Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


มุทิตา  เชื้อชั่ง


 


1


 


วันก่อนผมเดินผ่านลานปรีดีริมแม่น้ำเจ้าพระยาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็น "ปรีดี พนมยงค์" นั่งตากแดดอยู่อย่างโดดเด่น ยังคงมีมาลัย ดอกไม้สดวางอยู่ประปราย


 


ในบรรยากาศสังคมการเมืองเช่นนี้ หลังเพิ่งสิ้นท่านผู้หญิงไปแบบนี้ และในเดือนมิถุนายนอย่างนี้ ไม่ใครก็ใครคงต้องคิดถึงเขาบ้าง


 


ก่อนหน้านั้น ผมเพิ่งได้เห็น "หมุดคณะราษฎร" แถวลานพระบรมรูปทรงม้า ทั้งที่รู้จักมันมานานแล้วว่าเป็นจุดที่พระยาพหลฯ หนึ่งในคณะราษฎรยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 แก่บรรดาทหารที่เป็นสักขีพยานการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่นั่งรถ (เมล์) ผ่านทีไรก็หามันไม่เจอสักที


 


หมุดนั้นอยู่ที่พื้นถนนฝั่งสนามเสือป่า เป็นหมุดทองเหลืองมีขนาดเล็กกว่าจานใบเล็กๆ หาความโดดเด่นอะไรไม่ได้


 


ตัวหนังสือบนนั้นเลือนไปมากพอดู แต่ไม่ใช่เฉพาะถ้อยคำการก่อกำเนิด "รัฐธรรมนูญ" หรอกที่เลือนไปจากหมุด ความหมายของมันในสังคมไทยก็ "เลือน" และ "เลอะ" ไปไม่น้อย


 


2


 


รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และอีกหลายๆ คำ กลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกฉวยใช้หมายความถึงแทบทุกอย่าง (อย่างหาความหมายไม่ได้) และยิ่งไร้ความหมายอย่างรุนแรงในยุคสมัยนี้


 


ยุคสมัยที่สมาชิกบ้านเดียวกันถกเถียงกันว่าจะเอา "คมช." หรือ "ทักษิณ" จนคุยกันไม่ได้


 


น่าเศร้าที่ข้อถกเถียงทุกอย่างถูกบีบให้เหลือแค่นี้...


 


น่าเศร้ากว่านั้นที่มันไม่ใช่ข้อถกเถียงที่เชื่อมโยงสู่ "ยูโทเปีย" ใดๆ หรือหากจะโยงได้ก็ยากและยาวไกลนัก ไม่เหมือนวันที่โลกสังคมนิยมยังไม่ล่มสลาย วันที่ตัวเลือก "โลกที่ใฝ่ฝัน" ยังมีพลัง


 


กระนั้นก็กล่าวได้ว่ามันเป็นช่วงเวลาแห่งความแตกแยกที่สุดอีกครั้งหนึ่งของสังคมไทย เพียงแต่เป็นการแตกแยกที่ดูเหมือน "ไม่รู้จะไปไหน"


 


แค่เถียงกันก็ยังไม่สนุก เพราะเผชิญกับความตีบตันทั้งในเชิงปรากฏการณ์ หลักการ และจินตนาการ  


 


เถียงกันไม่สนุก ตั้งแต่ระดับอำนาจนำขั้วเดี่ยว สื่อมวลชนที่หาความหลากหลายไม่ได้ หรือแม้แต่ตามีในหมู่บ้านเนินขี้เหล็กที่ต้องเจอกับ กอ.รมน.ตัวเป็นๆ ที่รัฐส่งลงพื้นที่ทั่วประเทศนับหมื่นคนเพื่อดูแลความสงบราบคาบในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ...แค่คิดจะอ้าปากเป็นอย่างอื่นก็เสียวแล้ว


 


นอกจากกระบวนการปิดปากตรงไปตรงมา ยังมีการปิดปากขั้นสูงดังที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ "ประณามการลงประชามติที่ฉ้อฉล" เพราะรัฐโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ หรือโทรทัศน์บางช่องให้ประชาชนออกไปรับรองร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษา


 


จะวิเคราะห์ว่ากลยุทธ์นี้บวกหรือลบกับใครก็ได้ ดีหรือไม่ดีก็ได้ โง่หรือฉลาดก็ได้...


 


การลงประชามตินี้จึงมีรูปร่างหน้าตาประหลาด น่า "ลัก" น่าชัง เพราะเป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบไม่มีทางเลือกและคุกคาม


 


กระทั่งกลุ่มไม่เห็นด้วยก็ไม่มีทางเลือก เพราะแม้ไม่อยากสังฆกรรมใดๆ เพื่อรองรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหารก็ต้องลงมาเล่นในเกมส์ รณรงค์การลงประชามติคว่ำรัฐธรรมนูญแล้วไปตายเอาดาบหน้า


 


ฯลฯ


 


3


 


ผมเดินผ่านแผงหนังสือพิมพ์ เห็นพาดหัวข่าวการเมืองว่าด้วยรัฐธรรมนูญแล้วก็รู้สึกคลื่นเหียนแปลกๆ เลยเดินเตร่กลับมานั่งเล่นที่ลานปรีดี ตะวันโพล้เพล้ใกล้มืด "ปรีดี พนมยงค์" ยังคงนั่งนิ่งไม่กลัวยุง


 


นั่งคิดถึงอนาคตการเมืองไทยเล่นๆ แต่กลับปวดหัวจริงๆ และอึดอัดคับข้องมากๆ ใจกระหวัดคิดถึงคำตำหนิต่อว่าปรีดีและคณะราษฎรในความผิดพลาดสำคัญบางประการเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง...


 


แปลกแต่จริง คืนนั้นผมฝันเห็นปรีดีหันมาบอกผมว่า "ทำกันเองบ้างสิวะ ตัวใครตัวมันโว้ย"


 


นี่เป็นครั้งแรกๆ เลยทีเดียว ที่เห็นรัฐบุรุษพูดจาไม่เพราะ...


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net