Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 30 พ.ค. 50 สืบเนื่องจากคดีที่อดีตลูกจ้าง 38 คน เป็นโจทก์ ฟ้องนายจ้างบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด กรณีที่ลูกจ้างได้รับฝุ่นฝ้ายจากการทำงานจนเป็นโรคบิสซิโนซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ตั้งแต่ปี 2538 เรียกค่าเสียหาย 57 ล้านบาท


ทั้งนี้ ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาชั้นต้นไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 46 ว่า จำเลยมีส่วนประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย จึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย และถือว่าโรงงานเป็นแหล่งมลพิษก่อให้เกิดการแพร่กระจาย อันเป็นเหตุได้รับอันตราย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยกำหนดค่าเสียหายให้คนละ 1-2 แสนบาท รวม 37 คน และยกฟ้องโจทก์คนหนึ่งซึ่งแพทย์ตรวจภายหลังว่าไม่ได้เป็นโรคดังกล่าว โดยที่จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลในเวลาต่อมานั้น


วันนี้ (30 พ.ค.) เวลา 13.30 น. ที่ศาลแรงงานกลาง กรุงเทพมหานคร ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่จำเลยอุทธรณ์ ซึ่งพิจารณาแล้วว่าอายุคดีความยังไม่หมด แม้เวลาจะผ่านมากว่า 10 ปี เนื่องจากเป็นการฟ้องตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ส่วนผ้าปิดจมูกของโรงงานนั้นก็ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลว่าสภาพแวดล้อมในโรงงานตั้งแต่ปีที่เกิดเรื่องจนปัจจุบันดีขึ้นด้วย เท่ากับนายจ้างละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานและคนป่วยถึง 11 ปี


ทั้งนี้ มีคำตัดสินโดยสรุปว่า ให้ยืนยันความผิดจำเลยตามคำพิพากษาในชั้นต้น และให้จำเลยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้จำเลย 37 คนภายใน 15 วัน เป็นจำนวนเงินที่ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลได้ตัดสินให้จ่ายในชั้นต้น ประมาณคนละ 10,000-110,000 บาท บวกกับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง


หลังศาลอ่านคำพิพากษา นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย อดีตลูกจ้าง ซึ่งเป็นโจทก์คนที่ 1 กล่าวว่า ลูกจ้างที่เป็นโจทก์มีความพอใจในคำตัดสิน แม้จำนวนเงินที่ศาลได้พิพากษาให้บริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพจ่ายจะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งในส่วนของเธอนั้น เดิมศาลตัดสินให้จำเลยจ่าย 2 แสนบาท วันนี้คำตัดสินให้จำเลยจ่าย 1 แสน 1 หมื่นบาท


"เราพอใจคำตัดสิน เราได้เรียกศักดิ์ศรีคืนมา หลังจากที่ตลอด 11 ปี ถูกละเมิดศักดิ์ศรีมาตลอด นายจ้างมองว่าไม่น่าจะป่วย สภาพจิตใจเราเสีย เราเสียทั้งเวลาและโอกาสไปเยอะ วันนี้แม้เงินจะน้อย แต่ก็รู้สึกว่ามีความเป็นคนมากขึ้น ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ที่สำคัญคือ คดีนี้เป็นตัวอย่างว่า ลูกจ้างสามารถฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ได้ แม้จะได้รับค่าชดเชยจากกองทุนทดแทนแล้ว ซึ่งอย่างไรก็ไม่คุ้มกับสุขภาพที่เสียไป"


นางสมบุญ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ คงจะรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในโรงงานกับผู้ใช้แรงงานต่อไป เมื่อมีคำตัดสินรับประกันแล้ว เราพูดอะไรคงจะมีน้ำหนักขึ้น คำพิพากษาคดีนี้จะเป็นบทเรียนให้โรงงานต่างๆ หันมาให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ให้รู้จักระแวดระวังสภาพที่ทำงาน ไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพลูกจ้างในภายหลัง


อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ลูกจ้างบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ ประมาณ 200 คน ได้รับการวินิจฉัยโรค จาก พ.ญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล แพทย์ประจำคลินิกอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลราชวิถี ว่าป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ซึ่งกลุ่มลูกจ้างดังกล่าวได้เรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่บริษัทปฏิเสธและให้ออกจากงาน นอกจากนี้ ยังได้ฟ้องศาลให้เพิกถอนผลการวินิจฉัยโรคของกลุ่มแรงงานดังกล่าว เป็นเหตุให้ลูกจ้างบางส่วนไม่ได้รับเงินกองทุนทดแทน


 


 


......................
อ่านข่าวย้อนหลัง


ผู้ป่วยโรคฝุ่นฝ้ายชี้ 11 ปีผ่านไปยังไม่ได้รับการคุ้มครองสุขภาพ 1 พ.ย.49


สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ร้องรมว.ยุติธรรม-แรงงาน ยื่นมือช่วยคดีฝุ่นฝ้ายที่ยืดเยื้อนาน 11 ปี 10 พ.ย. 49


อดีตคนงาน "ฝุ่นฝ้าย" ปัดคำท้านายจ้างให้ตรวจใหม่ เผยหมอยันเป็นโรค แต่กลัวขึ้นศาล 18 พ.ย. 49


โจทก์คดี "ฝุ่นฝ้าย" กล่าวชัด ถ้าไม่เรียกร้อง นายจ้างก็ไม่เคยเหลียวแล 19 เม.ย. 50


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net