Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.50 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)และวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) จัดเวทีนโยบายสาธารณะ "สภาองค์กรชุมชน :ประชาธิปไตยสู่ชุมชนรากหญ้า" ซึ่งเริ่มต้นที่นายวีระ นิจไตรรัตน์ จากวจส. เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ร่วม อันมีใจความสำคัญว่า ช่วงที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สภาองค์กรชุมชน ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการเพาะเชื้อให้เกิดชีวิตขององค์กรทางการเมืองที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนเป็นผู้แสดงหลักโดยผ่านสภาองค์กรชุมชน


 


ประการต่อมา พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง เพราะประชาชนคือพลเมืองที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองที่ขาดการตรวจสอบและการกลั่นกรอง สิ่งสำคัญของการตรวจสอบคือการทำให้ประชาชนเติบโต และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง


 


จากนั้น นางสาวรสนา โตสิตระกูล นักพัฒนาสังคม กล่าวฝากถึงองค์กรต่างๆ ที่คัดค้านการออก พ.ร.บ.องค์กรชุมชนว่า เราต้องการความเข้มแข็งของพลเมืองหรือพลังสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วม เพราะที่เราพบวิกฤติเวลานี้เนื่องจากบ้านเมืองขาดการตรวจสอบนักการเมืองที่เป็นตัวแทน ดังนั้นสิ่งสำคัญต้องหนุนให้ประชาชนเติบโตและมีส่วนตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น มิฉะนั้นมันก็เข้าสู่วงจรการคอรัปชั่นแล้วก็รัฐประหาร


 


นอกจากนี้ อยากฝากถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ว่า การเกิดองค์กรสภาชุมชนนั้นไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับ อปท. แต่ช่วยให้สังคมเข้มแข็งมากขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผ่านมาเชื่อว่าประชาชนเติบโตขึ้นมาก แต่ไม่มีโอกาส  พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนจะเป็นสะพานสู่ประเด็นการร่วมตัดสินใจทางการเมือง เราจึงต้องการเริ่มต้นให้เกิดตรงนี้ขึ้น


 


ต่อมา รศ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวก่อนที่จะเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อ พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนว่า ปัญหาพื้นฐานของประเทศไทยคือการมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและจะต่อไปจะแตกแยกไปมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดแต่เป็นเรื่องร่วมสมัยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ทุนนิยม


 


โดยที่ผ่านมาคิดไว ทำไว เห็นผลไว แต่ขาดธรรมาภิบาลจึงนำไปสู่การเมืองที่ผู้ชนะในการเลือกตั้งกินรวบ และตกอยู่ในสถานการณ์นั้นจนมาเข้าไปอยู่ในห้วงรัฐประหร 19 ก.ย. 49 ซึ่งมุ่งฟื้นธรรมาภิบาลโดยการรัฐประหารและมีกลุ่มหนึ่งดำเนินการยึดอำนาจ ตามมาด้วยคำถามถึงความชอบธรรมกับการเมืองหลังรัฐประหาร คือ ประเทศไทยมีอนาคตที่มีความหวังกว่าเดิมได้หรือไม่


 


ประเด็นที่ 2 สังคมไทยอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านธรรมาภิบาลแบบเผด็จการอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและขับเคลื่อน ประชาชนจะได้ตรวจสอบดูแลไปด้วย คำถามคือ อะไรคือประโยชน์แห่งชาติและใครนิยาม หรืออะไรคือประโยชน์สาธารธารณะ ใครนิยาม และประชาชนร่วมนิยามได้หรือไม่


 


การที่ประชาชนร่วมนิยามน่าจะเป็นสิ่งที่ชอบธรรม จากประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่สร้างสรรค์กันมาต้องทำคู่ไปด้วยกับประชาธิปไตยของตัวจริง ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีการยอมรับการเมืองของตัวจริงน้อยไป หลายที่ยังมีช่องว่าง ทำอย่างไรกลไกประชาธิปไตยจะเป็นระบบปรึกษาหารือได้มากขึ้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยแนวดิ่ง ไม่ใช่โครงสร้างบังคับบัญชาแบบข้าราชการ การทำให้เกิดการปรึกษาหารือได้ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองแบบมีส่วนร่วมที่ทุกส่วนมีโอกาสหารือด้วย


 


ประเด็นต่อมา รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีส่วนสำคัญในการเมืองร่วมสมัยในภาวะเปลี่ยนผ่านที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไทย เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากมรดกเดิมที่ผู้ชนะกินรวบ คราวก่อนมีพรรคหนึ่งชื่อพรรค ท. ต่อมาก็มีกินรวบอีกเป็นกลุ่มอะไรสักกลุ่ม คือจากอำนาจนิยมกลุ่มหนึ่งไปสู่อำนาจนิยมอีกกลุ่มหนึ่ง


 


รศ.สุริชัย ยังกล่าวอีกว่า บทบาทชุมชนในแง่หน่วยการปกครองยังไม่เพียงพอ แต่ต้องการหน่วยทางสังคมและพื้นที่แลกเปลี่ยนทางสังคมที่หลากหลายด้วย ทั้งนี้ ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันมีลักษณะซับซ้อนขึ้น ขณะเดียวกันก็พูดแต่การเมืองแยกขั้วกันมากขึ้น พูดถึงการแพ้ชนะในการเลือกตั้งแล้วก็เตรียมการไปสู่การแพ้ชนะในการเลือกตั้งรอบใหม่ ทั้งที่การแก้ปัญหาต้องการพลังร่วมกันในชุมชน ส่วนกลไกราชการแบบเดิมก็มีข้อจำกัดหลายส่วน และมีลักษณะแนวดิ่ง ช่องว่างนี้ต้องเปิดทางให้สถานภาพกลุ่มใหม่ๆ สถานภาพในชุมชนควรเป็นความชอบธรรมในการยอมรับ องค์กรท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมด้วย


 



 


จากนั้นจึงเป็นเวทีชาวบ้าน ที่เปิดด้วยคถามแรกว่าการมีสภาองค์กรชุมชนสร้างความแตกแยกในชุมชนจริงหรือ ซึ่งนายครูสน รูปสูง ผู้นำชุมชนและที่ปรึกษาสมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่สร้างความแตกแยก การจัดการแบบทุกวันนี้ต่างหากที่สร้างความแตกแยก ยกตัวอย่าง ในการสมัครเป็นองค์กาบริหารส่วนตำบล (อบต.) มี 4 คน แต่มีผู้ชนะการเลือกตั้งคนเดียวได้เป็นนายกอบต. แม้เป็นตำบลเล็กๆ ก็จะสู้กันดุเดือดมาก เรียกได้ว่ายกโคตรมาสู้กัน ยกหมู่บ้านมาสู้กัน แต่ท้องถิ่นมันแคบ การปะทะกันจึงรุนแรงมากและใช้เงินมากซึ่งเงินก็เชื่อมกับระบบใหญ่ เมื่อการเลือกตั้งจบ มีผู้ชนะคนเดียว สุดท้ายให้ทำแผนงานก็ทำไม่ได้ เพราะคนแตกแยกกันแล้ว


 


นายสนกล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนคือคำตอบของการแก้ปัญหา เพราะสภาดังกล่าวจะกำหนดคุณสมบัติไว้ไม่ให้นักการเมืองเข้ามายุ่ง แต่จะมีลักษณะเป็นตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ในชุมชนที่เลือกกันมาเป็นเอง นอกจากนี้ก็สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่ชุมชนนับถือร่วมกันมาอยู่ในสภาด้วย ฐานของสภานี้จึงเป็นองค์กรชุมชน และเมื่อคนนับถือผู้ทรงคุณวุฒิก็สามารถมาระดมเขียนแผนร่วมกับอบต.ได้


 


ในการพูดรอบหลัง นายสนกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตเมื่อติดต่อกับรัฐเขามักด่าชาวบ้านว่าเป็นพวกเถื่อน แต่ถ้าบอกว่ามาจากสภาฯ ก็จะได้รับการติดต่อประสานงานให้ ถ้าให้อธิบายต่อองค์กรสภาชุมชนก็คือการเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงองค์กรรัฐและงบประมาณ หากมีกฎหมายรองรับในระดับหนึ่งซึ่งไม่ใช่การรับรองอำนาจ แต่รับรองสถานะเท่านั้นว่าไม่ใช่เถื่อน


 


"ถ้ามหาดไทยถอยออกจาก อบต. ก็ไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน ไม่ใช่เมื่อ อบต.วางแผนงานชุมชุนก็ต้องถือไปให้นายอำเภอพิจารณาว่าอยู่ในกรอบหรือไม่ กลายเป็นทำก็ทำไปแต่ไม่ออกงบประมาณให้ คือตัดท่อน้ำเลี้ยงเลย" นายสนกล่าว


 


นายสนกล่าวอีกว่า มหาดไทยแกล้งเฉไฉ บิดเบือนและสร้างสับสนกับประชาชน ด้วยการบอกว่ามี อบต. อยู่แล้วทำไมต้องมีอีกคอก ก็เพราะ อบต.เป็นคอกจริงๆ คือคอกขังมนุษย์ของมหาดไทย แต่สภาองค์กรชุมชนเป็นองค์กรภาคประชาชน จึงไม่ซ้ำซ้อนกับอบต. ถ้าไปอ่านเนื้อหาใน พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนจะเห็นว่าไม่ใช้เงินจากรัฐเลย แต่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มารวมกันแล้วขอมีส่วนร่วมเท่านั้น ปัจจุบันองค์กรแบบนี้ก็มี ก็เช่น สหกรณ์การเกษตร ซึ่งก็มี พ.ร.บ.รองรับสถานะโดยที่เป็นองค์กรภาคประชาชน


 


นายชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้ใหญ่บ้านจำรุง ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้กลไกสภาหมู่บ้านทำให้เกิดความเข้มแข็งและกำหนดทิศทางตัวเองได้ แต่ถ้าถือการเลือกตั้งอย่างเดียวแล้วคนที่ได้รับเลือกมากอันดับที่หนึ่งจะไม่ฟังคนที่ได้รับเลือกมากอันดับที่ 2 สองเลย ทั้งที่เป็นเครือญาติ จึงควรมีเวทีสภาองค์กรในพื้นที่พื่อให้มีพื้นที่แสดงความเห็น และผู้นำต้องเปิดใจกว้าง เพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน อีกทั้งการมีสภาคือการร่วมกันคิดกันทำ ในหมู่บ้านทุกคนจะมีหมวกเพราะในหมู่บ้านเล็กๆ ก็มีถึง 24 องค์กร และทุกคนก็รู้จักกันหมด 


 


นายไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนักกฎหมาย กล่าวว่า


ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยกำลังแก้บทบาทของกำนันว่าให้มาจากการเลือกตั้งของผู้ใหญ่บ้าน โดยมีนายอำเภอเลือกคนหนึ่งในนั้นมาเป็นกำนัน เรื่องนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ท้องถิ่นกำลังถูกล้วงลูกผ่านกำนันหรือ ผู้ใหญ่บ้านที่ต้องปฏิบัติตามนายอำเภอหรือกำนันสั่ง


 


ส่วนโครงสร้างอบต. นั้นถูกแก้เมื่อ พ.ศ. 2537 ก่อนนั้นการเข้าสู่ อบต.น่าจะเป็นอำนาจแท้จริงของประชาชนและมีอำนาจมากจนในอดีตมี ส.ส.ลงไปเป็นอบต.เยอะมาก อย่างไรก็ตาม อบต.กลับไม่เป็นองค์กรชุมชนแท้จริง มีลักษณะที่ว่ามีโครงการรัฐก็เข้าข้างรัฐ หรือพอมีโครงการเอกชนก็เข้าข้างเอกชน เพราะในโครงสร้างเลือกตั้งต้องมีเงินและมีพวกด้วย อบต.จึงกลายเป็นตัวแทนจากภายนอกที่อยู่เบื้องหลังการเข้าสู่ตำแหน่ง


 


โครงสร้างอีกประการของ อบต. คือการที่ให้ประชาชนดูแลตัวเอง แต่ อบต.กลับใม่สามารถกำหนดแผนพัฒนาตัวเองได้ ต้องอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย การทำแผนงานก็ต้องผ่านนายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ลึกๆ แล้วอำนาจจึงอยู่ที่อำนาจส่วนกลาง ดังนั้นการที่ประชาชนจะลุกมาดูแลตัวเอง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ทางมหาดไทยก็จะไม่ยอม เพราะเท่ากับตัดอำนาจบังคับบัญชา


 


สำหรับองค์กรสภาชุมชนคือจะทำหน้าที่นี้ เช่น ดูแลทรัพยากร เสริมความรู้ให้ประชาชน เพียงแต่ถ้าประชาชนเข้มแข็ง นายอำเภอ หรือผู้ว่าฯ ก็จะของบประมาณหรือขอให้ท้องถิ่นทำอะไรไม่ได้อีก สภาองค์กรชุมชนจะเป็นที่รวมผลประโยชน์ที่จะตรวจสอบกันและกัน ดังนั้นถ้าไม่มีกฎหมาย อบต.ก็จะไม่ยอมรับ แต่การมีกฎหมายก็หมายถึงมีความชอบธรรม


 


ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องของเมืองหรือชนบทแต่เป็นปัญหาเรื่องประชาธิปไตย มันคือปัญหาของประชาธิปไตยแบบตัวแทนไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเป็นหัวใจและเป็นเรื่องใหญ่ แม้ พ.ร.บ.นี้ได้ถอยกันมาเยอะ แต่มันยังให้พื้นที่คนมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ อย่างน้อยมันก็ให้พื้นที่ทางสังคม และเป็นประชาธิปไตยที่ผสมกับพื้นฐานทางสังคม


 


นายไพโรจน์ กล่าวอีกรอบหนึ่งว่า สภาองค์กรชุมชนเป็นรูปธรรมหนึ่ของสิทธิชุมชน แต่รัฐริบมาเป็นของส่วนกลาง รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้สิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ให้ชุมชนวางแผนจัดการตัวเอง เป็นการคืนกลับไปที่เดิมและกินได้ เพราะเขาได้ตัดสินใจเกี่ยวกับดินของเขา ชีวิตของเขา น้ำของเขา ซึ่งที่ผ่านมารัฐตัดสินใจให้หมดแล้วตัดสินลำเอียงให้คนอื่นหมด แต่ถ้าสภาองค์กรชุมชนเข้มแข็ง รัฐประหารก็ทำไม่ได้ เพราะยึดอำนาจที่ส่วนกลางเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์เนื่องจากท้องถิ่นยังอยู่ และตรงนี้จะเป็นลักษณะเฉพาะ จะเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยกินได้ มันก็จะอยู่ในจิตวิญญาณ ทำลายก็ไม่ได้ ฆ่าก็ไม่ได้ ประชาชนจะเป็นเจ้าของที่แท้จริงของอำนาจ


 






 


แถลง" ร่างพรบ. สภาองค์กรชุมชน"


   


 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมมือกับสมัชชาสภาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย และองค์กรสนับสนุนหลายหน่วยงาน พัฒนากรอบความคิด กฎหมายสภาองค์กรชุมชนมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างกว่า 20 เวทีทั่วประเทศ จนกระทั่งออกเป็นร่างพรบ.สภาองค์กรชุมชน และเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 แต่ถูกคัดค้านจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย จนต้องถอนเรื่องออกมาอีกครั้งหนึ่ง นั้น


  


    องค์กร 6 องค์กรที่มีรายชื่อข้างท้าย มีความเห็นว่าร่างพรบ.สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในระดับพื้นฐานของสังคมการเมืองไทย ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้


 


       1.เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิตวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วนงานของรัฐในการกำหนดแผนการพัฒนาท้องถิ่น แผนการพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐในทุกระดับด้วย


 


      2.เป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม มุ่งเน้นที่การระดมพลังปัญญาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง สร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบที่มีต่อวิถีชีวิตชุมชนมากกว่าตามแก้ปัญญา


            


                  3.เป็นการเสริมสร้างกระบวนการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างองค์กรปกกครองส่วนท้องถิ่นกับองค์กรทางสังคมให้ทำงานหนุนเสริมซึ่งกันและกันในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่อาจเกิดจากการเลือกตั้ง การสังกัดคนละหน่วยงานของรัฐ แต่เป็นการระดมพลังทุกฝ่ายให้มาทำงานร่วมกันบนฐานของศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีแต่ละท้องถิ่น 


        


องค์กรทั้งหกองค์กรดังกล่าว  จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพรบ.สภาองค์กรชุมชนโดยด่วน เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติให้พิจารณาต่อไป                         


 


                                           แถลง ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2550


  สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 


  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)             มูลนิธิชุมชนไท 


  มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)            วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.)


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net