Skip to main content
sharethis


หมายเหตุ - เป็นรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ..... ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เห็นชอบในหลักการ และเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป


หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร

เหตุผล โดยที่ปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีหลากหลาย มีความรุนแรง รวดเร็วสามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและมีความสลับซับซ้อน จนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ และเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้สามารถป้องกัน และระงับภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จึงสมควรกำหนดให้มีหน่วยปฏิบัติงานหลักเพื่อรับผิดชอบดำเนินการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ตลอดจนบูรณาการและประสานการปฏิบัติร่วมกับทุกส่วนราชการ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและรักษาความมั่นคง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นของตน เพื่อป้องกันภยันตรายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในยามปกติ และในยามที่เกิดสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และกำหนดให้มีมาตรการและกลไกควบคุมการใช้อำนาจเป็นการเฉพาะตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย และรักษาความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ....."

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

"การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" หมายความว่า

(1) การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและผืนแผ่นดินไทย ดำรงไว้ซึ่งเอกราชและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนให้ประชาชนและทุกๆ องค์กรมีความสามัคคี เข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญภยันตรายต่อความมั่นคงของรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ

(2) การดำเนินการป้องกันและปราบปราม เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์อันเกิดจากการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรให้กลับสู่ภาวะปกติ

"การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร" หมายความว่า การกระทำใดๆ อันเป็นการมุ่งทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐไม่ว่าจะเป็นการจารกรรมการก่อวินาศกรรม การก่อการร้าย การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ การบ่อนทำลาย การโฆษณาชวนเชื่อ การยุยง การปลุกปั่นการใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีเจตนามุ่งหมายให้เกิดความไม่สงบสุข ในชีวิตของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ

"หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ

"เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

"เจ้าพนักงาน" หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรต้องดำเนินการโดยมีเอกภาพในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ มีลำดับขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาตามความหนักเบาของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสมและมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจมีการติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อดำรงไว้ซึ่งความผาสุกของประชาชน สังคม และความมั่นคงของประเทศ

มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด 1

คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน

มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในคณะหนึ่ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และเสนาธิการทหารบกเป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา 7 ให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงภายในของรัฐตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

(2) วินิจฉัยสถานการณ์ เสนอแนะมาตรการ และลำดับขั้นตอนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ต่อคณะรัฐมนตรี

(3) กำหนดวิธีการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในตามแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร

(4) กำกับ ดูแลการจัดทำรายงานประจำปีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเดือนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

(5) ออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

(6) แต่งตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค

(7) แต่งตั้งคณะบุคคล หรือบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

(8) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

(9) ปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจ และหน้าที่ของคณะกรรมการ

มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาจขอให้หน่วยงานของรัฐ บุคคลหรือนิติบุคคลใดแล้วแต่กรณี ส่งเอกสารข้อมูล และชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

หมวด 2

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน

มาตรา 9 ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เรียกชื่อโดยย่อว่า "กอ.รมน." เป็นหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนนรี โดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ การดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และอนุมัติแผนแม่บทหรือแผนปฏิบัติการในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร

มาตรา 10 ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีบทบาทเป็นองค์กรกลางในการอำนวยการและประสานการปฏิบัติ ในการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงภายในของรัฐ และวาระเร่งด่วนแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ

การแบ่งงานภายในของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในให้จัดทำเป็นกฎกระทรวง

มาตรา 11 ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีภารกิจในการวางแผน อำนวยการ ประสานงานและกำกับดูแลการดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงภายในของรัฐ ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในราชอาณาจักร ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา 12 ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

(1) ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินแนวโน้มภัยคุกคามด้านความมั่นคงในราชอาณาจักรเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

(2) อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแล และเสริมการปฏิบัติของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบความมั่นคงในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งทางบกและทางทะเลให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน

(3) เสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ด้วยการผนึกพลังมวลชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร และความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ภาคในประเทศ

(4) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา 13 ให้จัดตั้งสำนักเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เรียกโดยย่อว่า "สน.ลธ.รมน." เป็นหน่วยงานภายในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ทำหน้าที่เป็นสำนักงานฝ่ายอำนวยการในการวางแผนอำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแลการปฏิบัติงานในสายงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน โดยมีเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เรียกโดยย่อว่า "ลธ.รมน" เป็นหัวหน้าฝ่ายอำนวยการรับผิดชอบควบคุมการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ทั้งนี้ ให้เสนาธิการทหารบกเป็นเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน

มาตรา 14 ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจทำนิติกรรม ฟ้องคดี และดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีอันเกี่ยวเนื่องกับภารกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน โดยกระทำในนามของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

หมวด 3

คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค

มาตรา 15 ให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค ในกองทัพภาค โดยมีแม่ทัพภาคเป็นประธานกรรมการ มีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด หรือหน่วยงานอื่นตามที่แม่ทัพภาคเห็นสมควร รวมจำนวนกรรมการทั้งสิ้นไม่เกินสิบห้าคน

มาตรา 16 ให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) จัดทำแผนปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดำเนินการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในระดับภาค

(2) ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติการของกองอำนวยการรักษาความมั่นภายในภาค

(3) พิจารณาข้อเสนอแนะ และวินิจฉัยวางลำดับขั้นตอนในการแก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ เสนอต่อคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน

(4) กำหนดแนวทางการส่งเสริม และพัฒนาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรในระดับภาค

(5) แต่งตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร

(6) แต่งตั้งคณะบุคคล หรือบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่

(7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

(8) ปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในมอบหมาย

มาตรา 17 ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษความมั่นคงภายในภาคเรียกโดยย่อว่า "กอ.รมน.ภาค" ขึ้นในทุกกองทัพภาค เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน โดยมีแม่ทัพภาคเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค เรียกโดยย่อว่า "ผอ.รมน.ภาค" มีหน้าที่รับผิดชอบในงานราชการของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค และมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ การดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เสนอแนะ รายงานผลการดำเนินการ จัดทำแผนงานการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ หรือปฏิบัติการอื่นใดตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมอบหมาย

หมวด 4

คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด

มาตรา 18 ให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ในแต่ละจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ มีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานของรัฐจากฝ่ายพลเรือน ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายทหารฝ่ายองค์กรบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคแต่งตั้งอีกจำนวนไม่เกินสามคน รวมจำนวนกรรมการทั้งสิ้นไม่เกินสิบห้าคน

มาตรา 19 ให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1) จัดทำแผนปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดำเนินการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในระดับจังหวัด

(2) ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด

(3) พิจารณาข้อเสนอแนะ และวินิจฉัยวางลำดับขั้นตอนในการแก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ เสนอต่อคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค

(4) กำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาให้ประชาชนมีส่วนรวมในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในระดับจังหวัด

(5) เสนอรายชื่อคณะบุคคลหรือบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ให้กับผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคเพื่อแต่งตั้ง

(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

(7) ปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาคมอบหมาย

มาตรา 20 ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เรียกโดยย่อว่า "กอ.รมน.จว." เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เรียกโดยย่อว่า "ผอ.รมน.จว." มีหน้าที่รับผิดชอบในงานราชการของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ การดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เพื่อจัดระเบียบความมั่นคงในจังหวัด รวมทั้งการปฏิบัติงานตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคมอบหมาย

หมวด 5

คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร

มาตรา 21 ให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ มีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานของรัฐจากฝ่ายพลเรือน ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายทหาร ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคหนึ่งแต่งตั้งอีกจำนวนไม่เกินสามคน รวมจำนวนกรรมการทั้งสิ้นไม่เกินสิบห้าคน

มาตรา 22 ให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) จัดทำแผนปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดำเนินการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

(2) ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร

(3) พิจารณาข้อเสนอแนะ และวินิจฉัยวางลำดับขั้นตอนในการแก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ เสนอต่อคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาคหนึ่ง

(4) กำหนดแนวทางการส่งเสริม และพัฒนาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

(5) เสนอรายชื่อคณะบุคคล หรือบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานหรือเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ให้กับผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคหนึ่ง เพื่อแต่งตั้ง

(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

(7) ปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาคหนึ่งมอบหมาย

มาตรา 23 ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานครเรียกโดยย่อว่า "กอ.รมน.กทม." เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคหนึ่ง โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า "ผอ.รมน.กทม." มีหน้าที่รับผิดชอบในงานราชการของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจ เพื่อจัดระเบียบความมั่นคงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งการปฏิบัติงานตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคหนึ่งมอบหมาย

หมวด 6

การแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

มาตรา 24 เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีภารกิจในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้งการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร การฟื้นฟู และการช่วยเหลือประชาชน

ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และอาจมีคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคล หรือบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร

ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาจมอบหมายให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค หนือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด หรือกรุงเทพมหานครเป็นผู้ใช้อำนาจตามวรรคสองแทน และให้ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง

ให้หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน หรือกระทำการใดๆ เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าพนักงาน

มาตรา 25 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้

(1) ห้ามบุคคลใดนำอาวุธที่กำหนดในกฎกระทรวงออกนอกเคหสถาน

(2) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(3) ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นการชักชวนหรือยั่วยุให้มีการกระทำความผิดตามกฎหมาย

(4) ห้ามให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

(5) ให้บุคคลใดนำอาวุธที่กำหนดในกฎกระทรวงมามอบไว้เป็นการชั่วคราวตามความจำเป็นโดยการส่งมอบ การรับมอบ และการดูแลรักษาอาวุธดังกล่าวให้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่เห็นสมควร

(6) ให้เจ้าของกิจการ หรือผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในกิจการ หรือการจัดการทุจริต ซึ่งมีพนักงาน หรือลูกจ้าง หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ หรือการจัดการธุรกิจ จัดทำและเก็บประวัติและแจ้งการย้ายเข้า การย้ายออก การเลิกจ้าง และแจ้งพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวให้เจ้าพนักงานทราบ

(7) ออกคำสั่งให้การซื้อขายใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจใช้กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรต้องรายงาน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนด

(8) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจเช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของทหารจะกระทำได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานกำหนดพื้นที่ และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

เมื่อการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรยุติลง ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประกาศยกเลิกข้อกำหนดตามมาตรานี้โดยเร็ว

มาตรา 26 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้มีประสิทธิภาพ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในออกประกาศให้เจ้าพนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) จับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับการกระทำเช่นว่านั้น

(2) ดำเนินการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มองค์กรที่ก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

(3) ออกหนังสือสอบถาม หรือออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใด เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

(4) ตรวจค้น บุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ใดๆ ตามความจำเป็นเมื่อมีเหตุสงสัยตามสมควรว่ามีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

(5) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำเช่นว่านั้นหรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้กระทำผิดได้ เมื่อมีเหตุอันเชื่อได้ว่าหากไม่รีบดำเนินการบุคคลนั้นจะหลบหนี หรือทรัพย์สินจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(6) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

ในการตรวจค้นตาม (4) หรือ (5) ให้ข้าราชการฝ่ายพลเรือนตั้งแต่ระดับ 3 หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เป็นหัวหน้าในการตรวจค้น และหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้สามารถกระทำการในเวลากลางคืน หรือนอกเวลาทำการปกติของสถานที่นั้นได้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรยุติลง หรือป้องกันมิให้เกิดการกระทำเช่นว่านั้น

ในการตรวจค้นตาม (4) หรือ (5) ให้เจ้าพนักงานแสดงความบริสุทธิ์ก่อนเข้าตรวจค้น และให้จัดทำรายงานเหตุผล และผลของการตรวจค้นเป็นหนังสือรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และจัดทำเหตุผลในการตรวจค้นเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้ครอบครองเคหสถาน หรือสถานที่ที่ตรวจค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองสถานที่ในเวลาที่ตรวจค้นให้เจ้าพนักงานส่งมอบสำเนาหนังสือนั้นแก่ผู้ครอบครองทันทีที่สามารถกระทำได้

ในการตรวจค้นตาม (4) เจ้าพนักงานต้องไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการข่มขู่ และให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในการตรวจค้นตาม (5) ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เว้นแต่จะมีเหตุอันควรได้เชื่อว่าหากไม่รีบดำเนินการเอกสาร หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ให้เจ้าพนักงานดำเนินการค้นยึด หรืออายัดเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่ต้องมีหมาย แต่ต้องดำเนินการตามวิธีการค้นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และจะดำเนินการในเวลากลางคืนมิได้ เว้นแต่เป็นเวลาทำการปกติของสถานที่นั้นสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้กำลังทหาร

มาตรา 27 ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในมาตรา 26(1) ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้เจ้าพนักงานจับกุม และควบคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดไว้ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขังทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขกระทำกันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาล เพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละเจ็ดวัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่าสามสิบวัน เมื่อครบกำหนดแล้วหากจะควบคุมตัวต่อไปให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานจัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุม และควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาลที่มีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง และจัดทำสำเนารายงานนั้นไว้ ณ ที่ทำการของเจ้าพนักงานเพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้

การร้องขออนุญาตต่อศาลตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกหมายอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 28 ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งตามมาตรา 25 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 เมื่อมีผลใช้บังคับแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

มาตรา 29 เมื่อการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรเกิดจากการก่อการร้ายที่มีความรุนแรงหรือการก่อการร้ายสากล ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในรายงานสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีมอบภารกิจในการแก้ไขสถานการณ์ให้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยทันที

มาตรา 30 เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข่าวสาร หรือป้องกันการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด หรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานร่วมฟังการสอบสวน หรือเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญามาตรวจดูได้

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานเข้าร่วมฟังการสอบสวน หรือเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญามาตรวจดูได้

มาตรา 31 ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหาคนใดได้กระทำความผิดดังกล่าวเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเหตุที่ไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคนใด ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสำหรับผู้ต้องหาคนนั้น พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน

ถ้าผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการถูกฟ้องคดีโดยให้ผู้ต้องหาดังกล่าวเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และจะกำหนดเงื่อนไขให้มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นครั้งคราวตามที่กำหนดภายหลังการอบรมแล้วด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดระยะเวลาที่ให้มารายงานตัวเกินหนึ่งปีไม่ได้

การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการฟ้องคดีตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว และเมื่อผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว จะฟ้องเป็นผู้ต้องหาสำหรับการกระทำที่ต้องหานั้นอีกไม่ได้

มาตรา 32 การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรต้องใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด โดยให้คำนึงถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นหลัก

มาตรา 33 การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการลบล้างอำนาจของฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึกษาหรือตามกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ได้ประกาศไว้

มาตรา 34 กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด หรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ส่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวออกจากพื้นที่ที่กำหนด และห้ามมิให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อีกภายในระยะเวลา หรือเงื่อนไขที่กำหนด แล้วให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแจ้งหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นสังกัดทราบพร้อมด้วยเหตุผล

เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ไปรายงานตัวยังหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัด ในการนี้ให้หน่วยงานของรัฐเจ้าสังกัดดำเนินการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 35 เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำใดๆ ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือพบว่ามีการกระทำความผิดอาญาที่อาจเชื่อมโยง หรือเกี่ยวพันกับการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้เจ้าพนักงานแจ้งให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าพนักงานที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว

มาตรา 36 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

มาตรา 37 เจ้าพนักงาน และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าหนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการระงับ หรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมายหากเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

มาตรา 38 การปฏิบัติของเจ้าพนักงานในการปราบปรามตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทำอันจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ในกรณีที่เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ พิการ หรือสูญเสียอวัยวะ นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้วให้ได้สิทธิประโยชน์ตามคำสั่ง ระเบียบ และประกาศของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังด้วย

หมวด 7

บทกำหนดโทษ

มาตรา 39 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 หรือ ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 26 มาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net