บทความยุกติ มุกดาวิจิตร : พ.ร.บ.องค์กรชุมชน...อภิชนาธิปไตยชุมชน: อำนาจนิยมรากหญ้า?

ชื่อบทความเดิม : อภิชนาธิปไตยชุมชน: อำนาจนิยมรากหญ้า?

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

 

 

ข้อถกเถียงเรื่อง "พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน" ดูประหนึ่งว่าเป็นการถกเถียงกันระหว่างฝ่าย "ภาคประชาชน" ที่พยายามผลักดันให้เกิด "ประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า" กับ "ภาครัฐ" ที่หวงแหน "อำนาจระบอบอมาตยาธิปไตย"

 

ผู้เขียนอยากชวนให้ถกเถียงจากมุมมองทางสังคมวิทยาการเมืองว่า เอาเข้าจริงแล้วเนื้อหาของร่าง พ...สภาองค์กรชุมชนมีหลายจุดที่ชวนให้เข้าใจว่า แทนที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า ร่าง พ...ฯ กลับวางพื้นฐาน "อำนาจนิยมในระดับรากหญ้า" ในรูปตัวบทกฎหมายขึ้นมา

 

ฝ่ายสนับสนุนร่าง พ...นี้ชี้แจงว่าร่าง พ...นี้ "มีหลักการเหตุผลและสาระสำคัญเน้นการสนับสนุนให้เกิดองค์กรชุมชนรากฐานที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ภูมิปัญญา และไม่ใช่องค์กรรัฐจัดตั้ง" [1] ดังนั้น สภาองค์กรชุมชนจะมีอำนาจหน้าที่ตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน เป็นการสร้างภาคประชาสังคม (civil society) "เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน" [2]

 

แต่ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ...ดังกล่าวมีเชื้อมูลความคิดแบบอำนาจนิยมปรากฏอยู่ในมาตราสำคัญๆหลายส่วนด้วยกัน

 

ประการแรก หน่วยทางการเมืองของสภาองค์กรชุมชน เป็นหน่วยทางการเมืองที่วางอยู่บนอุดมการณ์ทางการเมืองที่เพ้อฝัน และมีแนวโน้มที่จะกลบเกลื่อนความแตกต่างหลากหลายในชุมชน ทั้งนี้เพราะ ร่างพ...ฯให้นิยามว่า " 'ชุมชน' หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกันหรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน"

 

"จินตภาพสังคม" ที่ร่าง พ...นี้เสนอ เป็นภาพชุมชนที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน หยุดนิ่ง ไร้ความขัดแย้ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ราวกับว่าชุมชนหนึ่งๆเป็นสังคมปิด ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ผู้คนสมัครสมานกลมเกลียวกัน เป็นเอกภาพกันตลอดกาล [3]

 

แต่อันที่จริง ปัจจุบันมีการศึกษาทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยามากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ภาพสังคมลักษณะดังกล่าวไม่สอดคล้องกับลักษณะที่แท้จริงของสังคมไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือในอดีต สังคมไทยเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดกาล [4]

 

อันที่จริงผู้ร่าง พ...นี้ก็คงมองเห็นภาพดังกล่าว ดังเหตุผลที่ระบุไว้ว่าร่าง พ...นี้จะช่วยให้ "ชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถี ชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น" แต่ผู้ร่างกลับมองไม่เห็นว่า ความหลากหลายเหล่านั้นดำรงอยู่ในทุกๆระดับของสังคม ไม่เฉพาะแต่ระหว่างท้องถิ่น แต่ในระดับชุมชนเดียวกัน ระดับหมู่บ้านเดียวกัน หรือกระทั่งในครัวเรือนเดียวกัน ก็ยากที่จะหาสมาชิกสังคมใดที่มี "วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน"

 

ในแง่ของการนิยามชุมชน สมมุติง่ายๆว่า กลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน ก ต้องการให้หมู่บ้านสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ แต่กลุ่มแม่บ้านต้องการให้หมู่บ้านสร้างร้านค้าชุมชน คำถามคือ หมู่บ้านนี้จะมีฐานะเป็นชุมชนได้หรือไม่ เนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านมีความสนใจที่แตกต่างกัน

 

และหากเกิดมีชุมชนหมู่บ้าน ก ตั้งขึ้นมาตาม พ...นี้จริงๆ แล้วเกิดความขัดแย้งกันระหว่างความต้องการสร้างเขื่อนกับการอนุรักษ์ป่าของหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้คงต้องหมดสภาพชุมชนไป หรือไม่เช่นนั้น "ความสนใจร่วมกัน" นี้จะถูกกำหนดขึ้นมาโดยกระบวนการที่ละเลยความต้องการที่แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ข้อสังเกตประการต่อไปจะชี้ว่า "อำนาจนิยมรากหญ้า" จะกลายมาเป็นคำตอบแทนที่ "ประชาธิปไตยรากหญ้า" ในกระบวนการตัดสินใจในชุมชน

 

ประการที่สอง โครงสร้างทางการเมืองของสภาองค์กรชุมชน เป็น "สภาของอภิชนในชุมชน" ทั้งนี้เพราะทั้งที่มาของสมาชิกสภาและกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภากำหนดไว้ว่า สภาองค์กรชุมชนประกอบด้วย หนึ่ง "สมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กรหมู่บ้านในตำบล...เลือกสมาชิก และได้มาโดยการเลือกกันเองของที่ประชุมสมาชิกซึ่งอยู่ในชุมชนหรือหมู่บ้านของตำบลนั้น หรือได้มาตามจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือตามวิถีของชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีอยู่เดิม" และ สอง "สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ" ซึ่งได้มาโดยสมาชิกกลุ่มแรก "ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้ง" โดย "สรรหาและแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชุมชนหรือหมู่บ้านนั้น"

 

พูดง่ายๆสมาชิกองค์กรชุมชนก็คือบรรดา "ผู้หลักผู้ใหญ่" และ "ผู้ที่เป็นที่นับหน้าถือตา" ในชุมชน และคนเหล่านี้เท่านั้นที่มีสิทธิ์ "สรรหาและแต่งตั้งกันเอง" ชาวบ้านทั่วไปแทบหมดโอกาสได้รับเลือกเป็นสมาชิก และไม่มีโอกาสอย่างสิ้นเชิงที่จะได้ร่วมสรรหา สมาชิกสภาองค์กรชุมชนจึงเป็น "อภิชน" ในชุมชนโดยแท้จริง

 

อันที่จริงลักษณะอภิชนาธิปไตยในร่าง พ...นี้เป็นเสมือน "จุลจักรวาล" ของการเมืองไทยในระดับประเทศ เป็นภาพสะท้อนการเมืองไทยในยุคที่กลุ่มอภิชนในคราบ "ผู้ทรงคุณวุฒิ" "ผู้แทนตามจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี" กลับมายึดครองพื้นที่ทางการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า ร่าง พ...ฯมีข้อเสนอเรื่องอำนาจของอภิชนในทำนองเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับรับฟังความคิดเห็น) เสนอ เช่นการกำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง และการเสนอให้มีคณะบุคคลที่โดยสัดส่วนแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎรโดยตรง มาแก้ภาวะวิกฤต ภาวะคับขันทางการเมือง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ "อภิชนาธิปไตยชุมชน" จะได้รับการเสนอขึ้นมาในบรรยากาศของการเมืองในระบอบรัฐประหาร ซึ่งอำนาจนิยมเฟื่องฟูดังในปัจจุบัน

 

ประการที่สาม อุดมการณ์ทางการเมือง ของสภาองค์กรชุมชนมีลักษณะปฏิเสธการเมือง ทั้งการเมืองในความหมายแคบและการเมืองในความหมายกว้าง สำหรับการเมืองในความหมายแคบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ร่าง พ...ฯกำหนดคุณสมบัติประการหนึ่งของสมาชิกองค์กรสภาชุมชนว่า ไม่เป็น "กรรมการที่ปรึกษาหรือผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง" นี่เท่ากับว่าเป็นการกีดกัน "การเมืองของพรรคการเมือง" ออกไปจากการดำเนินการของสภาองค์กรชุมชน

 

สำหรับการเมืองในความหมายกว้าง ซึ่งเป็นการต่อสู้กันของความแตกต่างทางอุดมการณ์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วๆ ไป การนิยามชุมชนในลักษณะหยุดนิ่ง กลมเกลียว ไม่เพียงปฏิเสธความเป็นจริงของความแตกต่างหลากหลายในชุมชน แต่ยังปฏิเสธการต่อสู้ทางอุดมการณ์และผลประโยชน์ภายในชุมชน ยิ่งกว่านั้น การยกอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองในชุมชนไปให้กลุ่มอภิชนในชุมชน นับเป็นการสร้างโครงสร้างการเมืองแบบแนวดิ่ง ก่อให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจในชุมชน สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมที่มีอยู่แล้วในชุมชนต่างๆ

 

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ผู้ผลักดันพ...นี้เรียกว่า "การเมืองภาคประชาชน" จึงลดทอนความแตกต่างหลากหลายของชุมชน สนับสนุนโครงสร้างการเมืองแบบ "อภิชนาธิปไตย" ในชุมชน ทำให้ชุมชนยิ่งห่างไกลจากการเมืองที่ให้ "ประชาชน" ที่เป็นปัจเจกชน เป็นปุถุชนคนธรรมดา ไม่ได้มีหน้ามีตาในชุมชน ไม่ได้ทรงคุณวุฒิในชุมชน ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งยังกลบเกลื่อนให้ดูประหนึ่งว่าชุมชนปลอดการเมือง

ในแง่นี้ แทนที่จะเป็นการสร้าง "ประชาธิปไตยรากหญ้า" ที่กระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ร่างพ...องค์กรสภาชุมชนมิได้กลับส่งเสริมให้เกิด "อำนาจนิยมรากหญ้า" ที่อำนาจทางการเมืองของประชาชนถูกถ่ายโอนไปอยู่ในมือ "อภิชน" ในชุมชนหรอกหรือ

 

 

 

(ปรับปรุงจากที่เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 มิถุนายน 2550)

 

 

-------------------------

เชิงอรรถ

[1] ดูรายละเอียดของ "แถลงการณ์สมัชชาชุมชนแห่งประเทศไทยค้านมหาดไทยปลุกม็อบต้านร่าง พ...สภาองค์กรชุมชน" ใน http://www.prachatai.com 14 มิ.. 2550

 

[2] ดูร่าง พ...สภาองค์กรชุมชนฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) http://www.codi.or.th เนื้อหาของร่าง พ...ที่อ้างอิงในความเรียงนี้นำมาจากเว็บไซต์ดังกล่าวทั้งสิ้น

 

[3] ภาพชุมชนดังกล่าวสอดคล้องอย่างยิ่งกับภาพชุมชนที่ผู้เขียนเคยศึกษาจากงานเขียนแนววัฒนธรรมชุมชน โปรดดูรายละเอียดในหนังสือ อ่าน 'วัฒนธรรมชุมชน': วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2548)

 

[4] งานวิจารณ์ภาพชุมชนลักษณะดังกล่าวได้แก่ Kepm, Jeramy. "The Dialectics of Village and State in Modern Thailand," Journal of Southeast Asian Studies 22: 2 ซึ่งวิพากษ์ภาพลวงของ "หมู่บ้าน" ที่รัฐไทยและนักวิชาการสร้างขึ้นมา; Bowie, Katherine. "Unraveling the Myth of the Subsistence Economy: Textile Production in Nineteenth-Century Northern Thailand," Journal of Asian Studies 51: 4 ซึ่งท้าทายความเชื่อที่ว่าสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่พึ่งตนเอง พอเพียงในตนเอง ส่วนงานภาคภาษาไทย ได้แก่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ "สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา" ในหนังสือ 60 ปีฉัตรทิพย์ นาถสุภา (ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง, 2544)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท