ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของประชาชนเวเนซุเอลา (ตอน2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

ยุทธศาสตร์ 7 แนวทางระหว่างหาเสียง

ในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  อูโก ชาเวซ ประกาศยุทธศาสตร์ 7 แนวทางของสำหรับการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองไว้ดังนี้คือ

1) จริยธรรมแบบสังคมนิยมใหม่ เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การขจัดคอร์รัปชั่นในรัฐบาลและระบบราชการ

2) ขยายรูปแบบการผลิตแบบสังคมนิยม หรือที่ในเวเนซุเอลาเรียกกันว่า "ระบบเศรษฐกิจสังคม"  เช่น สหกรณ์, โครงการทางด้านสังคมที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตและการใช้จ่าย รวมทั้งโครงการที่เรียกว่า "การพัฒนาจากภายใน" (Endogenous Development) หมายถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับลัทธิเสรีนิยมใหม่  "การพัฒนาจากภายใน" เน้นการพัฒนาชุมชนโดยผู้อยู่อาศัยในชุมชน ตั้งอยู่บนการใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น ผลตอบแทนที่ได้รับต้องย้อนคืนกลับมาสู่ท้องถิ่นและชุมชนเป็นหลัก โดยมีโครงการนำร่อง 130 แห่งทั่วประเทศ และดำเนินการโดยร่วมมือกับโครงการสังคม "mission" ต่างๆ ของรัฐบาล

3) รัฐบาลจะส่งเสริม "ระบอบประชาธิปไตยแบบปฏิวัติและประชาชนมีบทบาท" เพื่อให้ประชาชนเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศอย่างแท้จริง โดยเน้นไปที่การส่งเสริม "สภาชุมชน" (communal councils) เพื่อเป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยทางตรงในเวเนซุเอลา

4) "ความสุขทางสังคมสูงสุด" คือเป้าหมายของประเทศ ตามอุดมคติโบลิวาร์ที่ว่า รัฐบาลที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่ก่อให้เกิดความสุขมากที่สุดแก่ประชาชน

5) การจัดระบบภูมิศาสตร์การเมืองแห่งชาติใหม่ โดยก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งและกระจายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมืองออกไป

6) การจัดระบบภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศใหม่ โดยส่งเสริมโลกหลายขั้วเพื่อต่อต้านการครอบงำของสหรัฐอเมริกา

7) ผลักดันให้เวเนซุเอลากลายเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน ในทางปฏิบัติคือเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็นเกือบ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผลักดันให้น้ำมันดิบชนิดหนักมากรวมอยู่ในการประเมินปริมาณแหล่งน้ำมันของประเทศ  ซึ่งจะทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันมากที่สุดในโลก

 

"หัวจักร" ขับเคลื่อนสู่ "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21"

หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว วันที่ 8 มกราคม 2007 อูโก ชาเวซ กล่าวว่า 8 ปีที่เขาเป็นประธานาธิบดี (สองปีแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเก่ากับอีก 6 ปีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) คือขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่าน  นับจากนี้คือการเดินหน้าสู่สังคมนิยมแบบโบลิวาร์ โดยมี "หัวจักร" ขับเคลื่อน 5 ประการคือ

1) กฎหมายที่ให้อำนาจ (enabling law) ซึ่งชาเวซกล่าวว่าเป็น "กฎหมายแม่" ของโครงการทั้งหมด  

2) การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ชาเวซกล่าวถึงหัวจักรนี้ใน 2 ประเด็นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 2 สมัย กับการยกเลิกความเป็นอิสระของธนาคารชาติ ซึ่งชาเวซกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือของลัทธิเสรีนิยมใหม่

3) "การให้การศึกษาประชาชนตามแนวทางโบลิวาร์" ซึ่งหมายถึง "การปลูกฝังค่านิยมใหม่และทำลายค่านิยมเก่าของลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมและระบบทุนนิยม"

4) "การสร้างเรขาคณิตทางอำนาจใหม่ให้แก่แผนที่ของชาติ"  แม้แต่ชาเวซเองก็ยอมรับว่าหัวจักรตัวนี้ค่อนข้างนามธรรมสักหน่อย! อันที่จริง เขาหมายถึงการจัดสรรอำนาจทางการเมืองเสียใหม่ในเวเนซุเอลา  เช่น การส่งเสริมให้รัฐและพื้นที่ที่ค่อนข้างยากจนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น, การปฏิรูประบอบการปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ เป็นต้น

5) การเพิ่มอำนาจให้แก่สภาชุมชน  ชาเวซเน้นว่า หัวจักรนี้คือหัวจักรที่สำคัญที่สุด เป้าหมายคือการสร้างรัฐที่ตั้งอยู่บนอำนาจของชุมชน เพื่อล้มล้างรัฐราชการและอำนาจที่รวมศูนย์อยู่ที่ภาคธุรกิจใหญ่

 

ประเด็นแรกในเรื่อง "กฎหมายที่ให้อำนาจ" นั้น เป็นประเด็นที่ทำให้ชาเวซถูกสื่อตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เขาปกครองประเทศด้วยกฤษฎีกา แต่สื่อตะวันตกมักโจมตีชาเวซแบบตีขลุมมากเกินไป  เราน่าจะดูรายละเอียดในประเด็นนี้สักหน่อย

การมอบ "กฎหมายที่ให้อำนาจ" แก่ประธานาธิบดีเป็นสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลา ทั้งฉบับเก่า ค.ศ. 1961 ที่ยกเลิกไป และในฉบับใหม่ ค.ศ. 1999 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ชาเวซไม่ใช่ประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับมอบอำนาจนี้  แต่เขาเป็นคนที่ห้าในประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา  อีกทั้งก่อนหน้านี้  รัฐสภาเคยมอบอำนาจให้เขามาแล้วสองครั้ง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่า ชาเวซใช้อำนาจนี้ไปในทางที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือฉ้อฉลเลวร้ายแต่อย่างใด

เพียงแต่การมอบ "กฎหมายที่ให้อำนาจ" แก่ชาเวซในคราวนี้ เกิดขึ้นในสภาพที่สมัชชาแห่งชาติที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติของเวเนซุเอลา ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมืองที่สนับสนุนชาเวซทั้งสิ้น สืบเนื่องจากการที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. 2005 จนทำให้เกิดสภาพ "เผด็จการรัฐสภา" ขึ้นมา

"กฎหมายที่ให้อำนาจ" ครั้งนี้จะมีอายุ 18 เดือน  อนุญาตให้ประธานาธิบดีออกกฎหมายได้ใน 11 เรื่องด้วยกัน กล่าวคือ โครงสร้างของกลไกรัฐ, การเลือกตั้งเจ้าพนักงานท้องถิ่น, เศรษฐกิจ, การเงินและภาษี, การธนาคาร, การคมนาคมขนส่ง, กองทัพและการป้องกันประเทศ, ความปลอดภัยของสาธารณชน และนโยบายด้านพลังงาน โดยมีเหตุผลเพื่อปฏิรูประบบราชการ, ขจัดการคอร์รัปชั่น, ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย, สร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ, ปฏิรูประบบสาธารณูปโภค และเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ  การใช้ "กฎหมายที่ให้อำนาจ" มีข้อจำกัดคือ

ประธานาธิบดีต้องปกครองภายในขอบเขตจำกัดของกฎหมายภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

ประธานาธิบดีมีอำนาจออกกฎหมายจำกัดเฉพาะในเรื่องที่สมัชชาแห่งชาติให้อำนาจไว้ (กล่าวคือ 11 เรื่องข้างต้น)

อำนาจนี้จะหมดอายุลงใน 18 เดือน

ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน

อำนาจนี้มีเฉพาะกิจการภายในประเทศ ไม่รวมถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจริบทรัพย์สินเอกชน

ตามรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลา ประชาชนมีอำนาจยกเลิกกฎหมายได้ด้วยการลงประชามติ  การลงประชามติจะเกิดขึ้นหากมีประชาชนรวบรวมรายชื่อได้ 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงที่ขึ้นทะเบียนไว้ ในกรณีของกฎหมายที่ออกโดยกฤษฎีกาตามบท "กฎหมายที่ให้อำนาจ" นั้น การลงประชามติสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยรายชื่อเพียง 5% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง

สมัชชาแห่งชาติสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ออกโดยกฤษฎีกาได้ด้วยการลงคะแนนเสียงข้างมาก

สิ่งที่ชาเวซเริ่มทำไปบ้างแล้วด้วยกฎหมายที่ให้อำนาจนี้ ก็คือการโอนกิจการที่ถือเป็น "ยุทธศาสตร์สำคัญ" สามส่วนกลับมาเป็นของรัฐ นั่นคือ กิจการด้านโทรคมนาคม, การผลิตไฟฟ้า และการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในการผลิตน้ำมัน หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน คงไม่มีใครคาดคิดว่าฐานอำนาจของชาเวซจะปักหลักมั่นคงได้ขนาดนี้

แต่การปฏิวัติโบลิวาร์ไม่ใช่แค่อูโก ชาเวซ ขณะที่ชาเวซเข้มแข็งขึ้น ประชาชนชาวเวเนซุเอลาสามารถวางรากฐานของตนเองได้มากน้อยแค่ไหน?

 

สภาชุมชน: ความหวังในการจัดตั้ง

การจัดตั้งของประชาชนในเวเนซุเอลา มีทั้งที่เกิดขึ้นมาเองและได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล  ชมรมโบลิวาร์ (Bolivarian Circles) ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของชาเวซ กลับไม่สามารถมีบทบาทนอกเหนือจากกรอบการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้มากนัก  มันไม่สามารถแสดงบทบาททางด้านการพัฒนาและแก้ปัญหาสังคมในยามปกติที่ไม่ใช่ช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง อีกทั้งชมรมโบลิวาร์ยังมีลักษณะของ "ชาวิซตา" (ผู้สนับสนุนชาเวซ) ที่กีดกันคนที่ไม่เห็นด้วยออกไป  

ส่วนองค์กรประชาชนที่ชาเวซส่งเสริมและหวังให้มีบทบาทสำคัญคือ สภาวางแผนสาธารณะท้องถิ่น (Local Public Planning Councils—CLPPs) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 2001 จุดประสงค์ของสภานี้คือให้แต่ละชุมชนเลือกตัวแทนเข้ามาทำงานร่วมกับข้าราชการในด้านนโยบายและงบประมาณ  เมื่อเวลาผ่านไป ความล้มเหลวของ CLPPs ยิ่งเห็นได้เด่นชัด ปัญหาของมันมีมากมายตั้งแต่การมีขนาดใหญ่เกินไป การเลือกตัวแทนของชุมชนที่มีประชากรจำนวนมาก ลงท้ายแล้วก็ไม่ต่างจากการเลือก ส.ส.  กล่าวคือ ผู้แทนที่เลือกขึ้นมาไม่ได้เป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคการเมืองและนายกเทศมนตรีสามารถเข้ามามีอิทธิพลและส่งคนของตัวเองเข้ามาเป็นตัวแทน ส่วนชุมชนจริงๆ ไม่สามารถมีตัวแทนที่เป็นปากเสียงของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ชาเวซจึงแก้ไขปัญหาด้วยกลยุทธ์ที่เป็นหมัดเด็ดของเขาเสมอมา นั่นคือ หากกลไกที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล ก็สร้างกลไกใหม่ขึ้นมา ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2006 รัฐบาลจึงออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาชุมชน

สภาชุมชนก่อตั้งขึ้นโดยเรียนรู้มาจากการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในเมืองโปร์ตูอาเลเกรของบราซิล และระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในรัฐเกรละของอินเดีย  แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนี้ไม่ใช่ของใหม่ในเวเนซุเอลา แต่มีมาตั้งแต่อูโก ชาเวซชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1998 และการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1999  อันที่จริง การสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเพื่อมาแทนที่ประชาธิปไตยแบบผู้แทน เป็นเป้าหมายหนึ่งของการปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์

กฎหมายสภาชุมชนกำหนดว่า สภาชุมชนแห่งหนึ่งประกอบด้วยครอบครัว 200-400 ครอบครัวในเขตเมือง ส่วนในเขตชนบทอาจมีเพียง 100 ครอบครัวก็พอ  มติของสภาเกิดจาก "สมัชชาพลเมือง" หรือประชากรที่มีอายุครบเกณฑ์การลงคะแนนเสียง ทุกคนที่มีอายุเกิน 15 ปี สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในสมัชชานี้ และการลงมติทุกครั้งต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 20% ของประชากรที่มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด กฎหมายสภาชุมชนยังระบุให้คณะกรรมการละแวกบ้านและองค์กรชุมชนที่มีอยู่เดิม ต้องเข้ามารวมอยู่ในสภาชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วย

ภายใน 6 เดือนหลังจากออกกฎหมายนี้ มีการก่อตั้งสภาชุมชนถึง 16,000 แห่งทั่วประเทศ  และคาดหมายว่าจะมีมากถึง 21,000 แห่งในสิ้นปีนี้ การกำหนดจำนวนครอบครัวไม่ให้มากเกินไป เพื่อให้สภาชุมชนเป็นตัวแทนของพื้นที่ที่ชาวบ้านทุกคนรู้จักกันหมด ไม่ต้องมีต้นทุนการเดินทางมาประชุม ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ตัวแทนหรือผู้นำที่ได้มาต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนจริง ๆ สภาชุมชนจะเป็นตัวกลางในการสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาในสังคมที่แตกแยกของเวเนซุเอลา เพราะมันจะรวบรวมทุกฝ่ายเข้ามาไม่ว่าจะเป็น "ชาวิซตา" หรือฝ่ายตรงข้าม

 

เจตนา (ดูเหมือน) ดี แต่ก็ยังมีปัญหา

ปฏิกิริยาแรกสุดต่อกฎหมายฉบับนี้มาจากประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เป็นสมาชิกของ "คณะกรรมการที่ดินเมือง" ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่มีความเข็มแข็งและเป็นองค์กรดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาจากการจัดตั้งรวมตัวกันเองของประชาชนรากหญ้าหลังจากเหตุการณ์คารากาโซ ค.ศ.1989  คณะกรรมการที่ดินเมืองมองว่ากฎหมายสภาชุมชนเป็นเจตนาดีของรัฐบาลที่จะสร้างผลเสียขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ พวกเขาทำนายว่า กฎหมายนี้จะทำให้เกิดการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างคณะกรรมการต่างๆ ภายในชุมชน เช่น คณะกรรมการด้านที่ดิน, สาธารณสุข, น้ำ ฯลฯ ต่างฝ่ายต่างจะวิ่งเต้นเพื่อชิงทรัพยากรมาจากสำนักนายกเทศมนตรี

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไปไม่กี่เดือน คณะกรรมการที่ดินเมืองก็เปลี่ยนท่าที พวกเขาตระหนักว่าหากไม่เข้าร่วมกับสภาชุมชนก็จะหมดโอกาสมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน ในปัจจุบัน คณะกรรมการที่ดินเมืองกลายเป็นเสาหลักของสภาชุมชนในเมืองใหญ่ๆ และคำทำนายในทางร้ายว่าจะเกิดการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น การมีส่วนร่วมของชุมชนในหลายๆ แห่งเป็นที่น่าพอใจ ดูจากสถิติผู้มาออกเสียงลงมติและเลือกตัวแทนมีเป็นจำนวนมาก  รัฐบาลเองก็ทุ่มเงินลงไปไม่น้อย โดยจัดสรรเงินให้ถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว  และปีนี้คาดว่าจะมีการจัดสรรเงินให้ถึง 5 พันล้านดอลลาร์

แต่ปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญของสภาชุมชนก็คือ กฎหมายสภาชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นจากการหารือกับประชาชน ทำให้มีสภาชุมชนและขบวนการประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับเนื้อหาของกฎหมาย โดยเฉพาะในแง่ที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจสภาชุมชนเหนือกว่าระบบราชการทั้งในระดับเทศบาล ภูมิภาคหรือระดับชาติ สภาชุมชนมีอำนาจเหนือชุมชนท้องถิ่นของตนเองเท่านั้น ดังนั้น กฎหมายนี้จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงปฏิรูปโครงสร้างกลไกรัฐแต่อย่างใด สภาชุมชนจำเป็นต้องทำงานร่วมกับสถาบันการปกครองที่มีอยู่ดั้งเดิม และเผชิญกับการต่อต้านจากนายกเทศมนตรี ผู้ว่าการรัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกรงว่า สภาชุมชนจะมาแย่งอำนาจไปจากตน

อย่างไรก็ตาม ข้อดีประการหนึ่งของสภาชุมชนก็คือ ถึงแม้สภาชุมชนที่ตั้งขึ้นส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มชาวิซตา แต่กฎหมายไม่ได้มีเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงสภาชุมชนได้โดยตรง ดังนั้น สภาจึงสามารถเป็นอิสระจากรัฐบาลได้หากสมาชิกในสภาเข้มแข็งพอ อีกทั้งโครงสร้างของสภาไม่กีดกันฝ่ายใดออกไป แต่เน้นการรวบรวมทุกฝ่ายให้เข้ามาทำงานร่วมกัน (inclusive) กระทั่งประชาชนกลุ่มที่คัดค้านชาเวซก็สามารถเข้ามามีบทบาทในสภาชุมชน อันที่จริง มีชนชั้นกลางฝ่ายค้านบางพื้นที่ด้วยซ้ำที่ใช้สภาชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในชุมชนของตน และเห็นว่าสภาอาจเป็นเครื่องมือที่เหมือนศรย้อนแทงชาเวซเองได้

ในบางกรณี สภากลายเป็นเวทีกลางช่วยประสานรอยร้าวในสังคมที่แตกแยกอย่างเวเนซุเอลา มีบางสภาชุมชนที่ฝ่ายชาวิซตาและฝ่ายคัดค้านทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เมื่อเข้ามาใกล้ชิดกัน ต่างฝ่ายต่างเริ่มยอมรับความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญของอีกฝ่าย ต่างตระหนักว่าทุกคนต้องการสิ่งเดียวกัน นั่นคือ ชีวิตที่ดีกว่าเดิม สภาพสังคม-เศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม ที่ดีขึ้น ในเมื่อทุกคนต่างมีความต้องการเหมือนกัน แล้วทำไมจึงต้องแตกแยก? สมาชิกสภาชุมชนบางคนบอกว่า ความแตกแยกทั้งหมดมาจากข้างบน คนที่มีอำนาจต่างก็ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง

 

อำนาจที่กำลังเอียงกะเท่เร่

ทิศทางของอำนาจเบื้องบน กล่าวคือ อำนาจของประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ นับวันจะมีแต่ความเข็มแข็งและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้นเรื่อยๆ  เขากำลังได้รับชัยชนะทั้งในเชิงอุดมการณ์ (ดูจากคะแนนเสียงเลือกตั้ง) เชิงเศรษฐกิจ (ความเฟื่องฟูที่มาจากราคาน้ำมัน) เชิงการเมือง (การยอมรับความพ่ายแพ้ของพรรคฝ่ายค้าน) รวมไปถึงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศด้วย (จะมีใครสักกี่คนกล้าเรียกประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นปีศาจกลางที่ประชุมของสหประชาชาติ) แต่การฝากความหวังของการปฏิวัติโบลิวาร์ไว้ที่คน ๆ เดียว ก็เปรียบเสมือนการสร้างบ้านบนเสาเข็มเล่มเดียว มันอาจพังครืนลงมาวันไหนก็ได้  หากประชาชนฐานรากไม่สามารถจัดตั้งตัวเองและสร้างจิตสำนึกขึ้นมาให้แข็งแกร่ง ความไม่สมดุลของอำนาจเบื้องบนกับเบื้องล่างอาจย้อนมาทำลายการปฏิวัติสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ให้ภินทนาการลงอย่างน่าเสียดาย

 

 

(กรุณาติดตามตอน [ที่ยังไม่] จบในสัปดาห์ต่อไป)

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

Michael Fox, "Venezuela's Co-op Boom," June 01, 2007, ZNet.

Michael Fox, "Venezuela's Secret Grassroots Democracy," November 30, 2006, venezuelanalysis.com.

 

Michael Fox and Gregory Wilpert, "Chavez Announces Plans for Second Full Term at Welcome Home Rally," September 15, 2006, Venezuelanalysis.com.

Marta Harnecker and Coral Wynter, Jim McIlroy, "Venezuela's experiment in popular power," December 20, 2006, Green Left Weekly.

Stephen Lendman, "Hugo Chavez's Social Democratic Agenda," February 22, 2007, ZNet.

Gregory Wilpert, "Chavez Announces Nationalizations, Constitutional Reform for Socialism in Venezuela," January 10, 2007, Venezuelanalysis.com.

 

 ---------------------------

อ่านตอนแรก

ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของอูโก ชาเวซ (ตอนที่1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท