Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 มิ.ย. 50 ในการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง "คัดค้านการรวมกสช.กับกทช. เพื่อโอกาสในการเปิดประชาธิปไตยสื่อ" ซึ่งจัดโดยภาคีเครือข่ายที่ร่วมจัดงานทั้ง 26 องค์กร ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอังคารที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 47 กำหนดให้มีองค์กรรัฐที่เป็นอิสระ "องค์กรหนึ่ง" ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นที่มาของการรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)


 



และจากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขกฎหมายโทรคมนาคมและการสื่อสาร โดยมีข้อเสนอ คือ 1.แก้กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ให้มีองค์กรกำกับด้านโทรคมนาคมและกิจการวิทยุโทรทัศน์เพียงองค์กรเดียว โดยให้รวม กทช. และ กสช. เข้าเป็นองค์กรเดียว โดยอาจใช้ชื่อ "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" (กสทช.) จำนวน 9 คน วาระครั้งละ 5 ปี และควรตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเนื้อหา 2.ควรตัดการกำหนดนโยบายออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแล ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล 3.ควรปรับปรุงกระบวนการได้มา การประเมินผล และกระบวนการถอดถอน โดยเสนอให้วุฒิสภาหรือรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่ประเมินผล และมีอำนาจถอดถอนคณะกรรมการ 4.ควรปรับปรุงแก้ไขหมวดที่ 2 ของกฎหมาย โดยกำหนดอย่างชัดเจนให้ผู้รับสัมปทานที่โอนกรรมสิทธิ์ในโครงข่ายของตนให้แก่รัฐ มีสิทธิและหน้าที่ในการเชื่อมต่อโครงข่าย และควรกำหนดให้การคิดค่าเชื่อมต่อ โครงข่ายต้องอ้างอิงจากต้นทุน แม้การแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะทำให้รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะทีโอทีเสียผลประโยชน์ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจอีกแห่งคือ กสท โทรคมนาคม และเอกชนจะได้ประโยชน์ก็ตาม และ 5.ควรโอนอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ผู้รับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐให้ กทช.


 


ล่าสุด ในการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นของ 26 องค์กรภาคี ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ที่คัดค้านการหลอมรวมองค์กรอิสระที่กำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่กิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยมีเหตุผล 5 ประการ คือ


 


หนึ่ง ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อและมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงสื่อของผู้ประกอบการรายย่อยและภาคประชาชน ไม่มีหลักประกันป้องกันการผูกขาดสื่อโดยรัฐและทุนขนาดใหญ่


 


สอง การหลอมรวมองค์กรทำให้กระบวนการปฏิรูปสื่อถูกลดทอนความสำคัญลง


 


สาม องค์กรเดียวจะควบรวมอำนาจมหาศาล ประชาชนขาดหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและรับรู้ข่าวสาร


 


สี่ การกำหนดให้มี "องค์กรหนึ่ง" ตามมาตรา 47 ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการลิดรอนสิทธิอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวมีความสำคัญและส่งผลกระทบอย่างมากต่อส่วนรวม จึงควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนรวมอย่างแท้จริง ควรให้เป็นความรับผิดชอบและให้อิสระกับอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง


 


ห้า ตามรายงานที่มีการศึกษาวิจัย ตัวอย่างการหลอมรวมองค์กรในต่างประเทศยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นผลดีอย่างแท้จริง และยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของนานาชาติ องค์กรหลายแห่งซึ่งได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวก็ประสบปัญหา อีกทั้งประเทศไทยก็มีสภาพแวดล้อมและบริบททางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงควรพิจารณาเงื่อนไขอื่น ๆ ด้วย


 


 


แก้ไปมา คนกำหนดนโยบาย และที่มากรรมการ ไปอยู่ในมือรัฐเสียนี่!


อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมของภาคีเครือข่าย 25 องค์กรครั้งนี้ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เรามุ่งจะสนใจเรื่องการรวมกสช.กับกทช.เข้าด้วยกัน แต่มีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ หนึ่ง การลดอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ (กสทช.) ให้ทำหน้าที่ของการกำกับดูแลเท่านั้น แต่ไม่ให้มีการกำหนดนโยบาย เรื่องนี้ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีปัญหา คณะกรรมการกสทช. ก็ไม่มีสิทธิดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ได้เพียงกำกับดูแล โดยอำนาจทั้งหมดอยู่ที่รัฐ


 


สอง ที่มาของคณะกรรมการชุดนี้มาจากไหน ซึ่งพบว่า ที่มานั้น กำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้เสนอชื่อให้รัฐสภารับรอง ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญแต่ยังไม่มีการถกเถียงใดๆ


 


 


ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ไม่รับ ย้ำ อย่าลืมเป้าหมายฝ่าฟันวิกฤตสื่อ


จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงเนื้อหาในมาตรา 47 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ว่า ถ้าไม่แก้ไข ก็ไม่จำเป็นต้องรับรองตามนี้ เขาเสริมว่า การแพ้โหวตในสสร.นั้น ไมได้แปลว่าเราแพ้ และการต่อสู้ก็ต้องต่อสู้ต่อไป


 


ประเทศไทยตอนนี้ มีวิกฤตการเมือง วิกฤตการศึกษา และวิกฤตสื่อ ซึ่งทั้งสามประการนี้มีการผูกพันโยงใยกันโดยตรง เราจะไม่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจนกระทั่งเรามีประชาธิปไตยสื่อ การศึกษาของประชาชนก็เกิดจากประชาธิปไตยทางการเมืองและประชาธิปไตยสื่อ มันเป็นเรื่องที่โยงใยกัน


 


เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการขณะนี้ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือ "การปฏิรูปสื่อ" เพราะอะไร เพราะสื่อวิทยุโทรทัศน์ทุกวันนี้เป็นสื่อที่ประชาชนเข้าถึงมากที่สุด แต่หากไม่ผูกขาดโดยรัฐบาลก็ผูกขาดโดยภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ฉะนั้น เวลาเราจะเสพสื่อวิทยุโทรทัศน์นั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องทางบันเทิง ก็จะเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจจะบอกเราว่าเราควรคิดอย่างไร


 


เช่น ถ้าเป็นสมัยรัฐบาลทักษิณ เราก็จะรับรู้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำทั้งหลาย มันเป็นสิ่งถูกต้อง ดีงาม เช่น เราทุกคนควรรีบสนับสนุนการเซ็นข้อตกลงการค้าเสรี พอมาปัจจุบันเราก็จะรับรู้ว่า ทุกสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำมันเลวร้าย มันผิดหมด เพราะฉะนั้นก็ควรต้องสนับสนุนคมช. และก็อย่าไปสนใจเลยว่าคุณทักษิณพูดอะไรอยู่ที่ไหน มันเป็นเรื่องไร้สาระ สื่ออย่ามารายงานให้ประชาชนรับรู้


 


"ถ้าเป็นสมัยทักษิณ ประชาชนอย่าไปรู้เลย ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ตากใบ ที่สะบ้าย้อย ที่กรือเซะ ส่วนตอนนี้ก็อย่าไปรู้เลยว่าคุณทักษิณกำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน นี่ล่ะ คือเผด็จการสื่อ"


 


เขากล่าวต่อ ว่า คำถามคือ ถ้าเราต้องการการปฏิรูปสื่อ เราต้องการคนแบบไหน แน่นอน เราไม่ต้องการคนที่กุมอำนาจในปัจจุบันมากุมเสียงส่วนใหญ่ในการปฏิรูปสื่อ เราต้องการตัวแทนภาคประชาชน เราต้องการตัวแทนผู้ผลิตรายการเล็กรายการน้อย เราต้องการตัวแทนชุมชน เราต้องการตัวแทนภาคประชาสังคมทุกส่วน เราต้องการนักวิชาการที่หลากหลายมาทำ แต่การยุบรวมกสช.และกทช. มันไม่เป็นอย่างนั้น


 


จอนยกตัวอย่างว่า สมมติถ้าเราจะปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรมให้เกษตรกรและผู้มีอาชีพเกี่ยวกับที่ดิน เราคงไม่มอบให้กรมที่ดินเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิรูปที่ดิน เพราะกรมทีดินอาจจะมีความเชี่ยวชาญในการรังวัด หรืออะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับที่ดิน แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งต้องการคนที่ความเชี่ยวชาญในเรื่องชุมชน คุณภาพดิน การเกษตร ทรัพยากร ฯลฯ


 


เช่นเดียวกัน การปฏิรูปสื่อ เราต้องการคนแบบไหน และในการยุบรวมกสช. กทช. เราจะได้คนแบบไหน นี่คือโจทย์ใหญ่ ฉะนั้น การที่กสช.ไม่เคยสามารถคลอดได้ ก็เพราะกลุ่มผลประโยชน์จะไม่ยอมให้มันคลอดมาในลักษณะที่ไม่มีตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์


 


 


คนแบบไหน นั่งองค์กรที่นำหน้าเรื่อง "ปฏิรูปสื่อ"


นายเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า เมื่อคิดย้อนกลับไป 2-3 ปีที่แล้ว เวลานั้นเราคิดว่าคนที่มานั่งเป็นกสช.และกทช. อันดับแรกคือต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเพียงแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็ทำให้กระบวนการกสช.ล้มไป แสดงว่า เราคาดหวังต่อคนที่มาทำหน้าที่นี้


 


คุณสมบัติประการถัดมา คือ ต้องเป็นคนที่เข้าใจเรื่องเสรีภาพของสื่อ ซึ่งแสดงว่าต้องเข้าใจโครงสร้างที่มาของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ด้วย


 


นอกจากนี้ คนที่จะเป็นกสช.และกทช. ยังต้องมีความกล้าหาญ เพราะภารกิจหลักคือการเข้ามายุติและทำลายการผูกขาด เวลานี้ หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของทีวีทุกช่อง ส่วนคลื่นวิทยุทั้งประเทศมีทั้งหมด 523 คลื่น แต่เพียงแค่กองทัพบกก็มีคลื่นอยู่ในมือแล้ว 142 คลื่น แล้วเมื่อรวมจำนวนที่กองทัพต่างๆ ถือคลื่นเอาไว้นั้นมีถึง 202 คลื่น ดังนั้น คนที่จะมาเป็นกสช.ต้องมีความกล้าหาญที่จะเอาคลื่นเหล่านี้คืนมาแล้วจัดสรรใหม่ให้ประชาชน ให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงคลื่นความถี่ นี่เป็นภารกิจที่ใหญ่มากในการปฏิรูปคลื่นความถี่


 


แต่ทุกวันนี้ ไม่มีใครพูดเรื่องภารกิจของกสช.เลย เรื่องเทคนิคเข้ามาแทนที่ ผู้ที่เสนอให้ยุบรวมนั้นไม่ให้ความสำคัญและไม่เข้าใจ


 


นายเทพชัยกล่าวว่า ด้วยภาระบทบาทหน้าที่ขององค์กรที่มาดูแลเรื่องการปฏิรูปคลื่นความถี่ ทำให้เรายอมรับการยุบรวมสององค์กรไม่ได้เด็ดขาด เป้าหมายคือทำลายการผูกขาดจากรัฐ และให้คลื่นความถี่ที่มีอยู่สามารถจัดสรรให้ภาคประชาชนเพื่อให้คลื่นความถี่ได้ใช้ประโยชนร์ที่สุด แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าทิศทางการปฏิรูปคลื่นความถี่นั้นเป็นอย่างไร เพราะมีอำนาจบางอย่างอยู่ หน่วยงานรัฐไม่ต้องการสูญเสียอำนาจที่มีอยู่ หากรัฐบาลมีอำนาจในการกำหนดนโยบายในการจัดสรร ก็อย่าได้คาดหวังเลยว่าจะเกิดการปฏิรูปได้


 


เขายังกล่าวว่า ถ้าการหลอมรวมสององค์กรเกิดขึ้นในยุคที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำประเทศ ให้ลองคิดว่าใครจะเป็นผู้กุมอำนาจ มีบทบาทในการกำหนดทิศทางเนื้อหา และการปฏิรูปคลื่นความถี่ จะเห็นได้ว่าภาพที่เกิดขึ้นค่อนข้างน่ากลัว ซึ่งไม่ใช่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่อยู่แล้วมันจะไม่เกิดขึ้น


 


โดยสรุป ผมขอบอกว่า เรื่องของวิทยุ ทีวี ไม่ใช่เรื่องเทคนิค ไม่ใช่เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเดียว แต่สื่อ เป็นเรื่องเอกลักษณ์ของสังคมด้วย ฉะนั้นการทำให้สื่อเสรีที่สุด การจัดสรรคลื่นความถี่ มีองค์กรอิสระมาบริการ นั่นเป็นคำตอบที่ดีที่สุดแล้ว และนั่นคือหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกล้มไป


 


 


ควรรวมหรือไม่ ดูที่โครงสร้างและสาระ


ด้านผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า พยายามค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จนมีโอกาสได้อ่านบทความทางวิชาการชิ้นหนึ่ง มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งระบุว่า ในการกำกับดูแล (Regulation) จะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ต้องดูในแง่วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแล


 


ทั้งนี้ การกำกับดูแลก็คืออุปกรณ์หรือเครื่องมือ ซึ่งมีสองส่วน คือ โครงสร้าง และสาระ แต่เท่าที่เห็นตอนนี้ ดูจะมีความพยายามทำให้โครงสร้างมันผิด เช่น ให้มีการผูกขาดในเชิงอำนาจ


 


ผศ.ดร.พิรงรองเล่าถึงประโยคหนึ่งที่ปรากฏในบทความนั้นว่า ไม่ว่าการกำกับดูแลจะเป็นแบบไหน แต่วัตถุประสงค์หลักจะต้องบรรลุถึงผลประโยชน์ ซึ่งผลประโยชน์นั้นจะมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องคลื่นความถี่


 


ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติและเพื่อประโยชน์สาธารณะให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่น ฉะนั้น ก็ชัดเจนว่า วัตถุประสงค์สูงสุดก็คือการปฏิรูปสื่อ


 


แล้วเมื่อไรที่ควรจะมีการยุบรวมของการกำกับดูแลนั้น ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่ามีสามประเด็นหลักๆ คือ หนึ่ง วัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลตรงกัน สอง เนื้อหาเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่าง และสาม วิธีปฏิบัติการของทั้งสองหน่วยงานตรงกัน


 


"ถ้าทั้งสามตัวไม่ Harmonized ก็ไม่ควรยุบรวม ทางออกคือ กสช.กับกทช.ต้องร่วมมือกันให้มากที่สุด แทนที่จะเอาอำนาจหน้าที่ ภาระความรับผิดชอบ มาผูกโยงกัน ก็ให้มีการร่วมมือกันอย่างแท้จริง" นักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว


 


จากนั้น ผศ.ดร.พิรงรองแจงให้คนในห้องประชุมฟังว่า เมื่อพิจารณาว่า ใน 3 ประเด็นหลัก (วัตถุประสงค์ เนื้อหา และการปฏิบัติการ) ว่ามีอะไรที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานโทรคมนาคมและหน่วยงานด้านการกระจายเสียง นั้น พบว่า


 


เรื่อง "วัตถุประสงค์" นั้น มีประเด็นบางส่วนที่ตรงกัน นั่นคือ เรื่องความต้องการให้มีการปฏิรูปสื่ออย่างป็นธรรม เรื่องการเข้าถึงเน็ตเวิร์ค (Network Access) เรื่องการกระจายเน็ตเวิร์ค (Network Distribution) เรื่องการให้บริการที่ทั่วถึงและถ้วนทั่ว เรื่องคุณภาพของบริการ และเรื่องการปฏิรูปสื่อที่ต้องการเอาคลื่นความถี่คืนมาและกระจายใหม่ให้เป็นธรรมและเป็นของสาธารณะอย่างแท้จริง อย่างเป็นธรรม


 


แต่มีข้อสังเกตว่า ในข้อสุดท้าย ที่ว่าด้วยการปฏิรูปสื่อนั้น เห็นได้ว่า กทช. ทำไม่ได้ และกสช.ที่ตั้งไม่ได้เสียที ก็เป็นเหมือนฝันร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้น


 


ในแง่ของส่วนที่ไม่ตรงกันนั้น ได้แก่ เรื่องความหลากหลายทางความคิดและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่กสช.ต้องบรรลุให้ได้ เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ให้ปราศจากการครอบงำ  เรื่องคุณภาพของรายการซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่จะให้หรือไม่ให้ต่อใบอนุญาต


 


เรื่อง "เนื้อหา" นั้น ผศ.ดร.พิรงรองชี้ว่า จากข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ ค่อนข้างเน้นว่า ตอนนี้เนื้อหาส่วนใหญ่เป็น Digital Flow หมดแล้ว เพราะฉะนั้น "Content all the same" (เนื้อหาไหนๆ ก็เหมือนกัน - ประชาไท) ซึ่งมันไม่ใช่ เนื้อหามันมีหลายรูปแบบ ทว่าหากใช้บรรทัดฐานว่ามันคือดิจิตอล ตอนนี้มันก็ดิจิตอลกันทั้งโลก แต่จริงๆ แล้ว มิติต่างๆ ของเนื้อหาในเชิงสังคมวัฒนธรรมมีมากมายหลายเหลี่ยม เนื้อหาที่ขึ้นตรงกับกสช. กับเนื้อหาที่ขึ้นตรงกับกทช. ก็ยังเป็นคนละส่วน


 


เรื่องสุดท้ายคือเรื่อง "การปฏิบัติการ" ในสองส่วนระหว่างโทรคมนาคมและการกระจายเสียงนั้น ยังมีความต่างกันอยู่มาก ซึ่งมันคือเรื่องของวัฒนธรรมทางธุรกิจ หรือวัฒนธรรมในการกำกับดูแล


 


ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่า ในส่วนของการกระจายเสียงนั้น ตอนนี้ก้าวไปสู่การกำกับดูแลกันเองแล้วอย่างค่อนข้างจะเห็นได้ชัด ขณะที่ในส่วนโทรคมนาคมยังไปไม่ถึงไหน เรื่อง Self Regulation ต่ำมาก ยกเว้นในส่วนของอินเตอร์เน็ตที่มีสมาคมผู้ดูแลเว็บ ทว่าแต่ในเชิงผู้ให้บริการในแง่เครือข่าย ไม่มี Self Regulation ต้องพึ่งกระทรวงไอซีที, กทช. มากำกับดูแลเป็นหลัก


 


นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ในสามเรื่อง วัตถุประสงค์ เนื้อหา และวิธีการปฏิบัติการ ล้วนแตกต่างกันมาก


 


 


................


หมายเหตุ :


 


รายชื่อ 26 เครือข่ายภาคีที่ร่วมแถลงการครั้งนี้ ประกอบด้วย


1.สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.)


2.คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ.


3.คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


4.คณะการสื่อสารมวลชน มช.


5.คณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต


6.ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สวนสุนันทา


7.สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ ม.มหาสารคาม


8.ภาควิชานิเทศศาสตร์ ม.บูรพา


9.สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี


10.เครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชน


11.สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย


12.สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์


13.สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย


14.สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย


15.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


16.สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.)


17.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)


18.มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)


19.ขบวนการตาสับปะรด


20.สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย


21.เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ


22.เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา


23.เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด


24.สมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน


25.เครือข่ายสื่อภาคประชาชนคนอีสาน


26.สมาพันธ์วิทยุชุมชนภาคตะวันออก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net