Skip to main content
sharethis

คิม ไชยสุขประเสริฐ รายงาน





ธงผืนใหญ่ 2 ผืน โบกสะบัดต้านกระแสลมและแสงแดดกล้า เด่นตระหง่านเหนือที่เพิงพักบนพื้นที่ป่าช้าเก่าข้างป่าพรุแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพิงมุงจากถูกดัดแปลงเป็นสถานที่ต้อนรับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและคณะสื่อมวลชน ที่ติดตามมาทำข่าวการพูดคุยใน "เวทีชาวบ้าน" ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม


ผืนธงสีแดงสดที่ผูกอยู่บนปลายยอด หมายถึงการประกาศรบกับผู้ใดก็ตามที่หมายยึดครองผืนแผ่นดินของชาวบ้าน ส่วนธงเขียวที่มีรูปนกสีขาวอันเป็นตัวแทนพื้นที่ชุ่มน้ำของป่าพรุแม่รำพึง คือสัญลักษณ์ของกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กลุ่มชาวบ้านที่ต้องการปกป้องผืนแดนดินที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ของชุมชน และนี่คือสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านกว่า 200 คน สวมเสื้อเขียวลายเดียวกับธงมารวมกันนะสถานที่แห่งนี้...




ท่าเรือพาณิชย์ซึ่งหลังจากมีโครงการขยายโรงถลุงเหล็กจะถูกพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึก


"เอกสารสิทธิ์ออกมาได้อย่างไร?"
ประชาไทมาพร้อมกับข้อสงสัยที่ยังคงอยู่ในใจชาวแม่รำพึง ต่อการสร้างการสร้างโรงถลุงเหล็ก ทับซ้อนพื้นที่ป่าแม่รำพึง ป่าพรุสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอาจเป็นผืนสุดท้ายของแผ่นดินไทยก็ว่าได้


ความขัดแย้งในพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงเริ่มขึ้น เมื่อมีโครงการขยายโรงถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยา ซึ่งเป็นโครงการที่ 2 ใน 5 โครงการย่อยของ โครงการสร้างโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจร บนพื้นที่ 6,404 ไร่เศษ ใน จ.ประจวบคีรีขันและ จ.ชุมพร ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 และจากการกำเนิดขึ้นของโครงการแรกนั้นก็ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมาแล้วอย่างมากมาย จนทำให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัวขึ้นต่อต้านโครงการอื่นๆ ที่ตามมา


การต่อสู้ของชาวบ้านมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ราวเดือนกันยา 2549 โดยชาวบ้านบางส่วนที่เห็นว่าโครงการนี้ออกเอกสิทธิ์โดยมิชอบ รุกเข้าไปในป่าพรุอันเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะของหมู่บ้าน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยมีการถือครองทำประโยชน์และไม่ควรออกเอกสารสิทธิ์ได้ รวมถึงการรุกใช้พื้นที่ป่าช้าและถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน... นี่คือความถูกต้องแล้วจริงหรือ


ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และตัวแทนของจังหวัดประจวบฯ จึงให้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยบริษัทเครือสหวิริยา ชาวบ้านในพื้นที่ จังหวัดประจวบฯ และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ขึ้นมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม เพื่อเข้าไปตรวจสอบที่ดินและแก้ปัญหานี้ โดยระหว่างดำเนินการได้มีการให้ชะลอการอนุมัติรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนเอาไว้ก่อน แต่ฝ่ายสหวิริยาได้ถอนตัวไม่เข้าร่วมคณะกรรมการฯ โดยให้เหตุผลว่าเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งได้มาโดยชอบ ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ และยังเดินหน้าโครงการต่อไป


แม้ล่าสุดทางคณะกรรมการสิทธิฯ จะยังยืนยันให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้นดำเนินต่อไปเพื่อตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินทั้งหมดในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นการสร้างความหวังในช่องทางการต่อสู้ด้วยกฎหมายแก่ชาวบ้าน แต่การรอคอยยังไร้ซึ่งวี่แววคำตอบใดๆ




ปัญหาเก่าที่ยังค้างคา ปัญหาใหม่ที่จะมาทับถบ
กระบวนการต่อสู้เพื่อชุมชนที่เริ่มต้นจากคนเพียงไม่กี่คน จนวันนี้กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง มีการรวมตัวที่เข้มแข็งขึ้น มีชาวบ้านร่วมต่อสู้มากขึ้น เพราะพวกเขาผู้เข้าร่วมแทบทุกคนได้รับผลกระทบแล้วจากการพัฒนา...


"เรือเล็กที่เคยจับปลาได้สูงสุดวันละเกือบ 100 กิโล ตอนนี้จับได้ถึง 40 กิโลก็ดีมากแล้ว ส่วนเรือใหญ่ก็ต้องออกทะเลไปใกล้ฝั่งมากขึ้นจนบางลำต้องไปหาปลาถึงเขตประเทศเวียดนาม นอกจากนั้นแล้วยังเกิดความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีกมากมายในพื้นที่บางสะพาน หาดแม่รำพึงที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานถลุงเหล็กเดิมนั้น กลายเป็นทะเลโคลน น้ำใสๆ เปลี่ยนเป็นสีดำและส่งกลิ่นเหม็น" พี่สมหวัง พิมสอ ชาวประมงในพื้นที่บอกเล่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บจากสารเคมี ปัญหาฝนเหลืองจากควันพิษ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งและหนักขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะการสร้างโรงงานทับทางระบายน้ำเดิมตามธรรมชาติ ยิ่งทำให้ชาวบ้านวาดภาพถึงอนาคตชุมชนที่ล่มสลายได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น หากมีการก่อสร้างโครงการที่ 2 ซึ่งกินพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติบนป่าพรุกว้างกว่าโรงงานเดิม


ความร้อนมากกว่าพันองศาที่ใช้ในกระบวนการถลุงเหล็กเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านหวาดกลัวถึงผลกระทบของมันต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งการระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชาวบ้านใกล้เคียงโดยการขุดครองก็เป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันอยู่ เพราะชาวบ้านยังหวั่นเรื่องมาตรการจัดการน้ำเสียของโรงงาน และสารโลหะหนักที่จะปนมากันน้ำแม้เพียงเล็กน้อยแต่นานวันเข้าทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนจะกระทบต่อวิถีธรรมชาติ


ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ อย่างที่แม่เมาะ(ลำปาง) มาบตาพุด(ระยอง) หรือที่บ้านกรูดบ่อนอก เป็นบทเรียนของชาวรอบป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งไม่ใช่เพียงการบอกเหตุผลชักจูงตามหลักวิชาการ หรือการต่อสู้ขับไล่อย่างเลื่อนลอย แต่มันคือการต่อสู้บนฐานความจริงที่ห่วงโซ่การดำเนินชีวิตร่วมกับธรรมชาติของชาวบ้านที่ถูกรบกวน


พันธมิตรชาวบ้าน ความร่วมมืออันแน่นเหนียว
ผลกระทบที่ชาวบ้านได้บอกเล่าสู่ผู้มาเยือนหน้าใหม่อย่างเรามากมาย ไม่เพียงแต่พิษภัยจากโรงงาน เพราะนี่คือความขัดแย้งเชิงนโยบายของรัฐกับสิทธิชุมชน  ความเดือนร้อนของชาวบ้านจึงไม่มีใครหรือหน่วยงานใดกล้ายืนมือเข้ามารับรอง การร้องเรียนใดๆ ต่อหน่วยงานราชการไร้สียงตอบรับ อีกทั้งยังมีจากอิทธิพลขมขู่จากในพื้นที่ ดังนั้นการรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมี พึงได้ จึงเป็นคำตอบอันชอบธรรมสำหรับชาวบ้านที่นี่


"เราจะช่วยเหลือกัน ต่อสู้ร่วมกันในฐานะพี่น้องที่ประสบปัญหาเหมือนๆ กัน ไม่มีความขัดแย้งในอดีตเข้ามาเกี่ยวข้อง..." คำพูดของพี่จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด พันธมิตรที่เข้มแข็งจากการต่อสู้กับนโยบายรัฐจนชาวบ้านกรูดแข็งแกร่งมาจนทุกวันนี้ แม้ไม่ได้จบการศึกษาในระบบที่สูงส่ง แต่ประสบการณ์ในชีวิตทำให้พี่จินตนาได้กลายมาเป็นทีปรึกษาแก่แกนนำและชาวบ้านเพื่ออนุรักษ์ป่าแม่รำพึง


รอยร้าวของสองชุมชนในอดีตจากการลงชื่อสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าบ้านกรูดของชาวบ้านบางสะพานโดยการชักใยอยู่เบื้องหลังของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ได้ถูกลบเลือนและผสานให้แนบแน่นในฐานะผู้ถูกทำร้ายจากแผนพัฒนาของรัฐเหมือนๆ กัน กลายเป็นความร่วมมือของคนตัวเล็กๆ ที่จะช่วยกันต่อสู้กับอำนาจทุนและอิทธิพลเถื่อน กับเวลากว่า 9 เดือนเพื่อเรียนรู้และต่อสู้ด้วยพลังประชาชน คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการพัฒนากลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงให้กล้าแกร่งยิ่งขึ้น




ความหวาดระแวงฉายอยู่ในแววตา
ประชาไทโชคดีที่เดินทางเข้ามาถึงพื้นที่จัดงานก่อนสื่อมวลชนคณะใหญ่ จึงได้เห็นการจัดเตรียมงานของชาวบ้านจากหมู่บ้านทั้งใกล้ไกลที่พร้อมใจสวมเสื้อเขียวเพื่อยืนยันการเป็นพวกพ้องเดียวกันและมาร่วมกันด้วยใจเต็มร้อย  แม่บ้านเตรียมข้าวปลาอาหารต่างๆ ในเพิงที่ดัดแปลงเป็นโรงครัวตั้งแต่เช้า เพื่อเลี้ยงชาวบ้านที่มาร่วมงานและจัดต้อนรับผู้มาเยือนจากเมืองไกล โดยวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารนั้นล้วนเป็นของที่เก็บมาหาได้ในท้องถิ่น และเป็นของที่ชาวบ้านนำมาช่วยงาน จนแทบไม่จำเป็นที่จะต้องไปซื้อหาแต่ทำให้เราอิ่มอร่อยกันได้ในทุกๆ มื้อของวัน


สิ่งที่สังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่งคือการแบ่งหน้าที่ของชาวบ้านในการเตรียมงานโดยชาวบ้านแต่ละคนก็ทำหน้าที่ต่างกันไป แต่หน้าที่หนึ่งที่น่าสนใจคือการ์ด ผู้คอยตามประกบดูแลเราตลอดเวลา เมื่อถามไถ่จึงได้คำตอบซื่อๆ ว่าเพราะประชาไทเป็นนักข่าว ซึ่งเข้าใจได้ในแง่ความสำคัญของการเผยแพร่ข่าวสารที่มีต่อชาวบ้าน แต่คำถามก็ตามกลับมาว่าสถานการณ์การต่อสู้ในพื้นที่มันเลวร้ายถึงขนาดนั้นเชียวหรือ...


คำตอบจากสายตาหวาดระแวงของชาวบ้านซึ่งทยอยมาร่วมงาน เป็นเครื่องบ่งชี้ความไม่ไว้ใจที่มีต่อคนต่างถิ่นได้เป็นอย่างดี พี่การ์ดชาวบ้านจึงอาสาให้คำอธิบายว่าชาวบ้านกลัวอิทธิพลของโรงงานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่อาจแอบเข้ามาเก็บขอมูลและเข้ามาทำร้ายชาวบ้านได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงมีชาวบ้านอีกหลายคนที่สนับสนุนการทำงานของกลุ่ม แต่ไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัว โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นลูกจ้างของโรงงานเอง






การมาเยือนของ ม.เที่ยงคืน
ในช่วงบ่ายของวันที่อากาศร้อนจัด การมาถึงของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และคณะสื่อมวลชน นำโดยอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ และอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม ได้สร้างความคึกคักแก่ชาวบ้านหลายร้อยคนที่มารอต้อนรับ เสียงกลองยาวนำขบวนผู้มาเยือนปลุกเร้าความสนใจ พวงดอกไม้ และน้ำมะพร้าวเย็นๆ ถูกนำมาต้อนรับด้วยความกระตือรือร้น การมาเยือนครั้งนี้นอกจากจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจแล้ว ยังแฝงความคาดหวังในหัวใจของชาวบ้านที่จะได้มีโอกาสบอกเล่าปัญหาและการต่อสู้ในพื้นที่ให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับรู้


การอ่านประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แม้จะมีปัญหาเนื่องจากการเดินทางไกลและความร้อนของอากาศที่แผดเผา แต่ทุกอย่างก็ลุล่วงไปด้วยดี จากนั้นจึงมีการร่วมกันปักป้าย พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม บริเวณทางเข้าเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในการร่วมสนับสนุนการทำงานของชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพย์ของชุมชนและแผ่นดิน





เข้าสู่พื้นที่ป่าพรุ
รถไถแรงดี 4 คัน พร้อมพลขับผู้เจนสนาม ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับเยี่ยมชมสภาพป่าพรุและพื้นที่ปัญหากรณีพิพาท ภาพความทุลักทุเลในการเดินทางของนักวิชาการผู้เจนจัดการวิพากษ์สังคมคงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยาก แต่ชาวบ้านบางสะพานได้ทำให้เราได้เห็นภาพอีกมุมหนึ่งของความเป็นปุถุชนที่มีในตัวท่านเหล่านั้น


บนเส้นทางการสำรวจของคณะเดินทาง ป่าพรุที่ชุ่มช่ำไปด้วยน้ำและความหลากหลายของพันธุ์ไม้ บางแห่งพบเศษซากต้นไม้ล้มระเนระนาดเป็นทางยาวเพาะถูกนำรถขนาดใหญ่เข้าบุกทำลาย และร่องรอยที่เกิดจากการถูกไฟร้อนเผาผลาญจากน้ำมือมนุษย์ผู้หวังเพียงผลประโยชน์ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่เป็นระยะในพื้นที่ป่าพุที่อุดมสมบูรณ์ แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะหนักหนาสาหัสต่อความรู้สึกเพียงใด แต่ชาวบ้านกลับไม่สามารถไปเรียกร้องเอาผิดต่อใครได้เพราะไร้ทั้งหลักฐานและพยาน


ชาวบ้านทำได้ก็เพียงการเฝ้าระวัง ชูธงแดงผืนใหญ่ประกาศพร้อมต่อสู้ และวางเวรยามเฝ้าดูแลพื้นที่ป่าทั้งวันทั้งคืนไม่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาทำร้ายป่าให้บอบช้ำมากไปกว่าที่เป็นอยู่... ทุกวันนี้พี่น้องชาวบ้านหลายคนแทบจะไม่ได้ประกอบอาชีพของตัวเองเพราะต้องออกมาขับเคลื่อนในกระบวนการต่อสู้ ต้องออกมาอยู่โยงเฝ้าดูสมบัติอันล้ำค่าขอพวกเขา และที่น่าสนใจคือการอยู่ยามดูแลป่าเป็นความสมัครใจที่ไม่ต้องมีการกำหนดหน้าที่ ซึ่งในแต่ละวันจะมีชาวบ้านที่เต็มใจอาสามาดูแลป่าไม่ต่ำกว่าสิบคน


ระหว่างการเดินทางชาวบ้านที่ร่วมขบวนรถต่างพากันบอกเล่าข้อมูลวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับป่าและปัญหาที่พวกเขาได้เผชิญมา ซึ่งเชื่อแน่ว่าชาวบ้านอีกหลายคนที่ไม่ได้ได้เดินทางมาด้วยต่างก็มีความรู้สึกรัก หวงแหน และต้องการจะดูแลรักษาพื้นที่สาธารณะแห่งนี้เพื่อผลประโยชน์ของลูกหลานไม่ต่างกัน


ในขณะที่การขยายพื้นที่อุตสาหกรรมลุกคืบเข้ามาใกล้ตัวพวกเขามากขึ้นทุกทีๆ สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านยืนหยัดอยู่ได้คือความหวังที่เป็นพลังหล่อเลี้ยงให้พวกเขาต่อสู่ต่อไป... ไม่มีเงิน ไม่มีงาน แต่ชาวบ้านก็อยู่ได้ เพราะพวกเขาอยู่ร่วมกับธรรมชาติ หากินกับป่ากับน้ำได้ตราบเท่าที่ความอุดมสมบูรณ์ยังไม่ถูกทลายด้วยน้ำมือของนายทุนที่หวังแต่การกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัว


วงสนทนายามค่ำ
พักเหนื่อยจากการชมธรรมชาติและเก็บข้อมูลอย่างเต็มตาเต็มใจ ก็ถึงคราวเติมอาหารให้เต็มกระเพาะด้วยกับข้าวพื้นถิ่นที่ช่วยเติมพลังแถมรับประกันไม่มีสารเคมีตกค้าง แล้วเติมเต็มความคิดกันต่อในเวทีสนทนาโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับแกนนำชาวบ้าน


วงสนทนามีการพูดคุยถึงปัญหาช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้เกิดการฉกฉวยผลประโยชน์ ซึ่งทำให้ชาวบ้านต้องตกเป็นผู้ถูกเอาเปรียบ เบียดเบียนผลประโยชน์ และละเมิดสิทธิไปได้โดยชอบ(ตามกฎหมาย) ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการนำเสนอสิทธิในการดื้อแพ่งทางกฎหมาย และส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือในการขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ของชาวบ้านจะต้องมีการทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ มีการออกสื่อและเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในสังคม


แม้ว่าวงสนทนาในค่ำวันนี้จะว่าด้วยเรื่องทางวิชาการ ที่นำเสนอโดยนักวิชาการ ด้วยวิธีการพูดคุยแบบวิชาการ แต่ชาวบ้านทั้งหญิงชาย ที่หอบลูกจูงหลานมานั่งฟัง ด้วยบรรยากาศแห่งความสนใจใคร่รู้ไม่ได้แตกต่างไปจากห้องเรียนของผู้มีการศึกษาระดับสูงหรืออาจดีกว่าเสียด้วยซ้ำ


จากที่ชาวบ้านเคยถูกให้ความหมายในเชิงหยามเหยียดว่าเป็นผู้ด้อยความรู้ด้อยภูมิปัญญาและจะกดขี้เอารัดเอาเปรียบอย่างไรก็ได้ ในวันนี้การเรียนรู้เพื่อที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติแห่งผืนแผ่นดินของพวกเขา ทำให้เขาได้เปิดโลก ทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เกี่ยวพันกับวิถีการดำรงอยู่ในสังคมแห่งการแข่งขันเพื่อเตรียมการสำหรับการเดินหน้าของขบวนการต่อสู้... ต่างจากนายทุนที่หลงตัวอยู่ในกะลาแห่งความมั่งคั่ง ที่คิดว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกอย่าง


การสนทนาจบลง แต่ไฟในเพิงพักยังไม่มืดดับ เสียงเพลงของนักดนตรีจากบ้านกรูดยังคงขับกล่อม ยามค่ำคืนชาวบ้านยังคงมีภารกิจของพวกเขาที่ต้องดำเนินต่อไปถึงรุ่งสาง ถึงพรุ่งนี้ และถึงวันต่อๆ ไป...


...หันไปมองธงผืนใหญ่ที่กำลังโปกสะบัดเหมือนเป็นการบอกลา ท่ามกลางความมืดมิด แต่ยังดีที่ในคืนนี้มันมีดวงดาวมากมากอยู่เป็นเพื่อน มองลงมาเจ้าธงผืนใหญ่คงยืนเด่นอย่างไม่เดียวดายเพราะข้างล่างของมัน ผู้คนมากมายยังยืนหยัดต่อสู้พร้อมไปกับมัน...


ข่าวประชาไทย้อนหลัง
"ขบวนการเสื้อเขียว" การต่อสู้เพื่อป่าพรุผืนสุดท้ายของบางสะพาน, นพพล อาชามาส รายงาน, ประชาไท, 3 พ.ค. 2550
ม.เที่ยงคืนร่วมกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ประกาศที่ป่าพรุเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม", ประชาไท, 28 พ.ค. 2550
ชาวบางสะพานร่วม ม. เที่ยงคืน ประกาศ "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม", ประชาไท, 27 พ.ค. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net