Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ โดย องอาจ เดชา 


 



พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ


ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ 


 


เป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่า "จตุคาม-รามเทพ" ได้กลายเป็นกระแสความนิยมไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย จากศรัทธา ความเชื่อ กระทั่งลุกลามกลายเป็นกระแสของธุรกิจการปลุกเสก การเช่า การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การตลาด ฯลฯ 


 


ล่าสุด บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ออกมาประเมินว่า จากกระแสความนิยมในองค์จตุคามรามเทพที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องมาโดยตลอด ในช่วงที่ผ่านมา 5 เดือนของปี 2550 มีการจัดสร้างองค์จตุคามรามเทพแล้วประมาณ 300 รุ่น และคาดว่าตลอดทั้งปี 2550 จะมีการจัดสร้างองค์จตุคามรามเทพประมาณ 650 รุ่น ทำให้คาดว่าตลอดปี 2550 จะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่เคยประมาณการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ประมาณร้อยละ 81 หรือจากคาดการณ์เดิม 22,000 ล้านบาท  


แน่นอน เมื่อจตุคามรามเทพ ตกไปอยู่ในวังวนของระบบธุรกิจ ฉะนั้นจึงมีการงัดกลยุทธ์ทีเด็ดของการสร้างจตุคามรามเทพออกมา โดยเสมือนเป็นตัวสินค้าและบริการหนึ่งที่ต้องทำให้โดนใจผู้บริโภค กระทั่งต้องเน้นว่า จตุคามรามเทพ ที่จะขายหรือเช่าได้ทะลุเป้า ต้อง "พิธีดี ชื่อรุ่นโดนใจ พิมพ์สวย


 


ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ ตำรวจ ทหาร และมูลนิธิต่างๆ ฯลฯ ต่างก็หันมาทำการ จัดสร้างจตุคาม-รามเทพ เป็นวัตถุมงคลแทนหลวงพ่อ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ กันแทบทั้งสิ้น


 


แม้กระทั่งข่าวล่าสุด รายงานว่า ราชสกุล "กิติยากร" ระดมมวลสารศักดิ์สิทธิ์สร้าง "จตุคามรามเทพ" รุ่น "เก้ามงคลองค์ราชันต์" ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ช่วย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ราชสกุล "กิติยากร" สร้าง "จตุคามฯ" นำรายได้ถวาย "ราชินี" (ผู้จัดการออนไลน์21 มิ.ย.2550) 


 


หลายฝ่ายต่างพากันแปลกใจและตั้งคำถามกันว่า ทำไมถึงเกิดกระแสจตุคามรามเทพฟีเวอร์ หรือแท้จริงแล้ว นี่เป็นศรัทธา ความเชื่อหรือความหลง? หรือเป็นเพียงการสร้างศรัทธาฟีเวอร์เพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้าสำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักปั่นราคาของความเชื่อและความหลง!?  


 


ล่าสุด "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์พิเศษ "พระกิตตศักดิ์ กิตติโสภโณ" ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์  ว่าท่านมีมุมมองและความคิดเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร... 


 


0 0 0 0 0 


 


ท่านมองอย่างไรกับกระแสความนิยม "จตุคาม-รามเทพ" ที่แพร่หลายไปทั่วในขณะนี้


เป็นปรากฏการณ์ในทางสังคม เห็นว่า จตุคามมีหลายมิติมากกว่าการเป็นเครื่องรางของคลังหรือวัตถุมงคล หรือพุทธพาณิชย์ โดยทั่วไปจตุคามเป็นปรากฏการณ์ในทางสังคม ซึ่งเป็นภาพทับซ้อนหลายมิติ เป็นเรื่องธุรกิจที่เชื่อมโยงกับระบบตลาด บริโภคนิยม เป็นเรื่องทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา คติความเชื่อ ศรัทธา  


นอกจากนี้ ยังเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของชาวพุทธในสังคมไทย เป็นตัวอธิบายว่าสังคมพุทธในประเทศไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร เป็นเรื่องน่าศึกษาและเป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตาม  


 


จตุคามฯ ได้กลายเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กำลังพูดถึงฮือฮาถึงเม็ดเงินที่สะพัดเป็น 4 หมื่นล้าน 


ใช่ ในแง่ของนักเศรษฐศาสตร์ หรือว่านักธุรกิจ ก็จะมองจตุคามในเรื่อง ของเม็ดเงินที่น่าตื่นเต้น ตื่นตะลึง ในแง่ของการตลาด ก็จะมองจตุคามว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการตลาดที่เหลือเชื่อสำหรับสภาวะซบเซาในทางธุรกิจทั่วไป  


 


ในขณะเดียวกัน นักวิชาการหรือปัญญาชน ซึ่งแต่เดิมมองวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของคลังในลักษณะหมิ่นแคลน และเมื่อในที่สุด จตุคามกลับกลายเป็นแฟชั่น หลายคนก็พร้อมที่จะแขวนจตุคาม โดยที่ไม่สนใจว่าจริงหรือไม่จริง แท้หรือไม่แท้ ขอเพียงให้มีเครื่องประดับชิ้นนี้แขวนอยู่บนคอ แล้วเดินไปเดินมา เพื่อการมีส่วนร่วมกับหมู่คณะ ได้ลดความหว้าเหว่ ของสังคมบริโภค สังคมชนชั้นกลางที่มีมีเพื่อน เดินไปไหนก็มีเหมือนกัน เหมือนเมื่อครั้งที่มีคนใส่เสื้อเหลือง บางคนก็ทำด้วยความเคารพนับถือศรัทธายกย่องต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่อีกจำนวนไม่น้อยที่ใส่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และเข้ากับคนหมู่มาก ลักษณะเหมือนกับเกิดฟีเวอร์ขึ้นในสังคม เกิดบุคคลที่น่ายกย่องเอาอย่าง หรือเกิดปรากฏการณ์ที่ต้องร่วมกระแส ไม่งั้นตกเทรนด์ ตกข่าว ตกรุ่น เมื่อเป็นแบบนี้ จตุคามไม่ได้หมายถึงเครื่องรางของขลังอย่างเดียวอีกต่อไป จตุคามก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง  


 


แต่มีหลายคนออกมาเตือนว่า เมื่อมีจตุคาม ต้องมีสติ อย่างมงาย โดยเฉพาะชาวพุทธ? 


แน่นอนว่า ถ้าฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนขาวพุทธ ควรใช้ปัญญามากำกับศรัทธา ด้วยความเชื่อในการที่จะมีจตุคามซักองค์หนึ่ง ชาวพุทธที่ดีควรจะมีปัญญาเพียงพอที่จะรู้ว่าทำอะไรอยู่ มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มีสมาธิในเรื่องนี้ เพราะว่าจตุคามเป็นสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นผู้พร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่นอย่างสุดจิตสุดใจ คือต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ก่อนตน หรือว่าเป็นสัญญะของความงมงายอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือว่าเป็นสินค้าที่มาในนามของศาสนาก็ได้ เป็นสัญญะของแฟชั่นก็ได้  


 


ถ้าผู้มีจตุคามอยู่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังมีท่าทีอย่างไรกับจตุคาม ถือว่าจตุคามเป็นอุปกรณ์ในการเรียนรู้ ในการศึกษาซึ่งทำให้เกิดปัญญา แต่ถ้าหากว่าเพียงเพื่อตามกระแส หรือว่าเป็นเหยื่อของระบบธุรกิจ เหยื่อของการตลาด ผู้นั้นก็ไม่อาจเรียกตัวเองได้ว่าเป็นชาวพุทธ คนนั้นก็เป็นเพียงแค่ใครซักคนหนึ่งที่ถูกกระทำโดยสังคมภายนอกตลอดเวลา  


 


และท่าทีแบบนั้นอาจจะเป็นปัญหาทั้งกับตัวเขาเอง และเป็นปัญหากับคนรอบข้าง เรื่องนี้เทียบเคียงได้กับอีกหลายเรื่อง เทียบได้กับเรื่องดาราและกับเรื่องฟีเวอร์อื่น ๆ หลาย ๆ อย่าง เพราะว่าในสังคมที่เหว่หว้า สังคมในยุคบริโภคนิยม ยุคทุนนิยม การตลาด คนขาดอัตลักษณ์ ขาดที่อยู่ที่ยืน ขาดพื้นที่สาธารณะ เพราฉะนั้น คนก็พร้อมที่จะตาม ๆ กันไป พร้อมที่จะต้องหาเพื่อน พร้อมที่จะทนดูฟุตบอลตอนดึก ๆ โดยที่ตนอาจจะไม่ได้สนใจฟุตบอลจริงจัง ทนดูในฐานะนักการพนัน หรือทนดูในฐานะที่ต้องไปคุยกับเพื่อนพรุ่งนี้ 


 


จตุคาม สะท้อนภาวะของสังคมไทยในขณะนี้ได้หรือไม่?


ตัวของจตุคามตอนนี้ คงอธิบายสังคมไทยได้หลายอย่างได้พอสมควร เช่น ในแง่ของแฟชั่น ถ้าเรามีปัญญาเพียงพอที่จะใช้จตุคามก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมี อย่าง ดร. รองศาสตราจารย์ที่ห้อยจตุคามแล้วอธิบายจตุคามในประวัติศาสตร์ได้ยืดยาว หรือ ตำรวจที่ห้อยจตุคามโดยไม่รู้อะไรเลยว่า จตุคามคืออะไร  


เพราะฉะนั้น ถ้ามีจตุคามห้อยบนคอแล้ว แต่ไม่มีปัญญากำกับเราไม่เห็นด้วย แต่ถ้าจะห้อยอะไรไว้บนคอเพียงเพื่อแฟชั่นและไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ไปงมงายกับมัน โดยไปวิงวอน อ้อนวอน ร้องขอให้จตุคามช่วยโดยที่ไม่ได้ทำอะไรให้เหมาะให้ควร หรือไม่ได้ไปหลอกขายจตุคาม หลอกปั่นราคาจตุคาม เพื่อทำราคาขึ้นมาซึ่งเป็นความฉ้อฉลเช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ หรือมิจฉาอาชีวะอื่น ๆ ซึ่งทางพุทธศาสนาไม่เห็นด้วย เพราะทำผู้อื่นเดือดร้อน แล้วก็ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันโดยขาดความจริงใจ และขาดความมีไมตรีจิตมิตรภาพอย่างที่มันควรจะเป็น 


 


ท่านมองอย่างไร กับกรณีจตุคาม มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง? 


การตลาดหรือสังคมทุนนิยมทั่วไป เมื่อมีความต้องการมาก สินค้ามีน้อยราคาก็จะสูง เป็นธรรมชาติของทุนนิยม แต่หากมีการปั่นราคาจตุคาม เช่น จากการสร้างจตุคามเพื่อมอบเป็นที่ระลึกของการสร้างศาลหลักเมือง มอบให้กับผู้ที่มีจิตศรัทธา หรือผู้ที่ร่วมบริจาคสร้างศาลหลักเมืองของขุนพันธรักษ์ราชเดชในอดีต  


ปัจจุบัน จตุคามตอบคำถามได้อย่างหนึ่งก็คือว่า วัตถุมงคลทำเพื่อหารายได้ แต่เดิมยังไม่ชัดเจนนัก เพราะมีการอ้างเหตุผลหลายอย่าง


 


แต่การที่ทุกสำนัก ทุกสายปฏิบัติลามไปถึงดารา ข้าราชการ กระทรวงศึกษาธิการ สร้างจตุคามก็บอกตรงกันว่าต้องการรายได้ต้องการเงินตอบแทน พอเป็นอย่างนี้ มันก็จะเริ่มมีคนปั่นราคา เช่น การสร้างให้น้อย แล้วขายออกไปโดยขยักจำนวนหนึ่งเอาไว้ สมมติว่าสร้าง 500 องค์ ขายแค่ 100 องค์ ในราคาที่ประกาศ เช่นประกาศไว้ว่า 300 บาท ซื้อ 299 บาท ซึ่งเป็นราคาที่โดยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็ถือว่าไม่มากมายอะไร ก็ขายองค์ละ 299 บาทไป 100 องค์ ขยัก 400 องค์เอาไว้แล้วพอผ่านไปก็เอา 100 องค์ชุดที่สองออกมาขาย ซัก 5-10 องค์ แล้วก็บอกว่าราคาตอนนี้อยู่ที่ 1,000 บาทแล้ว พอสักพักหมด ก็จะมีราคา 3,000 บาท 5,000 บาท 10,000 บาท เขยิบออกมา ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะพวกที่ระบายออกไปอย่างเดียว คนที่มีแต่เดิมตอนที่เช่า 299 บาทเมื่อครั้งแรกก็จะเอามาปล่อยคืน แล้วก็ทำราคากัน ก็เป็นกระบวนการในทางธุรกิจ  


 


อย่างนี้ถือว่าเป็นการทำธุรกิจการปั่นราคาของศรัทธาความเชื่อ 


ถูกต้อง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่า คุณกำลังทำธุรกิจจตุคาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ยิ่งแย่ไปกว่าการที่คุณแขวนพระ หรือเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ไว้บนคอเสียอีก นี่เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าตลาดเครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลมันทำกันในลักษณะนี้ ถึงขนาดนี้แล้ว  


 


ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นคนละเรื่องกันกับวัตถุประสงค์ของการให้เช่า ในเบื้องต้น เพราะให้เช่าเราทำออกมา 500 องค์ อาจจะมีคนประมูลไปจากวัดเลยก็ได้ในราคา 300 บาท ก็ไปปั่นราคาต่อ ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องปัญญา ไม่ใช่เรื่องของเมตตากรุณา ไม่ใช่เรื่องของความเป็นมงคลต่าง ๆ แล้ว 


 


เรื่องนี้ไม่ได้พูดไปถึงว่า ทำไมคนถึงคลั่งไคล้จตุคามกันนักหนา เพราะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนในเรื่องของการสร้างจตุคามในแง่หนึ่งมันตอบสนองต่อจิตใจของผู้คน เทวดาใหม่ เทวดาที่ไม่มีประวัติศาสตร์ซักเท่าไหร่นัก บูชายังไงก็ได้ แล้วก็ตอบสนองในทุกเรื่อง ทุกจุดประสงค์โดยที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องของศีล ธรรมะ เพราะนี่เป็นเทวดาไม่ต้องเชื่อมโยงกับศีล 227 ข้อ ของพระ เหมือนที่เขาบอกว่า จตุคามเป็นองค์ที่บนได้ ไหว้รับบนได้ คือเวลาไปบนบานศาลกล่าวท่านก็ตอบสนองให้ ยกมือไหว้ท่านก็นับ  


 


หลายคนตั้งข้อสังเกต ทำไม จตุคามที่สร้างขึ้นมาแต่ละรุ่นถึงเน้นแต่ความร่ำรวย 


แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ การโฆษณาจตุคาม ร้อยทั้งร้อย ชื่อรุ่นเป็นชื่อที่ตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น เช่น รุ่นมหารวย รุ่นโคตรเศรษฐี เศรษฐีเจ็ดชั่วโคตร รุ่นอภิมหาโคตรเศรษฐี เป็นต้นซึ่งเป็นภาพอธิบายว่า เศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่ คนกำลังขาดเงิน เศรษฐกิจมันตรึงตัว แล้วคนก็ต้องการความร่ำรวย แล้วส่วนหนึ่งที่ทำให้จตุคามโด่งดังหรือขาดตลาดก็คือ คนสิงคโปร์ มาเลเซีย มากว้านซื้อไปจากตลาดนครศรีฯมาก่อน ก่อนทีจะดังมาถึงคนไทย  


 


ก็โดยเหตุผลเดียวกัน ก็คือว่า เทวดาองค์นี้ช่วยเหลือในด้านของการทำการค้า จุดที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งของจตุคามคือว่าทรงของจตุคามรุ่นแรก ที่ขุนพันธรักษ์ราชเดช สร้างปรากฏว่าถ้าดูในเรื่องของรูปร่าง รูปทรงของจตุคามที่ปรากฏในวัตถุมงคลจะมีลักษณะไปทางพระนารายณ์ คือพระราม จตุคาม-รามเทพ มากกว่าที่จะเป็นโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เหมือนรุ่นหลัง ๆ คือในส่วนของจตุคามรามเทพรุ่นแรก ๆ มี 4 กร ถืออาวุธ 4 อย่าง เป็นต้น 


 


เพราะฉะนั้น ตรงนี้มันมีนัยยะอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องของจตุคาม ก็เลยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็น่าจะเอาปัญญามาว่ากัน แต่ถ้าปฏิเสธโดยการที่หัวเราะเยาะหรือไปนิยมชมชอบโดยการงมงาย แบบเต็มที่ไม่ลืมหูลืมตาทั้งสองฝ่ายก็นำไปสู่ความงมงาย พอ ๆ กัน 


 


มองเรื่องพระปลุกเสกจตุคามแล้ว วกกลับไปมองพระที่กำลังประท้วงอดข้าวอดน้ำเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติให้อยู่ในรัฐธรรมนูญฯ ท่านคิดเห็นอย่างไร 


ก็ให้สังเกตดูว่า ผู้ที่มายื่นเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญมีพุทธศาสนาประจำชาติมีจตุคามห้อยคอกี่คน เพราะมันเป็นปรากฏการณ์ซ้อนกัน ในเวลาเดียวกัน ในระหว่างที่พระจำนวนหนึ่งไปเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็มีพระอีกจำนวนหนึ่งไปร่วมกันปลุกเสกจตุคามในพิธีเทวาภิเษก เมื่อก่อนปลุกพระพุทธเจ้า แต่เดี๋ยวนี้ทะลึ่งไปปลุกเทวดาด้วย ด้านหนึ่งเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ อีกด้านก็ไปปลุกเสกจตุคาม แต่ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน และแสดงให้เห็นว่า ชาวพุทธไม่ได้ใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเข้ามากำกับในการเคลื่อนไหว หรือในการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต  


มีหลายคนถามว่าศาสนาพุทธควรเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญดีหรือเปล่า ซึ่งถ้าหากไปอ่านในพระไตรปิฎก ก็ไม่ต้องอธิบายอะไรกันต่อ ก็จะรู้ว่าศาสนาพุทธหรือว่าสังฆะของพระพุทธเจ้า ของพุทธบริษัท ควรจะอยู่ยังไง ควรจะมีบทบาทเกี่ยวพันธ์กับรัฐอย่างไร  


 


และขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเป็นชาวพุทธตามพระไตรปิฎกหรือตามที่พระพุทธเจ้าสอน อย่าว่าแต่การแขวนจตุคามเลย การแขวนเกจิอาจารย์หรือการแขวนพระเครื่อง ที่เป็นรูปพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ เพราะว่าเรื่องนี้ไม่มีในพุทธกาล  


 


พระพุทธเจ้าไม่เคยส่งเสริมให้สร้างรูปเหมือนของท่าน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม และก็ได้ตรัสไว้ชัดเจนว่า เมื่อท่านปรินิพานไปแล้ว ธรรมวินัยเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องช่วยให้ระลึกถึงท่าน เป็นเครื่องที่จะช่วยสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา   


 


เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทมีหน้าที่ในการช่วยกันนำวิถีชีวิต วิธีคิด วิธีพูด วิธีกระทำต่าง ๆ อย่างพุทธให้แพร่หลายออกไป เพื่อจะนำไปสู่สังคมที่สุข สงบ สันติ 


 


ดังนั้น การที่เรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็คือ การเอาศาสนาพุทธไปผูกติดอยู่กับรัฐ โดยที่จะทำให้ศาสนาพุทธสูญเสียความเป็นอิสระ และก็เป็นเรื่องที่มีได้ใช้สติ ปัญญา ทั้งสองเรื่อง ไม่ว่าเรื่อง จตุคาม หรือเรื่องการเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net