Skip to main content
sharethis

 


                        ความเห็นต่อมติ ค.ร.ม. 12 มิ.ย. 2550 ปิดเขื่อนปากมูนถาวร


 


รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ยืนยันตามมติ ค.ร.ม.เดิมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนทั้ง 8 บานสุดบาน เป็นเวลา 4 เดือนในต้นฤดูฝนตามผลการศึกษาและแนวทางแก้ปัญหาที่เสนอแนะโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อให้ปลาอพยพและคืนสภาพนิเวศน์ลุ่มแม่น้ำมูน แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 กลับเปลี่ยนมติ ค.ร.ม.  ที่เพิ่งตัดสินใจผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ ให้ปิดเขื่อนปากมูนโดยรักษาระดับน้ำไว้ที่ระดับการปั่นไฟปกติคือ 106-108 เมตรจากระดับน้ำทะเล (ม.รทก.) และยกเลิกคณะกรรมการภาคีชุดต่างๆ ที่ดำรงอยู่ โดยให้โอนอำนาจการจัดมารวมศูนย์ไว้ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)    


 


กลุ่มคณาจารย์ผู้เคยร่วมในกระบวนการแก้ปัญหา  และศึกษาวิจัยผลระทบเพื่อเสนอทางเลือกกรณีปัญหาเขื่อนปากมูนมีความเห็นเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและสังคมว่า


 


1. การกลับมติ ค.ร.ม.ให้ปิดเขื่อนปากมูนมีความไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ว่า เหตุผลคืออะไร เพราะสังคมได้รับรู้แต่เพียงว่า นายกรัฐมนตรีได้รับปากกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนว่า จะดำเนินการตามมติ ค.ร.ม. 29 พฤษภาคม 2550 ให้เริ่มระบายน้ำในวันที่ 7 มิถุนายน 2550 และยกสุดบานในวันที่ 17 มิถุนายน 2550  


 


การยืนยันให้เปิดเขื่อนได้ระบุเหตุผลสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานฯ ว่า เขื่อนปากมูนไม่ได้มีความสำคัญต่อกำลังการผลิตไฟฟ้า ส่วนเหตุผลด้านการใช้น้ำกระทรวงพลังงานจะประสานกับกรมชลประทานในการปรับปรุงสถานีสูบน้ำจำนวน  6 แห่ง ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ให้สามารถสูบน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกรได้โดยเฉพาะในช่วงภาวะฝนทิ้งช่วง


 


มติ ค.ร.ม.ให้เปิดเขื่อนจึงมีเหตุผลรองรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนถึงแนวทางการใช้ประโยชน์ว่าสามารถปฏิบัติได้และเป็นความเห็นร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีข้อสนับสนุนทางวิชาการ งานวิจัยผลกระทบและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ศึกษา  


 


2. มติ ค.ร.ม. 12 มิถุนายน 2550 เป็นการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจตามที่หน่วยงานด้านความมั่นคงคือ กอ.รมน.  โดยผู้อำนวยการ กอ.รมน. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)  เสนอ


 


ฐานคิดในการแก้ไขปัญหาความยากจนภายใต้โครงสร้างดังกล่าว มองจากมิติความมั่นคงแบบทหารในการควบคุม กำกับการเคลื่อนไหวของคนจน ดังเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่หน่วยงานดังกล่าวใช้อ้างเพื่อสนับสนุนการปิดประตูระบายน้ำว่า มีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึงร้อยละ 98.0 ให้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อนำน้ำไปใช้ในการเกษตรกรรม  โดยที่อาจตั้งคำถามได้ทั้งที่มาของผู้ลงชื่อสนับสนุนว่าเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเป็นภาคีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และทั้งข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้จากงานวิจัยทางวิชาการว่า ประชาชนในเขตลุ่มน้ำมูนตอนล่างไม่มีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนดังกล่าว


 


สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ การอ้างหลักการเสียงส่วนใหญ่เพื่อทำลายสิทธิการดำรงอยู่ของคนชายขอบ คือลักษณะหนึ่งของเผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งไม่ต่างไปจากสิ่งที่คณะรัฐประหารใช้อธิบายความเลวร้ายของระบอบทักษิณว่าเป็น "เผด็จการประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่" เพราะหลักเสียงส่วนใหญ่ในระบบประชาธิปไตยจะต้องอิงอยู่กับหลักการพื้นฐานที่มีเหตุมีผล ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนส่วนน้อย และเปิดให้ผู้คนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเขื่อนปากมูนนี้เสียงส่วนใหญ่ที่อ้างถึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และไม่ได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่


 


นอกจากนี้ วิธีการได้มาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็ยังเป็นสิ่งที่จะต้องตรวจสอบเช่นกัน เพราะหลักการสร้างประชามติ มติมหาชน จะต้องมีกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส ให้ฝ่ายต่างๆ ได้ถกเถียงถึงเหตุผล การพิจารณาทางเลือกต่างๆ ฯลฯ  ดังนั้น สังคมไทยจะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาแทรกแซงการแก้ปัญหาความยากจนที่สะท้อนความไม่รู้แม้กระทั่งหลักการพื้นฐานของกระบวนการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย


 


3.สำหรับข้ออ้างเรื่องการใช้น้ำสำหรับการสนับสนุนให้ชาวบ้านสามารถดำเนินการผลิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ฐานชีวิตและวิถีการทำมาหากินของชาวบ้านปากมูนตั้งอยู่บนอาชีพประมงเป็นด้านหลัก ฐานทรัพยากรที่สำคัญสำหรับสภาพดำรงชีพจึงตั้งอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่มูน การปิดเขื่อนปากมูนจึงเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้านตลอดสายลุ่มน้ำมูนอย่างสิ้นเชิง


 


ผลการวิจัยจากโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิต และชุมชน เมื่อปี 2544 ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดทำ ได้เสนอให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนตลอดปี เนื่องจากข้อพิจารณาที่ว่า ปัญหาของการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนฯ สามารถมีทางออกทางเทคนิคได้หลายทาง  (ดังปรากฏในมติ ค.ร.ม. 29 พฤษภาคม 2550) แต่ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนไม่มีทางออกและไม่สามารถแก้ได้ด้วยเทคนิค เพราะเขื่อนปากมูนส่งผลลบต่อความยากจนและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธรรมชาติ


           


ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนต่อสังคมไทยและรัฐบาลคือ


 


1. ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น   ต้องยกเลิกมติครม. 12 มิถุนายน 2550 และเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนทั้ง 8 บาน แบบสุดบาน ตามมติ ค.ร.ม. 29 พฤษภาคม 2550 เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงอพยพเข้าสู่แม่น้ำมูน ตามวัฏจักรของธรรมชาติ และให้คงมีคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้าน และระบบนิเวศลุ่มน้ำแม่มูนต่อไป 


 


2. รัฐบาลและสังคมไทยควรร่วมกันพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของเขื่อนปากมูน ตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) (ภายใต้คณะกรรมการเขื่อนโลก) ได้ศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนปากมูน และสรุปว่าเขื่อนปากมูนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมทั้งตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนอย่างถาวร เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านคืนสู่สภาวะปรกติ สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงต่อไป


           


3. รัฐบาลและสังคมไทยจะต้องไม่สร้างวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาบนหลักการแบบอำนาจนิยม หรืออ้างเผด็จการเสียงข้างมากด้วยการระดมและจัดตั้งมวลชน รวมศูนย์อำนาจการแก้ไขปัญหาความยากจนมาไว้ยัง กอ.รมน.   และละทิ้งหลักธรรมาภิบาล หลักการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง หลักการของเหตุผล และข้อมูลทางวิชาการ


           


4. รัฐบาลและสังคมไทยควรจะก้าวพ้นวิธีคิดเรื่องความมั่นคงแบบทหาร ที่เน้นการควบคุมกำกับอำนาจของรัฐ และความมั่นคงแบบทุนนิยมที่เน้นการสั่งสมความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจส่วนบน เพราะความมั่นคงทั้งสองแบบล้วนสร้างความไม่มั่นคงในการดำรงชีพของประชาชน ความมั่นคงที่สังคมไทยควรใส่ใจคือ ความมั่นคงในชีวิต ฐานทรัพยากร วัฒนธรรม เศรษฐกิจของประชาชน อันจะนำมาซึ่งการดำรงอยู่ของสังคมอย่างสันติ


 


 


..........................


 


 


คณะนักวิชาการผู้ร่วมลงนาม


 


1. ศ.ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


2. ผศ.บัณฑร อ่อนดำ                                                                                           


อดีตประธานคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน


3. อาจารย์ศุภวิทย์  เปี่ยมพงศ์สานต์             


อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการ   กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


4. รศ.ดร.สุธีร์ ประศาสน์เศรษฐ์       


คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


และอดีตอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนที่เกี่ยวข้องกับ กฟผ.


5. รศ.สุริชัย หวันแก้ว        ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม


  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


6. รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล         


  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


7. ดร.นลินี ตันธุวนิตย์                   


คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


8. ดร.เดชรัตน์  สุขกำเนิด              


คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


9. ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์                        


สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


10. นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ        


มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ


11. ดร.นฤมล ทับจุมพล                


ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


12. ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง       


ภาควิชาการปกครอง  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


(อดีตเลขานุการคณะกรรมการกลางฯ)


13. อาจารย์เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว


สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


14. อาจารย์วราภรณ์ แช่มสนิท


สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


15. อาจารย์สุภิญญา กลางณรงค์


สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net