Skip to main content
sharethis

ณรรธราวุธ เมืองสุข


สำนักข่าวชาวบ้าน


 


            "อหิงสา" ของมหาตมะ คานธี และอหิงสาของกลุ่มแนวร่วมประชิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หลังจากหามรูปปั้นของท่านคานธีขึ้นเวทีปราศรัยเหมือนหรือต่างกันอย่างไร คือคำถามที่ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมทั้งฝ่ายที่วางตัวเป็นกลางต่อกรณีการไล่ คมช.สงสัย


 


            คงเป็นคำถามที่ตอบยาก ในเมื่อรูปปั้นนั้นยังวางอยู่บนเวทีปราศรัยต่อไป ตลอดการต่อสู้เพื่อขับไล่ คมช.ลงจากเก้าอี้ปราศจากความรุนแรงและนองเลือด ทำให้บ้านเมืองต้องแตกแยก


 


            แต่ตอบได้ว่า ภาพที่ นปก.หามรูปปั้นของมหาตมะ คานธีเอกบุรุษของโลกเพื่อขึ้นเวทีที่ท้องสนามหลวง คือการแสดงให้เห็นว่ากลุ่ม นปก.จะใช้แนวทางแห่งอหิงสา ต่อสู้กับเผด็จการ


 


            เพราะรูปปั้นของมหาตมะ คานธี คือสัญลักษณ์แห่งอหิงสา...


 



 


            การประกาศใช้แนวทางอหิงสาของกลุ่ม นปก.เกิดขึ้นหลังจากการชุมนุมที่สนามหลวงได้กินเวลายืดเยื้อมานานและไม่มีทีท่าว่าทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะทำตามข้อเรียกร้อง คือยกคณะลาออกและจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด


 


            นำมาสู่การยกพลบุกกองบัญชาการกองทัพบกเมื่อคืนวันที่ 9 มิ.ย.แต่ไม่มีเหตุการณ์ใดที่เรียกว่าอยู่ในขั้นการปะทะรุนแรง นอกจากการออกมาเปิดเผยของนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีต ส.ว.โคราชว่าผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งไล่ทำร้ายตนเอง (และมีภาพข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำมาฉายให้ดู) และท้ายที่สุดนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มพีทีวี ที่พัฒนาร่วมกับอีกหลายเครือข่ายร่วมไล่เผด็จการมาเป็นแนวร่วม นปก. ได้นำฝูงชนนับหมื่นเดินกลับสู่ท้องสนามหลวงอย่างปลอดภัย


 


            วันที่ 16 มิ.ย.กลุ่ม นปก.ได้ประกาศรวมพลอีกครั้ง พร้อมคำประกาศก่อนการชุมนุมว่าจะมีการเคลื่อนพลไปขอคำตอบจาก คมช. ที่กองบัญชาการกองทัพบกอีกครั้ง ทำให้มวลชนมาเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดนอกจากปัญหาที่ฝนตกลงมาอย่างหนักแล้ว แกนนำบนเวทีปราศรัยก็บอกว่า  "แค่เล่นเกมกับ คมช." เพราะรู้อยู่แล้วว่า ในวันดังกล่าว ทาง ทหารและตำรวจได้จำกัดพื้นที่ และเฝ้าระวังไว้หมดแล้ว รวมทั้งทางฝ่ายที่หนุนรัฐบาลและ คมช.ได้เตรียมมวลชนไว้ประมาณ 2 พันเพื่อปะทะกับฝ่าย นปก.ที่มีอยู่นับหมื่น


 


            นับเป็นเกมนองเลือดที่ฝ่าย นปก.เองไม่กล้าเสี่ยง...


 


            หมอเหวง โตจิราการบอกหลังจากกลับมาร่วมเวทีแนวร่วมอีกครั้งว่า สิ่งที่ คมช.ได้เตรียมไว้รับมือมวลชนของ นปก.คือการใช้ความรุนแรง การประกาศมาว่าจะบุกกองบัญชาการกองทัพบกอีกครั้ง เสมือนการหลอกให้ คมช.ตื่นตกใจ ถึงกับระดมพลทั้งทหารและตำรวจมาจากหลายค่ายหลายสำนัก เพื่อมารับมือโดยเฉพาะ


 


            สิ้นจากวันเสาร์ที่ 16 มิ.ย.กลุ่ม นปก. นำโดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทย ได้ขึ้นรถตระเวณไปทั่วพื้นที่สนามหลวง เพื่อประกาศให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่มาตั้งด่านถอยออดไป เพราะเกรงว่า เจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรง ก่อนที่การชุมนุมในวันนั้น จะปรากฏภาพของการหามรูปปั้นของท่านมหาตมะ คานธีขึ้นเวทีปราศรัย


 


            พร้อมกับประกาศว่าจะใช้แนวทาง "อหิงสา" อย่างเต็มที่ตลอดการชุมนุม...


 


            ในสารานุกรมวิกิพีเดีย ให้ความหมายของคำว่า "อหิงสา" ว่าเป็นแนวคิดทางศาสนา คือการหลีกเลี่ยงความรุนแรง และไม่เบียดเบียนหรือเคารพในชีวิตของผู้อื่น คำว่า "อหิงสา"(अहिंसा) เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่เรียกว่า "หิงสา"


 


"อหิงสา" เป็นแก่นในศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู และ ศาสนาเชน มีการกล่าวไว้ในปรัชญาอินเดีย ประมาณ 800 ก่อนพุทธศักราช


 


ผู้ที่ยึดถือหลักอหิงสามักจะเป็นมังสวิรัติ อหิงสามักจะมีการอ้างถึงว่าเป็นวิธีการประท้วงแบบสันติที่ไม่ใช้ความรุนแรง


 


แล้วรูปปั้นของมหาตมะ คานธี ที่ นปก.หามขึ้นเวทีปราศรัยที่สนามหลวงคือตัวแทนของการใช้ "อหิงสา" เพื่อการ "ต่อสู้" อย่างไร


 


"คานธี" เอกบุรุษชาวอินเดียที่ชนทั่วโลกรู้จักในภาพของนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นเอกภาพของชาวอินเดีย นักต่อสู้ความโหดร้ายทารุณ และความป่าเถื่อนด้วยความสงบที่เรียกว่า "อหิงสา"


 


ชื่อจริงคือ โมฮันดาส เค. คานธี เกิดเมื่อวันที่ 2 ต.ค.1869 ในตระกูลชาวฮินดู ณ เมืองโประพันทระ รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย คนทั้งโลกเห็นภาพของคานธีในภาพลักษณ์ชายชรานุ่งผ้าเตี่ยวเปลือยกายท่อนบน ถือมังสวิรัตนั่งปั่นฝ้ายที่นำมาทอเป็นเสื้อผ้าใช้เอง ใช้ชีวิตที่สมถะแต่กล้าหาญที่จะยืนขึ้นสู้กับความอยุติธรรม


 


คานธีกล่าวถึงวิถีทางแห่งการต่อสู้ของชาวอินเดียว่า "คนที่ประพฤติตัวเยี่ยงหนอน จึงสมควรถูกเหยียบย่ำ เราจะต้องเรียนรู้การต่อสู้กับตัวเอง เราเป็นทาสมานานจนต้องรู้จักลุกขึ้นสู้กับตัวเองเสียบ้าง จงกำจัดความคิดที่จะพึ่งพาผู้อื่นหรือใช้การติดสินบน แทนที่จะใช้ความกล้าหาญ เราจะไม่อาจต่อสู้กับรัฐบาลได้ถ้าเราไม่เรียนรู้การต่อสู้กับตัวเอง"


 


แต่มหาตมะ คานธี ต้องผิดหวังกับหลายๆ เรื่อง นอกจากต้องต่อสู้กับการพ้นไปจากการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษแล้ว คานธียังต้องรับศึกภายในที่หนักหน่วงยิ่งกว่า นั่นคือปัญหาเรื่องความรักและสามัคคีของชาวอินเดีย เขาต้องทนดูประเทศอินเดียวุ่นวาย ด้วยความเกลียดชังของคนอินเดียเอง


 


ในวันที่ 14 ส.ค. 2490 ชาวอินเดียเฉลิมฉลองที่ได้อิสรภาพปลดแอกจากอังกฤษ แต่อีกด้านหนึ่งชาวมุสลิมถือโอกาสยืนยันจะแยกตัวออกไป เกิดความแตกแยกระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาฮินดูและอิสลาม อาจทำให้อินเดียต้องแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ ด้วยชาวอิสลามต้องการแยกตัวออกไปก่อตั้งรัฐปากีสถาน คานธีมองภาพที่ชาวอินเดียทั้งสองศาสนาเฉลิมฉลองกันอย่างบ้าคลั่งและกล่าวว่า


 


"เหตุใดคนเหล่านั้นถึงยินดี ข้าพเจ้าเห็นแต่เลือดนองในแผ่นดิน"


 


การแบ่งแยกก่อให้เกิดการอพยพขนานใหญ่ในทันที ชาวฮินดูข้ามมายังอินเดีย ชาวมุสลิมหนีเข้าไปในปากีสถาน ผู้คนอพยพหลายแสนคนเดินเท้าอย่างหมดสิ้นหนทางโดยปราศจากอาหารและน้ำ ผู้คนของ 2 ศาสนาประสบหายนะจากความอดอยาก แบ่งแยกกันจากความเป็นปรปักษ์แต่โบราณ การต่อสู้นองเลือดก็เกิดขึ้น ฮินดูและมุสลิมระเบิดความเกลียดชังเป็นการสังหารหมู่ ทั้ง 2 ฝ่ายกระทำลงไปด้วยความกลัวและความโกรธ มีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า 'ผมยืนอยู่ที่ชานชาลาตอนรถไฟเข้าเทียบ ไม่มีผู้คนเคลื่อนไหวบนขบวนรถ มีแต่เลือดหยดออกจากประตู พอประตูรถเปิดข้างในนั้นมันก็เหมือนกับร้านขายเนื้อ เว้นแต่ว่าเนื้อพวกนั้นมีเสื้อสวมอยู่'


 


ท้ายที่สุดผู้คนจำนวนครึ่งล้านคือผู้สูญเสีย ภาพการสังหารที่คานธีคาดคิดไว้ กรีดลึกลงไปในความรู้สึกผิด คานธีรู้สึกว่าตนไม่อาจเปลี่ยนประชาชนให้ใช้ความอหิงสาได้


 


ผู้ใกล้ชิดคานธีเล่าว่า "ท่านเสียใจมาก ท่านบอกว่าท่านมองไม่เห็นอะไรเลย มีแต่ความมืดมนอยู่ทุกหนแห่ง ผู้คนกระทำตัวเหมือนสัตว์ป่า ท่านบอกว่าแย่เสียยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก เพราะว่าสัตว์ป่าไม่ฆ่าพวกเดียวกันเอง ท่านบอกว่าข้าพเจ้าจะอดอาหารประท้วงจนกว่าการเข่นฆ่าจะหยุดลงไป จนกว่าฮินดูและมุสลิมจะเป็นพี่น้องกัน"


 


พวกหัวรุนแรงชาวฮินดูไม่พอใจวิธีการอหิงสาของคานธี และความต้องการที่จะให้ชาวฮินดูและมุสลิมอยู่ร่วมกัน


 


ความไม่สงบลุกลามไปทั่ว คนอินเดียเริ่มใช้วิธีก้าวร้าวฆ่าฟันกัน ยังความสลดใจถึงขีดสุด ทำให้คานธีลุกขึ้นประกาศว่า "ข้าพเจ้าจะอดอาหารประท้วงจนกว่าการเข่นฆ่าจะหมดไป"


 


ทำให้คนทั้งโลกหันมามองด้วยความสนใจ ชาวอินเดียส่วนใหญ่กำลังหยุดคิด ความรุนแรงเริ่มยุติ ดูเหมือนว่าการต่อสู้แบบอหิงสาของคานธีกำลังจะได้ผล


 


แต่ในวันที่ 30 ม.ค. 2491 ขณะที่คานธีกำลังเดินออกไปจะสวดมนต์ร่วมกับฝูงชนตามปกติ นาฮูราน กอสซี่ วัย 36 ปี ก้าวออกมาก้มลงคารวะคานธี แล้วพูดว่า


 


"ท่านมาสายสำหรับการสวด"


 


คานธีพูดตอบว่า  "ใช่ฉันมาสายไป...มาสายจริงๆ"


 


ทันใดอย่างไม่มีไครคาดคิด กอสซี่ชักปืนเล็กๆออกมายิงใส่คานธี 3 นัด


 


"ราม..." คือคำพูดสุดท้ายของคานธี ที่โลกได้ยิน และคนทั้งโลกตกตะลึงพรึงเพริด


 


สุดท้าย อินเดียจึงถูกแบ่งร่างออกเป็นสองซีก แบ่งด้วยความเกลียดชังภายในจิตใจของชาวอินเดียที่มัวเมาในลัทธิศาสนา


 


อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์กล่าวถึงคานธีว่า 'คนรุ่นอนาคตจะไม่มีทางเชื่อเลยว่า มีคนแบบนี้อยู่จริงบนโลกมนุษย์นี้'


 


มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ ได้กล่าวไว้ว่า "พระเยซูเจ้ามอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า คานธีมอบวิธีการ"


 


คำกล่าวของมาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ ที่ยกย่องวิธีการแบบ "อหิงสา" ของมหาตมะ คานธี ทำให้ผู้คนทั้งโลกจดจำคานธีในฐานะสัญลักษณ์ของอหิงสา คือการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง


 


แต่คนมากมายไม่รู้จักจดจำว่า ในบรรดาแนวทางของมหาตมะ คานธีนอกจากการใช้อหิงสา ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมอื่นใด การเริ่มต้นเรียนรู้ที่จะ "ต่อสู้กับตัวเอง" คือสิ่งสำคัญที่สุด


 


สำคัญที่สุดในบรรดาการต่อสู้ทั้งมวลในโลก...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net