รายงาน : 3 ร่างกฎหมายฯ ความหวังดับไฟใต้ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ

ประชาไท - 19 มิ.ย. 50 ในที่สุด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นเจ้ากระทรวง และนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ก็ยอมยุติเลิกผลักดันร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ทั้งๆ ที่เป็นร่างกฎหมายที่ 2 รัฐมนตรีหมายมั่นปั้นมือผลักดันให้สำเร็จภายในรัฐบาลนี้

 

การถอยร่นชนิดไม่เป็นขบวน เกิดขึ้นหลังจากนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมา 2 ครั้ง แต่ถูกกระทรวงมหาดไทยตั้งป้อมจนถูกตีกลับทั้ง 2 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าซ้ำซ้อนกับการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจะเกิดความขัดแย้งในชุมชน ในขณะที่สังคมก็มีความเห็นต่อกรณีนี้แตกต่างหลากหลาย มีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน

 

ก่อนหน้านี้ ในเวทีสัมมนาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดโดยคณะทำงานเครือข่ายเดือนตุลาเพื่อการเมืองภาคประชาชน (คตช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค 50 ที่ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา และเวทีประชาธิปไตยชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 9 50 ที่โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่นั้น

 

นพ.พลเดช ย้ำกับผู้เข้าร่วมประชุมใน 2 เวทีนี้ว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่ยังคงเป็นความหวังของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ หนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต พ.ศ.... และ สอง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์กรมหาชน) พ.ศ....

 

โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต พ.ศ.... นั้น นพ.พลเดชกล่าวว่า จะผลักดันให้สำเร็จจนประกาศใช้บังคับได้ ภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 

คำว่า "ซะกาต" ตาม ความหมายที่ระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง เงินหรือทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ที่ศาสนาอิสลามบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้น มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่บุคคล ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับซะกาต ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้

 

สำหรับผู้มีสิทธิได้รับซะกาตตามหลักศาสนาอิสลามกำหนดไว้ มี 8 จำพวก ซึ่งรวมถึงคนยากคนจนด้วย

"ผมฟังครั้งแรกก็เข้าใจเลยว่า นี่เป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีค่า บังเอิญผมดูแลเรื่องสวัสดิการสังคมมานานแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องสวัสดิการสังคม แต่รัฐบาลไม่เข้าใจ ดังนั้น ถ้าเราเข้าในเรื่องแล้ว เราจะรู้ว่า กฎหมายฉบับนี้ ก็เท่ากับเป็นการรดน้ำพรวนดิน เพื่อให้ต้นไม้ซึ่งเปรียบเสมือนสังคม มีความสมบูรณ์นั่นเอง" เป็นคำอธิบายของหมอพลเดช

 

ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์กรมหาชน) พ.ศ....นั้น นพ.พลเดชเล่าถึงที่มาที่ไปว่า เมื่อครั้งพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกชักชวนให้มาช่วยงานพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก็พบปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งต้องผ่านหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ทำให้บางครั้งราชการเอง ต้องมาขอเบิกเงินสำรองจ่ายจากองค์กรพัฒนาเอกชนไปใช้ก่อน

 

พล.อ.ชวลิตเองถึงกับพูดว่า รู้สึกละอายที่ข้าราชการต้องไปขอเบิกเงินกับเอ็นจีโอ

 

จนกระทั่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 47 ตามด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เข้ามาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย นพ.พลเดชก็ถูกดึงให้เข้าไปช่วยจัดเวทีเสวนา ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรัฐบาลได้จัดงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับภาคประชาชนในพื้นที่ ที่เสนอโครงการเข้ามา

 

การทำงานคราวนั้น นพ.พลเดชบอกว่า ต้องใช้งบประมาณของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเข้ามาหนุนช่วยให้งานเดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุดเสียก่อน คราวนั้นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งนี้ หมดเงินไปกับการนี้ถึงหนึ่งล้านกว่าบาท

 

เมื่อพบว่า บางครั้งการดำเนินงานของรัฐมีปัญหาในบางเรื่อง จึงเสนอพล.อ.ชวลิต ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงในขณะนั้นว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาอุดช่องว่างให้กับรัฐ ดำเนินงานคล้ายๆ กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มุ่งสร้างความเข้มแข็งในสังคมระดับฐานราก เพียงแต่มีพื้นที่ทำงานเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

 

ที่สำคัญ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะเอื้อให้เกิดสภาซูรอ หรือสภาที่ปรึกษา ตรงกับความต้องการของคนในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเอื้อต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ด้วย

นี่คือ ที่มาของการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์กรมหาชน) พ.ศ.... ในวันนี้

 

ถึงขณะนี้ 2 รัฐมนตรีที่มีฐานมาจากภาคประชาสังคม ยังคงยืนยันว่า จะพยายามผลักดันร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เหลืออยู่ต่อไป ส่วนจะถูกแรงต้านจนต้องถอยกรูดอีกหรือไม่ อีกไม่นานก็รู้

 

 

 





สาระสำคัญ "ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต พ.ศ. ...."
ฉบับปรับปรุงใหม่
17 พ.ค.50

 

หลักการและเหตุผล

การจ่ายซะกาตเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินถึงจำนวนตามที่ศาสนากำหนดและครบรอบปี ในอันที่จะต้องจ่ายแก่บุคคลที่มีสิทธิได้รับ แต่เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ทั้งผู้ที่มีหน้าที่จ่ายและผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตไม่อาจทราบข้อมูลที่จำเป็นต้องทราบจึงทำให้การจ่ายซะกาตไม่อาจไปถึงผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตได้อย่างเต็มที่และทั่วถึง

 

และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีบางองค์กรหรือบางชุมชนจัดตั้งกองทุนซะกาตขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ทว่ายังมีรูปแบบขององค์กรและการบริหารจัดการ ตลอดจนการดำเนินงานที่มีความแตกต่างกัน ไม่มีความเป็นเอกภาพ จึงทำให้บางองค์กรอาจมีการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อีกทั้งไม่มีระบบการตรวจสอบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตขึ้น เพื่อจัดให้มีกองทุนซะกาตในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมและเปิดโอกาสให้องค์กรหรือชุมชนต่างๆ สามารถจัดตั้งกองทุนซะกาตในองค์กรและชุมชนเหล่านั้นโดยมีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะผู้บริหารที่เหมือนกัน มีการบริหารจัดการและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

 

 ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต รวมทั้งทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นซะกาตได้ถูกแจกจ่ายไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน คนขัดสนและบุคคลผู้มีสิทธิได้รับตามศาสนบัญญัติได้อย่างเต็มที่และทั่วถึง อันจะเป็นผลทำให้สังคมมุสลิมโดยรวมมีการพัฒนาและสามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น มีความสามัคคี จุนเจือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งยังจะส่งผลทำให้ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

เป้าหมายและหลักการ

การดำเนินการและการจัดการซะกาตต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม โดยมีเป้าหมายเพื่อจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการให้ความช่วยเหลือผู้มีสิทธิได้รับซะกาตอย่างเสมอภาคและทั่วถึง

 

การ ดเก็บซะกาตหรือทรัพย์สินที่ได้มีการจ่ายหรือบริจาคตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องดำเนินการบนพื้นฐานความสมัครใจของผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาตหรือผู้บริจาค อย่างแท้จริง ไม่มีการบังคับในรูปแบบใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

การแจกจ่ายซะกาตต้องมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนบุคคลประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีขีดความสามารถที่จะประกอบอาชีพที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง

 

การส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต

ระบุให้มี คณะกรรมการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน มี ผู้แทนจากหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ของรัฐ และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การบริหารการเงิน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และด้านศาสนาอิสลาม มีผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เป็นเลขานุการ

 

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่สำคัญๆ ได้แก่ การพิจารณาอนุมัติให้จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนซะกาต แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายศาสนาเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับ ซะกาต ทรัพย์สินที่ต้องออกซะกาต และวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม

 

ประกาศกำหนดเกี่ยวกับประเภทและจำนวน(นิสอบ)ของทรัพย์สินที่ต้องออกซะกาตในแต่ละประเภท คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับซะกาต เพื่อให้สาธารณชนทราบและให้กองทุนซะกาตถือปฏิบัติตาม

ให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เพื่อ ใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือในการ ดำเนินกิจการของกองทุนซะกาต มาจากเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบหรืออุทิศให้ โดยมีสำนักงานเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนและมีคณะกรรมการเป็นผู้ควบคุมดูแลกองทุน

 

การจัดตั้งกองทุนซะกาต

ให้จัดตั้งกองทุนซะกาตประจำจังหวัดขึ้นในจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด โดยให้ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อคณะกรรมการ

 

มัสยิด มูลนิธิ สมาคม องค์กรหรือชุมชนใดหรือกองทุนซากาตที่มีอยู่แล้ว ประสงค์จะจัดตั้งกองทุนซะกาต ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อคณะกรรมการได้เช่นกัน

 

กองทุนซะกาตที่ได้จดทะเบียนแล้วให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดย มีคณะผู้บริหารกองทุนซะกาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลในการดำเนินกิจการเกี่ยว กับบุคคลภายนอก ทั้งนี้โดยคณะผู้บริหารกองทุนซะกาตอาจมอบหมายให้ผู้บริหารคนหนึ่งหรือหลาย คนเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้

 

การบริหารและจัดการกองทุนซะกาต

ให้กองทุนซะกาต มีคณะผู้บริหารกองทุนซะกาต ประกอบด้วยประธาน รองประธานหนึ่งคน และผู้บริหารอีก 4 สี่คน ซึ่งคัดเลือกจากสัปปุรุษของมัสยิดหรือสมาชิกในชุมชน สมาคม มูลนิธิหรือองค์กรนั้น รวมทั้งผู้แทนฝ่ายผู้จ่ายซะกาต จำนวน 3 คน ซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่จ่ายซะกาตให้กับกองทุนนั้น

 

คณะผู้บริหารกองทุนซะกาต มีอำนาจหน้าที่ กำหนดแนวทางการบริหารจัดการกองทุนซะกาต กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิได้รับซะกาต

 

พิจารณาบุคคลในท้องที่เพื่อกำหนดเป็นผู้มีสิทธิได้รับซะกาตและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาตและผู้มีสิทธิได้รับซะกาตในแต่ละปี

 

ในการแจกจ่ายซะกาตของกองทุนซะกาตให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับซะกาต ให้แจกจ่ายแก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อที่ได้มีการประกาศให้สาธารณชนทราบล่วงหน้า

 

ห้ามมิให้แจกจ่ายซะกาตกับบุคคลซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด มัสยิด หรือชุมชนนั้น เว้นแต่ในจังหวัด มัสยิดหรือชุมชนนั้นจะไม่มีผู้มีสิทธิได้รับซะกาตนั้นแล้ว

 

มาตรการส่งเสริมการบริจาค

ให้คณะกรรมการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้จ่ายซะกาตและผู้บริจาคทานเป็นจำนวนสูงสุดหนึ่งร้อยอันดับแรก เพื่อประกาศเชิดชูเกียรติ พร้อมทั้งจัดพิธีมอบรางวัลแก่บุคคลดังกล่าวเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้โดยจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของบุคคลนั้น

 

 





สาระสำคัญร่าง "ร่างพรก.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน) .. ..."

 

หลักการและเหตุผล

 

ด้วยเหตุที่การดำรงอยู่ของลักษณะทางสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีมิติทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ต้องการแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางสังคมดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข และสามารถขยายบทบาทของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกันด้วยความแตกต่างหลากหลาย โดยเกิดศักยภาพสูงสุดต่อการพัฒนาพื้นที่

 

ในการนี้จำเป็นต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และสมาชิกของสังคมระดับต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และการกำหนดตนเองให้มากที่สุด ซึ่งหน่วยงานราชการตามปกติ มีข้อจำกัดในการดำเนินการในบทบาทดังกล่าว

 

นอกจากนั้นด้วยลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม และสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ ทำให้การรวมตัวจัดตั้งตนเองของประชาชนขึ้นเป็นองค์กรชุมชนแบบเดียวกับพื้นที่อื่นของประเทศ เป็นไปได้ยาก

 

ปัจจุบันยังไม่มีองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ และขอบเขตการปฏิบัติงานเป็นการเฉพาะสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น จึงสมควรจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวกันเป็นลักษณะองค์ชุมชน เพื่อเปิดให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างเต็มศักยภาพ อันจะส่งผลดีต่อชุมชนที่มีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมได้อยู่ร่วมกันโดยสันติสุข เข้มแข็ง และยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.. ๒๕๔๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้

 

ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า "สถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน)" เรียกโดยย่อว่า "สส.พต." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Institute for Promoting Rehabilitation and Development of Southern - Border Provinces (Public Organization)" เรียกโดยย่อว่า "IRDS"

 

วัตถุประสงค์

() ส่งเสริมการฟื้นฟูความมั่นคงของมนุษย์และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อคืนความเข้มแข็งสู่ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

() ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

 

() ส่งเสริมและสนับสนุนการดำรงอยู่และพัฒนาการของวัฒนธรรม ศาสนา สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความหลากหลาย

 

() ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนที่หลากหลาย เพื่อการมีส่วนร่วมกับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่

 

อำนาจและหน้าที่

() ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบที่หลากหลาย

 

() ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มประชากรเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

() ให้บริการฝึกอบรม หรือสัมมนา ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ และวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การปรับตัวอย่างเหมาะสมขององค์กรหรือบุคคลที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

() ศึกษาวิจัยสถานการณ์ปัญหา และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งในด้านการป้องกัน การเฝ้าระวัง การบำบัดแก้ไขและการควบคุมสถานการณ์ ตลอดจนการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ และประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ทุนและทรัพย์สิน ประกอบด้วย

() เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา

 

() เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี

 

() เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

 

การบริหารและดำเนินการ

ให้มี "คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ " ประกอบด้วย

() ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

() กรรมการส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 คน ได้แก่ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

() กรรมการผู้นำชุมชน จำนวน 2 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากผู้นำองค์กรชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

() กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา หรือด้านอื่นอันเป็นประโยชน์แก่กิจการของสถาบัน และเป็นบุคคลซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ

ให้ผู้อำนวยการสถาบันเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง

 

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ หลักๆ คือ กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสถาบัน ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสถาบัน สรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ

 

ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย ประกาศ และมติของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตำแหน่ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายใน

 

ในการบริหารงานของสถาบัน รัฐมนตรีอาจขอให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทรวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ มาปฏิบัติงานในสถาบันเป็นการชั่วคราวได้

 

บทเฉพาะกาล

ในวาระเริ่มแรก ให้มีคณะกรรมการเตรียมจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้คณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 4 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เท่าที่จำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันจนกว่าจะมีคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท