Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 มิ.ย. 50 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 9.00น. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค โครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาผลการศึกษาเรื่อง การผสมเทียมโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน จัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. ... โดยมีนายนันทน อินทนนท์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ  


ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ....ระบุเหตุผลของการมีกฎหมายนี้ว่า เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในปัจจุบันเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและช่วยให้คู่สมรสฝ่ายหญิงซึ่งไม่สามารถตั้งครรภ์ ให้สามารถมีบุตรได้ด้วยการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน แต่การดำเนินการให้มีการรับตั้งครรภ์แทนอาจก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน หรือจากเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน รวมทั้งสถานภาพทางกฎหมายของเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนยังขาดความชัดเจน ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการรับตั้งครรภ์แทน และเพื่อกำหนดสถานภาพทางกฎหมายของเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนด้วย 


นายนันทน อินทนนท์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การยื่นคำร้องขออนุญาตให้มีการรับตั้งครรภ์แทน ได้แก่ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและคู่สมรสที่ขอให้ตั้งครรภ์ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสที่ขอให้ตั้งครรภ์ ในกรณีที่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเป็นหญิงที่มีสามี สามีของหญิงนั้นได้ให้ความยินยอมในการรับตั้งครรภ์แทน  


หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องได้รับทราบและเข้าใจถึงสิทธิของตนว่า มีสิทธิในการได้รับข้อมูลทางการแพทย์ จริยธรรมและกฎหมายที่จำเป็นเพื่อใช้ในการตัดสินใจตกลงรับตั้งครรภ์แทน และมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่จำเป็นตามสมควร  


ทั้งนี้ การรับตั้งครรภ์แทนต้องไม่ได้เป็นไปเพื่อการค้า และดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน โดยใช้กรรมวิธีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทำให้เด็กที่จะเกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับคู่สมรสที่ขอให้ตั้งครรภ์  


ส่วนสถานะของเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายขณะคลอด เว้นแต่หญิงนั้นและคู่สมรสยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการรับตั้งครรภ์แทน และหากไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการรับตั้งครรภ์แทน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงที่รับตั้งครรภ์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย  


สำหรับอำนาจศาลนั้น ร่าง พ.ร.บ. ระบุให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในปัญหาเกี่ยวกับความเป็นบิดามารดาของเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทน ไม่รวมถึงความรับผิดทางอาญา และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการและมีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.  


นายนันทน กล่าวว่า ร่างฯ ครั้งนี้มีความแตกต่างจากร่างฯ ครั้งก่อน ตรงที่ในร่างฯ ครั้งก่อน ระบุว่า การยื่นคำร้องต่อศาลสามารถยื่นได้ทั้งก่อนและหลังคลอด แต่คราวนี้ให้ยื่นได้เฉพาะก่อนคลอดเท่านั้น เนื่องจาก หากยื่นหลังจากที่คลอดแล้ว ศาลจะไม่ได้ตรวจสอบก่อน และหากศาลไม่อนุญาต เด็กจะต้องเป็นบุตรของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ซึ่งถ้าหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนไม่อยากได้จะเกิดปัญหา เพราะเขาก็จะยังมีสถานะเป็นแม่อยู่แม้จะส่งมอบให้ใครก็ตาม นอกจากนี้ หากยื่นเรื่องต่อศาลหลังคลอด อาจเกิดความผูกพันขึ้นระหว่างที่ยังไม่ยื่นคำร้องต่อศาล หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเลี้ยงเด็กไปสักพักอาจจะเปลี่ยนใจได้ ส่วนเรื่องอื่นก็เขียนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดค่าตอบแทนต่อหญิงที่ตั้งครรภ์แทนก็ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีในการประกาศ  


ทั้งนี้ หลังจากนี้ไป เขาจะนำร่าง พ.ร.บ. ที่แก้ไขหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว เสนอให้สำนักงานกฤษฎีกาภายในวันที่ 30 มิ.ย. จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา  


กรณีที่ ร่าง พ.ร.บ. ระบุว่า คู่สมรสที่จะขอให้ตั้งครรภ์แทน ต้องเป็นหญิงและชาย ซึ่งทำการสมรสตามกฎหมายนั้น นายนันทน กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า ต้องเป็นหญิงและชาย แต่ไม่ควรจำกัดว่าต้องสมรส คืออยู่กินช่วงเวลาหนึ่งก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ ในทีมวิจัยก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน  


ส่วนกรณีของผู้หญิงคนเดียวที่ต้องการมีบุตร หรือเป็น single mom นั้น เขาเห็นว่า สุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบแก่เด็กคือเด็กออกมาอาจจะมีแต่แม่แล้วไม่มีพ่อ ซึ่งคิดว่าในกรณีปกติทำได้ แต่กรณีนี้เนื่องจากแตกต่างจากธรรมชาติ จึงไม่ควรส่งเสริมเพราะจะเสียหายแก่เด็ก หรือแม้แต่กับเกย์หรือเลสเบี้ยนเอง เว้นแต่เราจะตกผลึกเรื่องคู่เกย์ เลสเบี้ยน ถ้าสังคมยอมรับให้พวกเขาจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีพอแล้วเราค่อยมาแก้กฎหมายตัวนี้ เนื่องจากไม่ควรให้กฎหมายเฉพาะเรื่องนำกฎหมายใหญ่  


..............


ดาวน์โหลด


รายงานการวิจัย(ฉบับสมบูรณ์) เรื่อง การผสมเทียมโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน 


ร่างพระราชบัญญัติการรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. …และ


บันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติการรับตั้งครรภ์แทนพ.ศ...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net