Skip to main content
sharethis

ศยามล  ไกยูรวงศ์


โดยหลักการแล้วข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างยิ่งที่สังคมไทยได้มี   "สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น" เพราะว่าในปัจจุบันสภาชุมชนได้ปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่   ที่แสดงถึงความร่วมมือและความพยายามของชุมชนในการทำแผนพัฒนาชุมชน  ร่วมแก้ไขปัญหาในชุมชน  ร่วมตรวจสอบแผนพัฒนาที่จัดทำโดยภาครัฐในระดับจังหวัด ระดับตำบล และหมู่บ้าน


สภาชุมชนที่มีศักยภาพและกล่าวถึงมากคือ สภาซูรอของชุมชนมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้  สภาชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ สภาชุมชนในบางหมู่บ้านที่เป็นเครือข่ายญาติพี่น้อง และมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง  หรือสภาประชาชนระดับจังหวัด ที่คนในจังหวัดนั้นได้รวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหาของคนในจังหวัด  และตรวจสอบการทำแผนพัฒนาของภาครัฐ  สภาชุมชนมาจากการริเริ่มของชุมชนและประชาชนที่ตระหนักถึงความเดือดร้อนของตนเองจากการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมาย และนโยบายการพัฒนาที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง   


ด้วยเจตนารมณ์ของการแก้ไขปัญหาที่ไม่หวังพึ่งรัฐ และกฎหมายที่มีอยู่สร้างปัญหา  จึงทำให้ภาคประชาชนได้ยกร่างกฎหมายสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น  ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้บนพื้นฐานของการไม่มีความหวังต่อองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)   อย่างไรก็ตามบทเรียนของ อปท. หลายประการที่ภาคประชาชนควรนำมาพิจารณาว่าร่างกฎหมายสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น จะไม่ซ้ำรอยเดิมเหมือนกับ อปท.หรือไม่


สังคมไทยหวังไว้ว่าการถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลตัวเองทั้งงบประมาณ การบริหารงาน จะทำให้การแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นรวดเร็ว  แต่ความจริงคือ เป็นการถ่ายโอนอำนาจด้วยรูปแบบและภาพพจน์ของหน้าตา และเงิน  ด้วยระบบการบริหารงานที่กระทรวงมหาดไทยยังกำกับ อปท.  และสร้างสัญลักษณ์การให้เกียรติยศ  ความมีหน้ามีตา และอำนาจที่กฎหมายรองรับ พร้อมทั้งงบประมาณที่ยิ่งสร้างอำนาจเหนือประชาชน  กลับทำให้ อปท.ไม่ได้เป็นอิสระ เพราะไปหลงใหลในลาภยศ สรรเสริญที่หลายหน่วยงานมอบภารกิจให้ อปท.ไปดำเนินการแทบทั้งสิ้น          


อปท. จึงกลายเป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยงานที่ต้องคอยรับบัญชาให้ดำเนินการกับชุมชน  ระบบงบประมาณทำให้ อปท. ต้องอยู่ภายใต้กรอบการทำงานของราชการจนทำให้สมาชิกสภาและผู้บริหารของ อปท. เข้าใจว่าตัวเองนั้นคือฝ่ายราชการ  


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท.ส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติการพัฒนาชุมชนต้องมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หารายได้เข้าองค์กร ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน การศึกษา สาธารณสุข และถึงแม้ว่า อปท.ในท้องถิ่นใดอยากพัฒนาเช่นนั้น แต่ระบบงบประมาณ การประเมินผลงาน และความนิยมของประชาชนในท้องถิ่น ทำให้ อปท.ต้องเลือกทำโครงสร้างพื้นฐานแทนที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งวัดผลการดำเนินงานได้ยาก และไม่อยู่ในความนิยมของประชาชน     


ประชาชนหวังในตัว อปท. จึงได้ส่งคนของกลุ่มเข้าไปสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อเข้าไปอยู่ในกลไกของ อปท. แล้วกลับพบปัญหาดังกล่าว  เหตุผลที่กล่าวมาในเบื้องต้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนที่หวังพึ่ง อปท.ไม่ได้ กลับมาเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น"   โดยยกร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างเป็นทางการ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์    มีงบประมาณสนับสนุนโดยการดำเนินงานของสำนักงานสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ    มีการเลือกตั้งสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นตำบล สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นจังหวัด สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ 


เจตนารมณ์ของสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นทั้ง ๓ ระดับ  ทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทชุมชน ประสานความร่วมมือ และติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงาน และโครงการร่วมกับ อปท.   นั่นหมายความว่าสังคมไทยมีสององค์กรที่กำกับดูแลการบริหารงานของ อปท. คือสภา อปท. และสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น และทั้งสองสภาอยู่ภายใต้กำกับดูแลของ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ   


สภาซูรอ หรือ สภาประชาชน หรือเครือข่ายประชาชนในรูปแบบต่างๆ เกิดจากการรวมกลุ่มที่มาจากศักยภาพและความเข้มแข็งขององค์กรประชาชน และบนฐานวัฒนธรรมของชุมชน เครือข่ายญาติพี่น้อง อย่างค่อยเป็นค่อยไป  องค์กรประชาชนที่เข้มแข็งเริ่มต้นจากการเห็นปัญหาร่วมกัน  และมีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของงบประมาณที่มาสนับสนุนจากภายนอก   เราจะพบว่าการรวมกลุ่มองค์กรประชาชนใดก็ตามที่มีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐและองค์กรเอกชน  (เช่น องค์กรเอกชนที่ให้งบประมาณโดยขาดการสร้างกระบวนการพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเอง) และมีการจัดตั้งเพื่อตอบสนองการใช้งบประมาณนั้น องค์กรประชาชนเหล่านั้นจะถูกแยกขาดจากประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น เพราะต้องตอบสนองต่อองค์กรเอกชนและกลไกรัฐที่มาสนับสนุนแทนที่การตอบสนองต่อการพัฒนาชุมชน   ระบบดังกล่าวได้ทำให้องค์กรประชาชนถูกแทรกแซงจากองค์กรของรัฐและองค์กรเอกชนซึ่งสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจเชิงอุปถัมภ์พึ่งพาในงบประมาณและหัวโขนที่ถูกตั้งขึ้นซึ่งทำให้ผู้นำชุมชนหลงลืมไปว่า เขาคือตัวแทนของเครือข่ายประชาชน   


ถ้าหากพื้นที่ใดที่มีผู้นำชุมชน หรือ อบต. คนใดที่มีความชัดเจนในจุดยืนของตัวแทนประชาชน  ผู้นำชุมชนนั้นก็จะจัดสรรงบประมาณที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน และไม่หลงใหลไปกับอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ   อย่างไรก็ตามด้วยกระแสของการมีส่วนร่วมจนทำให้ภาครัฐและภาคประชาชนต่างทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาล  และต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐและองค์กรจนทำให้ประชาชนอ่อนแอลง  ในขณะที่องค์กรประชาชนยังไม่เข้มแข็งที่จะจัดการภายในองค์กร รวมทั้งจัดความสัมพันธ์ให้สมดุลกับองค์กรภายนอก  จึงทำให้เจตนาที่ดีกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งภายในชุมชน  จนเกิดสภาวะว่าองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นสายของใคร   เช่น อบต.สายของกระทรวงมหาดไทย ต่อไปสภาองค์กรชุมชนเป็นสายของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และอีกหลายสายที่ได้รับงบประมาณจากหน่วยงานใด


ร่างกฎหมายสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นจะกลายเป็นกฎหมายที่จะทำให้เครือข่ายประชาชนแบ่งเป็นสองกลุ่ม  กลุ่มที่ไม่ต้องการอยู่ในกรอบของรัฐ กับกลุ่มที่เข้าไปอยู่ในกรอบของรัฐ  สถานการณ์จะไม่ต่างไปจาก อบต. ที่ประชาชนไม่ยอมรับ   


"สภาชุมชน" ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย จากสภาวะการตื่นตัวและความเข้มแข็งขององค์กรประชาชน   และควรถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายรองรับ   การดำเนินงานของสภาชุมชนเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่น และจากการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆโดยไม่ไปแทรกแซงองค์กรประชาชน ในอนาคตสภาชุมชนจะเป็นเครือข่ายประชาชนที่จะทำแผนพัฒนาภาคประชาชน ตรวจสอบแผนพัฒนาของรัฐ จังหวัด และตำบลได้ไปพร้อมกัน  


จงเชื่อมั่นในศักยภาพประชาชนให้เขาได้เติบโตท่ามกลางการเรียนรู้และการแก้ไขปัญหาด้วยตัวพวกเขาเอง    โดยปราศจากการเข้าไปอยู่ในกรอบของรัฐและกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net