Linkin Park - Minutes to Midnight

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภฤศ ปฐมทัศน์

 

 

ผมควรจะตกใจมากกว่านี้ เมื่อได้รู้ข่าวว่า วงกระแสหลักในนามของ Linkin Park บอกว่าจะสลัดตัวเองจากภาพลักษณ์เดิมๆ ที่คนชอบมองว่าเป็น Nu Metal/Rap Rock โดยจะทำดนตรีให้ป็อบติดหูมากขึ้น (ทั้งที่แต่เดิมก็ติดหูพออยู่แล้ว) และกระทั่งบอกว่ามีความเป็น Progressive!

 

แต่ผมกลับไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนมากเท่าที่ควร...มีก็แต่ความรู้สึกที่อยากพิสูจน์ว่า สิ่งที่พวกเขาบอกเล่ากล่าวถึงกันนั้น มันจะสมคำโฆษณาหรือไม่

 

ไม่ว่าจะเป็นการที่ ริค รูบิน โปรดิวเซอร์อัลบั้มนี้ออกมาบอกว่า "...มันจะไม่มีซาวน์แบบแร๊พ-ร็อคอีกแล้ว พวกเขาเขียนเพลงที่แข็งมากๆ ตัวโน้ตพรั่งพรู ...เป็นโปรเกรสซีฟ" หรือข่าวที่ว่าพวกเขาเขียนเพลงมาเป็น Demo กว่า 100 เพลง แล้วคัดเลือกมาจนเหลือแค่ 12 เพลง

 

ผมอาจจะหวังมากเกินไปกับวงในกระแสหลักที่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ทั้งแฟนเพลง ทั้งต้นสังกัด ทั้งพลังสร้างสรรค์ส่วนตัว ...แต่กระนั้น ผมก็หวังไปแล้ว

 

ในความจริง Minutes to Midnight เป็นชื่อสื่อถึงสิ่งที่เรียกว่า Doomsday Clock หรือนาฬิกานับถอยหลังสู่วันสิ้นโลก ตั้งขึ้นโดยวารสาร Bulletin of the Atomic Scientists เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนการนับเวลาถอยหลังสู่การปล่อยระเบิดนิวเคลียร์ เมื่อเข็มยาวเดินถึงเวลาเที่ยงคืนเมื่อไหร่สงครามนิวเคลียร์จะปะทุ แน่นอนว่าสิ่งนี้มีขึ้นในยุคที่ประชากรโลกหวาดกลัว "สงครามนิวเคลียร์" กันเป็นวรรคเป็นเวร

 

ซึ่งเจ้านาฬิกาตัวนี้เอง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามันก็ได้เดินขึ้นๆ ลงๆ (เป็นนาฬิกาที่เดินถอยหลังได้ !?) ตามสถานการณ์ที่ผันผวนของโลก ดูๆ ไป มันเป็นนาฬิกาที่ออกจะโปรอเมริกันไปหน่อยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะช่วงที่ห่างจากเที่ยงคืนมากๆ คือช่วงที่กำแพงเบอร์ลินแตก สงครามเย็นถึงจุดสิ้นสุด แต่อย่าคิดว่าจะนิ่งนอนใจกันได้ ในปัจจุบันนาฬิกามันก็ตีกลับเข้ามาจนเหลือ 5 นาทีอีกแล้ว คงไม่ต้องบอกว่าเพราะใคร...

 

Linkin Park จึงกลายเป็นหนึ่งในอีกวงที่ร่วมวงสวดส่งประธานาธิบดีบุช (หลังจากที่โดนสวดไปหลายแล้ว) จากอัลบั้มก่อนๆ ที่เนื้อหายังเป็นแบบวง Nu Metal วงอื่น ๆ คือการแสดงความรู้สึกแบบ Teenage Angst (ความโกรธเกรี้ยวสับสนโศกเศร้าของวัยรุ่น) กลายมาเป็นเนื้อหาที่พูดถึงโลกรอบตัวมากขึ้น แต่กระนั้นมันก็ต้องดูด้วยว่า มุมมองของพวกเขาในเรื่องที่จะพูดถึงนั้น แน่นขนาดไหน ลึกซึ้งขนาดไหน เอนเอียงไปทางใด มีอคติหรือโฆษณาแฝงหรือเปล่า ฯลฯ

 

มีเพื่อนฟังเพลงของตัวผู้เขียนเองคนหนึ่งบอกว่า เจ้าพวกนี้ควรกลับไปทำดนตรีให้แรงเท่าเดิม แล้วเขียนเนื้อแบบ "วัยรุ่นเซ็ง (แสด)" อย่างเดิมดีกว่า ผมอดไม่ได้ที่จะเห็นด้วย เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็น่าจะใกล้ชิดกับความเป็น "วัยรุ่นเซ็ง (แสด)" และเขียนถึงมันได้ลึกกว่า

 

กระนั้นก็ตามการด่วนตัดสินไปก่อนโดยยังไม่ได้ลองฟัง อาจไม่เป็นธรรมกับพวกเขานัก เรามาดูกันดีกว่า ว่า "นาทีที่เหลือก่อนเที่ยงคืน" ของพวกเขานั้น พูดถึงอะไรกันบ้าง

 

 

เริ่มด้วยเพลงแรกที่ปล่อยออกมาเป็น Single อย่าง What I"ve done ซึ่งดู ๆ ไปแล้วเนื้อหาจะพูดถึงอะไรที่กว้างมาก ใน Music Video เพลงนี้ก็เต็มไปด้วยภาพตัดต่อของสังคมในแบบที่เห็นได้ง่าย ๆ ในสื่อทั่วไปและยังไม่รู้ว่าพวกเขาใกล้ชิดกับปัญหา แต่ก็ดีหากจะเป็นการเริ่มต้นตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่แล้วๆ มาเราได้ทำอะไรกับโลกใบนี้ไว้บ้าง หรืออย่างน้อย...เราทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง

 

อีกเพลงที่เนื้อหาพูดถึงสังคมในยุคสมัยใหม่คือ Hands Held High ซึ่งดูจะยังเป็น Rap Rock แบบเต็มเหนี่ยว ที่มีเสียงกลองคล้ายจังหวะมาร์ช เสียงประสานที่ใส่เข้ามาก็ฟังดูขัดๆ พิกลๆ ดูผิดที่ผิดทางไปหมดในด้านของดนตรี ส่วนในตัวเนื้อหาเองมีอะไรพอให้ชวนคิดบ้าง และแน่นอนแอบมีข้อความ Anti-Bush โผล่มาคันๆ

 

"For a leader so nervous in an obvious way

Stuttering and mumbling for nightly news to replay

And the rest of the world watching at the end of the day

In their living room laughing like, "What did he say?" "

 

- Hands Held High

 

แต่ไม่เชิงว่าจะพูดถึงโลกรอบข้างไปเสียหมด บางเพลงพวกเขาก็ยังหันกลับมาพูดถึงตัวเองอยู่บ้างอย่างในเพลง Leave out all the Rest ที่บัลลาดป็อบจ๋าจนนึกไม่ออกว่าเป็น Linkin Park คนเดิม มีเพลงที่เกี่ยวกับความขัดแย้งกับตัวเองอย่าง Given Up ที่ก็ยังไม่ทิ้งลายเดิมๆ แถมด้วยเพลง "วัยรุ่นเซ็ง (แสด)" อีกเพลงที่หันมาหม่นซึม มากกว่าโกรธเกรี้ยว ขณะที่ภาคดนตรีชวนให้นึกถึง U2 อย่างเสียมิได้อย่าง Shadow Of The Day ที่เนื้อหาพูดถึงการปิดตัวเองกลับเข้าไปสู่โลกอันมืดมนเพียงลำพัง

 

ดูๆ ไปแล้วเพลงที่พูดถึงตัวเองยังมีเป็นส่วนมากอยู่ดี ไม่ได้บอกว่าเพลงแนว "วัยรุ่นเซ็ง (แสด)" หรืออะไรที่มีเนื้อหาพูดถึงตัวเองเป็นเรื่องไม่ดี เพราะอย่างน้อยเพลงเหล่านี้มันก็สะท้อนอะไรความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นออกมาได้ เพียงแต่ ในคราวนี้ผมรู้สึกว่า พลังในการ "เซ็ง (แสด)" ของพวกเขาหายไปไหนหมดก็ไม่ทราบ แถมเนื้อหาก็ยังไม่ได้ลึกซึ้งไปกว่าเดิมเท่าไหร่ ทั้งที่บางแห่งบอกกันว่าพวกเขาเติบโตขึ้น แต่ผมกลับรู้สึกว่า

 

พวกเขาก็แค่...เปลี่ยนเสื้อผ้าเท่านั้น

 

ในเชิงเนื้อหายังอยู่ในระดับพอเข้าที่เข้าทางบ้าง ซึ่งถ้าพวกเขาสามารถเติบโตผ่านตรงนี้ไปได้ก็จะดี แต่ในภาคดนตรีนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกจำเจ เหมือนเคยฟังดนตรีประมาณนี้จากหลายที่หลายวงมาแล้ว ซึ่งวงเก่าๆ ที่ไปหยิบยืมซาวน์เขามาใช้เหล่านั้นทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ

 

ความแข็งแรงในตัวดนตรีเองไม่มีอยู่เลย ความ Progressive ที่ ริค รูบินโฆษณาไว้ ก็หาแทบไม่เจอ (พบอยู่บ้างเล็กน้อยในเพลง Wake และ No More Sorrow) ซาวน์แบบอิเล็คโทรนิคที่นำมาผสมก็จืดเกินกว่าจะทำให้ดนตรีมีสีสันขึ้นมา และที่สำคัญที่สุดคือ "ตัวตน" ....พวกเขาหยิบยืมซาวน์ต่างๆ มาใช้มากเกินไปจนทำให้แนวทางความเป็นวงของอัลบั้มนี้มันหมดความเด่นชัดในตัวเองไป

 

จริงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงเป็นของคู่โลก และการยึดติดกับอะไรเดิมๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก...

 

แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมันต้องมาคู่กับการพัฒนา เราควรจะก้าวไปข้างหน้าโดยสรรหาวิถีทางใหม่ ๆ ไม่ใช่หวนกลับไปหาของเก่าโดยไม่ได้มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิมเลย

 

ในที่นี้ผมหมายถึงดนตรีนะครับ ไม่ใช่การเมืองประเทศไหน

 

แหะๆ

 

 

* "แสด" - เป็นคำที่แผลงมาจาก "สาด**"

 

** "สาด" - เป็นคำที่แผลงมาจาก ... ขออนุญาตเซนเซอร์ตัวเอง ก่อนที่ครูภาษาไทยจะสั่งให้ไปคาบไม้บรรทัดยืนกางแขน ข้อหาทำภาษาวิวัฒน์ เอ้ย ! วิบัติ

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท