Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 22 มิ.ย. 50 งานรำลึก 3 ปีแห่งการจากไปของเจริญ วัดอักษร ตั้งแต่วานนี้จนถึงวันนี้ (21 มิถุนายน 2550) ซึ่งเป็นวันที่นักต่อสู้เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมถูกยิงเสียชีวิต มีผู้แทนชุมชนภาคประชาชน ตัวแทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งกลุ่มศิลปิน นักคิดนักเขียน หลายร้อยชีวิตได้หลั่งไหลมาร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงชายชาวบ้านผู้เสียสละเพื่อถิ่นกำเนิดผู้นี้อย่างเนืองแน่น อีกทั้งยังร่วมเป็นสักขีพยานในการจัดตั้งรูปหล่อ "ทรนง ณ ธรณี" อนุสาวรีย์แห่งการต่อสู้ของประชาชน ประกาศสืบต่อเจตนารมณ์แห่งการปกป้องรักษาท้องถิ่นด้วยพลังของประชาชน 


จากวันที่ 20 มิถุนายน วันแรกของงานรำลึกฯ กลุ่มพลังประชาชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาทิ กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก - บ้านกรูด - กรุยบุรี และกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นแม่รำพึง รวมไปถึงตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่ต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่เข้ามาสมทบภายหลัง รวมแล้วเกือบ 500 คน ได้ตั้งขบวนแห่รูปหล่อสัมฤทธิ์"ทรนง ณ ธรณี" ไปรอบตัวเมืองประจวบฯ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในจังหวัดประจวบได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน การรุกที่ดินสาธารณะในจังหวัดประจวบ ต่อจากนั้นได้ไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้ยกเลิกเอกสารสิทธิที่ดินสาธารณะประโยชน์คลองชายธงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ แล้วจึงเคลื่อนขบวนกลับไปที่วัดสี่แยกบ่อนอก สถานที่จัดงาน


สำหรับในวันที่สองของการจัดงาน มีการทำบุญเลี้ยงพระเพื่ออุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้กับนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ จากนั้นในช่วงบ่ายจึงร่วมกันแห่รูปหล่อ "ทรนง ณ ธรณี" อนุสาวรีย์แห่งการต่อสู่ของประชาชน ไปยังสี่แยกบ่อนอกซึ่งเป็นจุดที่เจริญ วัดอักษร ถูกยิงเสียชีวิต และได้อ่านคำประกาศ โดย นางกรอุมา  พงษ์น้อย ภรรยาผู้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหลของเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มต่อสู้ภาคประชาชนประกาศเจตนารมณ์สืบสานอุดมการณ์นักต่อสู้เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 


ใจความของคำประกาศสรุปได้ว่า การต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนต่ออำนาจรัฐและทุนที่เข้ามารุกรานมีอยู่มาเนินนานและทั้วทุกท้องที่ในผืนแผ่นดินนี้ บ้างก็ล้มเหลวพ่ายแพ้ บ้างก็ประสบชัยชนะ และนักต่อสู้สามัญชนหลายต่อหลายคนก็ได้สละชีวิตเพื่อถากถางเส้นทางเพื่อคนรุ่นหลัง ซึ่งผู้ที่จะสืบต่อปณิธานของวีรชนชาวบ้านเหล่านี้ก็คือประชาชนธรรมดาสามัญซึ่งเป็นที่มาและความหมายที่แท้จริงของคำว่า "ชาติ" 


ในฐานะของขบวนการประชาชนที่มีอุดมการณ์ร่วมเดียวกันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น จึงขอขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมในภารกิจ ที่ว่าแม้จะมีอันตรายหรือการสูญเสียใดๆ รออยู่ก็จะไม่หวั่นไหว หากต้องเสียสละการเสียสละนั้นจะไม่สูญเปล่า โดยจะยึดมั่นในพลังอำนาจของประชาชนตามเจตนารมณ์ของเจริญ วัดอักษร สร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อสร้างอำนาจในการต่อสู้และเป็นพลังที่จะเกื้อนหนุนซึ่งกันและกันในยามที่พี่น้องประสบสถานะการณ์คับขัน  


ขอประกาศต่อรัฐและทุนว่า การต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของส่วนรวม จึงไม่ยอมรับการกล่าวหาว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนนอกพื้นที่โดยกฎเกณฑ์ที่ไร้ความชอบธรรม ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อบ่อนทำลายความสามัคคีของภาคประชาชน อีกทั้งรัฐและทุนไม่มีสิทธิดำเนินโครงการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน และหน่วยงานใดๆ ก็ไม่มีสิทธิในการรับรองอ้างความชอบธรรมแก่โครงการพัฒนาที่เข้ามาในชุมชน เพราะชุมชนคือผู้ที่จะใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจโครงการด้วยตนเอง 


ต่อจากนั้นจึงมีการเคลื่อนขบวนชาวบ้านและผู้มาร่วมงานหลายร้อยชีวิตไปติดตั้งรูปหล่อหล่อสัมฤทธิ์ยังแท่นภายในบริเวณอนุสาวรีย์วีรกรรม ริมถนนเพชรเกษม ภายในวัดสี่แยกบ่อนอก เพื่อเชิดชูวีรกรรมการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและพิทักษ์สิทธิชุมชน นอกจากนี้ที่อนุสาวรีย์ดังกล่าวจะมีการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการต่อสู้ภาคประชาชนเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งห้องสัมมนาให้ความรู้ และศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชน  


ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับเพื่อเตรียมตัวสำหรับกิจกรรมในช่วงเย็นซึ่งเป็นการแสดงดนตรีสลับกับการปราศรัยของกลุ่มต่อสู้ภาคประชาชนไปตลอดคืน ใต้ฐานอนุสาวรีย์แห่งการต่อสู่ของประชาชน"ทรนง ณ ธรณี" ได้มีการบอกเล่าถึงการจัดสร้างรูปหล่อโดยตัวแทนเครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม จากนั้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ขึ้นกล่าวสุนทรกถาว่าด้วยเรื่องอนุสาวรีย์แห่งแรกที่สร้างขึ้นโดยประชาชนเพื่อสดุดีวีระชนของประชาชนโดยแท้ ต่อด้วยการบรรเลงเพลงจากศิลปินกลุ่มหงา คาราวาน มงคล อุทกและวงโฮป แถมท้ายด้วยบทประพันธ์และบทเพลงที่แต่งขึ้นจากใจชาวบ้านในพื้นที่เพื่อลำลึกการจากไปของเจริญ วัดอักษร ที่ทำให้ผู้มาร่วมงานน้ำตาซึมไปตามๆ กัน 






 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net