Skip to main content
sharethis

          เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.50  นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่เขาจะลาออก เพราะไม่พอใจที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สภาผู้นำชุมชน ที่นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้(5 มิ.ย.)ว่า ได้อธิบายให้ที่ประชุมฟังว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นโยบายด้านสังคมเรื่องแรกคือ การปฏิรูปสังคม สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขอย่างสมานฉันท์ ซึ่งได้แปรมาเป็นยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการอยู่ คือ ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม"


          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สังคมเข้มแข็งจะมาจากฐานรากที่สำคัญคือ ชุมชุนท้องถิ่น ซึ่งเครื่องมือสำคัญของชุมชนท้องถิ่น คือองค์กรชุมชน ซึ่งได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มีอยู่หลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ ในแต่ละตำบล ในเขตเทศบาลจะรวมตัวกันเอง ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงเห็นว่าถ้ามีกฎหมายรองรับ และเรียกตัวเองว่า "สภาองค์กรชุมชน" มีตัวแทนจากชุมชนต่างๆ มารวมตันกันเป็นสภา จะได้เป็นที่ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น และร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นมีความเข็มแข็ง เป็น 3 ขา และมีความสมดุลคือ ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาองค์กรชุมชน


          ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วยในเรื่องของอำนาจ เพราะเกรงจะไปซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรงนี้ได้มีการพูดคุยกันหรือยัง นายไพบูลย์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.สภาผู้นำชุมชน จะไม่มีอำนาจทางกฎหมายเป็นในทำนองสภาปรึกษาหารือกันเอง และหารือกับหน่วยงานอื่น ซึ่งรูปแบบนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพอใจมาก แต่ปัญหาคือร่างพ.ร.บ.ช่วงแรกได้ให้อำนาจผู้นำชุมชน คือมีอำนาจยับยั้งโครงการที่สภาฯ เห็นว่าไม่เหมาะสม ก็จะไปซ้ำซ้อน และทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหวั่นเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งกัน


          แต่เมื่อมีเสียงคัดค้าน ตนได้ให้ผู้คัดค้านและผู้เสนอ ได้หารือร่วมกัน และตัดอำนาจดังกล่าวออกไป แต่ทางกระทรวงมหาดไทย คงยังอยู่กับข้อมูลเก่า อย่างไรก็ตาม ในเร็ว ๆ นี้จะให้ผู้คัดค้านมาหาปรึกษาหารือกันอีกครั้ง โดยจะให้ทางมหาดไทยดำเนินการ และอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน


          นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะไม่นำไปสู่ปัญหาความแตกหัก เพราะไม่ใช่ความขัดแย้ง และไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะ แต่เป็นเรื่องข้อมูลยังไม่พร้อม และความจริงทางมหาดไทย ทั้งนายบัญญัติ จันทน์เสนะ รมช.มหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้พูดคุยหมดแล้ว เพียงแต่ รมว.มหาดไทย และพล.ต.ท. ธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ รมช.มหาดไทย ที่เข้ามาใหม่ ไม่ได้มารับรู้กระบวนการที่หารือกัน


          "ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ทำความเข้าใจกันได้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต่างคนต่างมีจุดยืนต่างกัน แต่เป็นเรื่องที่มีผู้คัดค้านมา ทางกระทรวงมหาดไทยก็เป็นห่วง ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และพ.ร.บ.ฉบับอื่นมีความเห็นแตกต่างกว่านี้อีก ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าผมพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ หากร่างพ.ร.บ.ไม่ผ่านความเห็นชอบนั้น ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของกระทรวงอันดับหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล สมมุติว่าเรื่องนี้ไม่ผ่าน ก็แปลว่าเรื่องสำคัญไม่ผ่าน นโยบายสำคัญที่ทำมาในนามรัฐบาลไม่ผ่าน ผู้บริหารกระทรวงก็ต้องรับผิดชอบ" นายไพบูลย์ กล่าว


          ต่อข้อถามว่านายกรัฐมนตรีว่าอย่างไร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ว่าอะไร เพราะเป็นประธานในที่ประชุม เมื่อมีความเห็นยังไม่ตรงกัน ก็ไปทำให้ตรงกัน ปรึกษาหารือกัน ให้กฤษฎีกาดูแลเรื่องกฎหมาย


          เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีห่วงหรือไม่ที่จะมีการลาออกไปอีกคน นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่ากังวล เป็นเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญ เจ้ากระทรวงต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ดำเนินการ


         


หมอพลเดชระบุพร้อมไขก๊อกตาม'ไพบูลย์' หากพ.ร.บ.องค์กรชุมชนไม่ผ่านครม.


          นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า เมื่อเห็นพาดหัวข่าววันนี้ว่า "ไพบูลย์-พลเดช ขู่ไขก๊อก" ก็ตกใจ ไม่ต้องการให้เกิดความรู้สึกแบบนั้น เพราะโดยนิสัยและบุคลิกส่วนตัวของตนและนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ พม. ไม่เคยให้ร้ายใคร ไม่ขู่ใคร จะทำก็ทำเลย จึงไม่ต้องการให้มีการขยายเรื่องนี้ หลักการคือ เราสองคนเข้ามาช่วยรัฐบาลทำงาน เพราะเห็นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศที่จะต้องวางรากฐานในการพัฒนาสังคม ซึ่งเป็นงานระยะยาว เพราะฉะนั้น จึงต้องการมาวางยุทธศาสตร์ไม่ใช่มาทำเป็นงานประจำ ซึ่งปลัดกระทรวงและข้าราชการทำได้ดีอยู่แล้ว


          นพ.พลเดช กล่าวว่า เขาและนายไพบูลย์ จึงให้ความสำคัญงานยุทธศาสตร์และนโยบาย ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญของ พม. และรัฐบาล คือ การออกกฎหมายที่ดี มีประโยชน์ เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาสังคมในระยะยาว ซึ่งมีกฎหมาย 3 ฉบับ ที่ให้ความสำคัญ ฉบับแรก คือ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ที่ให้ความสำคัญมาก ดังนั้น ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำงานต่อ เพราะถือว่าไม่มีประโยชน์ที่จะได้ทำงานด้านยุทธศาสตร์ หมายความว่าไม่ควรอยู่ต่อ


          สำหรับแนวโน้มของร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนนั้น นพ.พลเดช กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า จะผ่านการพิจารณาในท้ายที่สุด เพราะประเด็นคัดค้านของนายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.ท.ธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นการคัดค้านเนื้อหาเก่า แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้หารือและปรับปรุงหลายส่วนแล้ว ซึ่งทั้งสองคนยังไม่ทราบ


          "เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) หลังจากรับประทานอาหารหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้หารือกันอีกนาน แต่ท้ายที่สุดก็เริ่มรับฟังกันได้"


         


อารีย์ เมิน"ไพบูลย์"หวั่นร่างสร้างความขัดแย้ง อปท.-การเมืองท้องถิ่น


          นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.... ว่าตามหลักการบริหารราชการแผ่นดิน จำเป็นต้องมีองค์กรที่ถูกต้องตามหลักการ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อบังคับใช้ในการบริหารราชแผ่นดิน


          ดังนั้น เมื่อมีองค์กรอื่นเข้ามาแทรกแซงระบบของการบริหารราชการแผ่นดิน ก็จะเกิดปัญหาว่าหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะขึ้นกับใคร ใครจะเป็นผู้บริหาร และถ้าหากมีความขัดแย้งขึ้นระหว่างองค์กรต่อองค์กรซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ใครจะเป็นคนตัดสิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นกฎหมายขึ้นมาแล้ว ผู้ว่าราชการก็ไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวประการใด ที่ตนคัดค้าน ไม่ได้โกรธหรือมีปัญหากัน แต่พูดกันด้วยเหตุผล โดยนึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า ถ้าจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง จะต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง


          เมื่อถามว่า การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนนอกจากจะทำให้ฝ่ายบริหารงานมีปัญหาแล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ด้วย นายอารีย์ กล่าวว่า แน่นอน เพราะเป็นคนละองค์กรซึ่งมีความเห็นแตกต่างกัน คงบริหารงานลำบาก เพราะเวลาใช้งบประมาณทำโครงการต่างๆ ก็ไม่รู้จะใช้งบประมาณในลักษณะใด ส่วนไหนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องดำเนินการพิจารณา ส่วนไหนองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่จะพิจารณา มันจะเกิดความสับสน


          "ผมคิดว่าสภาองค์กรชุมชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ประชาชนปรึกษาหารือกันเอง หรือปรึกษาผู้นำของเขา แล้วผู้นำก็ปรึกษากับองค์กรซึ่งเป็นหลักของประเทศ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มันก็จะเข้ากันได้ เพราะเขาเข้าใจกัน ตราบใดที่ตั้งองค์กรแยกออกมา ผมยืนยันว่ามีปัญหาแน่นอน" นายอารีย์ กล่าว


          เมื่อถามว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องการแก้ไขเรื่องที่ อปท.ถูกแทรกแซงทางการเมือง นายอารีย์ กล่าวว่า มีองค์กรใดบ้างที่การเมืองไม่เข้าไปแทรกแซง องค์กรที่บอกว่าเป็นกลาง บางครั้งก็ไม่เป็นกลาง เมื่อมีหลายองค์กร การเมืองต้องเข้าแทรกแน่ และไม่มีอะไรมายืนยันว่าการเมืองจะไม่เข้าแทรก สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นการเมืองทั้งนั้น อ้างอย่างอื่นไม่ได้ ตนไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง การเมืองเป็นสิ่งจำเป็นของประเทศ จึงต้องมีบทบาท แต่ถ้าบทบาทนั้นสร้างความขัดแย้งให้การเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ก็ยิ่งเกิดความสับสนมากขึ้น


          ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่นายไพบูลย์ ใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีฯ เป็นเดิมพันนั้น จะทำให้เกิดความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ นายอารีย์ กล่าวว่า ไม่ เพราะใช้หลักการและเหตุผลพูดกัน สิ่งที่ทำเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว


          เมื่อถามต่อว่า นายไพบูลย์ ระบุว่า ถ้าร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ได้รับการสนับสนุน จะไม่ทำงานร่วมรัฐบาลต่อ นายอารีย์ กล่าวว่า "เป็นเรื่องของท่าน ไม่เกี่ยวกับผม" ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ครม. จะลาออกจากตำแหน่งเหมือนนายไพบูลย์หรือไม่ นายอารีย์ ไม่ตอบอะไร ได้แต่หัวเราะและเดินขึ้นห้องทำงานไป


         


'ทิพาวดี' หนุนร่างกม.สภาชุมชน


          คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย เรื่องพ.ร.บ.สภาชุมชุน ว่า เป็นเรื่องปกติที่การพิจารณากฎหมายสำคัญ ๆ รัฐมนตรีแต่ละคนจะช่วยกันพิจารณาและให้ความเห็นต่าง ๆ แต่เมื่อการอภิปรายยุติลงแล้วก็ต้องมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยดูในประเด็นทางกฎหมาย ซึ่งตนคิดว่าเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรียบร้อยแล้วก็คงสามารถผ่านไปได้


          ต่อข้อถามที่ว่ามีข่าวว่านายไพบูลย์ขู่ลาออกหากกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของครม.และสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ ปัญหาจะบานปลายหรือไม่ รมต.ประจำสำนักรนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายไพบูลย์คงไม่ได้พูดขนาดนั้น ซึ่งในที่ประชุมครม.ก็นั่งประชุมติดกัน ซึ่งท่านมองในประเด็นที่ว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญ ทั้งนี้ตนได้ให้ความเห็นสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน


          "ในบางประเด็นที่รมต.บางคนเห็นแตกต่างกันนั้นก็เป็นเรื่องปรกติ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใหญ่โตอะไร กลับมองว่าเป็นการช่วยกันดูความรอบคอบของกฎหมาย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการนำเรื่องต่าง ๆ เข้าครม. และเรื่องใหญ่ ๆ หลายเรื่องในครม.เองก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน คิดว่า รองไพบูลย์ท่านหนักแน่น ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้มีประโยชน์ มีข้อขัดแย้งในประเด็นเล็กน้อย ก็อย่าถือเป็นเรื่องใหญ่โตเลย และคิดว่าคงไม่ทำให้บรรยากาศการประชุมครม.แตกแยก" รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว


 


ผู้นำท้องถิ่นหนุน สภาพลังบริสุทธิ์


ในวันเดียวกัน มีความคิดเห็นจากผู้นำชุมชนในต่างจังหวัดหลายคน นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ผู้นำชุมชนบ้านดอนศาลเจ้า ต.บ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ควรบรรจุ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯเข้าไว้ด้วย เนื่องจากผู้นำชุมชนเป็นพลังบริสุทธิ์ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือจัดตั้ง จึงไม่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ เชื่อมโยงกับการบริหารงานของอปท.หรือนักการเมืองท้องถิ่น


          "ผู้นำชุมชนจึงมีสิทธิ์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ดูแล ตรวจ สอบการทำงานของ อปท.ขอย้ำอีกครั้งว่าผู้นำชุมชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือจัดตั้ง จึงมีความเป็นกลาง เป็นพลังชาวบ้านที่รวมตัวกันภายในชุมชนถือเป็นพลังที่บริสุทธิ์สามารถชี้ถูกผิด โดยไม่มีวาระซ่อนเร้นหรือผลประโยชน์เข้ามาทับซ้อน"


          นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิตติกูล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ่าวน้อย อ.เมือง ประจวบคีรีขันธ์ และที่ปรึกษาสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อปท.โดยเฉพาะอบต.เป็นของพี่น้องในชุมชน ที่ผ่านมาผู้นำชุมนทำงานร่วมกับ อบต.เหมือนเป็นคู่ขนานมาโดยตลอด โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นของตนเองที่สำคัญก่อนจัดทำข้อบัญญัติหรือร่างงบประมาณเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ก็ต้องมีการทำประชาคมจากผู้นำชุมชนขอความคิดเห็นจากชาวบ้าน รวมไปถึงการตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องมีตัวแทนของประชาคมผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นตัวแทนตรวจรับด้วยทุกครั้ง จึงถือได้ว่าชุมชนกับ อบต.เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


          นายสน รูปสูง เลขาธิการสมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือให้กำลังใจ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ นายไพบูลย์และ นพ.พลเดช ที่ได้ประกาศยืนยันหนักแน่น ที่จะอุทิศตัวให้กับชุมชนฐานรากอย่างเด็ดเดี่ยวไม่สนใจตำแหน่งทางการเมือง พร้อมสละตำแหน่งหาก พ.ร.บ.นี้ไม่ผ่าน ครม.นอกจากนี้ ยังได้ร่างหนังสือไปถึง รมว.มหาดไทย ปลัดฯมหาดไทย และเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ขัดขวางไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ ซึ่งถือว่าไม่ได้ศึกษาพ.ร.บ.นี้อย่างเข้าใจ


          "พ.ร.บ.นี้เขียนขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 50 แสดงว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนเป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ย่อมหมายความว่ารัฐมนตรีที่ขัดขวาง ต้องเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยไม่สมควรเป็นรัฐมนตรี ถ้ายังมีพฤติการเช่นนี้ควรปลดออกและควรให้ไปเรียนรู้งานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 เดือน"


--------------------------------------------       


เรียบเรียงจาก เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น,สยามรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net