะพานผ่านฟ้า ทหารหน้าตื่นๆ กับปืนเอ็มสิบหก จากเดือนพฤษภานั้นถึงเดือนพฤษภานี้ ประชาธิปไตยของประเทศไทยไปถึงไหนคงไม่ต้องบอก ผมรู้สึกเสียดายเลือดเนื้อ ชีวิตผู้คนที่ต้องสูญเสียไปในเดือนนั้น เพราะดูเหมือนเราจะไม่เอาบทเรียนครั้งนั้นมาเก็บไว้ในหัวใจเลย

 

เดือนพฤษภานี้ ทหารกลับมาครองเมืองอีกครั้ง

ครั้งนี้ทำเก้ๆ กังๆ เหมือนคนไม่เป็นมวยในตอนแรก แต่แล้วก็ดูเหมือนจะเข้าอีหรอบเดิมไปทุกที ที่เก่งที่สุดคือการร้องแรกแหกกระเชอเรื่องเดิมๆ ซึ่งก็คือเรื่องรักชาติ เรื่องระเบียบสังคม เรื่องความมั่นคง เรื่องศีลธรรม เรื่องความสามัคคี เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งล้วนแต่เป็นคำพูดลอยๆ ที่โพล่งออกมาโดยไม่ต้องเกี่ยวเนื่องกับบริบทของสังคมไทยจริงๆ และคนไทยจริงๆ เป็นภาพโรแมนติกแบบ Good old day ของพวกหัวอนุรักษ์นิยม ที่จะรักษาความเป็นไทยให้กลับดีเหมือนเดิม (เดิมดีหรือเปล่าไม่แน่ใจ ที่แน่ใจคืออำนาจและผลประโยชน์ยังตกอยู่ในมือคนกลุ่มเดิมๆ เป็นส่วนใหญ่ ความเป็นไทยในอดีตจึงงดงามดีสำหรับผู้ที่อยู่ในศูนย์กลางแห่งอำนาจ )

 

และถ้าถามเหล่าทหารหาญและพวกอนุรักษ์นิยมลงไปลึกๆ ว่าความเป็นไทยที่ว่านั่นหมายถึงอะไร ก็คงได้คำตอบแบบท่องจำเอาจากหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ และวรรณคดีจากยุคกำเนิดชาตินิยมไทยนู่นแหละ (ซึ่งก็ปะปนอยู่กับโฆษณาชวนเชื่ออย่างแยกกันไม่ออก) พวกที่อยู่ข้างหลังทหารก็ยังเป็นพวกเดิม  พวกอนุรักษ์นิยมมีทั้งเก่าและใหม่ (อย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล) พวกขวาตกขอบในฝ่ายข้าราชการ นำโดยกระทรวงมหาดไทยเจ้าเก่า (หวงอำนาจ คับแคบและครอบงำ) ว่ากันว่าการเมืองในตอนนี้อยู่บนกระแสอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นอำนาจเก่าที่เก่ากว่าอำนาจเก่าของทักษิณ ในบรรยากาศเก่าๆ มืดๆ ทึมๆ เหม็นอับแบบนี้ รัฐธรรมนูญจะออกมาแบบไหน ผมไม่แน่ใจว่ามันจะก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญปี 40

 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลูกผีลูกคนนี้ (เพราะต้องเสี่ยงดวงกับการลงประชามติ) โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ แม้แต่คนขายไข่ปิ้งก็ยังออกความคิดความเห็นได้ อย่ากระนั้นเลย ผมก็มีรัฐธรรมนูญในดวงใจของผมอยู่เหมือนกันจึงอยากจะเสนอในที่นี้

 

ถึงแม้ผมจะไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมายมหาชน แต่ก็จะพยายามร่างจากจุดยืน (ซึ่งเป็นทั้งจุดนั่ง และจุดนอนอยู่ด้วยกันเพื่อที่จะไม่ต้องเปลี่ยนจุดยืนบ่อยๆ )ของผมเอง

 

อาจจะเรียกว่าเป็นฉบับทางเลือก (เป็น Alternative constitution ที่เชื่อขนมกินได้ว่าไม่มีใครเลือก)

 

 

ก่อนอื่นขออารัมภบทว่า...

...อันเนื่องมาจากสยามประเทศแห่งนี้ เป็นดินแดนเก่าแก่ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ มีคนหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่อาศัยปะปนกัน อาทิเช่น มอญ ลาว ไทย เขมร ละว้า ส่วย ฯลฯ แบ่งปันแลกเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติแก่กันและกัน

 

ต่อมา จึงเริ่มตั้งเมืองตั้งรัฐขึ้น มีเจ้าเมือง เจ้าครองนครรัฐ แต่ก็ต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจกันของหมู่ชนทั้งหลายทำความเจริญรุ่งเรืองให้กับรัฐ และปกป้องกันรัฐจากการรุกรานของรัฐอื่น คอขาดหัวกระเด็นมาอย่างเท่าเทียมกันทั้งเจ้าทั้งไพร่ (ส่วนใหญ่เป็นไพร่นิรนามที่ไม่ปรากฏหน้าตาในประวัติศาสตร์) ความเจริญความเสื่อมสลายของนครรัฐต่างๆ เกิดขึ้นตามหลักวัฏสงสาร  แต่ผู้คนในดินแดนนี้มีลักษณะเด่นคือเคารพความแตกต่างทางศาสนา ทางเชื้อชาติ ประเพณีและวัฒนธรรมของคนกลุ่มอื่นๆ อันเห็นได้จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สอดประสานกันอย่างกลมกลืนและยังคงเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน

 

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ดินแดนที่เรียกว่า "สยาม" แห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นประเทศไทย (Thailand)  ทำให้มีความหมายคับแคบว่าเป็นดินแดนของคนไทยเท่านั้น นำมาซึ่งทัศนคติซึ่งสร้างความแตกแยก การเหยียดชาติพันธุ์อื่นให้ต่ำกว่า การไม่เคารพในวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนอื่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงขอกลับไปเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าประเทศสยาม (Siam) ดังเดิม เพื่อคงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกันทั่วไปทั้งดินแดนนี้ อันจะนำมาซึ่งความสมานฉันท์ ความสงบร่มเย็นแก่รัฐสยามตลอดไป (อย่างน้อยก็จะได้ไม่มีพวกชาตินิยมผมยาว ชอบตีไก่มาร้องเพลงถามว่า คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า?)

 

หมวดทั่วไป

สยามประเทศเป็นดินแดนแห่งท้องถิ่นอันหลากหลาย      

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ  จะได้รับการยกย่องเทิดทูนเหนือสิ่งอื่นใด   

 ...ไม่มีมาตราเจ็ด

 

หมวดแรก

ว่าด้วย ศักดิ์ศรี สิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวสยาม

ชาวสยามมีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประเพณี วัฒนธรรมและศาสนา อีกทั้งความคิดทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนชาวสยามที่จะประกาศตน ประกาศความเชื่อของตน และดำเนินชีวิตตามความเชื่อของตนอย่างอิสระเสรี ทั้งนี้โดยไม่กระทบกระเทือนความเชื่อ สิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น และอยู่ภายใต้กฎหมายที่คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวสยามต้องมีเท่าเทียมกันทั่วไปทั้งดินแดนสยาม ผู้ใดจะใช้ตำแหน่งหน้าที่  ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางชาติตระกูลมาเหยียดหยามเหยียบย่ำให้ต่ำกว่ามิได้ ชาวสยามย่อมมีสิทธิขัดขืนต่อกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่รัฐหรือเอกชนออกมาเพื่อลิดรอนศักดิ์ศรี สิทธิและเสรีภาพของชาวสยาม

 

หมวดที่สอง

ว่าด้วยหน้าที่ของชนชาวสยาม

ชาวสยามมีหน้าที่เคารพ และรักษาความแตกต่างหลากหลายทั้งมวลที่อยู่ในดินแดนสยาม

 

ชาวสยามมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  

ชาวสยามมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ

 

ชาวสยามมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนใช้ไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน

 

 

หมวดที่สาม

ว่าด้วยสถาบันต่าง ๆ

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ถือว่าสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในรัฐสยาม เป็นสิ่งถาวร สามารถเปลี่ยนแปร เปลี่ยนแปลงไปได้ตามเหตุปัจจัยต่างๆ เป็นไปตามหลักสัจธรรมที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมต้องเปลี่ยนแปลง ทุกสถาบันเป็นสิ่งสมมติชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะนั้นๆ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะกล่าวถึง ผู้ใดยึดมั่นถือมั่นต่อสถาบันใดสถาบันหนึ่งจนเกินเลย กระทั่งบังอาจทำลายชีวิตของผู้อื่น จะถือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

             

หมวดที่สี่

ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ

รัฐสยามมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณของชาวสยามให้สูงขึ้นเหนือกว่าความเจริญทางเศรษฐกิจ และความเจริญทางวัตถุ             

 

รัฐสยามมีหน้าที่ต้องสนับสนุนการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมเหนือสิ่งอื่นใด ทั้งนี้ให้เป็นไปอย่างลึกซึ้งถึงแก่น และกว้างขวางเท่าเทียมทั่วไปทั้งสยามประเทศ

 

รัฐสยามต้องส่งเสริมให้ชาวสยามมีสุขภาพและพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง โดยสนับสนุนให้ชาวสยามดำเนินชีวิตได้อย่างไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะของตนและผู้อื่น

 

รัฐสยามจะต้องกระจายรายได้และความมั่งคั่งแก่ชาวสยาม ไม่ให้กระจุกตัวอยู่กับชนชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยออกกฎหมายที่จำเป็นอย่างเช่นกฎหมายมรดก กฎหมายปฏิรูปที่ดิน และบังคับใช้แก่ประชาชนชาวสยามทุกผู้ทุกนามโดยไม่มีการละเว้น

 

รัฐสยามจะต้องสนับสนุนท้องถิ่นให้จัดการบริหารท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไปจัดการเองเป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลกลางจะต้องปรากฎตัวให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนในที่สุดท้องถิ่นทั้งหลายกลายเป็นรัฐสยามโดยไม่ต้องถูกปกครองโดยรัฐบาลกลาง...

 

รัฐสยามมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์ ประดุจพี่น้องญาติมิตร เคารพในความแตกต่างทั้งทางด้านการเมือง การศาสนา ไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงต่อกันอย่างป่าเถื่อน

 

 

หมวดที่ห้า

ว่าด้วยการบริหารจัดการท้องถิ่น

ท้องถิ่นมีอิสรเสรีที่จะจัดการบริหาร ทรัพยากร บุคลากร ของตนเอง โดยผ่านความเห็นชอบชองชาวท้องถิ่นเอง ส่วนกลางไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการปกครองหรือแทรกแซงในกรณีใดๆ ยกเว้นในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ  รัฐบาลต้องเข้าไปทำการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันการ

 

ท้องถิ่นต้องเคารพและรักษาความแตกต่างความหลากหลายในท้องถิ่นตนเองและท้องถิ่นอื่น

ให้ยกเลิกกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มิให้เรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า "ฝ่ายปกครอง" อีกต่อไป

 

 

หมวดที่หก  

                     การแก้ไขรัฐธรรมนูญ                     

การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กระทำได้โดยความละมุนละม่อม ห้ามมิให้ใช้กำลังเข้าฉีกทำลายอย่างเด็ดขาด รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ถืออะไรเป็นสรณะจริงจัง ตัวรัฐธรรมนูญเองก็ตั้งอยู่บนหลักอนิจจัง ฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญอาจเป็นไปได้ด้วยความต้องการ และความเหมาะสมของประชาชนชาวสยามทั้งมวล ทั้งนี้จะต้องเชิดชู ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อิสระ และเสรีภาพของปวงชนขาวสยามไว้เป็นหลักการสำคัญ

 

ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จถึงตรงนี้ ฝนก็ตกลงมาพอดี  ผมต้องรีบไปเก็บผ้าที่ตากไว้ก่อนที่แม่บ้านจะบ่น (ก็ผมไม่ได้รับเงินเดือนเรือนแสนให้ไปร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนพวกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนี่คร้าบ  เมียผมจะได้ยิ้มหน้าบาน ไม่บ่นเวลาเสื้อผ้าชุดนักเรียนของลูกๆ เปียกฝน) แต่จะขอทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างเสร็จ มันจะเป็นฉบับถาวรที่ทหารหน้าไหนก็ไม่มีวันมาฉีกทิ้งได้

 

แน่ละ... เพราะมันเป็นรัฐธรรมนูญในดวงใจผม !

 

 

 

                                                                                                             มหรรณพ โฉมเฉลา

                                                                                                            ดอยหลวงเชียงดาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท