Skip to main content
sharethis


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


 


ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สังคมไทยได้เผชิญสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะส่งผลสะเทือนไปสู่อนาคตมากที่สุด ในด้านหนึ่ง ก็เกิดการชุมนุมของประชาชนผู้ต่อต้านการรัฐประหารจำนวนมาก ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายอำนาจรัฐและผู้ก่อการรัฐประหารก็แสดงท่าทีพร้อมจะตอบโต้ด้วยกำลังตำรวจทหาร มิหนำซ้ำ ผู้สนับสนุนรัฐประหารก็ยังมีการจัดตั้งกองกำลังและสร้างกระแสข่าวในลักษณะที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีก  


 


ล่าสุด แม้กระทั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ให้สัมภาษณ์ว่าไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีได้  ทั้งที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง การทหาร และคุมกลไกรัฐต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์


 


ไม่ว่าการชุมนุมต้านรัฐประหารนี้จะมีผลอย่างไร สถานการณ์การเมืองไทยก็ไม่มีวันกลับไปสู่จุดที่คณะรัฐประหารควบคุมทุกอย่างได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อไปอีกแล้ว การชุมนุมเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิเสธอำนาจรัฐประหารโดยวิธีอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต เช่น การคว่ำรัฐธรรมนูญ การบอยคอตการเลือกตั้งเหมือนอย่างที่เกิดในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว การวิจารณ์ประธานองคมนตรี หรือแม้กระทั่งการใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นฐานของการตอบโต้โดยวิธีหนึ่งวิธีใดในอนาคต


 


การรัฐประหารเป็นเรื่องดีหรือไม่ เป็นเรื่องที่คงเถียงกันไปได้อีกมาก และประชาชนไทยสมควรจะต่อต้านรัฐประหารหรือไม่  ก็คงเห็นต่างกันไปได้อีกมากเช่นเดียวกัน แต่เรื่องที่ทุกฝ่ายควรจะเห็นเหมือนกัน ก็คือ สิทธิในการชุมนุมและเดินขบวน,  สิทธิในการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน


 


ไม่ว่าจะคิดว่านายกรัฐมนตรีคนที่แล้วเป็นคนดีหรือไม่  ไม่ว่าจะคิดว่าระหว่าง ทักษิณ กับ คมช. ใครแย่กว่ากัน และไม่ว่าจะเห็นว่าระหว่างทักษิณ กับระบอบรัฐประหาร อะไรเป็นภัยกับประชาธิปไตยและสังคมไทยในอนาคตมากที่สุด ทุกคนก็มีสิทธิพูด เขียน แสดงความเห็น และรวมตัวทางการเมืองเพื่อยืนยันความคิดความเชื่อของตัวเองข้อนี้อย่างเท่าเทียมกัน


 


ในอดีต ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพเหล่านี้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทของประเทศในเดือนมิถุนายน 2475, ขับไล่ทรราชทหารเมื่อ 14 ตุลาคม, ต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในปี 2531, ต้านเผด็จการทหารในปี 2535 หรือแม้กระทั่งการขับไล่นายกที่มาจากการเลือกตั้งแต่มีพฤติกรมอำนาจนิยมในปี 2549 ซึ่งแม้จะมีเรื่องให้โต้เถียงได้มาก ก็ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตนี้ได้เช่นเดียวกัน


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า การยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนแบบนี้ถือเป็นวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย  


 


ปฏิกิริยาของรัฐบาลและคณะรัฐประหารต่อการชุมนุมครั้งนี้เป็นเรื่องน่าละอาย เพราะในด้านหนึ่ง รัฐบาลพยายามแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่ายอมรับคนไทยมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แต่ในอีกด้าน รัฐบาลกลับอนุญาตให้คณะรัฐประหารขัดขวางการชุมนุมด้วยวิธีสกปรกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการส่งทหารไปสอดแนมการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่, ใช้กำลังตำรวจสกัดกั้นการเดินทาง, ปิดถนนบริเวณที่ชุมนุมทั้งหมด, ข่มขู่ประชาชนในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่การประกาศว่าจะไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพโดยสุจริตอีกต่อไป ขู่ฆ่าล้างโคตร หรือโยกย้ายกำลังทหารเข้ากรุงเทพมากเกินปกติ ขณะที่การชุมนุมสนับสนุนรัฐประหารกลับไม่ถูกขัดขวางแม้แต่นิดเดียว


 


การเมืองแบบตีสองหน้าอย่างนี้มีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากคนที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐ ย่อมไม่มีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม


 


อันที่จริง คณะรัฐประหารไม่ได้ขัดขวางการชุมนุมโดยวิธีข่มขู่และประทุษร้ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้วิธีทางการเมืองที่เลวร้ายกว่านั้นอีกมาก นั่นก็คือใช้ยุทธการข่าวสารไปทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ชุมนุมด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยข่าวว่าจะมีการก่อวินาศกรรม ผู้ชุมนุมมีแผนก่อการร้าย มีกองทัพมดป่วนเมือง เผาตัวตายสร้างสถานการณ์ ฯลฯ ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแม้แต่นิดเดียว


 


รัฐบาล, คณะรัฐประหาร และเครือข่ายผู้สนับสนุนรัฐประหาร มีบทบาทด้านการข่าวคล้ายคลึงกัน จึงมีการให้ข่าวทำนองนี้โดยบุคคลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ต่อให้ข่าวทั้งหมดจะไม่มีแหล่งข่าว และไม่ปรากฎอะไรตามข่าวที่พวกเขาปล่อยออกมาเลยก็ตามที


 


การทำงานการเมืองแบบนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบรัฐประหาร" นั่นก็คือระบอบซึ่งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลับมีอำนาจบริหารกิจการของประเทศ, มีการตั้งองค์กรเฉพาะกิจเพื่อออกกฎหมายและวินิจฉัยข้อขัดแย้งทางการเมือง, มีกองทัพใช้กำลังและความรุนแรงในนามของการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งมีบางส่วนของปัญญาชน-สื่อมวลชน-ภาคเอกชน กำหนดวาระการเมืองโดยวิธีให้ความเห็นและข่าวสารไปในทิศทางบางอย่าง โดยองค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นอิสระจากกัน แต่มุ่งจรรโลงความมั่นคงของผู้รัฐประหารเหมือนกัน


 


ถึงที่สุดแล้ว ระบอบรัฐประหารคือระบอบที่ผู้กุมอำนาจรัฐสามารถล้มล้างหรือล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยเสรี การเมืองในระบอบรัฐประหารจึงเป็นการเมืองที่ผู้กุมอำนาจทางทหารอยู่เหนือศาล ระบบการเมือง และสถาบันทางกฎหมายทั้งหมด ส่วนอำนาจในระบอบรัฐประหารก็เป็นอำนาจตามอำเภอใจ เลือกปฏิบัติอย่างไรก็ได้ และไม่มีบรรทัดฐานทางการที่บังคับใช้กับคนทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคกัน


 


ระบอบรัฐประหารโจมตีว่าการชุมนุมเป็นแผนผลักดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ประชาชนหลายฝ่ายมาร่วมชุมนุมเพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและการละเมิดหลักการปกครองโดยกฎหมาย คำโจมตีนี้จึงเป็นการให้ข้อมูลเท็จเพื่อให้คนในสังคมมองไม่เห็นว่าได้เกิดการรวมตัวต้านการรัฐประหารขึ้นมาแล้ว ซ้ำยังเป็นการปลุกระดมให้คนที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาโจมตีผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ 


 


พูดอีกอย่างคือเป็นการใช้ประโยชน์จากรอยร้าวของคนในชาติไปเพื่ออำนาจของฝ่ายรัฐประหารเอง


 


จริงอยู่ว่าผู้ชุมนุมบางส่วนสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ความสนับสนุนนี้ก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขให้คณะรัฐประหารมีความชอบธรรมที่จะขัดขวางการชุมนุมของประชาชน เพราะไม่มีหลักกฎหมายหรือหลักการเมืองชนิดใดที่ห้ามการรวมตัวแบบนี้  ผู้สนับสนุนทักษิณจึงมีสิทธิชุมนุมได้เหมือนผู้สนับสนุนสนธิ ผู้สนับสนุนสะพรั่ง หรือผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่นในอดีต เหตุผลง่ายๆ คือการชุมนุมแบบนี้เป็นแค่การชุมนุมเพื่อแสดงความนิยมชมชอบทางการเมือง


 


ปฏิกิริยาของคณะรัฐประหารต่อการชุมนุมต้านรัฐประหารแบบนี้เป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองไทยในอนาคต เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในระบอบรัฐประหารล้มเหลวที่จะแยกแยะระหว่าง ปัญหาทางการเมืองของระบอบรัฐประหาร กับ ปัญหาของบ้านเมือง ทำให้มีแนวโน้มที่พวกเขาจะเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารเป็นการก่อกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไปด้วย ทั้งที่สองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะบ้านเมืองสำคัญกว่าความอยู่รอดทางการเมืองของคณะทหารเพียงกลุ่มเดียว


 


ความเข้าใจข้อนี้อันตราย เพราะบ้านเมืองในระบอบรัฐประหารคือบ้านเมืองที่ชะตากรรมของส่วนรวมขึ้นอยู่กับทัศนะวิสัยของผู้นำกองทัพ ซึ่งภายใต้ผู้นำกองทัพที่แยกแยะไม่ได้ว่าการเมืองนั้นแตกต่างจากการทหาร วิธีคิดแบบทหารก็ย่อมกลายเป็นกติกาแม่บทของความสัมพันธ์ทางการเมือง  รวมทั้งวิธีจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองด้วยเช่นกัน


 


ในแง่นี้แล้ว การต้านรัฐประหารไม่ได้เป็นเรื่องของการพิจารณาว่าระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และ ค.ม.ช. ใครที่เลวร้ายและอันตรายกว่ากัน แต่เป็นปัญหาว่าระหว่างการเมืองที่อยู่ภายใต้การครอบงำของทหาร การเมืองที่ปราศจากกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่แน่นอน การเมืองที่ผู้มีอำนาจแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายได้ทุกเมื่อ กับการเมืองที่เป็นอิสระจากกองทัพ การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการเมืองที่กระบวนทางการกฎหมายเป็นอิสระจากอำนาจนอกระบบ อะไรคือสิ่งที่เป็นคุณสำหรับสังคมไทยมากกว่ากัน?


 


การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน เป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่ปราศจากกฎเกณฑ์และไร้อนาคต  ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร ไม่มีใครรู้ว่านายกรัฐมนตรีคนถัดไปจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่มีใครรู้ว่าสถานะของพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอย่างไร เหมือนกับที่ไม่มีใครรู้ว่าการกระจายอำนาจ, สิทธิชุมชน และศักดิ์ศรีของมนุษยชนจะได้รับความคุ้มครองเช่นไรบ้าง เพราะเรื่องทั้งหมดนี้ถูกดึงจากสาธารณะไปอยู่ภายใต้การพิจารณาของบุคคลที่คณะรัฐประหารเลือกเข้ามาเพียงหยิบมือเดียว  


 


ในสภาพเช่นนี้ คนในชาติเป็นพลเมืองที่ไร้สิทธิทางการเมืองไปแทบทุกรูปแบบ เว้นแต่สิทธิจะสนับสนุน คมช.ในเวลาที่ท่านต้องการ


 


การเมืองตามอำเภอใจแบบนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างความเกลียดชังนายกรัฐมนตรีที่หมดอำนาจไปเกือบหนึ่งปีแล้ว  แต่ลองคิดดูว่าหากตัดการโจมตีนายกรัฐมนตรีคนที่แล้วออกไป มีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นผลงานที่ระบอบรัฐประหารทำให้กับสังคม?


 


การเมืองตามอำเภอใจไม่ใช่หนทางของการสร้างการเมืองที่ดีในปัจจุบัน หรือการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะวิธีการนี้ปิดบังให้ผู้คนมองไม่เห็นว่าทักษิณไม่ใช่ปัญหาหลักของการพัฒนาประชาธิปไตย หากเป็นการดำรงอยู่ของ คมช.ต่างหากที่จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยในอนาคต เพราะความหวาดระแวงว่าจะถูกโจมตีทางการเมืองนั้นย่อมทำให้ ผู้นำของคมช.ไม่ออกไปจากศูนย์กลางอำนาจการเมืองไทยแน่ๆ ไม่ว่าตัว คมช.ในฐานะองค์กรจะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ก็ตาม


 


ภายใต้ทิศทางการเมืองแบบนี้ ต่อให้กระแสสังคมกดดันให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะอยู่ในตำแหน่งโดยมี คมช.เป็นปัจจัยการเมืองสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายความถึงความเป็นไปได้ที่อำนาจจากการเลือกตั้งจะไม่เป็นอิสระ แต่ต้องร่วมมือหรืออยู่ภายใต้อำนาจนอกระบบ โดยสภาพแบบนี้จะคงอยู่ไปอีกเป็นเวลานาน


 


บทเรียนของสังคมไทยเองแสดงให้เห็นว่าสภาพเช่นนี้อันตรายกับพลังการเมืองทุกฝ่าย  ตัวอย่างเช่นระหว่าง ปี 2524-2531 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองทัพแทรกแซงการเมืองโดยสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่เคยลงเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว ผลที่เกิดขึ้นกองทัพแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย เปลี่ยนรัฐบาลผสมหลายครั้ง มีการรัฐประหาร 2 หน พรรคการเมืองกลายเป็นตัวแปรไร้อันดับ นายกรัฐมนตรีแย่งอำนาจกับผู้นำกองทัพ หรือแม้กระทั่งเกิดการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี


 


บัดนี้ ระบอบรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 กันยายน ก็ได้คงอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว แต่ปัญหาการเมืองไทยก็ไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จึงสมควรที่จะพิจารณาการต้านรัฐประหารในฐานะที่ไม่เกี่ยวกับผู้นำการเมืองหรือนักการทหารคนไหน แต่เกี่ยวกับโจทก์ทางการเมืองที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคต  นั่นก็คือการสร้างประชาธิปไตยรัฐสภาที่เป็นอิสระจากกองทัพและพลังที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารครั้งนี้


 


ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องร่วมกันปลดปล่อยประชาธิปไตยออกจากร่มเงาของ คมช.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net