Skip to main content
sharethis

 

คิดหรือไม่ว่า...วัน หนึ่งความหวาดระแวงอาจทำให้ คนที่เคยจิบกาแฟด้วยกันในตอนเช้า หันมาจับอาวุธฆ่ากัน และความหวาดระแวงนั้นอาจขยายความโกรธแค้นกันไปถึงขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ถึงวันนี้ เรื่องแบบนี้คงไม่ใช่การวิตกเกินเลยไปกระมัง
ด้วยความหวังว่า สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 "ประชาไท" จึงจัดเวทีสนทนาวงปิด โดยมีวิทยากรที่อยู่ในระดับ "รู้จริง" ประกอบด้วย อับดุลอายิ อาแวสือแม นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส ผศ.อับดุลเลาะ อับรู วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นิรามาน สุไลมาน กรรมการหอการค้าจังหวัดปัตตานี สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย Human Right Watch จอน อึ๊งภากรณ์ ดำเนินรายการ
เพื่อ เปิดทางให้เสียงที่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัวจากสถานการณ์ได้พูด "ความจริง" ที่หายไป เพราะ "ความจริง" จะนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง ต่อมาหลังการสนทนาจึงได้นำเสนอผลสรุปผ่านรายงานสั้นๆ ชื่อ "เรื่องสำคัญจึงสนทนา : เสวนา "ประชาไท" ทางออกปัญหาใต้..."ไม่มี" และสัญญาว่าจะนำรายละเอียดมานำเสนออีกครั้ง
"ประชาไท" ขอทำตามสัญญาแล้ว
ด้วยรายละเอียดที่มาก จึงแบ่งรายงานนี้เป็น 3 ตอน ตามประเด็น ได้แก่
1: เชื้อไฟหนุนเนื่อง เป็นการสนทนาเกี่ยวกับเหตุปัจจัยแห่งปัญหา 
2 : ร้อนรุ่มสุมอก เสียงสะท้อนจากผู้อยู่ในพื้นที่
3 : ถอนฟืนใต้ไฟ บทสนทนาที่ว่าด้วยทางออกสำหรับสถานการณ์
ย้ำอีกครั้งหนึ่ง...เพราะสำคัญจริงๆ จึงสนทนา
0 0 0
1
เชื้อไฟหนุนเนื่อง
…………………………………………………………………………………………………….
 
"...ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในภาคใต้
คือความไม่ตกผลึกทางความคิดในการจัดการกับปัญหา
คนในสังคมยังไม่พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาในภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา ..."
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น
3 ปีที่เกิดความรุนแรงในภาคใต้ มีชุดของผู้ปฏิบัติ 2 ชุดใหญ่ คือก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ ไม่ค่อยเห็นความแตกต่างในแง่สาระสำคัญระหว่างชุดเก่ากับชุดปัจจุบันมากมาย ส่วนในแง่เหตุการณ์ ชุดปฏิบัติปัจจุบันกลับเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ตัวเลขสถิติบอกว่า ความรุนแรงที่เกิดก่อนการยึดอำนาจโดยเฉลี่ย 146 ครั้งต่อเดือน หลังยึดอำนาจกลับมีความรุนแรงเพิ่มเป็น 169 ครั้งต่อเดือน สถิตินี้เป็นสถิติ 5 เดือนก่อนการยึดอำนาจและ 5 เดือนหลังการยึดอำนาจ ประเด็นคือ แม้ความรุนแรงอาจมีสถิติขึ้นลงได้ แต่ถ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ชวนสงสัยหลายอย่าง
ประเด็นแรก เห็นด้วยในทางทฤษฎีหรือในทางหลักการ 100 เปอร์เซ็นต์ในแนวคิดสมานฉันท์ว่าต้องทำ แต่ในทีมปฏิบัติขอตั้งคำถามและสงสัยว่ามัน deliver(ปฏิบัติจริง) ได้หรือเปล่า
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 หลังพล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์) รับ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ ได้พูดว่า "ขอโทษ" ซึ่งได้รับเสียงปรบมือและแรงสนับสนุนมาก แต่หลังจากคำ "ขอโทษ" นั้นกลับไม่นำไปสู่อะไรเลย ไม่เกิดการปรับปรุงโครงสร้างของการบริหารงานในภาคใต้ที่เห็นได้ชัดถึงรากถึง โคนว่าจะเปลี่ยนแปลง เป็นแต่เพียงคำพูดเรื่องการสมานฉันท์
บางคนอาจจะเถียงว่า มี ศอ.บต. (ศูนย์อำนายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) แล้ว แต่ในทัศนะที่แสดงออกมาตลอดไม่ได้แสดงว่าเปลี่ยนแปลง แต่มันกลับบอกอย่างหนึ่งว่า "มี" ศอ.บต. กับ "ไม่มี" ศอ.บต. ก็มีค่าเท่ากันหรืออาจจะแย่กว่า เพราะหมายถึงมีหน่วยงานมาพะรุงพะรังเพิ่มอีกหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น
ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) ได้ยินจนชินชาว่า ทำผิดอย่างใหญ่หลวงในการแก้ปัญหาภาคใต้เพราะยุบ ศอ.บต. แต่ 3 เดือนหลังจากการฟื้น ศอ.บต. ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ทุกวันยังเกิดเหตุการณ์จนแทบไม่รู้ว่ามี ศอ.บต. อยู่ ไม่แน่ใจว่านายพระนาย (สุวรรณรัต) มีความสามารถอย่างที่คุยหรือไม่ พูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่แน่ใจว่าการฟื้น ศอ.บต. มีประโยชน์อะไรมากนัก นอกจากทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้น แต่ไม่ได้เข้าไป tackle(จัดการ) ปัญหาอย่างถึงรากถึงแก่น
วิธี การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้ของรัฐบาล พูดไปแล้วความรับผิดชอบทั้งหมดตกอยู่บนบ่าของกองทัพมากกว่าใครทั้งหมด สมัยทักษิณก็อยู่ในมือกองทัพ สมัยนี้ยิ่งพูดได้ชัดว่าอยู่ในมือกองทัพ เพราะกองทัพไม่มีใครขวาง และไม่มีนักการเมืองมาเดินเพ่นพ่านให้เกะกะลูกตาแล้ว ไม่มีอำนาจของตำรวจ เมื่อก่อนทักษิณเป็นนายกรัฐรัฐมนตรีก็บอกว่าดึงอำนาจเข้าตัวเองมากเกินไป ใช้ตำรวจ ไม่ไว้วางใจทหาร พอมาทุกวันนี้อยู่ในมือทหารหมด ความรุนแรงกลับยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ซ้ำเป็นในทิศทางที่ตรงกันข้าม แต่ประเด็นที่สำคัญคือ กลุ่มผู้ปฏิบัติการยังสามารถใส่ความโหดร้ายเข้าไปในการปฏิบัติการได้มากกว่า เก่า
ทุก วันนี้การฆ่าตัดคอเป็นเรื่องพื้นๆ ไปแล้ว ถึงขนาดจ่อยิงทีละคน ลองคิดดูเถิดว่า ระหว่างที่เห็นแววตาขอชีวิตอยู่ แล้วยังตัดสินใจยิง นี่ไม่ใช่เรื่องที่คนปกติธรรมดาจะทำได้ คนอย่างนี้ต้องฝึกมาดีแล้ว เป็นมืออาชีพก็ว่าได้ นี่คือความพยายามใส่element (องค์ประกอบ) ใหม่ๆ ในการปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีทั้งรูปแบบใหม่ของการปิดล้อมหมู่บ้าน การระดมคนมากดดันรัฐ นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่เรามีปัญหาตั้งแต่รากเหง้าวิธีคิดของคนที่อยู่ในอำนาจในปัจจุบันว่าจะ จัดการปัญหาภาคใต้อย่างไร
ประเด็น แรก รัฐบาลนี้เหมือนรัฐบาลก่อน ยังพึ่งการปฏิบัติการทางทหารเป็นสำคัญ แม้ว่าจะพูดเรื่องสมานฉันท์ แต่มองไม่เห็นวิธีการสมานฉันท์ที่เป็นเรื่องเป็นราว ปัจจุบันมีทหารอยู่ 35,000 คนแล้ว ซึ่งคิดว่ามีมากกว่าโจร รัฐบาลยังบอกว่าจะเพิ่มจำนวนอีกในกว่า 30 อำเภอ ไม่แน่ใจว่าทหาร 35,000 คน ถ้าเดินทุกพื้นที่ก็คงหาที่เดินไม่ได้แล้ว แต่เกิดอะไรขึ้นกับการปฏิบัติการทางทหารที่ต้องการกำลังมากขนาดนั้นแล้วยังบอกว่าไม่พอ
ในการปฏิบัติการยุคทักษิณก็มั่ว ตอนนี้ก็ยังมั่วอยู่ ปัจจุบันถามว่า ใครเป็นคนรับผิดชอบในปัญหาภาคใต้ บางคนบอกว่าแม่ทัพภาคที่ 4 บางคนบอกว่านายพระนาย บางคนว่าผู้ว่าราชการจังหวัด บ้างก็ว่า พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน) หรือในรัฐบาลระหว่าง พล.อ.สนธิ พล.อ.สุรยุทธ์ นายอารีย์ (วงศ์อารยะ) ใครต้องตอบคำถามสุดท้ายว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือใครเป็นคนตัดสินใจ?
ยิ่ง ไปกว่านั้น ที่ปรึกษาทางกองทัพและฝ่ายความมั่นคงพูดเลอะเทอะในหลายประเด็น เช่นการพูดว่า ขบวนการได้นำวิธีการแบบเจไอหรือลัทธิเจไอเข้ามา คำแนะนำด้วยข้อมูลแบบนี้ พิสูจน์ไม่ได้สักอย่างว่ากลุ่มผู้ปฏิบัติการในภาคใต้มีความสัมพันธ์อะไรกับ เจไอ หรือแม้กระทั่งความคิดแบบเจไอคืออะไร จะบอกว่าความโหดร้ายทารุณหรือคือเจไอ ซึ่งไม่คิดว่าแบบนี้เป็นประเด็น แต่เขาก็พูด
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2550 ก็ พูดอีกว่า ถ้าตั้งสภาซูรอจะช่วยได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยหยุดความรุนแรงขั้นกลาง ขั้นสุดท้ายหรือขั้นต่อไปอย่างไร ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในภาคใต้ คือความไม่ตกผลึกทางความคิดในการจัดการกับปัญหา คนในสังคมยังไม่พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาในภาคใต้อย่างตรงไปตรงมาและจริงจัง
ใน สถานการณ์ที่เกิดความรุนแรงต่อเนื่องอยู่ขณะนี้ อารมณ์ของคนทั่วประเทศคืออยากให้กองทัพจัดการให้เด็ดขาด คำถามใหญ่คือ จัดการอย่างไรให้เด็ดขาด บางคนบอกว่าฆ่าให้หมด อุ้มก็ได้ คืออนุญาตให้อุ้มแล้ว ฟังดูน้ำเสียงของคนในสังคมไทยรู้สึกว่าน่าจะจัดการให้รุนแรงไปเลย ทำตามกฎหมายให้เด็ดขาด แต่ปัญหาของผมคือ ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าไม่อยากจัดการให้เด็ดขาด แต่ไม่สามารถจัดการให้เด็ดขาดได้ต่างหาก
ถาม ว่าอยากจับใครไหม อยากจับ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะจับผิดตัว งานทางการข่าวล้มเหลว ล้มเหลวมาตลอดและจะล้มเหลวต่อไป เพราะไม่เกิดการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานข่าว คนที่ทำงานหาข่าวในท้องถิ่นก็ไปนั่งร้านน้ำชาเงี่ยหูฟังภาษาที่ตัวเองฟังไม่ ค่อยเข้าใจแล้วมารายงาน คุณภาพของรายงานข่าวกรองของไทยทุกวันนี้คือนั่งดูปฏิทินว่าครบรอบพูโลหรือบี อาร์เอ็นหรือยัง แล้วก็ออกคำเตือน ประเด็นอย่างนี้ไม่ต้องเตือน เพราะมันเกิดทุกวัน ไม่ว่าจะครบรอบบีอาร์เอ็น พูโล วันสถาปนาอะไร ไม่มีใครรอ วันนี้ก็เกิด พรุ่งนี้ก็เกิด งานข่าวกรองแบบนี้ด้อยคุณภาพ ไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาอะไรได้ทั้งสิ้น
คำถาม สำคัญที่ไม่มีใครตอบและไม่รู้จะตอบอย่างไรคือ การปฏิบัติการในภาคใต้ ถ้าคิดอย่างถึงรากถึงแก่นแล้ว จะปรับปรุงอะไรบ้าง ผมคิดว่าต้องปรับปรุงหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ปัญหาการปกครอง ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในการปกครอง หรือการอยู่กับประชาชนในเขตภาคใต้ 
 
ความ ขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งชนิดใหม่ คุณภาพใหม่ แต่คนที่รับผิดชอบยังอยู่ในวิธีการแบบเดิมอยู่ และคิดว่าตัวเองกำลังต่อสู้อยู่ในสงครามแบบ conventional war (สงคราม ตามประเพณีนิยม) ที่ต้องมีฐานที่มั่น ที่ฝึก ซึ่งความจริงไม่มี หรืออาจมีบ้างบางที่ เช่นที่เทือกเขาตะเว จึงต้องคิดใหม่ว่าอาจไม่มีค่าย ไม่มีฐานที่มั่น
 
ใน อดีตพูโลอาจมีความเชื่อมโยงกับตะวันออกกลางหรือในประเทศอื่นๆ แต่ความเชื่อมโยงนั้นถูกตัดไปเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันไม่มีใครพูดได้ชัดเจนว่ามีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ แต่เขามีสิ่งที่เรียกว่า aspiration (แรง จูงใจ) ที่ดี มีแรงขับดันที่เหมาะสมมากที่ทำให้เห็นว่าโลกของมุสลิมกับโลกที่เขาอยู่กำลัง ขัดแย้งกันอยู่ แง่ข้อเท็จจริงอาจไม่มีอะไรเชื่อมโยง แต่ในแง่ inspiration (แรงบันดาลใจ) มี ซึ่งอาจเห็นได้จากเด็กหลายคนในท้องถิ่นซึ่งโพกผ้าหรือแสดงความนิยมบิน ลาเดน

 

 

0 0 0
"...ถ้าจะกล่าวโทษว่า ใครต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในภาคใต้
คำตอบก็คือรัฐไทยทั้งกระบวนที่ไม่ใช่แค่รัฐบาล
สังคมไทยทั้งหมดตอนนี้ก็บ้าเลือดขึ้นเรื่อยๆ แล้ว..."
สุณัย ผาสุข
ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย Human Right Watch
สิ่ง ที่เราเจอในสถานการณ์ภาคใต้ตอนนี้คือความขัดแย้งเต็มรูปแบบ อย่าปฏิเสธว่าไม่ใช่ ก่อนหน้านี้มุมมองจากทั้งฝั่งขวาหรืออนุรักษ์นิยมก็ไม่อยากยอมรับว่ากำลัง เกิดการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ ส่วนทางฝั่งซ้ายหรือนักสิทธิมนุษยชนก็มีความเป็นอุดมคติสูง อยากยอมรับสถานการณ์ในภาคใต้ว่าไม่ใช่เรื่องของความรุนแรง แต่เป็นการแสวงหาอัตลักษณ์ ทว่าความจริงคือการที่คนกลุ่มหนึ่งจับอาวุธ ใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อยากจะเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ถึงขนาดนี้ จึงต้องยอมรับว่า นี่คือความพยายามแบ่งแยกดินแดนโดยใช้ความรุนแรงของคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้
หากมองความขัดแย้งตอนนี้อย่างง่ายๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ฟาก ฟากหนึ่งคือรัฐไทย อีกฟากคือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ยังเห็นตัวตนไม่ชัด คือแม้เห็นตัวบุคคลในบางพื้นที่ว่ามีใครเกี่ยวข้อง หรือไล่โยงจนถึงคนที่ให้แรงบันดาลใจในแง่อุดมการณ์หรือการปฏิบัติการได้ แต่สำหรับภาพรวม โครงสร้าง หรือวัตถุประสงค์องค์กรฟากผู้ก่อการยังไม่ชัดเจน
 หากมองจากฟากรัฐไทยจะพบว่า รัฐไทยไม่ได้ปรับตัวในการมีปฏิสัมพันธ์กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยังมองว่าเป็นหน้าที่ของ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้เองที่ต้องอยู่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย เพราะฉะนั้นจึงเป็นความผิดของคนในพื้นที่ที่ไม่สามารถทำตัวอยู่ในกรอบของรัฐ ไทยได้ และถือไปว่าคนในพื้นที่เป็นพวกผิดปกติที่ต้องทำให้อยู่ในภาวะปกติด้วยวิธี การทั้งการใช้อำนาจปราบปราม การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม การใช้นโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาอื่นๆ เพื่อทำให้อยู่ในสภาวะ "ปกติ"
รัฐมองว่า สิ่งที่คนในพื้นที่ 3 จังหวัดเรียกร้องความเป็นตัวตน หรือเรียกร้องความเป็นธรรม เป็นสภาวะ "ผิดปกติ" บางคนอาจรู้สึกไปไกล เช่น มีคำที่เห็นปรากฎตามเว็บบอร์ดถึงขนาดว่า "พวกนี้ไม่รู้จักบุญคุณ ถ้าอยู่ในแผ่นดินไทย ไม่อยากอยู่ก็ออกไป" "คุณอยู่กับเราไม่ได้ก็ออกไป" แต่ไม่มองความเป็นมาในอดีต ว่าเขาอยู่ของเขาก่อน แล้วรัฐไทยไปบุก ไปยึดเขา แล้วพยายามจะเปลี่ยนเขา แต่เปลี่ยนไม่สำเร็จ
เพราะ ฉะนั้น ปัญหาของความพยายามทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะปกติ ตั้งอยู่บนฐานความคิดเดิมๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยน ไม่ยอมรับความแตกต่างในทุกมิติ ยังมองแบบต้องเป็นเนื้อเดียวกันในทุกด้าน นำมาสู่วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถปรับตัวได้ แม้แต่แนวคิดทางนโยบายทางการเมืองก็ไม่เคยปรับ เป็นการสมานฉันท์ได้แต่ปาก แต่ใจยังไม่ไปด้วย วิธีการปฏิบัติยังไม่ไปด้วย
นี่ จึงอาจจะเป็นคำตอบว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาขอโทษ หรือขอโทษอีกเป็นล้านหนก็ไม่เปลี่ยนอะไร ในเมื่อการปฏิบัติยังไม่เปลี่ยน เพราะไม่สามารถผลักดันให้การปฏิบัติสะท้อนความรู้สึกเสียใจหรือบอกว่าที่ ผ่านมามันผิดที่คู่ควรกับการกล่าวคำว่าขอโทษได้
รัฐ ไทยไม่เคยยอมรับผิด ยกตัวอย่างเรื่องคนหาย รัฐบาลยังบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ผ่านมา เมื่อถามว่าจะทำอะไรกับคนที่ทำผิด รัฐไทยกลับไม่ค่อยยอมรับเรื่องนี้ อ้างว่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เสียขวัญและกำลังใจ นี่คือปัญหา เพราะเอาเรื่องขวัญและกำลังใจมาเป็นใหญ่กว่าความยุติธรรม ทั้งที่ประกาศตอนรับตำแหน่งใหม่ๆ ว่า รากเหง้าของปัญหามาจากการไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องความยุติธรรมได้
ก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 19 กันยายน 2549 หลัก คิดของคนที่มีอำนาจยังไม่เคยเปลี่ยน แม้จะบอกว่าความยุติธรรมสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติกลับอยู่ในลำดับท้ายๆ หรืออาจไม่อยู่ในลิสต์เลยด้วยซ้ำ ถ้าเห็นว่ามีความสำคัญและเป็นรากเหง้าของปัญหาจริง ต้องยกระดับมาอยู่อันดับต้นๆ
ส่วน ประเด็น ศอ.บต. เห็นต่างจากที่สุภลักษณ์พูดในแง่การเป็นตัวเชื่อมกับประชาชนในพื้นที่ คือเวลาที่ประชาชนไม่สบายใจก็นำเรื่องมาบอก ศอ.บต. แล้ว ศอ.บต. ก็จะดำเนินการเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในโครงสร้างเก่ามีการตรวจสอบผู้ร้องเรียน หากทำผิดจริงก็โยกย้าย ซึ่งสามารถโยกย้ายได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง ซึ่งเร็วมากสำหรับมาตรฐานหอยทากแบบราชการไทย
แต่ ศอ.บต. ชุดปัจจุบัน ถูกเอาไปอยู่ใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในขณะที่ระบอบการเมืองปัจจุบันเป็นโครงสร้างระบอบการเมืองทหาร เมื่อถามว่า ทหารคิดอย่างไร ทหารก็บอกว่าขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น หากเอา ศอ.บต. ซึ่งเป็นตัวเชื่อมในการรับเรื่องร้องเรียนไปอยู่ใต้โครงสร้าง กอ.รมน. ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐทหาร ซึ่งโครงสร้างนี้ให้ความสำคัญกับการรักษาขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติ หน้าที่มากกว่าความยุติธรรม ดังนั้นเรื่องร้องเรียนก็จบอยู่แค่นี้ นั่นจึงเกิดปัญหาความไม่มีน้ำยาของ ศอ.บต.ขึ้น
หลัง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและตั้ง ศอ.บต. ขึ้นมาแล้ว การละเมิดสิทธิอาจจะเพียงเปลี่ยนหน้าจากตำรวจเป็นทหารพราน หรือเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) มีกรณีเช่น เด็กคนหนึ่งในจังหวัดปัตตานีขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ติดป้ายทะเบียน เมื่อเห็นตำรวจเรียกให้หยุด ก็ตกใจขับรถหนี ตำรวจที่อยู่บนรถกระบะก็เอาปืนยิงใส่แล้วตกลงมาจากรถตาย ตำรวจระดับผู้กำกับก็บอกแค่ว่า ลูกน้องตัวเองใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ เป็นอาการเดียวกับการขอโทษของนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีความยุติธรรมใดๆ เกิดขึ้น
หรือ กรณีการที่ทหารพรานเมาแล้วไปยิงเด็กซึ่งเป็นญาติของครูในโรงเรียนปอเนอะ ที่ตาเซะ จังหวัดยะลาตาย ตอนนี้ผู้ใหญ่ออกมายอมรับแล้วว่า ทหารพรานในวันนั้นเมาจริง แต่ในวันแรกที่เกิดเหตุการณ์จำได้ว่า โฆษกทหารบกแถลงข่าวว่า เด็กคนนั้นเป็นผู้ก่อการร้าย มีกระสุนปืนอยู่บนรถ ทั้งๆ ที่ตรวจแล้วไม่มีเขม่าดินปืนอยู่ที่มือ และไม่ได้จับอาวุธเลย เป็นเพียงคนที่ผ่านทางมาแล้วโดนยิง แต่เกิดการกล่าวหาใหญ่โตแล้วบุกเข้าปอเนาะ ใช้ปืนยิง ปิดประตูถล่ม ถีบประตูเข้าค้นหอพักนักศึกษา จับเด็กผู้ชายให้ถอดเสื้อ แบบเดียวกับเหตุการณ์ตากใบ มีทั้งเตะหัว และถ่มน้ำลายรดหัว แล้วไหนละที่บอกว่ามันจะดีขึ้น
อย่าง น้อยวิธีการปฏิบัติของรัฐต่อประชาชนในพื้นที่ควรจะดีขึ้น แต่มันไม่ดีขึ้นเลย การกล่าวอ้าง การด่วนสรุปว่า เราบุกรังโจรได้แล้วก็ยังเกิดอยู่เรื่อยๆ ซึ่งพอรู้ว่าทำพลาด กลับเชื่องช้าและเมินเฉยในการแสดงความรับผิดชอบ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
กรณี การชุมนุมที่สะบ้าย้อย ตกใจกับความสามารถของสื่อไทยที่ทำข่าวด้านเดียวตลอด แต่ก็สะใจเล็กๆ ที่ชาวบ้านบอกว่าไม่ได้ประณามแค่รัฐไทยอย่างเดียวแต่ประณามสื่อภาษาไทยด้วย ที่บอกว่าโรงเรียนที่เด็กตาย ไม่ได้ตายเพราะถูกกราดยิง แต่ตายเพราะทำระเบิดแล้วระเบิดมันตูมขึ้นมา ชาวบ้านบอกว่า ลูกเขาตาย แต่คุณกลับฟันธงเป็นตุเป็นตะ ว่าเป็นโรงงานผลิตระเบิด เป็นที่ซ่องสุมโจร คืนนั้นจึงตึงเครียดมาก เหมือนกับผลิตข่าวซ้ำ ผลิตข้อมูลซ้ำ หลอกจนตัวเองเชื่อว่า ต้องส่งกำลังเข้าไปค้นโรงเรียนนี้ให้ได้ เป็นแบบนี้ มันก็เครียดแน่
เมื่อเป็นเช่นนี้ คนในพื้นที่ 3 จังหวัด จึงคิดว่า พวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เพราะโดยหลักทั่วไปของรัฐศาสตร์สมัยใหม่คือถ้าอยู่ในส่วนหนึ่งของรัฐ ต้องได้รับการปกป้อง ต้องได้รับการเคารพศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับพลเมืองอื่นๆ ของรัฐ ต้องไม่มีพลเมืองชั้นหนึ่ง พลเมืองชั้นสอง ไม่ใช่คนพุทธมาตรฐานหนึ่ง คนมลายูมุสลิมมาตรฐานหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ รัฐไม่เคยปรับตัว คนจะรู้สึกว่ารัฐเป็นผู้รังแกมากกว่าผู้ปกป้องคุ้มครอง เมื่อเกิดความคิดเช่นนี้ เลยเป็นช่องทางให้เกิดการฉกฉวยนำมาใช้ประโยชน์ในทางการเมือง และการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐ
จากการเข้าไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 3 สัปดาห์ พูดกันอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องม็อบคลุมหน้า โดยมองด้านเดียวว่า มีการจัดตั้งที่ดีขึ้น มีทีมคลุมหน้าที่อาจจะมีผู้ชายปนอยู่ด้วย เพราะถลกผ้าถุงดูแล้วขนหน้าแข้งยุ่บ มีการถ่ายรูปมาให้ดู แต่หากมองแค่นี้แล้วบอกว่ามีการจัดตั้ง มีทีม มีม็อบที่เคลื่อนไหวไปในที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือถ้ามีจุดปะทะแล้วมีการจับกุมในพื้นที่ ก็จะเรียกทีม 1 2 3 ที่ อยู่ใกล้ที่สุดมาประท้วง แบบนี้อาจจะเป็นจริง แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง นอกจากพวกที่ถูกจัดตั้งหรือขู่บังคับให้มาประท้วง ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่ไว้วางใจรัฐ การที่ได้เข้าไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ พบว่า เขาไม่ไว้ใจรัฐเลย เพราะกลัวว่า คนที่ถูกจับตัวไป ร้ายที่สุดคือ หาย ไม่ได้กลับบ้าน หรือเจออีกทีก็เป็นศพแล้ว ไม่อย่างนั้น เบาะๆ ก็ถูกซ้อมบีบบังคับให้สารภาพ 3 วัน 7 วัน ก็ว่ากันไป เดี๋ยวนี้ก็ยังทำกันอยู่ ในรายงานคนหายที่เพิ่งเผยแพร่ก็จะมีเรื่องลักษณะเช่นนี้ จึงในพื้นที่จึงมีความหวาดระแวงมาตลอด
จนถึง ปัจจุบันรัฐก็ตอบโจทย์นี้ไม่ได้ รัฐยอมรับว่ามีคนหายจริง แต่ไม่รู้หายไปไหน ใครทำ คุณทักษิณ แกมีประโยคเด็ดของแกคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจริงๆ หวังดี แต่ใช้วิธีการที่ผิด ประโยคนี้เป็นประโยคที่สะเทือนใจมาก คือต่อไปถ้าหวังดี ให้ใช้วิธีอะไรก็ได้ไม่ต้องเอาโทษกัน แล้วเจ๊ากันไปหรือ สมัยปัจจุบัน มีคำว่า "สมานฉันท์" แต่ เป็นในรูปแบบว่า ทำผิดไม่ต้องรับผิด เพราะฉะนั้นความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐไม่ยอมแก้ปัญหาสิ่งที่ เคยกระทำๆ มาให้เกิดความยุติธรรม แล้วยังกระทำความอยุติธรรมต่อไป ผลจึงเป็นว่า ทุกครั้งที่มีการจับกุม จึงมีความกังวลว่าจะถูกอุ้ม
อีก กรณีหนึ่งที่น่าจะเปิดเผยได้ คือชายชาวจังหวัดนราธิวาสคนหนึ่ง ถูกต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับคดีปล้นปืนที่ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 และ เพิ่งถูกจับเมื่อไม่นานมานี้ ถูกนำตัวไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ก็ถูกตีด้วยขวดเบียร์ ถูกเอาบุหรี่จี้ ถูกล่ามกับสุนัข มันสะท้อนว่า วิธีปฏิบัติเช่นนี้ยังคงอยู่ แล้วไหนละที่บอกว่าจะดีขึ้น
เอา ประเด็นพวกนี้มาจับกับบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนในพื้นที่ แม้เกิดเพียงหนึ่งกรณี ก็มีน้ำหนักพอก็จะทำลายความพยายามทั้งหมดในเรื่องการสมานฉันท์ กลายเป็นไปเข้าทางฝั่งขบวนการติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่ใช้เป็นเครื่องมือ ปลุกระดม
การ ระดมมวลชนมาต่อต้านอำนาจรัฐ เป็นสัญลักษณ์ในการไม่ยอมรับอำนาจรัฐ เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนมากขึ้น ถามว่าเรื่องนี้จะแก้ได้อย่างไร
รัฐ ต้องแก้ทางฝั่งตัวเองก่อน โดยอย่าไปตั้งความหวังมากมายจากชาวบ้าน อย่าไปคาดคั้นความรับผิดชอบจากชาวบ้านที่จะต้องให้ปรับพฤติกรรมของตัวเอง แต่รัฐมีหน้าที่ต้องปรับพฤติกรรมของตัวเองและน่าจะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะ ทำได้ เพียงแต่ไม่ทำ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าจะกล่าวโทษใครที่ต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงต่อเนื่องที่เกิดขึ้น ในภาคใต้ คำตอบก็คือรัฐไทยทั้งกระบวน ที่ไม่ใช่แค่รัฐบาล สังคมไทยทั้งหมดตอนนี้ก็บ้าเลือดขึ้นเรื่อยๆ แล้ว จะเห็นว่า มักมีคำพูดว่า "ไล่มันออกไปให้หมด" "ฆ่ามันให้ตาย" "เรามาเรี่ยไรเงินกันดีไหม เราช่วยรบที่ภาคใต้" อะไรแบบนี้ ซึ่งก็เป็นภาพที่น่าห่วงมากๆ
ถ้าถามว่าปัจจุบันหวังแค่ไหนกับรัฐไทย ขอบอกว่าไม่มีหวังเหลืออยู่เลย
มอง ไปอีกด้านหนึ่งของปัญหาคือ กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน วิธีการของเขามีความรุนแรงมากขึ้น ในอดีตเขาก็พูดกันว่า ถ้าเป็นเด็กหรือผู้หญิงไม่โดนทำอะไรหรอก หรือถ้าไม่ไปทำร้ายเขา ไม่คิดไม่ดีกับเขา ไม่ดูถูกเหยียดหยามกดขี่ ก็จะไม่มีปัญหา แต่ปัจจุบัน เมื่อลองเก็บข้อมูลละเมิดสิทธิมนุษยชน คนที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่แล้วหาไม่เจอว่าไปล้ำเส้นตรงไหน ไปทำมิดีมิร้ายกับคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ตรงไหน ละเมิดการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามตรงไหน บางคนเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมกันมาด้วยดี เป็นที่เคารพของคนในพื้นที่ด้วยซ้ำ  
รายงาน ที่ผมทำในปัจจุบันเรื่องฆ่าตัดคอ ส่วนมากที่โดนจะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่มานานพอสมควรจนเป็นที่รู้จักรักใคร่ กันแล้ว หลายคนเป็นคนอีสานที่ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ 20-30 ปี เพื่อรับจ้างทำงานเล็กทำงานน้อย แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็ถูก "เลือก" ว่า ฆ่าคนนี้เพื่อบอกว่า ต่อไปนี้คนพุทธอยู่ในพื้นที่ไม่ได้แล้ว ต่อให้เป็นคนพุทธที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือเป็นคนพุทธที่เป็นที่รักก็อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ นี่คือสัญลักษณ์ที่พยายามจะส่งออกมาจากการใช้ความรุนแรง เป็นความเหี้ยมโหดแบบใหม่ที่พัฒนา จนไปถึงขั้นยิงแล้วตอนกำลังกระแด่วๆ ก็เอาน้ำมันราดและจุดไฟเผา ความโหดมีขึ้นเรื่อยๆ เช่น จ่อยิงศีรษะในกรณีผู้โดยสารรถตู้ประจำทาง เป็นต้น
วิธี คิดของคนที่สามารถใช้ความเหี้ยมโหดในลักษณะนี้ได้ก็เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทางการเมือง สร้างความแตกแยกระหว่างชุมชนของทั้งพุทธและมุสลิมที่เคยอยู่ด้วยกันอย่างดี พอสมควร ดังนั้นเราคงจะไปเรียกร้องความรับผิดชอบจากฝั่งผู้ก่อความรุนแรงลำบาก และถ้าดูปฏิกิริยาของเขาทุกครั้งที่มีความพยายามจากรัฐบาลไทยและมาเลเซีย หรือจากกลุ่มสมานฉันท์ทั้งหลายที่พยายามส่งสัญญาณว่าให้หยุดความรุนแรงต่อ ประชาชน จะกลายเป็นการโต้กลับด้วยการไม่สนใจและทำความรุนแรงให้ปรากฎชัดเจนมากขึ้น
ข้อมูล อีกส่วนหนึ่งที่ยังยืนยันชัดเจนไม่ได้ เพราะเป็นข้อมูลเบื้องต้น คือเมื่อเอาตัวเลขสถิติของการเกิดความรุนแรงที่พุ่งเป้าไปที่คนไทยพุทธแบบ ที่เหี้ยมโหดมากๆ มาจับกับแผนที่ดิจิตอลทางภูมิศาสตร์ เหมือนกับว่าจะมุ่งเป้าไปที่ชุมชนพุทธและมุสลิมที่เคยอยู่กันได้ด้วยดีมา ก่อน ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเกิดความรุนแรงอย่างเหี้ยมโหดมากๆ กับคนไทยพุทธอย่างมีนัยยะสำคัญ กรณีฆ่าตัดคอ จะมีปรากฎขึ้นในชุมชนที่พุทธมุสลิมเคยอยู่ด้วยกันได้มาก่อน หรือปรากฎการณ์ที่ฆ่าแล้วเผาทั้งหมู่บ้าน ทำร้ายคนพิการ ทำร้ายคนแก่ จะมีลักษณะเชิงซ้อนแบบนี้อยู่ด้วย
โดย สรุปมีสถานการณ์แย่ๆ จากทั้งสองฝ่าย ทางฝ่ายกลุ่มติดอาวุธก็ใช้ความรุนแรงและความเหี้ยมโหดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทางการเมือง โดยขยายความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนในอดีต ให้พัฒนาอีกขั้นและเลวร้ายมากขึ้น กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชน ตัวคน และสังคมสองวัฒนธรรม ซึ่งเป็นภาพที่น่ากลัว ส่วนทางฝั่งรัฐเองก็ต้องบอกว่าแย่ เพราะยังไม่สามารถปรับทัศนคติ วิธีคิด วิธีปฏิบัติงานได้เลย
ที่ผ่านมามีข้อเสนอดีๆ มากมาย เช่นเรื่องหลักสูตรสองภาษา แม้แต่การทดลองก็ไม่สนับสนุน หรือ เรื่องการยกสถานะของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ก็มีอุปสรรค พล.อ.สุรยุทธ์ไปให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวแห่งชาติของมาเลเซีย บอกว่าการพูดเรื่องการกระจายอำนาจ Decentralization of power การมีส่วนร่วมในทางการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เป็นการสะท้อนว่า คุณจะเอาอะไร คุณยังไม่อยากปล่อยมือจากการครอบงำอยู่เลย แล้วจะไปหวังให้ทางฝั่งคนในพื้นที่ยอมรับไว้วางใจได้อย่างไร ในบริบทของการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีอิทธิพลอย่างมากกับการ ทำให้สภาพความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีความเข้มข้นและเลว ร้ายมากขึ้น
ถามว่าเกี่ยวข้องอะไรกับนอกประเทศหรือไม่ เห็นด้วยกับสุภลักษณ์ที่มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็น aspiration เป็น แรงบันดาลใจ ให้เกิดความรู้สึกร่วม เท่าที่เคยลองไปสัมภาษณ์หลายคน เขารู้สึกร่วมว่า อิสลามและความเป็นมุสลิมกลายเป็นสัญลักษณ์ของการถูกกดขี่โดยคนต่างศาสนิก ปรากฎการณ์ของการจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้ มาจากภาพแรงบันดาลใจที่ว่า ถ้าจะให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้ แต่ไม่มีภาพแรงบันดาลใจที่ว่า ถ้าอยากได้ความยุติธรรมจริงๆ สามารถใช้วิธีการอื่นที่สันติวิธีได้ มันไม่มี aspiration นั้น ให้เห็นเป็นตัวอย่างจากภายนอก เห็นแต่ภาพว่า ใช้ความรุนแรงแล้วสู้ได้ หยามน้ำหน้าได้ สู้กับคนที่มีปืนกระบอกโตกว่า มีปืนมากกว่าได้ เมื่อไปถามเด็กวัยรุ่นว่า มีตุ๊กตาตัวไหนที่ชอบ เขาจะบอกว่า ปาเลสไตน์ อัฟกานิสถาน อิรัก เขาจะมองเป็นแรงบันดาลใจของการลุกขึ้นสู้ 

คำถาม จาก จอน อึ๊งภากรณ์ : ภาพรัฐไทยชัด แต่ส่วนคนที่ไม่ใช่รัฐยังไม่ชัด ว่าเป็นใคร มีจำนวนเท่าไหร่ คนในชุมชนสนับสนุนหรือกลัว สิ่งที่ต้องการคืออะไร สถานการณ์ในชุมชนพุทธเป็นอย่างไร และมองมาเลเซียอย่างไร

 
ชุมชนมลายูมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคำที่ชาวบ้านพูดถึงกลุ่มติดอาวุธได้น่าสนใจว่า "พวกเขา" สรรพนาม นี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับกลุ่มติดอาวุธพอสมควร คือชาวบ้านไม่นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธ โดยมองว่าเป็น "พวกเขา" หรือใช้คำว่า "ขบวนการ" ไปเลย จึงเป็นอะไรที่ห่างออกไป
 
ความสัมพันธ์อาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ชาวบ้านบางคนบอกว่า เวลาถูกรัฐรังแก "พวกเขา" คือ ผู้คุ้มครอง หรือบางทีก็ช่วยเอาคืนให้ เป็นเรื่องของความยุติธรรมแบบศาลเตี้ย ถามว่าทำไมชาวบ้านจึงพออกพอใจกับศาลเตี้ย เพราะเขาไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมตามกรอบ ตามช่อง ตามประตูที่มีอยู่ตามกฎหมายไทยได้ สภาพหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธจึงเป็นเหมือนผู้คุ้มครอง
 
แต่ อีกสภาพที่คู่ขนานกันไปซึ่งในระยะหลังมีลักษณะเหลื่อมซ้อนและเด่นมากกว่าผู้ คุ้มครองคือการเป็นผู้ควบคุม อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ลักษณะของทั่วทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่เข้าไปคุยบ่อยมีลักษณะเปลี่ยนสภาพตัวเองไปจากการให้ความคุ้มครอง พอให้ความคุ้มครองและเอาคืนเจ้าหน้าที่ได้ จะขยายตัวมากขึ้น ถ้าดูสัดส่วนของคนที่ติดอาวุธจริงๆ ในแต่ละหมู่บ้านอาจเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดในจังหวัด เอาแค่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส คิดว่า 2 ใน 3 ของพื้นที่มีการเคลื่อนไหวอย่างชัดแจ้งและมีปรากฎการณ์ในลักษณะที่สามารถ ควบคุมชุมชนได้
 
การ เรียกแทนตัว เท่าที่ยอมคุยด้วย เมื่อถามว่าเรียกตัวเองว่าอะไร เป็นพูโล หรือเป็นอะไร เขาไม่เรียกตัวเองในสังกัดเหล่านั้น เขาเรียกตัวเองว่าเป็น "นักสู้" เป็น "ผู้ปลดปล่อยปัตตานี" เป็นคำสองคำที่ได้ยินบ่อย "นักสู้" นี่เป็นคำที่กว้างที่สุด
 
ถาม ว่า สู้เพื่ออะไร เขาบอกว่า สู้เพื่อดินแดนปัตตานีและศาสนาอิสลาม เป็นลักษณะอย่างที่สุภลักษณ์เล่าไปตอนต้นว่า คนรุ่นเก่าที่แสดงตัวเองผูกโยงกับองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ มีฐานทางอุดมการณ์ชัดแจ้งเลิกไปแล้ว ปัจจุบันเป็นการเชื่อมโยงแบบกว้างๆ มากกว่าว่าเป็นการปลดปล่อยจากการถูกยึดครอง แต่ทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นตัวตนของเขา ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง คือความเป็นมลายูปัตตานี และความเป็นมุสลิม
ส่วน ภาพบรรยากาศของชุมชนพุทธอาจให้ภาพที่ไม่ครบถ้วน เนื่องจากชุมชนพุทธที่เข้าไปสัมภาษณ์เป็นชุมชนที่เกิดความรุนแรง และทำรายงานเรื่องนี้อยู่ จึงอาจมีความลำเอียงอยู่ในข้อมูล
 
สภาพ แรก คือเคยเป็นชุมชนที่มีความเป็นมิตรอยู่สูงมาก ส่วนสภาพปัจจุบันแบ่งกลุ่มได้เป็น กลุ่มแรกคือ เกิดความไม่ไว้วางใจกันอย่างมาก ลูกหลานไม่ให้เล่นด้วยกัน ไม่ให้ไปโรงเรียนเดียวกัน ฝั่งพุทธก็ไม่อยากให้ลูกไปคบกับฝั่งมุสลิม ฝั่งมุสลิมก็บอกว่า หากไปคบกับคนพุทธตนเองก็อาจจะเดือดร้อนเพราะกลุ่มติดอาวุธอาจจะมาเล่นงาน ตอนเย็นเด็กที่เคยเตะบอลด้วยกันก็ไม่เตะบอลด้วยกันแล้ว คนพุทธที่เคยเข้ามาค้าขายในชุมชน รถเร่ปิกอัพ มอเตอร์ไซค์ หลังๆ ตายกันเยอะก็ไม่อยากเข้ามา ไม่ว่าจะคนย้ายถิ่นจากอีสานที่มารับซื้อเครื่องทองมือสอง หรือมาเก็บขยะก็ถูกฆ่าเยอะ กลุ่มนี้จะถอยไปจากพื้นที่ที่มีมุสลิมมาก ความหวาดระแวงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเชื้อชาติเริ่มเห็นชัดขึ้น
 
กลุ่ม ที่สองคือ เริ่มติดอาวุธตัวเอง เรื่อง ชรบ.(ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ก็ไม่อยากอคติมาก คือรัฐไปเกณฑ์ให้มาเป็น ชรบ. ก็เหมือนเอาเป้ามาติดหัวเขา เดินไปเดินมาแล้วโดนยิง แต่หลังๆ ลักษณะของ ชรบ. ยินดีเอาตัวเองมาเป็น ชรบ. เพื่อจะปกป้องชุมชนให้ได้ มีพัฒนาการมาจากคนกลัวถึงที่สุด เพราะรัฐคุ้มครองไม่ได้ ก็ติดอาวุธตัวเอง ยินดีเข้ารับการฝึก ช่วงหลัง ชาวบ้านเต็มใจมาฝึกมากกว่าช่วงแรก และมีอีกประเภทหนึ่งที่ติดอาวุธมากกว่าเรียก อภปร.(อาสมัครรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน) ที่ติดอาวุธหนักข้อมากกว่า สัดส่วนที่น่าสนใจคือ คนพุทธซื้ออาวุธปืนมากขึ้น ความสามารถของสำนักงานอำเภอแต่ละแห่งในการอนุมัติใบอนุญาตให้พกปืนก็เร็ว ที่สุดในประเทศไทย พอถามว่า ถ้าอนุมัติเร็วอย่างนี้ก็ซื้อปืนเป็นของเล่นเลย เขาก็บอกว่า "ซื้อเลย เพราะคนต้องป้องกันตัว" สะท้อนภาพจากการไม่ไว้วางใจยกระดับมาติดอาวุธตัวเอง
 
เหนือ ขึ้นไปอีกระดับ คือเริ่มกำหนดเคอร์ฟิวกันเองในพื้นที่ เจอในหมู่บ้านไทยพุทธ 3 แห่ง บอกว่าช่วงเย็นหลังหกโมงไม่อยากให้เด็กวัยรุ่นมุสลิมขับมอเตอร์ไซค์เข้ามาใน เขต เนื่องจากเคยมีกรณีที่ขับมอเตอร์ไซค์เข้ามาแล้วยิงคนไทยพุทธ วิธีการใช้การขอร้องกัน เพราะจะมีจุดตรวจของ ชรบ. ที่ปากทางเข้าและทางออกหมู่บ้านซึ่งเป็นถนนเส้นเดียว เขาจะถามว่า มาทำไม มาหาใคร ถ้าไม่จำเป็นก็ขอให้ใช้ถนนใหญ่ อย่ามาใช้เส้นทางเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านเล่าว่า เท่าที่ผ่านมาก็ไม่ต้องลงไม้ลงมือ ขอร้องก็เข้าใจกัน
 
กลุ่ม สุดท้าย คือคนพุทธอพยพออกนอกพื้นที่ เกิดในกรณีสุดโต่งจริงๆ เช่น มีการบุกเข้ามาฆ่าแล้วเผา ไม่ว่าเผาตัวคนหรือเผาบ้าน หลังจากนั้นจะมีอาการร่วมคือ คนพุทธจะอพยพไปทั้งหมู่บ้านและหมู่บ้านนั้นก็จะมีทหารเข้ามารักษาการแทน อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นที่ยะลา ที่เป็นข่าวว่าอพยพมาอยู่ที่วัด ที่ปัตตานีก็มีแบบนี้ ไม่แน่ใจว่า วิธีการนี้ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดความหวาดกลัว และคนพุทธอพยพออกนอกพื้นที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเลียนแบบของกลุ่ม ติดอาวุธในพื้นที่หรือไม่ ในเมื่อมีความรุนแรงอย่างนี้แล้วคนพุทธหนี จึงลอกเลียนแบบกันไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ
 
อย่าง ที่เคยทำงานในเนปาล ศรีลังกา ติมอร์ พอพื้นที่ไหนประสบความสำเร็จด้วยการใช้วิธีโหดร้ายมากๆ มันเกิดอาการเลียนแบบของพื้นที่ข้างเคียง กลายเป็นการระบาดของความรุนแรง

 

 
ทั้งนี้ บทบาทของมาเลเซียเท่าที่พูดกันทั่วไป คือทัศนะของรัฐไทยกับชาวบ้าน มองมาเลเซียต่างกันมาก รัฐยังมองว่ามาเลเซียมีส่วนผสมโรงในการสร้างปัญหาไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุดคืออนุญาตให้คนข้ามไปได้ง่าย และไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ ส่วนระดับชาวบ้าน มองมาเลเซียเป็นที่พึ่งได้หลายลักษณะ ในทางเศรษฐกิจเข้าใจว่าเป็นที่ทำมาหากินที่ดีที่สุดและเป็นฐานทางเศรษฐกิจ ที่ดีกว่าใน 3 จังหวัด
 
ส่วน รัฐบาลมาเลเซียเองก็แข่งขันกันระหว่างกลุ่มของนายกฯ คนปัจจุบันกับนายกฯ คนก่อน ว่าใครจะได้กล่องในการเข้ามาช่วยไทยแก้ปัญหาได้ แต่คิดว่าเรื่องนี้คงไม่จริงจังเท่าไหร่ อีกทางหนึ่งไทยก็ไม่เต็มใจที่จะให้มาเลเซียทำ เพราะมาเลเซียไม่ใช่ honest broker (เพื่อนบ้านที่ซื่อสัตย์) ที่จะทำเรื่องนี้ได้ ดัง นั้นจึงไม่ค่อยเห็นมือของมาเลเซียเข้ามาทำอะไรมากมาย ตรงนี้อาจขัดแย้งกับความเห็นของคนทั่วไปในสังคมไทยที่คิดว่ามาเลเซียมีบทบาท มาก แต่ส่วนตัวไม่เห็นว่า มาเลเซียมีบทบาทอะไรมากมายนักนอกจากการนั่งดู

 

 
 
 
หรือ กรณีคนไทย 131 คนที่อพยพไป รัฐบาลไทยก็เสียหน้ามาก และอยากได้ตัวกลับมา มาเลเซียก็บอกว่า ยินดี แต่ขอคำรับประกันว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านั้นได้หรือไม่ ให้ความยุติธรรมตามกรอบของกฎหมายกับคนเหล่านั้นได้หรือไม่ ปรากฎว่า จนแล้วจนรอดก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น สำหรับมาเลเซีย ผมมองอยู่สองด้านว่า นอกจากมาเลเซียมอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยความห่วงใย เกี่ยวกับผลกระทบที่จะบานปลายข้ามพรมแดนไปบ้านเขา อีกส่วน มาเลเซียโดยเฉพาะรัฐบาลมาเลเซียมีความอ่อนไหวในทางการเมือง ในลักษณะเฉพาะทางการเมืองที่จะต้องแสดงท่าทีความห่วงใยต่อสวัสดิภาพความเป็น ไปของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย หากไทยอยากให้มาเลเซียมาเป็น honest broker หรือ เป็นผู้สนับสนุนในการแก้ไขปัญหาโดยบริสุทธิ์ใจ ก็ต้องทำให้มาเลเซียสบายใจได้ว่ารัฐบาลไทยทำตัวดีแล้ว ปรับปรุงตัวอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อถึงวันนั้นไทยจะได้ไม่ต้องอึดอัดใจอีกเลยว่ามาเลเซียจะไม่ช่วย แต่ปัจจุบัน ถ้าพฤติกรรมยังพูดแต่ไม่ทำ ผมว่ามาเลเซียคงจะช่วยอะไรรัฐบาลไทยไม่ได้มาก

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net