Skip to main content
sharethis

 


 
"ปัญหาภาคใต้จะจบอย่างไร?" คำถามที่ได้ยินบ่อยครั้ง ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจบ "อย่างไร?" และ "เมื่อไหร่?" การแก้ไขที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผลของฝ่ายความมั่นคง คือบทสะท้อนว่า ปัญหาภาคใต้ ยังต้องระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกันอีกต่อไป
ในงานระดมความเห็นเรื่อง "ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะจบอย่างไร" โดยเชิญฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ฝ่ายความมั่นคง ภาครัฐ ภาคประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจ รวมทั้งนักวิชาการและ สื่อมวลชน เข้าร่วมแสดงความเห็นร่วมกัน ณ โรงแรมทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ในวันนี้ (15 มิ.ย.) จึงเป็นระดมความเห็นครั้งล่าสุดต่อปัญหาภาคใต้ ที่สถานการณ์ปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน
 
 
ลดการว่างงาน บูมเศรษฐกิจ แก้ไฟใต้ยั่งยืน
นายนิกร จำนงค์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยในฐานะผู้สนใจและติดตามปัญหาภาคใต้มานานให้ความเห็นว่า สถานการณ์ใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ เป็นผลมาจากปัญหาความมั่นคงที่เรื้อรังมานาน ซึ่งในสมัยรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีการตั้งข้อสังเกตุในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในประเด็นการร้องขอความช่วยเหลือ ด้าน ที่ทำกิน และความยากจน จากประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีจำนวนกว่า 25,000 ครอบครัว แต่เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีประชากรมากกว่า เช่น จังหวัด เพชรบุรีกลับมีการร้องขอความช่วยเหลือเพียงประมาณ 9,000 ครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนปัญหาที่เกิดขณะนั้น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีมาตราการอะไรออกมา จนนำไปสู่ปัญหาการว่างงาน ที่เห็นได้จากการเปิดรับสมัครงานกว่า 100 ตำแหน่ง ที่จังหวัดสงขลา ปรากฏว่ามีผู้มาสมัครถึง 50,000 คน จึงทำให้เชื่อว่าตัวเลขผู้ว่างงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเพิ่มมากถึง 1-2 เท่า แต่รัฐบาลที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาโดยการจ้างงานด้วยเงิน 4,500 ต่อเดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่เป็นจริง ทำให้ลูกจ้างรัฐบางส่วนตัดสินใจเข้าเป็นแนวร่วม
 
รอง หัวหน้าพรรคชาติไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่าต่อว่า ปัญหาเศรษฐกิจสังคม การศึกษา ยังคงเป็นปัญหาความมั่นคงแนวราบที่ยังแก้ไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะทหารที่เข้าไปในพื้นที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของสังคมและ วัฒนธรรม ส่งผลให้ฝ่ายปกครองท้องถิ่นด้อยลงไปด้วย จากคำสั่งย้ายนายอำเภอ ปลัด เจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในพื้นที่และคุ้นเคยกับชาวบ้านออกไป ส่วนตำรวจไม่สามารถดำเนินคดีต่างๆ ไปตามกระบวนการยุติธรรมได้ เพราะเมื่อเชิญตัวหรือจับกุมผู้ต้องสงสัยก็จะมีม็อบมากดดันเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผลจากข้อมูลหลักฐานที่อ่อนไม่สามารถมัดตัวผู้กระทำผิดได้ และเมื่อเข้าสู่ชั้นศาลผู้ต้องหาก็หลุดจากคดี ทำให้กระบวนการแก้ปัญหาเสียทั้งระบบ ดังนั้นต้องเร่งประสานให้เกิดการทำงานร่วมกันของ 3 ส่วน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่
 
ตัวแทนจากภาคธุรกิจรายหนึ่งแสดงความเห็นสนับสนุนว่า รัฐต้องดึงโครงการใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยเข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และเร่งส่งเสริมให้พื้นที่มีการผลิตวัตถุดิบรองรับอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานให้ได้เพื่อลดจำนวนคนว่างงานลง ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันหน้าไปเป็นแนวร่วม
 
นายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา คณะทำงานฝ่ายวิชาการพรรคชาติไทย กล่าวว่า ปัญหาการว่างงานเป็นปัญหาที่มีทางออก รัฐควรส่งเสริมให้คนว่างงานใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ไปทำงานที่ตะวันออกกลาง เพราะคนเหล่านี้มีบริบทความเป็นมุสลิม ทำให้ได้รับการยอมรับจากสังคมของเหล่าประเทศในตะวันออกกลาง ที่ผ่านมาแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่เป็นคนอีสานที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนอาหรับ เพราะฉะนั้นถ้าหันมาส่งเสริมแรงงานใน 3 จังหวัด จะสอดคล้องกันมากกว่า และช่วยลดเงื่อนไขความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐด้วย
 
 
รัฐต้องสร้างเอกภาพ
นายประยูรเดช คณานุรักษ์ ที่ ปรึกษาหอการค้าจังหวัดปัตตานี แสดงความเห็นว่า การมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน หลายประเด็นยังเป็นที่คาใจว่าเป็นรากเหง้าจริงๆ ของปัญหาหรือไม่ มองในแง่ของการค้าการลงทุน ในฐานะคนไทยจีนที่ค้าขายอยู่ในภาคใต้มาแล้วหลายชั่วอายุคน ไม่เคยมีเงื่อนไขว่าการค้าขายจะทำกับศาสนาใดเป็นพิเศษ และจะบอกว่าเกิดจากกลไกที่บกพร่องของรัฐ แต่ทหารและตำรวจก็เสียชีวิตไม่เว้นแต่ละวัน คำถามสำคัญคือ รากเหง้าแท้จริงของปัญหาคืออะไร ทำไมรัฐจึงแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งที่มีงบประมาณลงมาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่า เงินงบประมาณนับหมื่นล้านที่ลงมานั้นหายไปไหน ทุกวันนี้ประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนา ต้องจับอาวุธปืนลุกขึ้นสู้ รวมกลุ่มกันลาดตระเวณแทนเจ้าหน้าที่รัฐ สะท้อนเป็นคำถามว่ารัฐทำอะไรอยู่ แก้ปัญหาได้ไหม ศอ.บต.ทำอะไรอยู่ หรือท้ายที่สุดต้องใช้วิธีสุดท้าย คือย้ายกระทรวงกลาโหมไปตั้งอยู่ที่ 3 จังหวัด เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพจริงๆเสียที
 
 
อย่าหวาดระแวงกลไกแก้ปัญหา พัฒนาระบบการศึกษา
ส่วนนายฮอซารี หม่าเหร็ม อดีต สส. สตูล พรรคประชาธิปัตย์ กล่าว ว่า ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาตั้งโจทย์หนักไปด้านความมั่นคงมากเกินไป และรัฐมองโครงสร้างหลักในพื้นที่อย่างหวาดระแวง โดยเฉพาะ ปอเนาะ มัสยิด ว่าเป็นตัวการที่สร้างความขัดแย้ง ซึ่งเห็นได้จากการให้ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ของผู้มีอำนาจ ทั้งที่องค์กรเหล่านี้ไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นฝ่ายก่อการ จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องมองใหม่เป็นเฉพาะกลุ่มหรือบุคคล ไม่ควรเหมารวม และเข้าไปส่งเสริมการศึกษาให้องค์กรในพื้นที่บนพื้นฐานของการพัฒนาระบบการ ศึกษา เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่
 
 
ปรับปรุงการข่าว ไม่บังคับชาวบ้านเลือกข้าง
นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ อดีต ส.ส.นราธิวาส เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยความเห็นว่า ต้นตอของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่เกิดจาก 3 ส่วน 1.ขบวนการอุดมการณ์ คือกลุ่มก่อการร้าย 2.ฝ่ายรัฐ ที่ดำเนินนโยบายผิดจนนำไปสู่ความโกรธแค้นของประชาชน 3.ประชาชน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ มีความหวาดระแวงต่อคนต่างศาสนา ซึ่งเป็นผลจากความอ่อนแอของงานด้านการข่าวของรัฐที่ไม่สามารถสร้างให้เกิด ความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมได้
 
อดีต ส.ส.นราธิวาสยังให้ความเห็นด้วยว่า ชาวบ้านในชุมชนต่างก็รู้ข้อเท็จจริงว่าใครอยู่ฝั่งไหน แต่เขาไม่กล้าพูดออกมา เนื่องจากไม่มีความปลอดภัย คนไหนพูดก็เสียชีวิต บ้างถูกข่มขู่ว่าให้เก็บปากไว้รับประทานอาหารดีกว่า เพราะฉะนั้นอย่าพยายามทำให้เขาต้องเลือกข้าง รัฐเองต้องคำนึงถึงหลักข้อเท็จจริงตรงนี้ การที่ชาวบ้านไม่พูด ไม่ได้แสดงว่าเขาเป็นแนวร่วม ตนยืนยันว่าชาวบ้านมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ยังรักและหวงแหนผืนแผ่นดินไทย มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ยังจงรักภักดีและภาคภูมิใจต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
 
อดีต นักการเมืองรายหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังให้ข้อสังเกตเรื่องงานด้านการ ข่าวด้วยว่า มีข่าวลวงมากมายในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านตลอดเวลา จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งที่มีสายข่าวมาบอกว่าคนนั้นคนนี้เป็นแนวร่วม เจ้าหน้าที่ได้ไปเชิญตัวมาสอบสวน แต่ไม่ปรากฏให้เห็นปฏิกิริยาของคนในหมู่บ้าน แสดงว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นแนวร่วมจริงๆ เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ท้ายที่สุดกระบวนการยุติธรรมสามารถตรวจสอบได้ อาจจะเกิดจากการกลั่นแกล้ง น่าสงสัยว่าสายข่าวคนนั้นทำงานให้ฝั่งตรงข้ามหรือไม่ เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งประชาชนจริงๆ แต่บุคคลไหนที่มีคนบอกว่าเป็นแนวร่วมแล้วเจ้าหน้าที่เชิญตัวมาสอบ แล้วเกิดเป็นม็อบกดดันให้ปล่อยตัว คนๆ นั้นจะเป็นแนวร่วมจริงๆ นี่คือข้อสังเกตที่ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐระมัดระวังการใช้สายข่าวในพื้นที่ คนที่รู้จริงมักจะไม่พูด เพราะพูดแล้วจะไม่ปลอดภัย ส่วนคนไหนที่พูดมาก คนนั้นกำลังมีนัยยะแฝงอะไรบางอย่างที่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน  
 
 
ใช้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ความจริง
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังมีการใช้ความรุนแรงในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องยอมรับ และลงโทษผู้กระทำ เพื่อแสดงความจริงใจกับชาวบ้าน ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมมีจุดอ่อนด้านพยาน จึงจำเป็นต้องใช้จุดแข็งด้านนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพิสูจน์จริงของ เหตุการณ์ต่างๆ เช่นกรณีข่าวทหารฆ่าข่มขืนที่ป็นเหตุของการชุมนุมครั้งล่าสุด
 
นายทหารรายหนึ่งใน กอ.รมน.ภาค 4 กล่าวว่า ทหารมีความกดดันมากกับภารกิจการสร้างความมั่นคงในพื้นที่ เนื่องจากฝ่านตรงข้ามได้มีการดำเนินงานในพื้นที่มากว่า 10 ปี จนมีเครือข่ายแนวร่วมจำนวนมาก จึงต้องปรับยุทธศาตร์ที่ล้าหลังให้ใช้หลักสมานฉันท์อย่างอดทน เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน โดยเฉพาะกับกลุ่มม็อบที่ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องสงสัยที่ถูกเชิญตัว มาสอบสวนหรือผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ต้องหาพยานหลักฐานให้แน่ชัดก่อนจับกุม
 
ทางด้าน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประสุข ตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งลงไปทำงานติดตามคดีสำคัญของภาคใต้ อย่างคดี 8 อุซตาส กล่าวว่า ทุกวันนี้เรากำลังแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน แต่ประชาชนในพื้นที่กำลังบอกว่ารัฐได้จัดกองกำลังลงไปต่อสู้กับประชาชน ถ้าเป็นทัศคติเช่นนี้การทำงานของเจ้าหน้าที่จะยากลำบากมากขึ้น และประสบความสำเร็จได้ยาก ลองคิดดูว่า คดีความต่างๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงไม่สามารถอธิบายสาเหตุของการจับกุมหรือเหตุร้ายที่ เกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้ก่อการใช้ข้ออ้างนี้ไปปลุกระดมชาวบ้านให้ต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่เกิดผลสำเร็จได้
 
"ลอง คิดดูว่า ถ้าเราเป็นกรรมการตัดสินตรงนี้ เราจะทำอย่างไร เขาฆ่าครู ฆ่าทหารตำรวจ ฆ่าโต๊ะอิหม่าม ผู้บริสุทธิ์รายวัน เพราะตำรวจไปจับอุซตาส ถ้าบอกว่าสิ่งที่เขาทำมันถูก มันยุติธรรมแล้วหรือ ทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้หนีหายไปไหน แต่เราคุ้มครองเขาไม่ได้" นายตำรวจจากกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าว
ส่วน กันยิกา ดำรงวงศ์ นายก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส บอกว่าอยากให้สื่อนำเสนอข่าวให้หลากหลาย โดยเฉพาะข่าวขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมที่สิ้นสุดโดยสามารถลงโทษผู้กระทำผิด ได้ เพื่อสื่อสารให้สังคมใหญ่รับรู้ความจริงว่ามวลชนยังอยู่กับรัฐ และเป็นความมั่นใจให้กับการท่องเที่ยวของพื้นที่
 
 
ยลให้ถูกช่อง ตั้งโจทย์ให้ถูก
นายเสริม เงินสองศรี ประธาน อนุกรรมการ สมาพันธ์ครูจังหวัดปัตตานี ได้สะท้อนความคิดเห็นจากคนในวิชาชีพครูว่า เหตุการณื่ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับอาชีพครูอย่างมหาศาล ความรู้สึกของครูในวันนี้มีแต่ความหวาดกลัว หวาดระแวง แต่ไม่สามารถหยุดทำหน้าที่หรือหลีกหนีไปอยู่ที่อื่นได้ เพราะครูส่วนใหญ่มักทำอาชีพอื่นไม่ได้ เรื่องการศึกษายอมรับว่าใน 3 จังหวัดตกต่ำมากถ้ามองในแง่ของผลสัมฤทธิ์ ตนยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของเพื่อนครู แต่เราไม่ได้ต้องการให้เหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อเหตุการณ์เกิดจึงส่งผลกระทบทำให้ครูบางคนไม่กล้าเดินทางไปสอน หรือไปสอนก็สอนอย่างหวาดกลัว เพราะล่าสุด อยู่ในบ้านก็ถูกบุกเข้าไปยิง อยู่ในโรงเรียนก็ยังถูกเข้าไปฆ่า ครูที่ไหนจะเอากะจิตกะใจไปสอน โรงเรียนก็ถูกเผาเป็นว่าเล่น เด็กๆ จึงได้รับผลกระทบดังกล่าวทันที ไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ 
 
            "เรื่อง การศึกษาจะสำเร็จได้ ต้องมาจากความมั่นคงของอำนาจรัฐ รัฐต้องนำอำนาจรัฐกลับคืนสู่พื้นที่ เราต้องสร้างความเข้มแข้งจากหมู่บ้าน คือผู้ใหญ่บ้าน แล้วขยายสู่ระดับอำเภอ และจังหวัด ในกระบวนการสร้างความเข้มแข็ง จะไม่เกิดขึ้น ถ้าฝ่ายความมั่นคงยังคงหวาดระแวงกลไกของรัฐในระดับท้องถิ่นอย่างผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. เพราะฉะนั้นต้องสลัดความระแวงทิ้งไป แล้วเริ่มต้นสร้างอย่างจริงจัง"
 
            ส่วนวิชาญ อธิกพันธุ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ ซึ่งเป็นชาวนราธิวาส สะท้อนภาพว่า เหตุการณ์ภาคใต้ที่เกิดขึ้น มี 4 ประเด็นคือ
1.หาหัวหน้าไม่พบ ไม่รู้ว่ารบอยู่กับใคร
            2.สยบเหตุการณ์ไม่ได้ ยุทธวิธีล้าสมัย
            3. ใช้กลยุทธ์ไม่ได้ผล
            4.ยล กันคนละช่อง ฝ่ายความมั่นคงมองทางหนึ่ง นักวิชาการมองทางหนึ่ง ฝ่ายศาสนาก็มองไปอีกทางหนึ่ง ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัจจัยว่า ทำไมจึงยังแก้ปัญหาไม่ได้
 
เช่นเดียวกับ สงวน ลิ้มรัตน์ ประธาน สมาพันธ์ครูนราธิวาส ที่กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลตั้งโจทย์ผิดก็แก้ปัญหาผิด ถ้าตั้งโจทย์ว่าปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาการศึกษา ก็เป็นการตั้งโจทย์ผิด เพราะมันเป็นปัญหาปลายเหตุ เพราะครูไม่มีกำลังใจจะไปสอน ถ้าตั้งโจทย์ว่าเพราะปัญหาความเป็นธรรม ก็เป็นการตั้งโจทย์ผิดอีก เพราะตนมีข้อมูลว่า เป็นปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ถ้าตั้งโจทย์ว่านี่คือสงครามแบ่งแยกดินแดน ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกทาง ซึ่งไม่ต้องเอาชีวิตครูไปเสี่ยงอย่างในปัจจุบันนี้
 
 
สื่อถูกบังคับเลือกข้าง
ด้านสื่อมวลชน  ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ตัวแทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิพม์แห่งประเทศไทยแสดงความเห็นว่า ทุกวันนี้สื่อมวลชนในภาคใต้ทำงานลำบากมากขึ้น ลงพื้นที่ได้ยากขึ้น เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเป็นนักข่าวพุทธหรือมุสลิม ถ้าเป็นมุสลิมสามารถพูดภาษามลายูได้ไหม สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าความไม่ไว้วางใจและความตึงเครียดได้เกิดขึ้นแล้ว
 
นอกจากนั้น สื่อเองก็ยังถูกบังคับให้เลือกข้างด้วย เมื่อไม่นานมานี้ กอ.รมน.ภาค 4 พูดว่า สามารถควบคุมกลไกทุกอย่างได้ มีอย่างเดียวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ คือสื่อมวลชน จึงได้ตั้งชมรม "สื่อใต้สันติ" ขึ้นมา หวังว่าต่อไปนี้ข่าวจากภาครัฐเขาจะจัดการให้ทุกอย่าง ซึ่งทำอย่างนั้นเท่ากับละเดสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน เท่ากับสะท้อนว่าสื่อมวลชนเองก็เริ่มถูกบังคับให้เลือกข้างด้วย ในฐานะสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อยากฝาก 2 ประเด็นเร่งด่วนที่รัฐต้องลงมือทำ คือ 1.ทำอย่างไรให้คนในพื่นที่สื่อสารกันเองมากขึ้น และ 2.ทำ อย่างไรให้คนไทยทั้งประเทศมีความเข้าใจสอดคล้องกัน เพื่อลดอคติต่อคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับใช้ความอดทนกับปัญหาภาคใต้มากขึ้น
 
นี่ คือความหลากหลายทั้งทางด้านความเห็นและที่มา ซึ่งนายอารีย์ วงอารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับปากว่า จะนำความเห็นทั้งหมดไปนำเสนอต่อรัฐบาล และจะนำไปปฏิบัติจริงๆ ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้
 
ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อไป...     
 
           
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net