Skip to main content
sharethis

โดย องอาจ เดชา


 









 


                    เจริญสร้าง เจริญสู้                    เจริญอยู่กับชาวบ้าน
                    บ่อนอกเป็นตำนาน                   ที่สร้างคนให้สู้คน
                    คือใจของชาวบ้าน                   ผู้กล้าหาญและทานทน
                    บ่อนอกบ่จำนน...                     กับถ่อยเถื่อนอธรรมใด


 


                    คือทรายทุกเม็ดทราย...          ที่คลื่นซัดสะอาดใส
                    แกร่งกล้าและเกรียงไกร          จะกู้ถิ่นแผ่นดินทอง
                    อันเจริญ ด้วยเจริญ...          จึงเผชิญกับพาลผอง
                    ขุนมารเขม่นมอง                      เขม้นมาฆ่าเจริญ

                    เจริญสู้เจริญดับ                       เจริญจับใจเผชิญ
                    ใจสู้จะกรูเกิน                             กว่าหมู่มารจักพึงหมาย
                    ถึงตายก็แต่คน                          ความเป็นคนไม่เคยตาย
                    เทิดทัศน์และท้าทาย...          เถอะตายสิบจะเกิดแสน

                    บ่อนอกเป็นตำนาน....              แห่งคนหาญอันหวงแหน
                    รักษ์ถิ่นอันดินแดน...  ยอมแตกดับกับแผ่นดิน

                                                                    "
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์"


 


 


 


 


 






 


"ทุกแว่นแคว้นถิ่นฐาน ล้วนมีคนอยู่ประเภทหนึ่งซึ่งนับจำนวนแล้วไม่เคยมาก พวกเขาทุ่มเททุกอย่างเพื่อกอบกู้สังคมที่ตนเองสังกัด โดยไม่เคยนึกถึงความเหนื่อยยากหรือแม้แต่ภัยอันตราย คนเหล่านั้นไม่ใช่ศาสดา แต่ถ้าถามถึงลักษณะร่วมกันผมพอจะระบุได้ว่ามีอยู่พอสมควร ที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนต้องมาใช้ชีวิตไถ่บาปที่เขามิได้เป็นผู้ก่อ ต้องลำบากตรากตรำและเสียสละสิ่งต่างๆ อันควรเป็นของเขา เพื่อให้คนอื่นได้พ้นเคราะห์กรรมและได้รับคุณค่าแห่งชีวิตในราคาที่ถูกลง"


"เสกสรรค์ ประเสริฐกุล"


 


 


 


 


ภาพจาก www.skyd.org


 


 


ย้อนรอยคดี เจริญ วัดอักษร กับบทสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนยุติธรรมไทย


 


เป็นที่รับรู้กันว่า "เจริญ วัดอักษร" ได้ร่วมกับพี่น้องบ่อนอก-บ้านกรูด ต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท กัลฟ์เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนรัฐต้องระงับโครงการดังกล่าว หลังจากนั้น เขาได้ร่วมกับชาวบ้านคัดค้านกลุ่มนายทุนที่ได้เข้ามาบุกรุกพื้นที่สาธารณะและการทำนากุ้ง เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของชาวบ้านโดยส่วนรวม


 


กระทั่ง ในคืนเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ตรงบริเวณทางแยกบ้านบ่อนอก ขณะลงจากรถบัสก่อนจะเดินเข้าไปในหมู่บ้าน เขาถูกมือปืนเดินปรี่เข้าไปยิงอย่างโหดเหี้ยมอุกอาจจนเสียชีวิต


 


หลังจากนั้น กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ จำต้องสืบสานภารกิจต่อ ด้วยการเป็นแกนนำพาชาวบ้านแห่ศพสามีไปหน้ากระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม


 


ไยคดีถูกเบี่ยงเบน เพียงแค่บันดาลโทสะ


 


ถึงแม้ว่าคดีดังกล่าวจะสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ถึง 5 คน แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า คือ 2 คนแรกเป็นเพียงแค่มือปืนเท่านั้น และมากลับคำให้การสารภาพในภายหลังว่า ที่มายิงเจริญเป็นเพราะความแค้นส่วนตัว เพราะเจริญเคยไปด่าแม่เขา ไม่ได้ตั้งใจมายิง มานั่งกินเหล้าที่ศาลาที่รอรถเมล์ เห็นเจริญลงรถทัวร์มาเป็นความบังเอิญ บันดาลโทสะแล้วก็ยิงเจริญเสียชีวิต


 


อีก 3 คนที่จับกุมทีหลัง ก็ยังไม่ใช่ผู้บงการที่แท้จริง แต่ตัวบงการก็ยังคงลอยนวลอยู่ในพื้นที่ดังเดิม เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น!


 


"ทุกฝ่ายพยายามจะโยงคดีนี้ว่าเป็นเรื่องการทะเลาะวิวาท เรื่องชู้สาว และมีความพยายามสรุปว่าเป็นประเด็นความแค้นส่วนตัว ผลคือ จับมือปืนได้ 2 คน คนจ้างวาน 2 คน แต่ไม่มีการขยายผลคดีหาตัวผู้บงการเบื้องหลัง จน ดีเอสไอ เข้ามารับคดี เจริญ ไม่ใช่คนที่จะไปขัดแย้งเป็นการส่วนตัวกับใคร ไม่เคยมีปัญหากับชาวบ้าน"


 


โอนคดีให้ดีเอสไอ แต่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น


 


30 กรกฏาคม 2547 ดีเอสไอรับโอนคดีไปรับผิดชอบ ได้เพิ่มสำนวนจากข้อมูลพื้นที่ และความคิดเห็นถึงประเด็นข้อขัดแย้งคัดค้านการถือครองที่ดินสาธารณะ คลองชายธง การรุกเข้าทำนากุ้งโดยกลุ่มอิทธิพลและโรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก และการออกโฉนดบนพื้นที่สาธารณะอีกหลายแปลง และจับคนร้ายเพิ่มเป็น 5 คน คือนายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว นายธนู หินแก้ว สจ.มาโนช หินแก้ว และอดีตกำนันเจือ หินแก้ว


 


กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของนายเจริญ บอกว่า ถึงแม้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม ได้เข้ามารับทำคดี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เมื่อดีเอสไอเข้ามาดูแล ตอนแรกดูเหมือนการทำงานกันอย่างจริงจัง แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็ไม่มีอะไรคืบหน้า คนผิดก็ยังอยู่ในพื้นที่โดยไม่มีการจับกุมใดๆ เลย


 


"อีกทั้งยังมีข่าวบอกว่า มีความพยายามปิดคดีโดยมีการจับกุมเพียงแค่มือปืนเท่านั้น และมีการออกมาพูดว่าทำเท่านี้ก็ดีแล้ว พอเท่านี้แหละ ในส่วนของคดีตอนนี้ มีเพียงแค่นัดไต่สวน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าในข้อเท็จจริงมันคืออะไร แต่ทำให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก"


 


กรณ์อุมา ยังบอกอีกว่า กลุ่มผู้ต้องหาชุดแรกเหมือนมีการออกแบบคดีเสร็จแล้ว นั่นคือ มีการพยายามตัดผู้เกี่ยวข้องที่เหลือทั้งหมดออกไป เพราะฉะนั้น คดีเจริญ ในขณะนี้ มองได้ 2 ส่วน คือ มีการตัดตอนผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างมือปืนกับลูกพี่ที่เป็นคนรับงานมา และกลุ่มที่ถูกตั้งข้อหาใช้จ้างวานกับผู้บงการ


 


ชาวบ้านงง ศาลอาญายึกยัก โอนคดีกลับศาล จ.ประจวบฯ


 


ต่อมา ศาลอาญา กรุงเทพฯ มีการโอนคดีเจริญ ไปที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตามเดิม ท่ามกลางความคลางแคลงใจของชาวบ้านบ่อนอกกับระบบศาลยุติธรรมของไทย


 


"ที่ชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการย้ายโอนคดีจากศาล จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาอยู่ที่ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ก็เพราะชาวบ้านรู้ดีว่า หนึ่งในผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นทนายความ และมีความสนิทสนม มีเครือข่ายอิทธิพล การปฏิสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีในวงการศาลที่ประจวบฯ แต่กลับกลายเป็นว่า ในขณะนี้ ได้มีคำสั่งจากศาลอาญา กรุงเทพฯ ส่งสำนวนคดีเจริญกลับไปที่ศาล จ.ประจวบฯ ตามเดิม ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ได้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังอย่างมาก ชาวบ้านทุกคนมีความรู้สึกกันว่า ความล่าช้าของยุติธรรม ก็คือความอยุติธรรมนั่นเอง" กรณ์อุมา บอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงไม่เข้าใจ


 


มือปืน 2 ราย ตายในคุกบนความเคลือบแคลง


 


และที่น่าเคลือบแคลงสงสัยมากที่สุด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 มือปืนทั้ง 2 คนได้เสียชีวิตลงในระหว่างการกุมขังในเรือนจำ


 


จนกระทั่ง กรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ออกมาตั้งคำถาม พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูล ว่า คดีความที่มีต่อมือสังหารและผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารเจริญ วัดอักษร นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องเผชิญกับข้อกังขาอันใหญ่หลวงเมื่อมือปืนทั้งสองได้เสียชีวิตลงในระหว่างการกุมขังในเรือนจำ แต่ไม่ได้มีการชันสูตรการเสียชีวิตแต่อย่างใด ทำให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างมากว่า มือปืนทั้งสองเสียชีวิตด้วยเหตุผลใดกันแน่ และยังส่งผลไปสู่ความหนักแน่นของคดีในการซัดทอดไปยังผู้จ้างวานอีกด้วย


 


โดยได้ระบุว่า เจริญ วัดอักษร ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โดยเชื่อว่าเขาถูกสังหารโดยกลุ่ม "ผู้มีอิทธิพล" ในพื้นที่ ที่มีความโกรธเคืองจากการรณรงค์ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า มือปืน นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว รับสารภาพว่าเป็นคนลงมือ แต่ไม่ได้ให้การซัดทอดไปถึงผู้จ้างวาน ต่อมา ตำรวจได้จับตัวสองพี่น้องนักการเมืองและทนายความในท้องที่ จากนั้น คดีได้ถูกโอนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ และต่อมาได้มีการจับกุมบิดาของสองพี่น้องผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แต่หลังจากนั้นกลับไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ (1) มือปืนทั้งสองถูกขังในเรือนจำ และผู้ต้องหาที่เหลือทั้งสามได้รับการประกันตัว


 


21 มีนาคม 2549 ก่อนที่จะมีการเบิกความพยาน นายประจวบได้เสียชีวิตในเรือนจำ รายงานว่าติดเชื้อแบคทีเรีย ต่อมา ขณะที่การสืบพยานกำลังดำเนินต่อไป วันที่ 3 สิงหาคม ก็ได้รับรายงานว่า นายเสน่ห์ได้เสียชีวิตไปอีกคน โดยจากรายงานพบว่าติดเชื้อมาลาเรีย


 


ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์วันที่ 9 สิงหาคม 2549 รายงานว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของเรือนจำให้สัมภาษณ์ว่า นายเสน่ห์ไม่ได้แสดงอาการของโรคมาลาเรียมาก่อนที่จะเสียชีวิต ผู้คนหลายคนมีข้อกังขาว่า เหตุใดมือสังหารทั้งสองจึงได้เสียชีวิตในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน อันเป็นช่วงเวลาที่มีการพิจารณาคดี มีคำกล่าวจากญาติของมือปืนทั้งสองก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาไม่คิดว่าทั้งสองจะออกจากคุกอย่างคนมีชีวิต


 


ผู้ให้การสนับสนุนนายเจริญและกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิ์ได้เรียกร้องให้มีการชันสูตรพลิกศพนายเสน่ห์โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือหน่วยงานอื่นใดที่นอกเหนือไปจากสำนักงานตำรวจและราชทัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรายงานถึงการสืบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวแต่อย่างใด การเสียชีวิตของทั้งสองได้ก่อให้เกิดคำถามต่อการคุ้มครองพยานในไทย กฎหมายคุ้มครองพยานในขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ต้องหาที่อยู่ในระหว่างการกุมขัง ผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขังที่ได้เคยพูดคุยกับ AHRC กล่าวว่า การเสียชีวิตโดยการถูกสังหารแล้วให้มีรายงานผลเป็นเสียชีวิตเพราะเจ็บป่วยนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในเรือนจำ


 


0 0 0 0 0


 


 


กรณ์อุมา พงษ์น้อย


ภรรยานายเจริญ วัดอักษร และประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี  


 


 


เผยความคืบหน้าของคดี พบสิ่งผิดปกติในกระบวนยุติธรรม


 


นับจากวันนั้นจนถึงบัดนี้ และวันที่ 21 มิ.ย.2550 คือวันครบรอบ 3 ปีแห่งการจากไปของ "เจริญ วัดอักษร" ทว่าคดีดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้า


 


ล่าสุด นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญ วัดอักษร และประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี  ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" ว่า จนถึงตอนนี้จะครบ 3 ปีแล้ว คดีเจริญก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และมือปืนก็ตายหมดในคุก ซึ่งมาถึงตอนนี้ เราจำเป็นต้องวิพากษ์ระบบความยุติธรรมของไทยว่าพึ่งไม่ได้ และยังมีความล้าหลังเป็นอย่างมาก เมื่อสอบถามไปก็จะบอกว่ายังอยู่ในขั้นสอบสวน สอบพยานอยู่ ซึ่งตนก็พยายามติดตามการสอบสวนคดีของศาลทุกนัด แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย


 


"จำได้ว่า นายอุดมพร คชหิรัญ ซึ่งเคยเป็นรอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น ได้บอกเล่าถึงคดีนี้ว่า เนื่องจากคดีเจริญเป็นคดีที่น่าสนใจของประชาชน จึงได้มีการตั้งคณะกรรมสอบสวน โดยได้เป็นพยานโจทย์ตอนนั้น และยืนยันว่าได้มีการบันทึกวีดีโอเอาไว้เป็นหลักฐานด้วยในขณะนั้น แต่ว่ามาถึงตอนนี้ หลักฐานดังกล่าวกลับสูญหายไป ไม่ได้มีการหยิบมาใช้ประกอบพิจารณาคดีนี้เลย ซึ่งพอตนได้ไปสอบถามอัยการ ก็บอกว่า ไม่ได้รับหลักฐานดังกล่าวเลย ซึ่งถือว่า นี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก"


 


นางกรณ์อุมา กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น เรายังมองเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าเป็นอย่างมาก ทั้งที่คดีดังกล่าว มือปืนมีการซัดทอดไปถึงผู้บงการ และกระบวนการซัดทอดนั้นมีหลักฐานมัดตัวได้ชัดเจน โดยดูได้จากโทรศัพท์มีการพูดคุยวางแผนกันก่อนลงมือฆ่า ซึ่งถ้าเช็คดูจริงๆ เราจะเห็นข้อเท็จจริงได้ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย


 


พ้อศาล ตัดพยานโจทย์ทำให้สูญเสียโอกาส


 


"ล่าสุด ยังทราบมาว่า ทางศาลจะมีการตัดพยานโจทย์ออกไปอีก โดยอ้างว่าทางฝ่ายเรามีการสืบพยานโจทย์ล่าช้า ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเป็นดุลยพินิจของศาล แต่ทางศาลก็ควรจะให้สิทธิ์แก่เราซึ่งเป็นฝ่ายผู้เสียหายอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ ในฐานะผู้เสียหายก็จะยิ่งสูญเสียโอกาสมากยิ่งขึ้นไปอีก"


 


เมื่อถามถึงรัฐบาลสุรยุทธ์ ได้ให้ความสำคัญกับคดีนี้หรือไม่ นางกรณ์อุมา กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนๆ มันก็เหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยรักไทย หรือรัฐบาลสุรยุทธ์ คมช. หรือแม้กระทั่งประชาธิปัตย์ ตนก็ไม่เคยคาดหวังกับรัฐบาลมานานแล้ว เพราะฉะนั้น ประชาชนจะต้องพึ่งพาตนเองเพียงเท่านั้น


 


เตรียมจัดงานครบรอบ 3 ปี เจริญ ที่วัดสี่แยกบ่อนอก


"นิธิ" นำ ม.เที่ยงคืน เปิดเวทีอภิปราย


 


ทั้งนี้ ในวันที่ 20-21 มิ.ย.นี้ ที่วัดสี่แยกบ่อนอก อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะมีการจัดงานรำลึก 3 ปี แห่งการจากไปของ เจริญ วัดอักษร โดยในคืนวันที่ 20 มิ.ย.มีการแสดงดนตรีเพื่อชีวิต โดย สุรชัย จันทิมาธร,พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ และการแสดงลำตัด คณะลำตัด จาก จ.เพชรบุรี และกิจกรรมในวันที่ 21 มิ.ย. ในช่วงเช้าจะมีพิธีกรรมทำบุญ ในช่วงบ่าย จะมีการตั้งรูปหล่อเจริญ วัดอักษร


 


หลังจากนั้นจะมีการเปิดเวทีอภิปรายโดย ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และตัวแทนภาคประชาชน และในช่วงค่ำ จะมีการแสดงดนตรีของกลุ่มศิลปินเพื่อชีวิต นำโดย พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์,วงโฮป, ซูซู และดอกไม้ไหว


 


 






 


บทสัมภาษณ์ประกอบ : กรณ์อุมา พงษ์น้อย ความคืบหน้าที่ไม่คืบหน้า คดีเจริญ วัดอักษร


 


 


"รู้สึกสิ้นหวังกับกระบวนการการทำงานของกลไกรัฐที่ผ่านมา...ซึ่งที่จริงแล้ว มันมีคดีชาวบ้านอีกหลายคดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ"


             


มองระบบยุติธรรมในรัฐบาลสุรยุทธ์ กับคมช.ที่มีต่อคดีเจริญ วัดอักษร อย่างไรบ้าง?


 


จริงๆ ต้องย้อนกลับไปรัฐบาลเก่า(รัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) ว่าสิ่งที่ผ่านมา รู้สึกสิ้นหวังกับกระบวนการการทำงานของกลไกรัฐที่ผ่านมา แต่ว่าจากสถานการณ์มันมีสภาวะใหม่ แล้วดูเหมือนว่า คมช. พยายามปรับเปลี่ยน โครงสร้างของกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึงหน่วยงานที่อยู่ในสังกัด เช่น ดีเอสไอ ซึ่งรับทำคดี ได้มีการเปลี่ยนตัวอธิบดี พวกเราก็คิดกันอยู่ว่า อยากจะเอาสิ่งที่ค้างคาใจในคดีของเจริญ คิดดูว่าจะไปนำเสนอในกระทรวงยุติธรรม ชุดนี้


 


จะไปเมื่อไหร่นั้นก็คงต้องปรึกษาหารือกันก่อน คาดว่าน่าจะไวๆ นี้ เพราะว่ามันมีหลายประเด็นที่ค้างคาอยู่ เช่นประเด็นแรก ดีเอสไอบอกว่าจะเป็นต้องส่งผู้ต้องหาทั้งหมดที่จับได้ ทั้งหมด 5 คน ตั้งแต่ชั้นตำรวจที่จับได้ จนถึงดีเอสไอที่จับเพิ่มได้คนหนึ่ง ขึ้นสู่ศาลเพราะว่าหมดอำนาจในการควบคุมตัว 84 วัน แต่ก็บอกกับเราว่ายังไม่ปิดคดี จะสืบสวนขนายผลต่อแต่ว่า นับตั้งแต่วันนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่ปรากฏให้เห็น


 


หมายถึงครบ 84 วันตอนที่เขาส่งตัวผู้ต้องหาไปแล้ว ขึ้นสู่ศาล นับตั้งแต่นั้นมา ที่บอกว่าปิดคดีนี่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆให้เราเห็นเลย


 


ประเด็นต่อมาที่ยังค้างคาใจในคดีของเจริญ คือ ในระหว่างที่ถูกยิง ที่เราติดตามอย่างละเอียดในช่วงต้น มือปืนรับสารภาพกับในชันสอบสวนของตำรวจ เช่น นายเสน่ห์ บอกว่า ลงมือยิงเจริญเสร็จก็โทร.หาลูกพี่ 3 ครั้ง ลูกพี่คือ สจ.มาโนช หินแก้ว ก็เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย ถูกตั้งข้อหาใช้จ้างวาน แต่ปรากฏว่าในชั้นตำรวจที่เราทราบมา ก็บอกกับเราว่า ไม่มีสัญญาณ หมายถึงว่าไปตรวจสอบเอกสาร การบันทึกสัญญาณการใช้โทรศัพท์ บอกว่าไม่พบ แต่จริงที่เรารู้มาคือมี แต่ไม่ถูกนำมาประกอบในคดี


 


เสร็จแล้วนี่ ในประเด็นตรงนี้เราก็นำเรื่องนี้ไปบอกกล่าวกับดีเอสไอ แต่ว่าดีเอสไอก็พยายามสร้างความน่าเชื่อถือว่า เขาเองก็ได้กระทำในประเด็นเหล่านี้แล้ว หมายถึงทำในสิ่งที่เราบอกกล่าวนี้แล้ว คือตรวจเช็คสัญญาณแล้วก็ไม่เจอเช่นกัน โดยการเอากระดาษที่เสมือนเป็นสัญญาที่เขาตรวจสอบมาได้ เอามาให้ทางเรา 1 ชุดแต่พอเรามานั่งดูในรายละเอียดจะเห็นว่ามันเป็นเอกสารที่ ทีแรกเข้าใจว่ามันเป็น 2 ชุด แต่พอมาเทียบกันแล้วมันมีความเหมือนความต่างอะไรที่เราดูแล้วก็เลยมีความเห็นว่า มันเป็นสัญญาณที่ถูกตกแต่ง


 


ไม่เชื่อว่าเอกสารชุดนั้นเป็นของจริง?


 


มันไม่ใช่ของจริงอยู่แล้ว เพราะเขาคือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ บอกกับเราว่า อันนี้ไม่ใช่สัญญาณอย่างเป็นทางการ ถ้าเป็นทางการต้องขอเป็นเดือน ซึ่งประเด็นนี้ ขอเป็นเดือนอันนี้ก็คือโกหากอยู่แล้ว เพราะโดยอำนาจหน้าที่ของเขา สัญญาณโทรศัพท์ตัวนี้เขาสามารถขอเช้าก็ได้เลย ขอเย็นก็ได้เลย คือโดยอำนาจหน้าที่ของเขา เขาสามารถมีอำนาจขอได้ แต่ตอนเขานำเอกสารชุดนี้มาให้ เขาอ้างว่าไม่ใช่สัญญาณโทรศัพท์ที่เป็นทางการ ที่เป็นทางการต้องใช้เวลาขอเป็นเดือนถึงจะรู้ผล


 


เขาขอไปเมื่อไหร่?


 


ตั้งแต่ดีเอสไอรับคดีไปได้ประมาณไม่ถึงเดือน แล้วฉบับที่เป็นทางการสรุปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเขาขอหรือเปล่า แต่ว่าถ้าคุณไม่ขอแล้วเอกสารชุดที่คุณเอามาแล้วดูเสมือนที่เรามีความเห็น เรามานั่งตรวจสอบกันอย่างละเอียดว่าเป็นเอกสารที่ตกแต่งมาให้เราดู แล้วคุณเอามาจากไหน?


 


ได้ตรวจสอบดูหรือไม่ว่าตัวเอกสารที่เป็นทางการเขาได้ขอไปหรือเปล่า?


 


คือเราพยายามติดต่อตลอดแต่ก็อ้างว่ายังเช็คไม่ได้ ตอนนี้ไม่รู้ว่าเช็คได้หรือเปล่า แต่ว่าตอนนี้คดีมันก็ไปคาอยู่ในชั้นศาลแล้ว กำลังมีการพิจารณาคดีอยู่ตอนนี้ ที่สำคัญคือมือปืน 2 คนได้รับการดูแลเป็นอย่างดี คือไปเมืองผีหมดแล้ว ตายในคุก


 


แล้วมีการสรุปว่าอย่างไร?


 


ที่จริงในเรื่องของการตายของมือปืน เราก็มีความเห็นว่ามือปืนตายในขณะที่คดีนี้ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างกว้าง ตายคนแรกก็ไม่เห็นจะแถลง พอตายคนที่สองคุณก็ไม่คิดจะแถลง จนเราเป็นคนให้ข่าวการตาย หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พอเราให้ข่าว นักข่าวโทรมาสัมภาษณ์ ก็กลายเป็นว่า อธิบดีกรมราชภัณฑ์ เพิ่งจะออกมาแถลงในวันที่ 8 สิงหาคม พูดถึงสาเหตุการตาย วันที่ 7 สิงหาคม นักข่าวเริ่มรู้จากการแจ้งข่าวของเรา แล้วก็มีการให้สัมภาษณ์ไป


 


ทราบว่ามีประเด็นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับ "เส้นทางปืน" ที่นำมาใช้ยิงคุณเจริญ ?


 


อันนี้ถือเป็นประเด็นเรื่องสำคัญในคดีว่า จากการที่ดีเอสไอมีการทำงานรับช่วงต่อจากตำรวจพื้นที่ ในคดีเจริญ นั่นคือ เรื่องของ "เส้นทางปืน" ปืนที่ใช้ยิงเจริญ นั่นคือปืนขนาด 9 มม. ที่ "นายเสน่ห์ เหล็กล้วน" เป็นคนใช้ ซึ่งในชั้นตำรวจมีการจับกุมนายเสน่ห์ได้ แล้วก็มีการจับปืนของกลางได้ ปรากฏว่า พอช่วงที่ดีเอสไอมารับช่วงต่อคดี ก็พบว่า ปืนกระบอกนี้มีหมายเลขประจำปืน ตามที่ดีเอสไอให้การในชั้นศาล เขาเบิกความว่าเขาเป็นสืบเรื่องนี้เอง ด้วยความที่เขาเป็นตำรวจเก่า มีประสบการณ์ทำให้เขาเห็นปั๊บ ก็รู้เลยว่าปืนกระบอกนี้เป็นปืนสวัสดิการของตำรวจอย่างแน่นอน ทำให้เขาลงมือสืบสวนขยายผล จนพบว่าปืนกระบอกนี้เป็นปืนที่กองสวัสดิการนำมาจำหน่ายให้นายตำรวจที่ประจวบฯ


 


และมีการสอบถามว่าปืนล็อตนี้มันมาอย่างไร แล้วทำไมถึงไปอยู่ในมือนายเสน่ห์ เขาก็สืบพบว่ามีการสั่งปืนล๊อตนี้โดยผู้การฯ ได้มอบหมายให้กับ "ดาบตำรวจโชคชัย ทัดสี" ดูแล


 


โดยแต่เดิมนั้น จ่าสิบตรีบุญเลิศ(จำนามสกุลไม่ได้) เป็นผู้สั่งซื้อ แต่ว่าต่อมา จ่าสิบตรีบุญเลิศ ได้ไปซื้อปืนกระบอกใหม่เอง แต่ไม่ได้มาเอาปืนกระบอกที่สั่งซื้อนี้


 


พอปืนกระบอกที่เคยสั่งซื้อนี้มาถึง ก็ไปตกค้างและอยู่ในความดูแลของดาบตำรวจโชคชัย ซึ่งเป็นคนที่ไปนำปืนจากกองสวัสดิการ แต่พอดีเอสไอไปสัมภาษณ์ดาบตำรวจโชค ให้การว่า ปืนกระบอกนี้มาอยู่ที่กองกลางสองปีแล้ว แล้วก็ไม่มีใครมาเอา แล้วตัวเองก็เดือดร้อนเงิน ก็เลยนำปืนกระบอกนี้มาจำนำให้กับกำนันเจือ หินแก้ว ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีจ้างวานฆ่าเจริญ และก็เป็นลูกพี่นายเสน่ห์ ซึ่งเป็นพ่อของ สจ.มาโนช นายธนู หินแก้ว นายเจือเป็นอดีตกำนันตำบลบ่อนอก


 


ที่ติดใจก็คือ คดีนี้ขึ้นศาล และมันเป็นช่วงที่ดาบตำรวจโชคเองก็ไปให้การในชั้นศาลได้ ปรากฏว่า จนถึงขณะนี้ดีเอไอก็ยังไม่สามารถนำตัวดาบตำรวจโชคไปขึ้นศาลได้ จึงมีคำถามว่า โดยสัญชาตญาณของความเป็นตำรวจเก่า ไม่รู้เลยหรือว่า ดาบตำรวจโชคเป็นปมเงื่อนสำคัญในคดีที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างกำนันเจือ กับนายเสน่ห์ ถึงได้ไม่ไปดูแลเขา และก็ไม่สามารถนำตัวเขาไปขึ้นศาลได้ ถือว่า ปัจจุบัน ดาบตำรวจโชคหนีหมายศาล จนกระทั่งศาลเรียกตัวสองครั้งแต่ไม่ไปขึ้นศาล ดีเอสไอก็ไม่สามารถตามตัวพบ จนกระทั่งขณะนี้ศาลเองต้องออกหมายจับตั้งแต่สามเดือนที่แล้ว ขึ้นศาลวันที่ 4 กันยายน 2549


 


ดีเอสไอให้การกับชั้นศาลด้วยว่า จากการที่เขาเป็นคนสอบ ก็ถาม ดาบตำรวจโชค ว่า ในเมื่อเอาไปจำนำทำไมไม่คิดไถ่คืนมา ดาบตำรวจโชคชัย บอกว่าไม่คิดจะไถ่ ก็แสดงว่าเอาปืนไปขาย ซึ่งที่จริงแล้ว ดาบตำรวจโชคเองก็มีความผิดที่เอาปืนหลวงไปขาย แต่ก็ไม่เห็นมีใครดำเนินคดีนี้ หนำซ้ำจะต้องมาเป็นพยานปากสำคัญในคดีของเจริญ ทาง ดีเอสไอก็ไม่สามารถที่จะนำตัวมาได้อีก


 


เท่าที่เรารู้มา ดาบตำรวจโชคชัย เป็นคนประจวบคีรีขันธ์ มีเมียน้อยอยู่ที่บ่อนอกด้วย แล้วก็มีเมียหลวงอยู่ในตัวเมืองประจวบฯ ก็เป็นแม่ค้าขายข้าวแกง พอดีว่าตัวเมียหลวงมีความสนิทสนมกับครอบครัวกับญาติเจริญซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ญาติเจริญก็มาเล่าว่า ตัวของจำเลย คือกำนันเจือกับทนายธนูเป็นผู้ที่ไปบอกกับดาบตำรวจโชคว่าให้หลบหนีไปก่อน แล้วก็คดีทางนี้เขาจะจัดการให้ เพราะว่าในตอนนั้น มีการพูดในเรื่องของที่อัยการที่ขอเสนอกับศาลอายัดเงินเดือนในฐานะที่เป็นข้าราชการบำนาญ แต่เราก็ไม่รู้ว่ามีการอายัดเงินจริงหรือเปล่า


 


ตอนนี้ ทั้งสามคนนี้ได้รับการประกันตัวทั้งหมด แล้วมีการถูกข่มขู่คุกคามหรือไม่?


 


ใช่ มีการประกันตัวออกไปทั้งหมด ถามว่ามีการคุกคามไหม ข่มขู่ไหม โดยตรงกับตัวเราเอง ตอนนี้ไม่มี แต่ว่าต้องระวังตัวไหม ก็ต้องระวัง แล้วก็ในตัวของพยานเองที่เราพยายามค้านต่อศาลมาโดยตลอด ค้านการประกันตัวมาตั้งแต่ต้น ปรากฏว่าได้รับการประกันตัวออกมาอย่างรวดเร็ว ถามว่าเป็นอย่างนี้มันจะไปยุ่งกับพยานหรือไปทำให้รู้คดีมันเสียหรือไม่ คือไปพูดกับพยานปากสำคัญ และทำให้พยานปากสำคัญหลบหนีไป


 


มาถึงตอนนี้ มีการเรียกร้องให้ถอนประกันหรือไม่?


 


อันนี้คือประเด็นที่เราจะไปเรียกร้อง เราเรียกร้องได้ แต่ดุลพินิจขึ้นอยู่กับศาล และถ้าศาลสั่งถอนก็ต้องเอาตัวไปควบคุมในห้องขัง


 


มีประเด็นอีกอีกหรือไม่ที่ยังค้างคาใจ?


 


จริงๆ มันมีหลายประเด็น คดีนี้มันอยู่ในชั้นศาลแล้ว พูดไปมันจะเป็นการไปทำลายน้ำหนักคดีในศาลหรือเปล่า คดีนี้มันถูกออกแบบให้เป็นเรื่องของความแค้นส่วนตัว ก็เลยนายเสน่ห์จากการที่มีการรับสารภาพในชั้นสอบสวนเบื้องต้น พอมาขึ้นชั้นศาลก่อนที่จะทำให้เสียชีวิต ก็มีการกลับคำให้การในชั้นไต่สวน บอกว่ายิงเจริญเพราะว่าโกรธแค้นส่วนตัว แต่ว่าในส่วนแล้วก็ในรูปของคดี การขึ้นศาลการพิจารณาคดีในส่วนของจำเลย เขาเองก็ต้องขึ้นเบิกความในศาลอีกหนึ่งรอบ แล้วก็ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ความจริงก็ย่อมปรากฏ


 


อีกคนหนึ่งคือนายประจวบ หินแก้ว ตอนเกิดเหตุ มาด้วยกัน แล้วก็มีการจับมือปืนมาจากการที่ประจักษ์พยานนั่งอยู่ด้วยตรงศาลารอรถเมล์ แล้วก็ประจักษ์พยานก็เป็นเพื่อนกับลูกเขาด้วย


 


การตายของผู้ต้องหาทั้งสองจะเรียกร้องให้มีการสอบสวนไหม?


 


ที่ผ่านมา เราก็เรียกร้องมาตลอด แต่ว่าไม่ถูกทำให้ปรากฏอย่างกระจ่าง ก็มีเพียงแค่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้มาแถลง ส่วนนิติเวชเองก็ยังไม่มีการแถลงด้วยซ้ำไป เพราะว่าศพถูกส่งไปที่นิติเวช ตอนนั้นติดตามข่าวก็มีคนที่ติดใจอยู่ในส่วนของญาติ แต่ถามว่า เขากล้าที่จะเรียกร้องอะไรสุดขั้วไหม เขาคงไม่กล้าเพราะว่า กลัวอิทธิพลของจำเลยที่ถูกประกันตัวไป เชื่อว่าเขาต้องกลัวอย่างแน่นอน ซึ่งจำเลยที่ประกันตัวออกไป ตอนนี้เขาก็ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวกับกฎหมายที่เขาถูกดำเนินคดีอยู่แต่อย่างใด


 


ตอนนี้อยากให้ทางดีเอสไอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่?


 


ประมาณนั้น ถ้าเป็นไปได้ จริงๆ ดีเอสไอชุดเก่า ตอนที่อยู่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ เราก็มีการพูดคุยกันตลอดว่า ถ้าคุณทำงานกันอย่างรีบเร่งอย่างนี้ มันไม่รัดกุม ประเด็นไม่กระจ่างอะไรสักเท่าไร พยานหลักฐานไม่รัดกุม ก็ไม่จำเป็นต้องส่งขึ้นศาลก็ได้ ก็ปล่อยเขาไปก่อน อายุความคดีตั้ง 20 ปี ถ้ามีความตั้งใจจริงในการทำงาน ก็สามารถจับกุมเมื่อไรก็ได้ ให้หลักฐานครบก่อน แล้วค่อยลงมือจับแล้วก็ค่อยส่งขึ้นศาล แต่เขาก็จะอ้างตลอดว่า มันครบแล้วก็จำเป็นต้องส่งตัวขึ้นศาล แต่ยังไงคดีนี้ก็ยังไม่ปิด แต่วันนี้ปิดหรือไม่ปิดมันมีค่าเท่ากันในความรู้สึกของพวกเรา คุณไม่ได้ขยับอะไรเลย


 


จะเรียกร้องไปยังรัฐบาลหรือ คมช.หรือไม่?           


 


ถ้าไป คงไม่ไปที่ คมช.แต่ตั้งใจจะไปที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นบอร์ดของดีเอสไอด้วย


 


แล้วจะถือโอกาสเรียกร้องให้เร่งคดีอื่นๆด้วยหรือไม่ เช่น คดีพระสุพจน์ สุวโจ ?


 


จริงๆ ต้องให้ความสำคัญกับทุกคดี แล้วที่ผ่านมา ถ้าสมมติว่าในส่วนของปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องและมีอำนาจกับหน่วยงานนี้โดยตรง ถ้าเห็นว่าที่ผ่านมาดีเอสไอมีปัญหายังไง วันนี้ก็ควรจะมีอำนาจในการสั่งการ เช่น สั่งให้รื้อฟื้นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอที่ผ่านมาทั้งหมด และยังไม่ปรากฏผลงานอะไรที่ชัดแจ้ง เช่น คดีของทนายสมชาย คดีของพระสุพจน์ ฯลฯ


 


ซึ่งที่จริงแล้ว มันมีคดีชาวบ้านอีกหลายคดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ เช่น ประเภทถูกยิงกลางวันแล้วไม่ฟ้อง แต่อัยการสั่งให้ฟ้อง อะไรอย่างนี้ ไม่ได้อยากให้ความเป็นธรรมกับคดีเจริญอย่างเดียว อยากให้ความเป็นธรรมกับทั้งหมด


 


ที่มา : ประชาไท  7 ธ.ค.2549


 


 


 


ข้อมูลประกอบ


 


นักต่อสู้สามัญชน ความยุติธรรมที่สูญหาย (2) : เจริญ วัดอักษร


 


กรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net